Audemars Piguet เปิดตัว “Code 11.59 by Audemars Piguet Starwheel” พร้อมกับการนำกลไกหน้าปัดแบบ Wandering Hours กลับมาใช้อีกครั้ง เป็นการนำสุดยอดแนวคิดในการบอกเวลาที่ถือกำเนิดในศตวรรษที่ 17 กลับมาสู่การใช้งานจริงในปัจจุบัน
Code 11.59 by Audemars Piguet Starwheel จากแนวคิดในศตวรรษที่ 17 สู่การกำเนิดใหม่
-
นาฬิกาที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยแนวคิดของ Wandering Hours ที่ถือกำเนิดในศตวรรษที่ 17
-
มากับตัวเรือนที่ผลิตจากทองคำขาว 18k พร้อมกลไกอัตโนมัติรุ่นใหม่ที่มีฟังก์ชั่น Starwheel
-
ราคาอยู่ที่ 48,000 ฟรังก์สวิสส์
Audemars Piguet (โอเดอมาร์ ปิเกต์) เปิดตัวนาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet Starwheel เรือนเวลาที่ผสานไว้ด้วยเซรามิกสีดำกับไวท์โกลด์ 18 กะรัต พร้อมกลไก Wandering Hours ที่ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17
และในวันนี้ Starwheel กำลังจะกลับมาอีกครั้งในคอลเลกชัน Code 11.59 by Audemars Piguet ด้วยดีไซน์ที่มีความล้ำสมัยเป็นพิเศษของตัวเรือนยิ่งช่วยขับเน้นความน่าสนใจของหน้าปัดแสดงเวลาแบบ Wandering Hours พร้อมทั้งยกย่องกลไกสุดคลาสสิกของเรือนที่น้อยคนจะรู้จักไปพร้อมๆ กัน
กลไก Wandering Hours ในดีไซน์สุดล้ำสมัย
จากศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 20 ความงดงามของ Wandering Hours นั้นอยู่ภายในกลไกที่ซ่อนเร้นไว้อย่างลึกลับ โดยเผยในปี 1991 สะท้อนความงามผ่านกลไกที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนบนหน้าปัด Audemars Piguet สานต่อและพัฒนากลไก Starwheel โดยอ้างอิงจากนาฬิการุ่นต่าง ๆ แห่งทศวรรษ 1990 และบรรจุกลไกสุดพิเศษนี้ไว้บนตัวเรือนของ Code 11.59 by Audemars Piguet
ยิ่งไปกว่านั้นกลไก Wandering Hours ยังขับเน้นโครงสร้างและรายละเอียดของตัวเรือนให้โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีกด้วยรูปทรงเรขาคณิตที่ซ้อนทับกัน โดยเฉพาะทรงกลมของขอบตัวเรือน ฝาหลัง และดิสก์ Starwheel รวมไปถึงตัวเรือนส่วนกลางทรงแปดเหลี่ยม
หน้าปัด Aventurine (อเวนจูรีน) สีน้ำเงินเป็นฉากหลังสะท้อนแสงระยิบระยับให้กับดิสก์วงกลมสามแผ่น
ที่หมุนได้ด้วยแกนของมันเอง ราวกับดาวเคราะห์ในจักรวาลเล็ก ๆ ของหน้าปัด ดิสก์ทรงโดมทั้งสามชิ้นรังสรรค์ขึ้นจากอะลูมิเนียมและเคลือบสีดำด้วยการกระบวนการเคลือบแบบพีวีดี
ก่อนที่จะได้รับการตกแต่งแบบพ่นทรายให้มีความแวววาว พร้อมด้วยตัวเลขบอกชั่วโมงสีขาวบนกลไกสะท้อนดีไซน์อันร่วมสมัย ส่วนแสดงนาที 120 องศา ซึ่งมีความกว้างเป็นส่วนโค้งจากตำแหน่ง 10 นาฬิกาถึง 2 นาฬิกา และขอบตัวเรือนด้านใน จึงใช้สีดำทั้งสองส่วน โดยเลขบอกนาทีใช้เป็นสีขาว
วัสดุต่างๆ ขับเน้นลูกเล่นของนาฬิกา
