ตอนที่ทราบข่าวว่า Citizen จะมีผลผลิตใหม่จากการ Collaboration กับ Evangelion แน่นอนว่า ผมเริ่มอยู่ไม่สุข และมองหาลู่ทางในการสานฝันให้เป็นจริง และในที่สุด Citizen Promaster Skyhawk JY8138-61E ก็เดินทางมาถึงมือ และบอกเลยว่าเป็นการรอคอยที่คุ้มค่ามาก
Citizen Promaster Skyhawk JY8138-61E ไม่ผิดหวังกับการรอคอย
-
ผลงาน Collaboration ของ Citizen กับอนิเมะเรื่องดัง Evangelion
-
ใช้พื้นฐานของนาฬิการุ่น Promaster Skyhawk GEN4 และใช้สีสันของหุ่น EVA-01
-
มาพร้อมแพ็คเกจอลังการและเป็นเวอร์ชันที่ผลิตขายในเมืองจีน
ตอนที่วางแผนเอาไว้ว่าผมจะต้องมีนาฬิกาจากคอลเล็กชั่น Skyhawk GEN4 ผมคิดว่าคงจบตรงนี้เวอร์ชัน Blue Angles ที่คุ้นเคยเหมือนเดิม แต่สุดท้าย น่าจะเรียกว่าโชคดีที่ไม่ลั่นกระสุนออกไปก่อน เพราะทาง Citizen ในจีนเปิดตัวเวอร์ชัน Citizen x Evangelion ออกมา และแน่นอนว่าในฐานะของแฟนตัวยง
ก็เลยเปลี่ยนเป้าหมายมาจบที่ Citizen Promaster Skyhawk JY8138-61E แทน และบอกเลยว่า นาฬิการุ่นนี้เป็นการ Collaboration ที่ถูกจริตอย่างมาก
สำหรับแฟนๆ ของ Citizen โดยเฉพาะในกลุ่ม Promaster ผมเชื่อว่า หลายท่านจะต้องชื่นชอบนาฬิกาในกลุ่ม Air ของพวกเขา โดยเฉพาะ Skyhwak ที่ถือว่าเป็นรุ่นท็อปของบรรดานาฬิกาที่มีชื่อลงท้ายด้วย hawk สำหรับผมชื่นชอบคอลเล็กชั่นนี้อยู่แล้ว และยังนึกเสียดายไม่หายที่อุตสาห์สั่ง GEN 2 เข้ามาเรือนหนึ่งแล้วเพื่อใช้งานเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ดันขายกินไปซะแล้ว
Skyhawk ถือเป็นนาฬิกาในกลุ่ม Air ของ Citizen ที่ทำตลาดออกมาอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2000 เพื่อเป็นนาฬิกาแห่งศตวรรษที่ 21 โดยเป็นคอลเล็กชั่นที่แตกออกมาจาก Navihawk ที่เปิดตัวในปี 1994 และถือว่าเป็น Tool Watch ที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองในด้านความคุ้มค่าในการใช้งานของนักบิน
ในรูปแบบของกลไกแบบ 2 ระบบ คือ Analog และ Digital พร้อมกับ Slide Rule เพื่อให้นักบินสามารถใช้งานได้ เรียกว่าในฟังก์ชั่นที่คล้ายกับ Breitling คุณจ่ายถูกกว่าเยอะ ถ้าไม่นับเรื่องภาพลักษณ์หรือแบรนด์
จริงๆ แล้ว Skyhawk มีการเปิดตัว GEN 5 ออกมาแล้วในปี 2022 แต่ในเวอร์ชัน Citizen x Evangelion พวกเขายังเลือกใช้การ Collaboration กับรุ่นที่ 4 อยู่ ซึ่งส่วนตัวไม่ได้ติดอะไรอยู่แล้ว เพราะเป็นนาฬิกาที่อยากได้ และก็ดีเสียอีกที่จะได้ปันงบฯ เอาไปลงที่เวอร์ชัน Blue Angles ของ GEN 5 แทน
Citizen x Evangelion เป็นคอลเล็กชั่นใหม่ล่าสุด มีขายในประเทศจีนเท่านั้น และก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Citizen ทำการ Collaboration กับอนิเมะเรื่องนี้ พวกเขามีผลิตออกมาก่อนหน้านี้กลายรุ่นทั้งกับ Aqualand, Tsuno Chrono ที่เป็นรุ่น 38 มิลลิเมตร และ Digi-Temp ส่วน Skyhawak GEN4 เองก็ไม่ใช่ครั้งแรก
เพราะก่อนหน้านี้ก็มีผลิตเวอร์ชันญี่ปุ่นออกมาในชื่อ Sony Wena 3 Evangelion NERV EDITION ที่ใช้พื้นฐานของ Skyhawk GEN 4 เช่นกัน และมีการผลิต 1,000 เรือนสำหรับรุ่นธรรมดา และ 300 เซ็ตสำหรับรุ่นพิเศษที่มีนาฬิกา Wena 3 ของ Sony แถมมาให้ด้วย ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2022
Citizen เปิดตัวออกมา 2 รุ่นตามที่เราเคยนำเสนอเรื่องราวไปก่อนหน้านี้ โดยจะมี JY8138-61E ที่เป็น EVA-01 หรือ หมายเลข 1 ของชินจิ และ JY8139-68E ที่เป็น EVA-02 หรือ หมายเลข 2 ของอาสึกะ บอกเลยครับว่าสวยทั้ง 2 รุ่น แต่ในเมื่อมีงบก้อนเดียวผมต้องเลือกเอาสิ่งที่โอเคที่สุดคือ EVA-01 ที่มากับสีม่วงเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและถูกจดจำได้มากที่สุด
แม้ว่าเสียงกระซิบข้างหูจากแฟนตัวยงที่นั่งอยู่ข้างกายจะบอกว่าให้เอา EVA-02 เพราะแคเร็กเตอร์ของอาสึกะในอนิเมะเจ๋งมาก และหุ่น EVA-02 ก็แจ่มกว่า … เธอว่ามาอย่างนั้น แต่ผมก็ต้องตัดสินใจเลือก EVA-01 เพราะชอบมากกว่า
ตัวนาฬิกามากับกับแพ็คเกจอลังการ เป็นกล่องแบบพิเศษที่มีตัวล็อกด้านหน้า และมีภาพของชินจิ นักบินของ EVA หมายเลข 1 เมื่อเปิดออกมา จะพบกับตัวนาฬิกา มาพร้อมของที่ระลึกนั่นคือ หอกลองกินุส และสายหนังสีดำเดินด้ายม่วงรับกับสีสันบนตัวเรือนเพิ่มมาให้อีกเส้น
Skyhawk GEN4 ที่นำมาใช้กับรุ่นนี้มากับตัวเรือนเคลือบดำ ออกสีดำเงาๆ หน่อย ซึ่งส่วนตัวไม่ถึงกับชอบมาก ถ้าเป็นดำด้านอาจจะแจ่มกว่านี้ แต่โดยรวมก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกขัดตาอะไร ขณะที่การตกแต่งรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่บนตัวนาฬิกานั้นดำ ม่วง และเขียวสดเป็นสีหลักในการเลือกแต่งตามจุดต่างๆ ของตัวนาฬิกา
เช่น ปีกด้านข้างของขอบตัวเรือน อินเนอร์ริงในหน้าปัด และรายละเอียดบนวงหน้าปัดย่อย เรียกว่าไม่ได้เยอะ แต่ดูกำลังดี และทำให้นาฬิกาไม่มีสีสันเยอะจนเกินงาม ขณะที่เรื่องการใช้งานฟังก์ชั่น Slide Rule ผ่านทางขอบตัวเรือนที่หมุนได้ 2 ทางนั้น บอกคำเดียวว่า ให้ลืมไปได้เลย นอกจากคุณจะมีสายตาที่ดีมากๆ เพราะตัวเลขบนสเกลต่างๆ มากับสีดำ
สิ่งที่ผมค่อนข้างชอบในนาฬิกาเรือนนี้คือ พวกเขาตั้งใจทำให้มีความพิเศษและสอดรับกับคอนเซ็ปต์ของหุ่นแต่ละตัว บนหน้าปัดมีเลย์เอาท์ที่เหมือนกับ Skyhawk GEN4 ก็จริง แต่มีการปรับรายละเอียดของหน้าปัดย่อยใหม่หมด และสอดคล้องกับดีเทลที่อยู่ในอนิเมะ เรียกว่าบางรายละเอียดที่สามารถพบเห็นทั่วไป
เช่น แถบสีเหลือง-ดำที่ถูกกำหนดว่าเป็นพื้นที่อันตรายตามโรงงานและเราสามารถพบได้จากอนิเมะหุ่นยนต์เรื่องต่างๆ เช่นกัน แต่พอมาอยู่ในนาฬิกาเรือนนี้กลับทำให้ผมรู้สึกว่า มันคือ เอกลักษณ์ที่เป็นของ Evangelion นะ หรือหน้าปัดย่อยในตำแหน่ง 6 นาฬิกาที่ตามปกติแล้วจะเป็นตัวบอกฟังก์ชั่นว่านาฬิกาอยู่ในโหมดอะไร
ก็มีการปรับให้เป็นหน้าจอในค็อกพิทของนักบิน EVA ส่วนฝาหลังก็มีการสกรีนสัญลักษณ์ของ NERV ที่มากับสีม่วง ทั้งหมดถือเป็นกิมมิกเล็กๆ แต่กลับทำให้นาฬิกามีความโดดเด่น
นอกจากนั้น บนหน้าปัดของนาฬิการุ่น Citizen x Evangelion ยังมีการปรับเปลี่ยนใหม่ ด้วยการถอดตัวเลข 3-6-9 ที่ประจำอยู่ตามหลักชั่วโมงสำคัญๆ บนหน้าปัดในนาฬิการุ่นปกติออกไป ก็เลยทำให้ภาพรวมที่เราวสามารถมองเห็นจากหน้าปัดมีความสวยและลงตัวขึ้น
ถ้าคุณคุ้นเคยกับนาฬิกาตระกูลที่มีชื่อ hawk ต่อท้ายทั้งหลายของ Citizen การใช้งานและการดูรายละเอียดบนหน้าปัดนาฬิกาไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะตามปกติแล้ว หลายรุ่นที่เป็นแบบ ANA-Digi จะใช้โมดุลร่วมกัน ซึ่งในกรณีของ Skyhawk GEN4 คือ โมดุล U680 ที่ถูกใช้มาตั้งแต่ GEN 3 ที่เปิดตัวในปี 2016 และเป็นการปรับปรุงมาจาก U600 ที่อยู่ใน GEN 2 ซึ่งก็มีเลย์เอาท์และฟังก์ชั่นที่ไม่ได้ต่างกันมากนัก
บนหน้าปัดในตำแหน่ง 12 นาฬิกาจะถือเป็นหน้าปัดในการแสดงเวลาแบบ 24 ชั่วโมงของ UTC ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับนักบินในการดูเวลาเชิงพิกัดสากล ซึ่ง UTC คือ เวลาต้นทางที่กรีนิช ซึ่งเป็น UTC0 นั่นเอง เช่น บนหน้าปัดหลักเป็นเวลากรุงเทพ 10.00 น. หน้าปัด UTC ก็จะเป็นเวลา 03.00 น.
ฝั่งขวาในตำแหน่ง 2 นาฬิกาจะเป็นหน้าปัดในการบอกเวลา 12H หรือ 24H เพื่อระบุว่าเวลาที่อยู่บนหน้าปัดหลักเป็นเวลา AM/PM เดินแบบ 24 ชั่วโมงหรือรอบหน้าปัดเดียวเช่นกัน ไล่ลงมาที่หน้าจอดิจิตอลในตำแหน่ง 4 นาฬิกา คือ หน้าปัดในการเซ็ตเวลา บอกวันที่ จับเวลา บอกเวลาที่ 2 ฯลฯ และจะทำงานสัมพันธ์กับหน้าจอแถบเล็กๆ ในตำแหน่ง 8 นาฬิกากรณีที่มีการสลับไปมาในการแสดงเวลาของ 2 เมืองที่เราเซ็ตเอาไว้
หน้าปัด 6 นาฬิกาเป็นการบอกว่าตอนนี้นาฬิกาอยู่ในโหมดฟังก์ชั่นอะไร ส่วนหน้าปัด 10 นาฬิกานอกจากจะเป็นตัว Power Reserve Indicator ในช่วงปกติแล้ว จะทำหน้าที่ในการระบุเสาเพื่อรับสัญญาณวิทยุ หรือ Radio Controlled เพื่อปรับความเที่ยงตรงของเวลาเมื่อเราอยู่ในประเทศจีน ญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรปบางส่วนที่มีเสาวิทยุเหล่านี้อยู่ คล้ายกับระบบ Multiband ของ Casio
การใช้งาน และการเซ็ตฟังก์ชั่นเหล่านี้ไม่ยุ่งยาก แต่ต้องนั่งอ่านแมนนวลกันสักหน่อย ซึ่งหาตามอินเตอร์เน็ตมีเพียบทั้งในรูปแบบของ PDF และคลิปวีดีโอ
ซึ่งถ้าคุณเข้าใจแล้ว บอกเลยว่า จะสามารถเซ็ตนาฬิกาในกลุ่มนี้ที่ใช้โมดุลในตระกูลนี้ได้หมดทุกเรือน เพราะรูปแบบไม่มีอะไรซับซ้อน และส่วนใหญ่แล้วจะมีโฟลว์ของกระบวนการทำงานที่เหมือนกัน
มาถึงเรื่องการสวมใส่ กับตัวเรือนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 46 มิลลิเมตร และหนา 14 มิลลิเมตร หลายคนอาจจะบอกว่าใหญ่ แต่ผมก็คงต้องบอกอย่างนี้ว่า มันเป็นขนาดปกติของนาฬิกาสปอร์ตในกลุ่ม Promaster อยู่แล้ว
แต่ข้อดี คือ นาฬิกาเรือนนี้มี Lug to Lug หรือความยาวของตัวนาฬิกาเมื่อวัดจากปลายขาสายด้านหนึ่งลงมาที่ปลายอีกด้านหนึ่ง อยู่ที่ 49 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าไม่เยอะมากเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขเส้นผ่านศูนย์กลาง
เรียกว่าเมื่ออยู่บนข้อมือในระดับ 7 นิ้วของผมถือว่ากำลังดี ไม่ยื่นและยาวออกมา เรียกว่ายังเหลือพื้นที่ให้โชว์สายได้อีกระดับหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าข้อมือในระดับ 6.5 นิ้วขึ้นไปน่าจะใส่แล้วสวย แต่ถ้า 6 นิ้วอาจจะดูล้นนิดๆ
โดยสรุป Citizen Promaster Skyhawk JY8138-61E คือ การเติมเต็มในคอลเล็กชั่น Skyhawk ของผมได้อย่างลงตัว นาฬิกาโดดเด่นในแง่ดีไซน์และฟังก์ชั่นอยู่แล้ว แถมยิ่งเป็นการสร้างสรรค์จากการ Collaboration กับอนิเมะที่ชอบด้วยแล้ว งานนี้ยิ่งช่วยเพิ่มระดับ ‘สิ่งที่จะต้องมี’ ให้สูงขึ้นจนกลายเป็น Wish List ในอันดับต้นๆ เลย
รายละเอียดทางเทคนิค : Citizen Promaster Skyhawk JY8138-61E
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 46 มิลลิเมตร
- ความหนา : 14 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือนและสาย : สแตนเลสสตีลเคลือบดำ
- กระจก : Sapphire เคลือบสารกันการสะท้อนแสง
- กลไก : ควอตซ์-ดิจิตอล Ecodrive รหัส U680
- ฟังก์ชั่น : บอกเวลาที่ 2 / จับเวลาเดินหน้า / จับเวลาถอยหลัง
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ แพ็คเกจ คอนเซ็ปต์ตัวนาฬิกา และฟังก์ชั่น
- ไม่ประทับใจ : ไม่มี
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline