Microbrand อีกรายที่เปิดตัวมาพร้อมกับความน่าสนใจด้วยการนำเอาเรื่องของระบบไฟฟ้ามาเป็นจุดเด่นในการนำเสนอ และ The Electricianz Ammeter เรือนสีเหลือง มาพร้อมกับความโดดเด่นของการออกแบบที่ดูแล้วสะดุดตาจริงๆ
The Electricianz Ammeter ควอตซ์สวิสส์มีดีไซน์
- The Electricianz Ammeter มากับสีเหลืองสะดุดตา และงานออกแบบที่มีดีไซน์
- ตัวเรือนขนาด 45 มิลลิเมตร ค่อนข้างใหญ่ และอาจไม่เหมาะกับทุกคน
- 4 ทางเลือกที่ทำตลาดในตอนนี้
สารภาพเลยว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งผมค่อนข้างเอนเอียงไปกับนาฬิกาแบรนด์เล็กๆ แบรนด์ที่เพิ่งเกิด หรือพวกที่ระดมทุนอยู่ในเว็บไซต์ Kickstarter.com ด้วยเหตุที่ว่าเริ่มเบื่อในเชิงความรู้สึกกับคำว่าสูตรสำเร็จในการซื้อนาฬิกาที่พบเห็นได้จากความเห็นต่างๆ ตามโลกออนไลน์…ไม่ได้บอกว่าแนวทางที่เป็นสูตรสำเร็จนั้นมันไม่ดีนะครับ เพราะหลายคนมีเหตุและผลในการเข้าสู่วังวนตรงนี้แตกต่างกันออกไป เพียงแต่มันดูแล้วเหมือนกับถูกบีบบังคับทางด้านความชอบไปหน่อยเท่านั้นเอง ก็เลยต้องการที่จะหลุดออกมาจากรอบเดิมๆ
ผมว่ามันอาจจะเหมือนกับช่วงชีวิตหนึ่งของคนเราที่จะต้องออกแสวงหาอะไรสักอย่าง ซึ่งในช่วงนั้นตัวเองก็พยายามมองหาความแตกต่างที่โดดเด่นโดยเฉพาะในเรื่องของดีไซน์ เพราะส่วนตัวคำว่าแบรนด์มีผลต่อผมในการควักเงินซื้อนาฬิกาน้อยกว่าเรื่องของดีไซน์ที่ถูกใจและโดนใจ…อันนี้หมายถึงโดนใจตัวผมนะครับ ไม่ใช่หมายถึงโดนใจคนอื่น
แน่นอนว่า อาการนี้เป็นๆ หายๆ และในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็เริ่มกลับมาอีก และอย่างว่าละครับในยุคที่โลกมันแคบ และคำว่าออนไลน์ทำให้เราสามารถทลายกำแพงอะไรบางอย่างออกไป นั่นก็เลยทำให้ตัวเองได้พบกับแบรนด์น้องใหม่อย่าง The Electricianz
ผมเห็นบทความของนาฬิกาแบรนด์นี้จากเว็บไซต์ ablogtowatch.com และบอกได้คำเดียวเลยว่า ‘ตกหลุมรัก’ จนสุดท้ายต้องกด Add Cart และสั่งมาส่งถึงหน้าบ้าน ซึ่งกว่าจะสั่งได้ต้องอีเมลคุยกับคนขายหลายรอบ เพราะทางนั้นดันลืมใส่ชือประเทศไทยในช่องสำหรับส่งของ
The Electricianz ผลิตออกมารุ่นเดียวแต่มีด้วยกัน 3 หน้า 3 สี คือ Mokaz ในแบบดำทองเข้ม Dresscode ในแบบสีเงิน ซึ่งผมว่ามันจืดสนิทไปหน่อย และตัว Ammeter กับตัวเรือนสีเหลือง สายดำ และมีการเพนท์ลวดลายของแผงวงจรตรงแบตเตอรี่เอาไว้บนกระจก โดยก่อนหน้านั้นหลังจากที่ผมสั่งไปได้สัก เดือนกว่าๆ พวกเขาก็เปิดตัวรุ่นที่ 4 ในแบบดำสนิทที่เรียกว่า The Blackout ตามออกมา โดยทั้งหมดมีราคาเท่ากันคือ 345 ฟรังก์สวิสส์ ยกเว้น The Blackout ที่แพงขึ้นมาอีกนิดเพราะตัวนาฬิกาถูกผลิตให้ออกมาในแนว Carbon-Look
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับนาฬิกาของ The Electricianz คือ คอนเซ็ปต์หรือแนวทางในการนำเสนอ ซึ่งพวกเขาเน้นไปที่พลังของกระแสไฟฟ้าที่มีความไหลรื่นและถ่ายทอดไปมาระหว่างของสิ่งต่างๆ ที่สำคัญคือ เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดสีสันและสิ่งใหม่ในโลกยุคปัจจุบัน โดยทีมออกแบบซึ่งมีสำนักงานเมือง Bienne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จับเอาแนวคิดนี้มาผนวกกับการออกแบบในสไตล์ Visual Art และ Underground Culture จนได้เป็นนาฬิการุ่นแรกของเครือออกมาสู่ตลาด
และนั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจเป็นลูกค้าของ The Electricianz ทั้งที่แทบไม่รู้จักเลยว่าพวกเขาคือใคร และซื้อไปแล้วจะต้องนั่งกุมขมับหรือเปล่า ซึ่งหลายครั้งผมเจอกับนาฬิกาน้องใหม่ หรือไม่ก็พวก Microbrand อยู่เป็นประจำ และที่สำคัญคือ การซื้อครั้งนี้เป็นแบบไม่เห็นของ เจอแต่ภาพ แถมราคาก็ถือว่าสูงในระดับหนึ่งสำหรับนาฬิกาควอตซ์ ที่คุณยังไม่รู้เลยว่าพวกเขาคือใคร ตรงนี้เป็นใครก็ต้องกังวลเป็นธรรมดา
ตอนที่ The Ammeter เดินมาถึงมือ ผมค่อนข้างประทับใจกับความรวดเร็วในการจัดส่ง และแน่นอนว่าศูนย์กลางในการกระจายสินค้าของ Microbrand พวกนี้อยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งเพียงแค่ 2 วันหลังจากที่รับปากว่าจะจัดส่งก็เดินทางมาถึงมือ และเมื่อเปิดดูข้างในก็ค่อนข้างโอเคกับแพ็คเกจที่ทำออกมาในแนวกระป๋องเปิดฝาด้านบนและมีการพิมพ์คู่มือและรายละเอียดคร่าวๆ เกี่ยวกับการใช้งานของนาฬิกา และคอนเซ็ปต์การออกแบบเอาไว้ที่ด้านข้างกระป๋อง
The Electricians Ammeter มากับตัวเรือนสีเหลืองตัดกันระหว่างปุ่มดำ และตัวหนังสือสีแดง จึงให้ความโดดเด่นเวลาอยู่บนข้อมือและถือเป็นรุ่นย่อยเดียวที่เน้นสีสันและการออกแบบเอาใจทั้งคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่อย่างผม
ตัวเรือนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 45 มิลลิเมตร ถือว่าอาจอยู่ในระดับที่กำลังดีสำหรับผมในแง่ของความคิด แต่เมื่อของจริงเดินทางมาถึง และเมื่อขึ้นข้อแล้ว ถือว่าใหญ่เอาเรื่องเหมือนกัน เพราะตัวนาฬิกาไม่มีขอบ Bezel มากินพื้นที่ ทำให้ส่วนกระจกซึ่งผลิตจาก Mineral Glass แบบเคลือบแข็ง K1 มีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่มาก และทำให้หน้าปัดของนาฬิกาแสดงผลแบบเต็มๆ อยู่บนข้อมือ เรียกว่าให้ความรู้สึกเหมือนกับสวมนาฬิกาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่านี้ 2-3 มิลลิเมตรเลยทีเดียว ขณะที่ทางฝั่งซ้ายของหน้าปัดก็มีการเพนต์สีแดงเป็นลวดลายแสดงตำแหน่งของแบตเตอรี่ และขั้วบวกลบ
สายขนาด 22 มิลลิเมตรที่ให้มาถือว่าใช้วัสดุในการผลิตที่ค่อนข้างดีเลยทีเดียว แต่เสียอย่างเดียวกันเป็นสายนาโต้ ซึ่งผมไม่ค่อยชอบใส่เท่าไร และแม้ว่าสาย 22 มิลลิเมตรจะไม่ใช่เรื่องยากในการหาสายหนังมาเปลี่ยน แต่ทว่าสีตัวเรือนที่เหลือง ผมว่ามันเป็นอะไรที่หาคู่สีที่จับคู่กันยากมาก และถึงแม้ว่าจะหาเจอ แต่เชื่อว่าก็ต้องเป็นสีเข้มอย่างสีดำ ซึ่งในแง่ความรู้สึกแล้วมันก็ไม่แตกต่างจากสีเดิมเท่าไร
ผมว่าสิ่งแรกที่น่าจะเป็นความไม่ประทับใจสำหรับลูกค้าที่เปิดกล่องและได้สัมผัสคือ พร้อมกับคิดว่ามันคือนาฬิกาพลาสติกหรือ เพราะพื้นผิวสัมผัส และน้ำหนักของตัวนาฬิกา ซึ่งค่อนข้างเบา และผมก็คิดอย่างนั้น แต่มันไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะจากการสืบไปสืบมานั้น ปรากฏว่า The Electricianz ทุกเรือนผลิตจากสแตนเลสสตีลแต่เคลือบด้วย Mass-Color Nylon ซึ่งให้พื้นผิวบนตัวเรือนนั้นมีรายละเอียด หรือ Texture ขึ้นมา ขณะที่ขอบ Bezel ที่เป็นวงบางเฉียบนั้นมีทั้งแบบขัดเงา และเคลือบ PVD สีดำ
สำหรับฝาหลังแบบกดอัดนั้นมาพร้อมป้ายคำเตือนที่ทำให้คนซื้ออาจจะใจหายสักหน่อย เพราะเหมือนกับมีป้าย Warning เต็มไปหมด โดยเฉพาะมีการติดตั้ง NFC เอาไว้ข้างในด้วย ซึ่งสิ่งที่กลัวนั้นไม่ใช่กลัวของใหม่ แต่กลัวว่าถ้าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่แล้วจะทำอย่างไร ? ช่างไทยจะทำได้ไหม ? ต่างหาก
โดยแบตเตอรี่ใช้ก็เป็นแบบลิเธียม Flat cell 1225 CR ซึ่งมีการระบุว่ามีอายุ 3 ปี (ขึ้นอยู่กับว่าคุณซนไปกดปุ่มไฟที่อยู่ตรงตำแหน่ง 2 นาฬิกาบ่อยครั้งแค่ไหน) โดยที่รูปร่างและหน้าตาของมันคุณสามารถมองทะลุผ่านกระจกไปดูได้ตรงพื้นที่ในส่วน 6-12 นาฬิกา แล้วจะเห็นการเปลือยกลไกและชิ้นส่วนข้างในแบบพอหอมปากหอมคอ ส่วนกลไกก็ไม่น่าจะซ่อมยากเย็นอะไรเพราะใช้กลไก Miyota ของ Citizen รหัส 2033
อันนี้สารภาพเลยว่าปกติแล้วผมไม่ค่อยเป็นแฟนของนาฬิกาแบบ Skeleton หรือหน้าปัดเปลือยเท่าไร อาจจะเพราะยังเข้าไม่ถึงกับการนั่งชื่นชมและดูชิ้นส่วนกลไกที่อยู่ในตัวนาฬิกา อีกอย่างผมชอบแบบหน้าปัดทึบๆ นี่แหละ ดูไม่ละลานตาดี ซึ่งในกรณีของ The Electricianz นั้น จะบอกว่ามันก็ไม่เชิงเป็น Skeleton หรอก ถ้าในนิยามของคำๆ นี้จะต้องหมายถึงหน้าปัดที่โปร่งจนเห็นกลไกที่อยู่ด้านล่าง เพราะ The Electricianz จะแยกหน้าปัดออกไปต่างหาก ซึ่งมีขนาด 38 มิลลิเมตร และที่เราเห็นๆ อยู่นั้นเป็นระบบส่วนนอกกลไก ซึ่งคือพวกสายที่เชื่อมต่อเข้ากับแบตเตอรี่ซึ่งถูกวางอยู่ด้านข้างหน้าปัดแทนไม่ได้อยู่ใต้กลไกเหมือนกับนาฬิกาควอตซ์ทั่วไปที่เราคุ้นเคยกัน
ย้อนกลับไปที่ระบบ NFC ที่ติดตั้งมากับตัวเรือน ไอ้ตอนแรกเราก็สงสัยว่ามันจะมีมาเพื่ออะไร แต่สุดท้ายทาง the Electricianz ก็เฉลยออกมาว่ามันเป็นการทำให้นาฬิกาสามารถเชื่อมต่อกับ Application ในโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งพวกเขาบอกว่าผลิต App ขึ้นมาเพื่อเชื่อมคนใช้ให้เป็น Community แต่ดูเหมือนว่าโปรเจ็กต์ยังไม่เสร็จสักที เพราะถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถหา App ที่ว่าใน Play Store เจอเลย
กับค่าตัวในระดับ 345 ฟรังก์สวิสส์ หรือคิดเป็นเงินไทยแล้วก็หมื่นนิดๆ สำหรับนาฬิกาเรือนนี้ อาจจะดูแพงและแรงไปสักหน่อยสำหรับนาฬิกาควอตซ์ที่เน้นไปที่เรื่องของการขายดีไซน์และความแปลกใหม่ของการนำเสนอ แต่ถ้าคุณกลับสู่วังวนเดิมก็จะเจอกับความคิดเดิมๆ ที่ตามหลอกหลอนว่า ราคานี้ซื้อนาฬิกาอัตโนมัติยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ได้เลยนะ
มันก็จริงอย่างนั้นนะ แต่บอกตรงๆ เลย ผมละโคตรเบื่อเลย
สเปคของ The Electricianz Ammeter
- เส้นผ่านศูนย์กลาง 45 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug 53 มิลลิเมตร
- ความหนา 12 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย 22 มิลลิเมตร
- กระจก Harden Mineral K1 Glass
- ระดับการกันน้ำ 30 เมตร
- กลไก ควอตซ์ Miyota 2033
ประทับใจ : ดีไซน์และแนวคิด กลไกควอตซ์
ไม่ประทับใจ : ราคาดุไปนิดส์ และการดูแลรักษา
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/