Code 11.59 by Audemars Piguet Starwheel ขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตรผสมผสานวัสดุต่างๆให้น่าสนใจ ด้วยการผสมผสานอ Aventurine (อเวนจูรีน) เข้ากับไวท์โกลด์ 18 กะรัตและเซรามิกสีดำ ความหลากหลายของวัสดุและการตกแต่งด้วยมือด้วยความประณีต
ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ Audemars Piguet ทำให้เกิดรายละเอียดของการเล่นกับแสงได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และช่วยขับเน้นความโดดเด่นของดีไซน์ที่มีความซับซ้อนน่าสนใจของคอลเลกชัน Code 11.59 by Audemars Piguet นอกจากนี้ ขอบตัวเรือน ขานาฬิกา และฝาหลังไวท์โกลด์ 18 กะรัตยังเลือกคอนทราสต์กับตัวเรือนส่วนกลางสีดำและเม็ดมะยมเซรามิกสีดำแบบใหม่ได้ในแบบที่ไม่เหมือนใคร
เช่นเดียวกับชิ้นส่วนที่เป็นทอง ตัวเรือนส่วนกลางเซรามิกจะต้องผ่านการเก็บรายละเอียดสุดท้ายด้วยมืออย่างประณีต ทั้งการขัดเงาลบมุมและการขัดแบบซาตินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโอเดอมาร์ ปิเกต์ โดยช่างฝีมือของ Audemars Piguet ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการจัดวางตำแหน่งที่สมบูรณ์แบบระหว่างพื้นผิวที่โค้งมนและพื้นผิวที่มีเหลี่ยมมุมของตัวเรือน ซึ่งเป็นงานที่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยมือเท่านั้น
สำหรับกระจกแซฟไฟร์ทรงโค้ง 2 ชั้นช่วยขยายให้เห็นรายละเอียดมากมายของ Aventurine สีน้ำเงินและการตกแต่งองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งยังช่วยเพิ่มมิติความลึกให้กับหน้าปัด ส่วนทางด้านหลังของนาฬิกา ฝาหลังประดับแซฟไฟร์ยังเผยให้เห็นหัวใจหลักของกลไก รวมไปถึง oscillating weight พิ้งค์โกลด์ 22 กะรัตที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อคอลเลกชันนี้โดยเฉพาะ นาฬิการุ่นใหม่เรือนนี้ยังมาพร้อมกับสายนาฬิกาเคลือบยางสีดำมีลวดลายและตัวล็อกแบบกลัดที่สลักโลโก้ Audemars Piguet แทนที่จะเป็นโมโนแกรม AP ตามปกติ
กลไก Starwheel ในคอลเลกชัน Code 11.59 by Audemars Piguet
นับเป็นครั้งแรกที่การแสดงผล Starwheel ถูกนำมารวมไว้ในคอลเลกชัน Code 11.59 by Audemars Piguet พร้อมกับกลไกอัตโนมัติของคาลิเบอร์ 4310 กลไกการบอกเวลาชั่วโมง นาที และวินาทีเจเนอเรชันใหม่นี้พัฒนามาจากคาลิเบอร์ 4309 ซึ่งมีการเพิ่มโมดูลใหม่เข้ามา การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีการสร้างสรรค์เรือนเวลา ความรู้จากอดีต และรายละเอียดการตกแต่งอย่างประณีต ทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นกลไกที่มาพร้อมการสำรองพลังงานขั้นต่ำ 70 ชั่วโมงและคุณสมบัติในการกันน้ำได้ 30 เมตร
การบอกเวลาเกิดขึ้นได้ด้วยการทำงานของโรเตอร์กลางซึ่งนำเสนอการปฏิวัติอย่างสมบูรณ์แบบในเวลาสามชั่วโมงเป็นต้นไป โดยยึดกับดิสก์อะลูมิเนียมวงกลมสามแผ่นที่หมุนได้บนแกนของตัวเอง ดิสก์แต่ละแผ่นมีตัวเลข 4 ตัวจาก 1 ถึง 12 ซึ่งจะผลัดกันชี้ไปยังส่วนโค้งที่ด้านบนของหน้าปัดซึ่งพิมพ์ตัวเลขบอกนาทีเอาไว้ เข็มวินาทีไวท์โกลด์ 18 กะรัตมีความโค้งลงเล็กน้อยที่ส่วนปลายเพื่อให้กลมกลืนไปกับความนูนของดิสก์ โดยเข็มวินาทีสามารถบอกเวลาวินาทีได้ไม่ต่างกับนาฬิกาแบบดั้งเดิม
การสร้างสรรค์เรือนเวลาที่มาพร้อมกลไก Wandering Hours
การถือกำเนิดของระบบ Wandering Hours ต้องย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 17 จากคำร้องขอพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7 ผู้ทรงมีปัญหากับโรคนอนไม่หลับที่กำเริบขึ้นมาเพราะเสียงติ๊กของนาฬิกา พระองค์จึงได้สั่งทำ “นาฬิกากลางคืน” กับพี่น้องคัมปานีซึ่งเป็นช่างทำนาฬิกาในโรม โดยพระองค์ต้องการนาฬิกาที่มีความเงียบและอ่านเวลาง่ายในความมืด
พี่น้องคัมปานีจึงได้ไปสร้างสรรค์แล้วกลับมานำเสนอนาฬิกา wandering hours เรือนแรกแก่สมเด็จพระสันตะปาปา โดยเป็นนาฬิกาที่สามารถอ่านเวลาได้บนพื้นที่ครึ่งวงกลมในช่องที่จะชี้บอกเวลาทุกหนึ่งในสี่ของชั่วโมงและมีแสงสว่างจากด้านใน ซึ่งนาฬิกากลางคืนเรือนนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของระบบ Wandering Hours
จากช่วงปลายศตวรรษที่ 17 กลไกนี้ถูกนำมาใช้ในนาฬิกาพกพาที่ไม่มีไฟแบ็คไลต์ ในขณะที่ช่องรูปโค้งยังคงวัดได้กว้าง 180 องศา การบอกนาทีจะไล่ระดับเพิ่มไปจากเวลาหนึ่งในสี่ของชั่วโมงเพื่อความแม่นยำที่มากขึ้น ในช่วงศตวรรษต่อมา นาฬิกากลไกนี้ถูกใช้เพื่อมอบเป็นของขวัญอันทรงเกียรติ โดยมักจะมีรูปจำลองของบุคคลที่มีชื่อเสียงอยู่ด้านใน
ในศตวรรษที่ 19 ความนิยมของกลไก Wandering Hours เริ่มลดลง เครื่องบอกเวลาที่ผลิตขึ้นในยุคนี้นำเสนอส่วน 120 องศาเพื่ออำนวยความสะดวกในการอ่านเวลา การระบุหนึ่งในสี่ของชั่วโมงหายไปพร้อมกับหน้าต่างเล็ก ๆ เพื่อบอกจำนวนชั่วโมง อย่างไรก็ตาม จอแสดงผลยังคงมีความลึกลับอยู่เนื่องจากกลไกนี้ยังคงถูกเก็บซ่อนเอาไว้ กลไก Wandering Hours ในเวอร์ชันแบบ 360 องศาปรากฏตัวขึ้นในช่วงเวลานี้เช่นกัน แม้ว่าจะค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วย Jumping hour ซึ่งกลายเป็นความนิยมในยุค Art Deco (อาร์ตเดโค) ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20
ในปี 1989 ช่างทำนาฬิกาของ Audemars Piguet ได้กลับมาค้นพบระบบ Wandering Hours อีกครั้งในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารนาฬิกาสวิส ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่แผ่ขยายเนื่องจากวงการนาฬิกากำลังต้อนรับการกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งของการผลิตนาฬิกาจักรกล ในปี 1991 หลังจากใช้เวลาในการพัฒนา 18 เดือน นาฬิการะบบ Wandering Hours เรือนแรกของ Audemars Piguet (Ref. 25720) ก็ได้ถูกเปิดตัวออกมา โดยใช้ชื่อว่า “Star Wheel” ซึ่งอ้างอิงถึงดาวสามดวงที่รองรับดิสก์ระบุชั่วโมงแซฟไฟร์ซึ่งติดตั้งอยู่ที่วงล้อกลางขนาดใหญ่ นาฬิกาเรือนนี้ได้ลบเลือนความลึกลับของกลไกการทำงานนี้ผ่านการเปิดเผยกลไกให้ทุกคนได้เห็น
ในระหว่างปี 1991 ถึง 2003 นาฬิกาที่มาพร้อมระบบ “Star Wheel” ประมาณ 30 เรือนถูกผลิตขึ้นโดย Audemars Piguet และนำเสนอออกมาผ่านคอลเลกชันต่าง ๆ หลากหลายคอลเลกชัน นาฬิกาที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ทางสุนทรียะนี้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะในแง่มุมของการดีไซน์ กับช่องดูเวลาที่มีความโค้งมน นำเสนอออกมาในความยาวและตำแหน่งที่แตกต่างกัน บางเรือนยังมีการประดับอัญมณีและการใส่รายละเอียดแบบฉลุเข้ามาอีกด้วย การยกเอาระบบ Wandering Hours กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง สำหรับโอเดอมาร์ ปิเกต์นับเป็นการเปิดเส้นทางใหม่และเปิดตำนานบทใหม่ของการสร้างสรรค์เรือนเวลาแห่งศตวรรษที่ 21
การแนะนำนาฬิการุ่น 11.59 by Audemars Piguet Starwheel ออกมาในวันนี้ นอกจาก
Audemars Piguet จะได้หยิบกลไกอันซับซ้อนที่น้อยคนจะรู้จักมาใช้ใหม่อีกครั้ง ยังนับเป็นการยกย่องขั้นตอนการสร้างสรรค์เรือนเวลาที่สืบสานมาเดิมด้วยวิธีการที่มีความร่วมสมัยยิ่งขึ้นด้วย
“กลไก wandering hours ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1655 ตามความต้องการของพระสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 7 ซึ่งประสบกับปัญหาของโรคนอนไม่หลับที่กำเริบมากขึ้นเนื่องจากเสียงติ๊กของนาฬิกา Audemars Piguet หยิบกลไกนี้มาใช้อีกครั้งในปี 1991 โดยผสมผสานประวัติศาสตร์ ความท้าทายด้านเทคนิค การออกแบบ และความงดงามราวบทกวีเข้าด้วยกัน” Sébastian Vivas ผู้อำนวยการฝ่ายประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ Audemars Piguet กล่าว
รายละเอียดด้านเทคนิค : Code 11.59 by Audemars Piguet Starwheel
- รหัสรุ่น : 15212NB.OO.A002KB.01
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 41 มิลลิเมตร
- ความหนา : 10.7 มิลลิเมตร
- โครงสร้างตัวเรือน : ตัวเรือนส่วนกลางและเม็ดมะยมเซรามิกสีดำ ขอบตัวเรือน ขานาฬิกา และฝาหลังไวท์โกลด์ 18 กะรัต
- กระจก : แซฟไฟร์ทรงโค้ง 2 ชั้น ฝาด้านหลังประดับแซฟไฟร์
- หน้าปัด : Aventurine สีน้ำเงิน ดิสก์วงกลมอลูมิเนียมสีดำเงา เข็มนาฬิกาไวท์โกลด์ 18 กะรัต และขอบตัวเรือนด้านในสีดำ
- ฟังก์ชั่น : กลไกการจับเวลาชั่วโมง นาที และเข็มวินาทีกลางหน้าปัด
- สายนาฬิกา : สายเคลือบยางสีดำมีลวดลาย พร้อมตัวล็อกแบบกลัดไวท์โกลด์ 18 กะรัต
- กลไก : อัตโนมัติ คาลิเบอร์ 4310
- ความถี่ : 4 Hz (28,800 ครั้ง/ชั่วโมง)
- กำลังสำรอง : 70 ชั่วโมง
- การกันน้ำ : 30 เมตร
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline