Citizen Promaster Tsuno Chronograph Racer งาน Re-Issue ที่น่าประทับใจ

0

เล็งเอาไว้ตั้งนานในที่สุดเราก็ได้เจ้าCitizen Promaster Tsuno Chronograph Racer มาอยู่ในครอบครอบ และเป็นรุ่นหน้าปัดส้ม AV0078-04X ที่ผลิตจำกัดเพียง 1,973 เรือน และต้องบอกว่าเป็นงาน Re-Issue ที่น่าประทับใจอย่างมาก แม้ว่าจะไม่ได้ติดตั้งกลไกอัตโนมัติเหมือนกับรุ่นแรก

- Advertisement -

Citizen

Citizen Promaster Tsuno Chronograph Racer งาน Re-Issue ที่น่าประทับใจ

  • นำความโด่งดังของรุ่น Tsuno Chrono Challenge Timer ในปี 1973 มาผลิตใหม่

  • ขยายขนาดตัวเรือนและเปลี่ยนมาใช้กลไกแบบ Eco-Drive เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของบริษัท

  • รอบแรกของการเปิดตัวมี 4 สี และมี 2 สีในนั้นเป็น Limited Edition ที่ผลิตรุ่นละ 1,973 เรือน

เมื่อต้นปี 2018 ตอนที่ Citizen(ซิติเซ็น) เผยข่าวที่ว่าจะปัดฝุ่นนำเจ้า Bullhead ซึ่งเป็นนาฬิกาจับเวลารุ่นดังในอดีตของพวกเขากลับมาทำตลาดใหม่อีกครั้ง พร้อมกับเผยภาพออกมาให้เห็นนั้น บอกเลยว่ายังไงก็ต้องโดน และหลังจากนั้นไม่นานบ้านเราก็มีเข้ามาขายเช่นกัน เพียงแต่ว่าทาง ซิติเซ็น เลือกที่จะเปิดตัวรุ่นพิเศษที่เป็นตัวเรือนรมดำในชื่อ Dark Rider

และผลิตจำกัดซึ่งถูกผลิตขึ้นมาในวาระของการฉลองครบรอบ 100 ปีของแบรนด์ แทนที่จะเป็นตัวรุ่นธรรมดาที่มีหน้าตาและสีสันโดดเด่นโดนใจมากกว่า ซึ่งตอนนั้นผมก็ต้องจัดการตามฝันแบบขัดใจเล็กๆ แต่สุดท้ายก็ต้องจัดอีกรอบและเลือกเอากับรุ่นที่เล็งเอาไว้ตั้งแต่แรก นั่นคือ Promaster Tsuno Chronograph Racer AV0078-04X

Citizen Promaster Tsuno Chronograph Racer คือ ชื่อเรียกของนาฬิกาเรือนนี้ โดยเป็นงาน Re-Issue ที่สร้างจากรุ่นคลาสสิคของพวกเขาคือ Tsuno Chrono Challenge Timer ผลิตออกขายเมื่อปี 1973 โดยคำว่า Tsuno มีความหมายเป็นว่า Horn หรือ เขา ซึ่งเปรียบเสมือนกับการเรียกนาฬิการุ่นนี้ที่มี Pusher หรือปุ่มกดในระบบจับเวลา และเม็ดมะยมวางเอาไว้ที่ในตำแหน่ง 12 นาฬิกาทำให้ดูคล้ายกับวัวจนเป็นที่มาของคำว่า Bullhead

CitizenCitizen

ตอนที่ ซิติเซ็น เปิดตัว Tsuno แบบ Re-Issue ออกมา ตอนนั้นถือว่ากระแสมาแรงและได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะรุ่นดั้งเดิมในปี 1973 นั้นถือว่าเป็นนาฬิกายอดนิยมรุ่นหนึ่งของตลาด เพราะนอกจากจะดีไซน์สวย ฟังก์ชั่นเจ๋ง (มีระบบ Flyback มาให้ด้วย) ยังถือว่ามีราคาอยู่ในระดับที่จับต้องได้ และตรงนี้ได้ส่งผลต่อเนื่องมายังผลผลิตใหม่ที่ถูกสร้างบนพื้นฐานของ Tsuno Chrono Challenge Timer

สำหรับCitizen Promaster Tsuno Chronograph Racer นั้น ในเรื่องของหน้าตาและขนาด บอกเลยว่าสอบผ่านและถูกจริตคนที่ชอบอะไรแปลกๆ และโดดเด่นในราคาที่จับต้องได้อย่างผม พวกเขาคงรูปแบบและรูปทรงของงานดั้งเดิมในปี 1973 เอาไว้ แต่มีการปรับภาพรวมให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาด เช่น ขนาดตัวเรือน กลไก และดีไซน์บนหน้าปัด

ในแง่ของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง จากรุ่นดั้งเดิมอยู่ที่ 38 มิลลิเมตรมาอยู่ที่ 45 มิลลิเมตร แต่ก็ไม่ได้ใหญ่หรือเทอะทะอะไร เพราะเป็นนาฬิกาไม่มีขา ที่อาจจะติดสำหรับบางคนคงเป็นเรื่องของความหนา เพราะดูจากสเป็กบนเว็บตัวเลขอยู่ในระดับ 16 มิลลิเมตรเลยทีเดียว แต่ส่วนตัวผมไม่ได้ติดอะไรในตรงนี้อะไร และไม่ได้รู้สึกว่ามันจะเทอะทะเมื่อดูแค่ตัวเลขเพียงอย่างเดียว

ส่วนค่า Lug to Lug ที่อาจจะกังวลในเรื่องความยาวที่อาจจะทำให้ล้นข้อนั้น ก็ลืมไปได้เลย เพราะด้วยความที่เป็นนาฬิกาไม่มีขา ตัวเลขตรงนี้เลยอยู่ที่ 48 มิลลิเมตร ดังนั้นเหมาะกับทุกขนาดข้อมือ (ที่เป็นไซส์มาตรฐาน) อย่างแน่นอน ผมว่าระดับ 6 นิ้วก็น่าจะรับมือกับนาฬิการุ่นนี้ไหว

วัสดุที่ผลิตตัวเรือนของCitizen Promaster Tsuno Chronograph Racer มีทั้งสตีล และไทเทเนียม แต่ถ้าเป็นรุ่นพื้นฐานทั้งหมดผลิตด้วยสตีล ยกเว้นบางรุ่นเช่นหน้าเขียว AV0081-51X ที่เป็นไทเทเนียม สำหรับรุ่น AV0078-49X ที่ผมเล็งเอาไว้นั้น แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มของรุ่นพื้นฐานที่ถูกผลิตออกมา

แต่ก็เป็นรุ่นที่ผลิตจำกัด เพราะฝาหลังมีการสลักทั้งคำว่า Limited Edition และจำนวนเรือนที่ผลิตออกมา ซึ่งนั่นเท่ากับว่าในล็อตแรกของCitizen Promaster Tsuno Chronograph Racer มี 2 รุ่นที่ไม่จำกัดนั่นคือ AV0071-57L (หน้าปัดน้ำเงิน) และ AV0071-03A (หน้าปัดขาว-แดง) ส่วนรุ่นผลิตจำกัด คือ AV0078-04X (หน้าส้ม) และ AV0079-01A (หน้าครีม-น้ำตาล) ซึ่งรุ่นหลังเริ่มหายากในตลาดแล้ว แต่ก็ไม่ถึงกับยากจนถึงขั้นงมเข็มในมหาสมุทร แต่อนาคตเชื่อว่าน่าจะยากอย่างแน่นอน เพราะหน้าตาและสีสันที่ดูดีที่สุดในรุ่น

