Glycine Airman Base 22 GMT Luminous : สว่างสดทั้งหน้าปัด

0

ในที่สุด Airman เรือนที่ 2 ก็เข้ามาอยู่ในกรุของผม และแม้ว่าจะเป็น Base 22 ตามที่หวัง แต่กลับเป็นรุ่นที่ไม่ได้เล็งเอาไว้ตั้งแต่แรก แต่ก็เอาเถอะ กับราคาที่น่าดีล ทำให้ผมยอมมองข้ามเรื่องตรงนี้ไปได้

Glycine Airman Base 22 GMT Luminous : สว่างสดทั้งหน้าปัด
Glycine Airman Base 22 GMT Luminous : สว่างสดทั้งหน้าปัด

Glycine Airman Base 22 GMT Luminous : สว่างสดทั้งหน้าปัด

- Advertisement -

ถ้าคุณหลงรักนาฬิกาอย่าง Airman คุณจะค้นพบกับความหลากหลายของมันภายใต้ชื่อ (Nameplate) เดียว เพราะนอกจากรุ่นย่อยๆ ที่แตกต่างกันในแง่ของหน้าตาแล้ว ในรุ่นนั้นๆ ยังมีความต่างในแง่ของกลไกและการใช้งานอีกด้วย แต่เอาเถอะนั่นเป็นเรื่องจุกจิก เพราะในที่สุดหลังจากนั่งงงอยู่นาน คุณก็จะรู้ว่าสุดท้ายแล้วจะเลือกใช้บริการรุ่นไหนดี ซึ่งอย่างผมนั้นเล็งเจ้า Airman Base22 GMT มานาน และก็มาสมหวังสักทีกับรุ่น Luminous ที่เปิดตัวขายครั้งแรกในปี 2014

ถ้ามองในแง่ของความเป็นมาแล้ว ผมเชื่อว่า Glycine ถือเป็นแบรนด์ที่มีเรื่องราวและความเป็นมาเยอะไม่แพ้แบรนด์อื่นๆ โดยเฉพาะ Airman ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1953 เพื่อรองรับกับความต้องการของบรรดานักบินที่ต้องการนาฬิกาที่เหมาะสมกับอาชีพของพวกเขา ก่อนที่จะเปิดตัวรุ่นขายจริงออกมาเป็นครั้งแรกในปี 1955 และหลังจากนั้นก็มีขายออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2010  พวกเขาก็ดปิดตัวรุ่น Base 22 ออกมาเป็นครั้งแรก ซึ่งว่ากันว่า 22 มีความหมายถึง เจนเนอเรชั่นที่ 22 ของนาฬิกา…ผ่านมา 22 เจนเนอเรชั่นต้องบอกว่าไม่ธรรมดา

อย่างที่บอก Airman แต่ละรุ่นมักจะมีรุ่นย่อยๆ ลงมาอีก ซึ่งในกรณีของ Base 22 มีด้วยกัน 3 แบบคือ บอก 2 เวลา แต่ไม่มีเข็ม GMT (ใช้ Bezel หมุนช่วยเอา) แบบ GMT แต่ดูได้ 3  เวลา และ Purist ดูได้ 2 เวลา แต่เป็นแบบเดิน 24 ชั่วโมง หมายความว่าเข็มชั่วโมงจะเดินเพียงแค่วันละ 1 รอบ ไม่ใช่ 2 รอบเหมือนกับนาฬิกาทั่วไป

สำหรับเรือนที่ผมได้มาเป็น GMT 3-time zone แบบหน้าปัดเรืองแสงทั้งแผงที่พวกเขาเรียกว่า Luminous ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกที่งาน Basel World 2014  และตัวเรือนเป็นแบบรมดำ PVD ซึ่งถ้ามองในแง่ของดีไซน์แล้ว ในเวอร์ชันนี้แตกต่างจาก Base 22 รุ่นดั้งเดิมที่เปิดตัวก่อนหน้านี้ 4 ปี เพราะเปลี่ยนชุดเข็มใหม่หมด

สารภาพตามตรงเลยว่าจริงๆ แล้ว Base 22 คือ Wish List ของผม แต่เจ้า Luminous นี่ไม่ได้อยู่ในลิสต์ที่ผมเลือกสักเท่าไร เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นหน้าตาแบบเต็มๆ และผมเล็งเวอร์ชันหน้าขาวเอาไว้ก่อน แต่ด้วยจังหวะที่กระสุนมี แต่หน้าขาวดันไม่มี แถมเห็นเจ้านี่จากไลน์ของร้านที่ผมเป็นลูกค้ามาก่อนพร้อมกับราคาสุดเย้ายวน ก็เลยยากที่จำทำเมิน  เพียงแต่ตอนแรกที่เห็น ผมจัดการส่งข้อเสนอนี้ไปให้กับบรรดาคนคุ้นเคยหลายๆ คน พร้อมกับยุให้เสียเงินกัน แต่ดูเหมือนว่าจะมีแต่คนถูกใจ แต่ยังไม่ตัดสินใจสักที สุดท้ายเมื่อบวกลบจากการสั่งจากนอกที่มีการลดราคาพอดี ผมก็เลยตกเป็นเหยื่อไปแทน

อย่างที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้ตอนที่รีวิวเจ้า Airman Sphair 17 นั้น ผมเคยให้ความเห็นว่า Glycine เป็นนาฬิกาที่คุณมีโอกาสติดดอยสูงถึงสูงมากในกรณีที่คุณเดินเข้าร้านตัวแทนจำหน่าย เนื่องจากในบ้านเรานั้น ผมไปลองไล่เช็คแล้ว ราคาหน้าป้ายของรุ่นนี้อยู่ที่ 80,000 กว่าบาท แต่ร้านในอเมริกากลับลดราคาช่วงวันชาติเหลือเพียงแค่ 700 เหรียญ หรือไม่ถึง 25,000 บาท ดังนั้น คงไม่ต้องบอกว่าแล้วเราจะตัดสินใจไปทางไหนกันดี

ตอนที่ได้ตัว Base 22 มา สารภาพตามตรงว่า ผมไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไรกับขนาด Diameter ที่อยู่แค่ 42 มิลลิเมตร เพราะตอนแรกคิดว่ากับ Lug-to-Lug ที่ยาวในระดับ 50 มิลลิเมตร น่าจะช่วยทำให้นาฬิกาดูเต็มข้อมือ แต่สุดท้ายเมื่อมาถึงเวลาเจอตัวจริง กลับรู้สึกว่ามันเล็กไปหน่อย เรียกว่าขาดไปอีกหน่อย ถ้าสัก 44 มิลลิเมตร ผมว่าคงเติมเต็มความต้องการของคนข้อมือ 7 นิ้วแบบแบนๆ อย่างผมได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อลองใส่ไปสักพัก และใช้เวลาร่วมกันมันสักครึ่งวัน อารมณ์ที่เกิดขึ้นตอนแรกเปลี่ยนไปทันที เอาเข้าจริงๆ ตัวเรือนก็ไม่ได้เล็กไปกว่า Omega Speedmaster Moonwatch สักเท่าไร และเมื่อคาดอยู่บนข้อก็เริ่มดูแล้วลงตัว เพียงแต่ตอนที่ไปรับ Airman Base 22 ผมดันใส่นาฬิกาเรือนใหญ่ไป ดังนั้นมันเหมือนกับปรับอารมณ์กันไม่ทันเท่านั้นเอง และตอนนี้ทุกอย่างเริ่มโอเคแล้ว และผมเริ่มมีอารมณ์แฮปปี้กับ Airman Base 22 เรือนนี้แล้ว

ตัวเรือนเป็น PVD สีดำ และมากับสายนาโต้ขนาด 22 มิลลิเมตรตลอดทั้งเส้น ซึ่งแน่นอนว่าผมจัดการเปลี่ยนทันที เพราะส่วนตัวไม่ค่อยโอเคกับสายนาโต้เท่าไร และนั่นทำให้ได้พบกับสิ่งที่น่ารำคาญของมันเป็นครั้งแรก เหตุก็เพราะสปริงบาร์ของ Airman Base 22 เป็นแบบหัวยาวและไม่มีเว้าร่อง อารมณ์คล้ายๆ กับสปริงบาร์แบบเดียว Suunto Traverse ที่ผมเคยเจอ แต่ยังดีที่ตัวเรือนเป็นแบบเจาะรูข้างขา ทำให้การถอดง่ายหน่อย แต่ใช้ไม้จิ้มฟันแบบเดิมๆ ไม่ได้ เพราะจากการที่หัวสปริงบาร์เป็นแท่งยาวกว่าแบบที่มีแบ่งส่วนหนึ่งเป็นตัวเว้าร่อง ทำให้ต้องใช้ตัวถอดที่เป็นแท่งยาวในการกด และต้องกดลึกกว่าปกติ

ออกยากไหม ก็นิดนึง แต่ไม่หนักใจเท่ากับตอนใส่ เพราะจากการที่ไม่มีการเว้าร่อง นั่นหมายความว่าผมต้องใช้เครื่องมือถอดสายกดไปบนหัวสปริงบาร์เลย และมีความเสี่ยงสูงมากต่อการขูดเข้ากับตัวเรือนจนเป็นรอย เรียกว่าถ้ากดพลาด แล้วตัวหัวเกิดดีดขึ้นมาในจังหวะที่คุณกดลงไปเพื่อให้เข้ารู ก็มีโอกาสขูดเข้ากับตัวขาสายได้ แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้แบบไร้ปัญหา และสิ่งที่ตามมาคือ ผมคงไม่คิดที่จะเปลี่ยนสายบ่อยๆ แน่สำหรับเรือนนี้ ดังนั้น หาสายที่ลงตัวและจับใส่ให้จบซะ

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรับทราบมาจากบรรดาคนที่ถูกยุให้ซื้อถึงเหตุผลมี่พวกเขาเลือกเมินมันแม้ว่าราคาจะน่าสนใจก็ตาม นั่นคือ การรู้สึกว่าตัวชุดเข็มมันไร้เสน่ห์ มาเป็นแบบแท่งๆ ห้วนๆ เลไม่เหมือนกับ Base 22 รุ่นอื่น ที่ตัวหัวเข็มจะมีการออกแบบให้เป็นหัวลูกศร แต่สำหรับผมกลับเฉยๆ นะ แถมรู้สึกชอบด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการออกแบบเข็มที่ 4 หรือ GMT Hand ให้เป็นแท่งยาวกว่าใครเพื่อน มีสีแดงตัดกับชุดเข็มสีดำและหน้าจอสีเหลืออ่อน เรียกว่าเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจนเลย

สำหรับด้านหลังแม้ว่าจะมาในแบบเปลือยและสามารถมองเห็นกลไก GL293 ของ Glycine ที่ดัดแปลงมาจาก ETA 2893-2 สามารถสำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง พร้อมกับโรโตอร์ที่สลักเป็นรูปเครื่องบินพร้อมสลัก Côtes de Genève และกระจกมีการรมดำให้ดูเป็นสีขุ่นเข้ากับตัวเรือนที่เป็นสีดำ

เมื่อพลิกมาที่ด้านหน้าคุณจะได้พบกับ Bezel ที่สามารถหมุนได้ แต่มีปุ่มในตำแหน่ง 4 นาฬิกาเป็นตัวล็อกเอาไว้ ซึ่งตรงนี้ทำให้นาฬิกาเรือนนี้สามารถบอกเวลาได้ทั้งหมด 3 โซนเวลา ผ่านทางเข็มปกติ เข็ม GMT และการใช้สเกลเวลาของ Bezel ขณะที่การปรับเข็ม GMT ก็ทำได้ง่าย เพียงแค่คลายเกลียวเม็ดมะยมออก และดึงจังหวะแรกหมุนปรับเข็ม GMT  จากตรงนั้นได้เลย ขณะที่ตัวกระจก Sapphire มาพร้อมกับการเคลือบสารตัดแสงสะท้อน หรือ AR ดูแล้วใสเอาเรื่องเหมือนกัน

หน้าปัดที่เรืองแสงแบบยกแผงนั้นมีความสว่างในระดับหนึ่ง โดยใช้สาร SLC3 หรือ Super Luminova C3 ซึ่งเมื่อรับแสงและดูในตอนกลางคืนแล้วสามารถมองเห็นได้ดีในระดับหนึ่ง ส่วนบนหลักชั่วโมง และเข็มต่างๆ จะไม่มีสารเรืองแสง แต่ใช้หลักการคล้ายกับเล่นหนังตะลุง คือ มีแสงส่องสว่างอยู่ทางด้านหลัง และมีเงาของเข็มทอดลงไป ทำให้เราสามารถมองเห็นตำแหน่งของเข็มได้ เพียงแต่ช่วงแรกอาจจะยังไม่คุ้นเท่านั้นเอง

และอีกประเด็นที่ยังไม่เคยลองแต่พิจารณาจากสิ่งรอบข้างแล้วน่าจะเป็นปัญหาได้คือ การใส่เข้าโรงหนัง เพราะด้วยความที่มันสว่างทั้งหน้าปัด งานนี้ข้อมือของคุณเด่นท่ามกลางความมืดของโรงหนังอย่างแน่นอน แต่จะถึงขั้นสร้างความรำคาญให้กับคนรอบข้างหรือเปล่า อันนี้คงต้องขอไปลองแล้วจะมาแจ้งให้ทราบกัน

มาถึงบทสรุปของนาฬิกาเรือนนี้  กับราคาที่ได้มาถามว่าพอใจไหม บอกได้เลยว่าค่อนข้างมาก เพียงแต่ถ้าตัวเรือนใหญ่กว่านี้อีกสัก 2  มิลลิเมตร ทุกอย่างจะลงตัวมากกว่านี้…อันนี้หมายถึงในมุมของผมนะ

คุณสมบัติของ : Glycine Airman Base 22 GMT Luminous

Ref : 3887.95SL TB99

  • ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  : 42 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 51 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 10.9 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • กระจก : Sapphire พร้อม A/R
  • ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
  • กลไก  : GL293 GMT
  • สำรองพลังงาน : 42 ชั่วโมง
  • ความถี่ :  28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
  • จุดเด่น : หน้าปัด ชุดเข็ม และสีตัวเรือนเข้ากันได้อย่างลงตัว
  • จุดด้อย : ขนาดเล็กไปหน่อย สปริงบาร์แบบแปลกๆ และราคาที่ค่อนข้างสูงหากเข้าตัวแทนจำหน่าย