ถ้าคุณเป็นแฟนกบ Casio G-Shock Frogman เราเชื่อว่ายังไงคุณก็ต้องตามเก็บทั้งรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า แต่ถ้าเป็นขาจรที่มีงบไม่เยอะ และต้องการ Frogman ที่มีความคุ้มค่าสักเรือน คราวนี้ ต้องมาไล่ดูและเช็คแล้วว่าระหว่างรุ่นใหม่อย่าง GWF-D1000 ที่ปัจจุบันราคาเริ่มลดลงและยิ่งลดลงมากเมื่อเป็นมือสอง กับรุ่นเก่ากว่าอย่าง GWF/GF-1000 แต่ยังหาของมือหนึ่งได้ อย่างไหนจะน่าสนใจมากกว่ากัน
Casio G-Shock Frogman GWF-D1000 / GWF-1000 รุ่นไหนที่เหมาะกับคุณ
ห่างหายจากการทำ Scoop จับคู่เปรียบเทียบกันไปนาน ตอนนี้กลับมาประจำการอีกครั้งครับ
และในช่วงที่ราคาของ Casio G-Shock Frogman GWF-D1000 หล่นวูบลงมา
ในขณะที่ของเก่าอย่าง GWF-1000 กลับดีดขึ้นมา (แค่ระดับหนึ่ง)
แต่นั่นพอจะทำให้เกิดช่องว่างความต่างของราคาที่แคบลงในระดับไม่ถึง 10,000 บาท จนทำให้หลายคนเกิดอาการลังเลใจว่า เราจะเลือกรุ่นไหนดี
ซึ่งสารภาพเลยผมก็เป็นเหมือนกัน วันนี้ก็เลยจับเอา 2 กบมาเปรียบเทียบกัน พร้อมกับให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติม
สำหรับ Frogman ของ Casio G-Shock ถือเป็นนาฬิกาในกลุ่ม Master of G ที่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากบรรดาแฟนๆ และถือเป็น Must Have Item สำหรับพวก Mania ทั้งหลาย โดย GWF/GF-1000 ถือเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 4 ของ Frogman ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2009 ขณะที่รุ่นใหม่อย่าง GWF-D1000 เพิ่งวางขายได้ในปลายปี 2016 และถือเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญของ Frogman ในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับตัวนาฬิกา แต่ก็เป็นฟังก์ชั่นเพื่อการใช้งานไม่ใช่สำหรับพวกคนอยู่บนบกเป็นหลักอย่างเราๆ ท่านๆ นั่นก็เลยทำให้ราคาของ GWF-D1000 อัพเกรดขึ้นจาก GWF/GF-1000 ค่อนข้างเยอะ
ดีไซน์ : ผมว่าถ้าคุณเป็นแฟน Frogman แล้ว ทุกรุ่นถือว่าสวยมากไม่ว่าจะเป็นกบใหญ่ หรือกบเล็กอย่าง GF8250 Series ยกเว้นรุ่นเดียวที่ผมคิดว่าเป็นจุดด่างพร้อยของ Frogman นั่นคือ DW9000 Series และด้วยความที่ Frogman เป็นนาฬิกาที่มีจุดซึ่งเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์มากมายเหลือเกิน ผมเข้าใจเลยนะว่าทีมดีไซเนอร์จะต้องปวดหัวกันขนาดไหนในการออกแบบรุ่นใหม่โดยที่จะต้องมีเอกลักษณ์ที่จะขาดหายไปไม่ได้เลยตามมาเป็นพรวน
ไม่ว่าจะเป็น GWF/GF1000 หรือ GWF-D1000 ต่างมาพร้อมกับสิ่งที่เหมือนกันในการออกแบบ ทั้งตัวเรือนแบบอสมมาตรหรือ Asymmetric ด้านซ้ายมีการเพนต์คำว่า Frogman และออกแบบให้ยื่นออกมาเหมือนกับการ์ดในการป้องกันไม่ให้มีอะไรมากระแทกโดนปุ่ม Mode และ Adjust กดจนทำให้การเซ็ตฟังก์ชั่นที่ใช้งานอยู่มีปัญหา
หน้าจอแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบนสำหรับแสดง Tide Graph แสดงระดับน้ำขึ้นน้ำลง และวงกลมตรง 10 นาฬิกาแสดงหน่วยวินาทีและมีโลโก้ตัว G สำหรับบอก Status ในการรับสัญญาณ Multiband6 (ในบ้านเรา ถ้าของใครไม่ขึ้นก็ต้องตกใจกัน เพราะฟังก์ชั่นนี้บ้านเราใช้งานไม่ได้) ตรงหน้าจอส่วนล่างเป็นหน้าจอหลักในการแสดงเวลา และผลการทำงานของฟังก์ชั่นอื่นๆ ควบคู่กับตัวแสดงสถานะของ Battery ในระบบ Tough Solar และ Moonphase
เอาเป็นว่าไม่ว่าจะเป็น GWF-D1000 หรือ GWF/GF-1000 หน้าตามันดูค่อนข้างคล้ายกันไปหมดตามสไตล์ Frogman ยกเว้นรายละเอียดปลีกย่อย อย่างในรุ่น GWF-D1000 ปุ่มที่มีเพิ่มขึ้นมาใหม่ตรงส่วนปุ่มตำแหน่ง 9 นาฬิกา คือ การเข้าสู่ Diving Mode สามารถบันทึกเวลาปัจจุบัน รวมถึงความลึกของคุณและอุณหภูมิของน้ำ ส่วนตรง 3 นาฬิกาจะเป็น Sensor
ขนาดและความลงตัวในการใส่ : Frogman ถือเป็นนาฬิกาที่เรียกว่า Oversize เพราะตัวเลขในทุกมิตินั้นถือว่า โคตรใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับนาฬิกาทั่วไป แต่ถือว่าใหญ่พอประมาณเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม G-Shock เหมือนๆ กัน และจะยิ่งดูใหญ่เป็นพิเศษสำหรับ Frogman ตัวใหม่ GWF-D1000
ใส่ได้ กับใส่สวยมันคนละเรื่องกัน และเอาเป็นว่าถ้าคุณคิดจะเล่นกับ Frogman ข้อแรกจงมั่นใจในขนาดข้อมือของตัวเองก่อน เรียกว่าถ้ามีขนาดข้อมือต่ำกว่า 7 นิ้ว เราขอแนะนำให้ลืมๆ กันไปก่อน แล้วหันไปคบกับ Frogman รุ่นเก่าๆ อย่าง GW-200 หรือไม่ก็กบเล็กอย่างพวก GF8250 Series ที่มีขนาดย่อมลงมาแทน เพราะกับข้อมือที่ต่ำกว่า 7 นิ้วโอกาสที่จะใส่สวยนั้นแทบไม่มีเลย โดยเฉพาะตัวรุ่น GWF-D1000 ที่มีตัวเลข Lug-to-Lug ที่ยาวจนเฉียด 60 มิลลิเมตรไปนิดหน่อย ซึ่งมันจะมาพร้อมกับความเทอะทะแบบไม่ธรรมดา และนี่ยังไม่รวมถึงสภาพปลายสายโผล่ยาวออกมาเป็นพิเศษ
เท่าที่ได้ลอง GWF-D1000 กับขนาดข้อมือของผมซึ่งอยู่ที่ 7 นิ้วโดยประมาณนั้น ถ้าใส่แบบลงตัวมากที่สุดจะต้องรัดที่รู 4 ซึ่งจะพบว่าเมื่อมองไปจะพบกว่าปลายสายจะยาวจนขอบเสมอกับขอบตัวเรือนเลย ถือว่าโผล่ยาวเอาเรื่อง แต่ถ้าใส่รูที่ 5 จริงอยู่ที่ปลายสายจะลดลงมา และดูลงตัวกว่า แต่มันก็จะหลวมไปหน่อย ไม่ค่อยกระชับข้อมือ
จากการที่ Casio ใช้ตัวรัดสายที่เป็นเหล็กในรุ่น GWF-D1000 ซึ่งผมมีความรู้สึกว่ามันทำหน้าที่ในการรัดสายยาวได้ไม่ดีเหมือนกับตัวรัดสายที่เป็นยาง ทำให้บ่อยครั้งมันมักจะพ่ายแพ้ต่อแรงโน้มถ่วงของโลก และหล่นลงมาชิดกับบัคเคิลอยู่เสมอ ทำให้ปลายสายมันอ้าออกเหมือนกับเวลาคุณใส่นาฬิกาที่ไม่มีตัวรัดสาย และต้องรูดขึ้นไปอยู่เสมอๆ
แต่กับ GWF/GF-1000 ผมไม่ค่อยเจอกับปัญหาลักษณะนี้ ด้วยขนาดที่ย่อมกว่า ทำให้ใส่ได้ง่ายกว่า แต่ก็ต้องกับข้อมือในระดับ 7 นิ้วนะครับ แต่ดูจากตัวเลขในหลายๆ ส่วนแล้ว ผมว่าข้อมือที่เล็กที่สุดสำหรับ GWF/GF-1000 น่าจะจบที่ 6.5 นิ้วได้แบบดูสวย ไม่เหมือนกับการขโมยนาฬิกาพ่อมาใส่ ส่วนเรื่องของปลายสายยาวเกินระดับนั้น ในรุ่น GWF/GF-1000 ก็มีบ้าง แต่ก็ไม่มาก เพราะจากการใช้ตัวรัดสายที่เป็นยาง ทำให้มันสามารถทำหน้าที่ในการยึดรั้งปลายสายได้ดีกว่าเยอะเลย
Casio GWF-D1000 | Casio GWF-1000/GF-1000 | |
เส้นผ่านศูนย์กลาง (มม.) | 53.3 | 52 |
Lug-to-Lug (มม.) | 59.2 | 58 |
หนา (มม.) | 18 | 18 |
น้ำหนัก (กรัม) | 141 | 115 |
กระจก | แซฟไฟร์ | มิเนอรัล |
สาย | เรซินผสมคาร์บอนไฟเบอร์ | เรซิน |
ฟังก์ชั่น : ใครเขาถามเรื่องนี้กัน…อันนี้คุณต้องเข้าใจกันก่อนนะ เพราะถึงแม้ว่า Casio จะออกแบบ Frogman มาเพื่อการดำน้ำและผ่านมาตรฐาน ISO6425 ได้ แต่คนที่ใส่จริงๆ และผมว่าน่าจะเป็นลูกค้าหลักของพวกเขาคือ มนุษย์เงินเดือนที่อาศัยอยู่บนบกอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ เพราะฉะนั้น อย่าได้ถามเรื่องนี้ เพราะนอกจากโหมด World Time สำหรับเอาไว้ใช้ปรับเวลาอย่างสะดวกตอนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ โหมดจับเวลาเดินหน้าสำหรับเอาไว้จับเวลาต้มมาม่าหรือต้มไข่ และการตั้งปลุก (ยังมีคนใช้อีกเหรอ) ที่เหลือมันไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับมนุษย์บกอย่างเรา
แน่นอนว่าราคาตั้งที่แพงของ Frogman เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดา G-Shock รุ่นอื่นๆ ในกลุ่ม Master of G ก็เพราะฟังก์ชั่นที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานในโลกใต้น้ำ และอย่างรุ่น GWF-D1000 ก็มีการเพิ่มขีดความสามารถเข้าไปอีกด้วยการมี Depth Meter สำหรับวัดระดับความลึก Electronic Compass หรือเข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์ และการแสดงอุณหภูมิ ราคามันก็เลยแพงขึ้นไปอีก แพงกว่าพวกรุ่นที่มี Triple Sensor ซึ่งในตอนนี้กลายเป็นระบบพื้นฐานของนาฬิกา G-Shock ตัวลุยบางรุ่นไปแล้ว เช่น Rangeman แต่ผมมองว่าพวก Rangeman กลับมีประโยชน์ในการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีกว่า
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณจะซื้อ Frogman เหตุผลมีอย่างเดียวคือ ชอบแบบไม่มีเหตุผลอื่นๆ มารองรับ
นอกจากนั้น ในแง่ของสเป็ก ตัว GWF-D1000 ก็มีการอัพเกรดหลายจุด ทั้งสายเรซินผสมกับคาร์บอนไฟเบอร์ กระจกเป็นแบบ Sapphire ไม่ใช่ Mineral Glass เหมือนกับรุ่นเดิม รวมถึงการตั้งปลุกก็เพิ่มจาก 4 ครั้งมาเป็น 5 ครั้ง และมีโหมด Snooze ให้อีก 1 ครั้ง
Casio GWF-D1000 | Casio GWF-1000/GF-1000 | |
ปีที่เปิดตัวญี่ปุ่น | 2016 | 2009 |
Module | 3445 | 3184/3185 |
Depth Meter/ Electronic Compass | มี | ไม่มี |
วัดอุณหภูมิ | มี | ไม่มี |
จับเวลาเดินหน้า | มี | มี |
World Time | มี | มี |
Multiband 6 | มี | มี/ไม่มี |
Diving Mode | มี | มี |
Moonphase/Tide Graph | มี | มี |
ราคา : เอาเรื่องราคาตามป้ายกันก่อน ถ้าเป็นของ CMG ที่มีขายอยู่ในไทย ตอนนี้ราคาของ GWF-D1000 ขยับขึ้นเกินหลัก 40,000 บาทไปแล้ว ขณะที่ของใหม่ที่ของหิ้วหรือร้านค้าตัวแทนจำหน่ายที่เราเจอกันตามกลุ่ม FB นั้น จากเดิมที่ราคาค่อนมาทางบวกลบ 30,000 บาท สำหรับตอนนี้ตัวเลขขยับลงมาอยู่ในระดับ 20,000 บาทกลางๆ และมือสองมีแตะระดับ 20,000 บาทถ้วนเลยก็มี ขณะที่ GWF-1000 บ้านเราไม่มีขายอยู่แล้วเพราะเป็นโมดุล 3184 ใช้กับญี่ปุ่น และประเทศที่มีการปล่อยคลื่นสัญญาณวิทยุออกมาจากเสา ซึ่งมีด้วยกัน 6 เสากระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น รุ่นที่มีขายคือ GF-1000 ซึ่งราคาป้ายตอนที่เปิดตัวเมื่อปี 2010 ราคาอยู่ที่ 23,000 บาทโดยประมาณ
ประเด็นที่เราหยิบยกมาก็เพราะราคานี่แหละ เพราะเท่าที่ลองสืบดูจากแหล่งขายใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่ม Facebook ที่เป็นจุดรวมตัวคนรัก G-Shock จะพบว่า ราคาทั้งมือหนึ่งและมือสองของรุ่น GWF-D1000 หล่นลงอย่างมาก จนส่วนต่างในด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่น GWF-1000 มือหนึ่งไม่ได้เยอะเหมือนกับที่เปิดตัวใหม่ๆ อันนี้เราหมายถึงตัวมาตรฐาน เช่น GWF-D1000-1 หรือ GWF-D1000B-1 นะ…ส่วนเหตุผลที่ทำให้ราคาหล่น อ้นนี้อย่าถาม เพราะไม่ทราบจริงๆ
แม้ว่าพ่อค้าบางคนพยายามดัน GWF-1000 ให้มีราคาสูงเกินราคากลางที่มันเคยเป็นขึ้นมาอยู่ที่ 18,000-20,000 บาท อาจจะด้วยเพราะต้นทุนที่ได้มา หรือคิดว่า ณ ตอนนี้เป็นของหายาก แต่เราก็ยังเจอกับราคาปกติจากพ่อค้ารายอื่นๆ ซึ่งยังตั้งเอาไว้ที่ 14,500-15,500 บาท ส่วน GF-1000 นั้นไม่ต้องพูดถึง นานๆ ถึงจะมีของใหม่หลุดเข้ามาสักที แต่ก็นานจนแทบจะลืมกันไปแล้ว
ดังนั้น ส่วนต่างระหว่างของใหม่ GWF-1000 กับของมือสอง GWF-D1000 สภาพเนียนๆ ที่ห่างกันแค่ 5,000 บาท จะเอาอย่างไรดี ?
คำตอบ คงต้องบอกว่าตัวตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่เงินในกระเป๋า แต่อยู่ที่ ‘ขนาดข้อมือของคุณ’ นั่นแหละ เพราะถ้าอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว ผมเน้นย้ำเสมอว่า ข้อมือที่เหมาะกับ GWF-D1000 ควรจะอยู่ในระดับ 7 นิ้วขึ้นไป ถึงในกระเป๋าของคุณจะมีเงินเป็นฟ่อน แต่ถ้าข้อมือเล็ก ใส่ยังไงก็ไม่สวย ดังนั้น เชื่อเถอะว่าอย่าฝืน และหันไปหา GWF/GF-1000 จะดีกว่า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ราคาที่ยกมาอ้างอิงข้างบนนั้น ในกรณีของมือสอง GWF-D1000 อาจจะไม่ได้มาบ่อยๆ และบางทีมาแป๊บเดียวแล้วก็ SOLD ไปซะ เพราะฉะนั้น บางทีก็รีบตัดสินใจกันซะ
Casio GWF-D1000 | Casio GWF-1000/GF-1000 | |
ป้ายญี่ปุ่น | 125,000-130,000 เยน | 68,000 เยน |
ป้ายไทย | มากกว่า 40,000 บาท | -/23,000 บาท |
มือหนึ่งของหิ้ว | 25,000-29,000 บาท | 14,000-15,000 บาท /12.000-13,000 บาท |
มือสอง | 20,000-23,000 บาท | 13,000 บาท /12,000 บาท |
หมายเหตุ : เป็นราคาของหิ้วและมือสอง เป็นราคาที่พบในเว็บและกลุ่ม FB ที่มีการซื้อขาย และเป็นรุ่นมาตรฐาน ไม่ใช่รุ่นพิเศษ
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/