Citizen

แน่นอนว่าการเปลี่ยนตำแหน่ง Pusher และเม็ดมะยมจากฝั่งขวาของนาฬิกา (เมื่อสวมอยู่บนข้อมือซ้าย) มาอยู่ในตำแหน่ง 12 นาฬิกานั้น อาจจะสร้างความแปลกและแตกต่างในแง่ของการมองเห็น แต่ในเรื่องการใช้งานแล้ว ต้องบอกว่าลำบากเอาเรื่องเหมือนกันถ้าต้องทำโดยที่นาฬิกาอยู่บนข้อมือโดยเฉพาะในเรื่องของการทำธุรกรรมกับเม็ดมะยม แต่ยังดีที่Citizen Promaster Tsuno Chronograph Racer เป็นนาฬิกาควอตซ์แบบกินแสง ก็เลยหมดปัญหาเรื่องของการตั้งเวลาเหมือนกับพวกกลไก

ที่จะมีก็คือ ตัว Pusher ของระบบจับเวลา โดยเฉพาะปุ่ม Start ซึ่งเรือนที่ผมได้มานั้นแข็งเอาเรื่อง ชนิดที่ต้องออกแรงกดมากเป็นพิเศษ แต่หลังจากที่กด Start และกด Stop ก่อน Reset กลับกดง่ายมาก ก็ไม่รู้ว่าเป็นเฉพาะเรือนผม หรือว่าเป็นธรรมดาของนาฬิกาแบบ Bullhead ที่มี Pusher เป็นปุ่มกดแหลมเป็นแท่งขึ้นมา

ส่วนปุ่มที่อยู่ในตำแหน่ง 5 นาฬิกานั้นเป็นปุ่มสำหรับใช้ในการกดเพื่อตั้งเวลาปลุก โดยใช้เข็มพิเศษซึ่งติดอยู่ตรงกลางหน้าปัดในตำแหน่งเดียวกับเข็มนาที ชั่วโมง และเข็มจับเวลา วิธีใช้ไม่ยาก แค่ดึงขึ้นเป็นการตั้งเวลาปลุกซึ่งเข็มสามารถหมุนได้ 2 ทิศทาง ขณะที่การสั่งให้ระบบทำงานก็ใช้ปุ่มเดียวกันนั้นแหละ กดลงไป จากนั้นเข็มบนหน้าปัดย่อยในตำแหน่ง 5 นาฬิกาที่มีคำว่า On/Off ก็จะชี้บอกว่าตอนนี้ระบบปลุกทำงานอยู่หรือเปล่า ส่วนเรื่องเสียงปลุกนั้นถือว่าใช้ได้ แม้จะไม่ดังมาก แต่ก็ดังพอที่จะเตือนให้รู้

ถ้าอ่านบทความที่ผมรีวิวมาก่อนหน้านี้กับตัวฉลอง 100 ปีที่มีชื่อเล่นว่า Dark Rider ผมก็ยังยืนยันเรื่องเดิมคือ เสียความรู้สึกกับความประหยัดในการนำเอากลไกเก่าที่อยู่ในตลาดมาหลายปีอย่าง E210 ซึ่งอยู่ในนาฬิกาตระกูล AV มาใช้ น่าจะเอาอะไรที่มันไฮเทคกว่านี้หน่อย โดยทาง Citizenเล่นง่ายในการหมุนตำแหน่งการวางกลไกแบบทวนเข็มนาฬิกาไป ¼ รอบ ทำให้ Pusher และเม็ดมะยมจากเดิมอยู่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา ขยับขึ้นไปอยู่ในตำแหน่ง 12 นาฬิกา

ตรงนี้ส่งผลในเรื่องการวางของหน้าปัดย่อย รวมถึงช่องวันที่ที่จะต้องเปลี่ยนตำแหน่งตามไปด้วย และเราจึงได้เห็นช่องวันที่กระโดดไปอยู่ในตำแหน่ง 1.30 นาฬิกา ขณะที่การจัดเรียงหน้าปัดย่อยต่างๆ ก็ขยับตามไปด้วย เช่น มาตรวัดระดับพลังงานมาอยู่ในตำแหน่ง 9 นาฬิกา เข็มวินาทีของระบบเวลาหลักอยู่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา และตำแหน่ง 6 และ 12 นาฬิกาแสดงเวลาที่ถูกใช้ในระบบขจับเวลา ซึ่งCitizen Promaster Tsuno Chronograph Racer จับเวลาได้สูงสุด 12 ชั่วโมง

กลไกรุ่นนี้สามารถสำรองพลังงานได้นานระดับหนึ่งเลย ถ้าถูกชาร์จจนเต็มจะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องโดนแสงอาทิตย์หรือแสงไฟนานถึง 7-8 เดือน

ในเรื่องการสวมใส่เวลาอยู่บนข้อมือนั้น ต้องบอกว่าผมค่อนข้างแฮปปี้มากกับเจ้าCitizen Promaster Tsuno Chronograph Racer แม้ว่าในช่วงแรกจะต้องคอยจับนาฬิกาบ่อย เพราะความแข็งของสายที่ยังไม่โค้งตามรูปข้อมือของผม และความพอดีของรูปสายกับข้อมือยังไม่ลงตัว เพราะยังหา ‘รู’ บนสายยาวที่เหมาะสมไม่เจอ แต่เมื่อใช้เวลาสักพัก ทุกอย่างลงตัวและถือเป็นนาฬิกาที่สวยมากเวลาอยู่บนข้อมือแบนๆ ของผม ยกเว้น 2 เรื่องที่ชวนรำคาญใจ คือ

อย่างแรกคือ ตัวรัดสายที่ให้มามีแค่ห่วงเดียว และดูบอบบางเหลือเกิน จนผมละกังวลว่ามันจะขาดเอาเมื่อไร ส่วนอีกข้อคือความยืดหยุ่นในการหาสายทดแทนในกรณีที่คันมืออยากเปลี่ยนสาย ซึ่งดูแล้วช่างไทยทำได้ แต่คงมีบ่นลับหลังผมแน่นอนว่าเอางานอะไรมาให้ทำอีกละ และถ้าจะทำคงต้องทิ้งนาฬิกาเอาไว้เพื่อจะได้ตัดสายที่ลงตัวและพอดีกับตัวเรือนและ End Link ซึ่งตอนนี้ผมวางแผนเอาไว้ละว่าจะขอใส่ให้เบื่อก่อน เมื่อไรที่เริ่มมีความคิดว่าจากกันได้แล้วค่อยส่งไปให้ช่างที่คุ้นเคยจัดการตัดสายสวยๆ มาใส่แทน

Citizen

อย่างที่บอกว่านาเสียดายที่ตลาดบ้านเรากลับไม่มีทางเลือกของCitizen Promaster Tsuno Chronograph Racer มาให้สัมผัสมากนัก ดังนั้น ลูกค้าส่วนใหญ่ทั้งขาจรและขาประจำของ Citizenก็เลยต้องพึ่งพาการนำเข้าเอง ซึ่งตัวผมเองก็เช่นกัน เพราะจนปัญญาที่จะหาเจ้านี่จากตัวแทนจำหน่ายในบ้านเรา ทั้งที่ส่วนตัวแล้วผมว่า Promaster Tsuno Chronograph Racer เป็นนาฬิกาที่ดีและน่าเสียเงินให้เป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่นับจุดที่ผมบ่นๆ ไปในช่วงแรกๆ ของบทความ

ส่วนใครที่อ่านเสร็จแล้วอยากได้ ต้องบอกว่า ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ และคงต้องหาที่พึ่งในการเติมเต็มความต้องการของตัวเองให้เป็นจริงกันเอาเองนะครับ

ข้อมูลทางเทคนิค

  • รหัสรุ่น : AV0078-04X
  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 45 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 48 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 16 มิลลิเมตร
  • การกันน้ำ : 200 เมตร
  • กระจก : Sapphire
  • วัสดุตัวเรือน : สแตนเลส สตีล
  • กลไก : E210 แบบ Eco-Drive ชาร์จพลังงานผ่านแสงอาทิตย์
  • ฟังก์ชั่น : จับเวลาสูงสุด 12 ชั่วโมง / แสดงวันที่ / Power Reserve Indicator / ตั้งปลุก
  • ประทับใจ : ดีไซน์ ขนาด เรื่องราวและความเป็นมา
  • ไม่ประทับใจ : รูปแบบของสาย ปุ่ม Start/Stop กดยากในตอนเริ่มจับเวลา