Citizen ผลิตนาฬิกาเจ๋งๆ ออกสู่ตลาดมากมายหลายรุ่น และต้องยอมรับว่า Promaster ของพวกเขาเป็นนาฬิกาที่ถูกพัฒนามาเพื่อการใช้งานจริงๆ ทั้งบนบก ในน้ำ หรือบนอากาศ ซึ่งเจ้า Citizen Promaster Satellite Wave CC7014-82E เป้นนาฬิกา ระดับเจ๋งของ Citizen ที่มากับเทคโนโลยี Satellite Wave GPS ตัวเรือนและสายผลิตจาก Super Titanium มีความเบาและทนทานต่อการขูดขีด และขับเคลื่อนด้วยกลไก F990 ปรับสัญญาณผ่านคลื่นดาวเทียมช่วยเพิ่มความสะดวกสำหรับนักเดินทาง
Citizen Promaster Satellite Wave CC7014-82E ความยอดเยี่ยมที่รวมอยู่บนข้อมือ
-
Tool Watch ระดับเจ๋งของ Citizen ที่มากับเทคโนโลยี Satellite Wave GPS
-
ตัวเรือนและสายผลิตจาก Super Titanium มีความเบาและทนทานต่อการขูดขีด
-
ขับเคลื่อนด้วยกลไก F990 ปรับสัญญาณผ่านคลื่นดาวเทียมช่วยเพิ่มความสะดวกสำหรับนักเดินทาง
ถ้าพูดถึงความเจ๋งแล้ว ผมคิดว่านาฬิกาของ Citizen มีอะไรที่น่าสนใจและถูกจริตผมค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เพียงแต่ในแง่ภาพรวมของการทำตลาดเมืองไทย ด้วยความที่เน้นไปในเรื่องของการกินแสงอย่าง Eco-Drive เป็นหลัก ก็เลยไม่ตรงใจคนไทยที่เอะอะอะไรก็นาฬิกาออโต้ แถมราคาป้ายของนาฬิกา Citizen บางรุ่นถือว่าค่อนข้างสูง คนก็เลยเลือกที่จะหันหลังให้
แต่เอาเถอะผมไม่ยึดติดเกี่ยวกับเรื่องของกลไกอยู่แล้ว และชอบที่จะใส่นาฬิกาที่ถูกใจตัวเองมากว่าถูกใจตลาดมือสอง และเชื่อว่าคนคิดอย่างนี้ในโลกคงมีเยอะเหมือนกันไม่อย่างนั้น Citizen คงไม่ผลิตเจ้า Promaster Satellite Wave CC7014-82E ที่มีค่าตัวเกินหลักแสนบาทออกมาทำตลาดอย่างแน่นอน
รสนิยมส่วนตัวของผมอาจจะค่อนข้างแปลกๆ ผมชอบนาฬิกาที่จะต้องมีอะไรสักอย่างเป็นจุดเด่น ไอ้พวกหน้าปัดเรียบๆ เข็มน้อยๆ เน้นความสวยงามเพราะช่างฝีมือ ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยได้กินเงินผมสักเท่าไร…ไม่ใช่ว่าไม่ชอบนะครับ แต่ด้วยงบจำกัดจำเขี่ยก็ต้องเลือกอันที่ชอบที่สุดหรือชอบมากกว่าแทน
เท่าที่จำความได้สมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ ผมมักจะไปยืนเกาะตู้ของ City Chain ที่เปิดร้านอยู่ในซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ สมัยนั้นพวกเขายังมีตู้ของ Citizen และนาฬิกาตระกูล Promaster โดยเฉพาะ Skyhawk เป็นอะไรที่ยั่วใจมาก หน้าปัดรกๆ เพราะมี Slide Rule ระบบซับซ้อนของกลไก Analog-Digital จนต้องอ่านแมนนวลเล่มหนายังกับหนังสือคู่มือรด. นั่นคือความตราตรึงใจที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังรสนิยมส่วนตัวในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับทำให้เกิดความชอบและนิยมนาฬิกาในกลุ่ม Promaster ของ Citizen มาโดยตลอด
ดังนั้น เมื่อ Citizen เปิดตัว Promaster Satellite Wave CC7014-82E ออกมาเมื่อปลายปี 2019 พร้อมกับรูปร่างหน้าตาที่โดนใจ ผมไม่รอช้าที่จะจับใส่ชื่อนี้เข้ามาอยู่ใน Wish List ของตัวเอง และใช้เวลาอีกร่วมๆ 3 ปีจนกระทั่งเจอดีลที่ดี และพากลับบ้านทันที ซึ่งจริงๆ แล้วนาฬิการุ่นนี้มีการเปิดตัวรุ่นพิเศษที่เป็นการฉลองครบรอบ 30 ปีของ Promaster ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2019 จากนั้นค่อยมีรุ่นธรรมดาตามมาในช่วงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
ราคาป้ายในบ้านเราอยู่ที่ 105,900 บาท (พิมพ์ไม่ผิด) จึงเป็นเรื่องยากที่ใครสักคนจะควักเงินระดับนี้เพื่อแลกกับนาฬิกาควอตซ์กินแสง ซึ่งแม้ว่าจะมีระบบ Satellite Wave หรือการปรับเวลาโดยอ้างอิงสัญญาณ GPS ติดตั้งมาด้วย แต่โอกาสที่จะได้ใช้คงยากถึงยากมาก นอกจากคุณจะอยู่ประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน อเมริกาหรือรัสเซีย ที่สามารถพบกับการข้ามโซนเวลาได้จากการเดินทางภายในประเทศ
ดังนั้น คุณจะต้องมีทั้งเงิน แพสชั่น และความกล้าที่โนสนโนแคร์เสียงคนรอบข้าง ซึ่งจริงๆ ผมมีครบทั้ง 3 ข้อนั่นแหละ เพียงแต่ข้อแรกจะมีน้อยที่สุด ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาเพื่อพบกับจังหวะที่เหมาะสม
Promaster Satellite Wave CC7014-82E เป็นนาฬิกาในกลุ่ม Air หรือ Sky ของ Promaster หรือนาฬิกาในกลุ่มนักบินนั่นเอง ซึ่งผมค่อนข้างชอบนาฬิกาในกลุ่มนี้ของพวกเขามาก เพราะถือเป็นนาฬิกาที่เท่สุดๆ หน้าปัดยุ่งๆ เพราะหน้าปัดย่อยเยอะแยะ บวกกับการมี Slide Rule เพื่อช่วยในการคำนวณค่าต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับนักบิน ทำให้ดูเป็น Tool Watch ในราคาที่จับต้องได้เมื่อเปรียบเทียบกับพวกสวิสส์แบรนด์
นาฬิกาเรือนนี้ถือว่าใหญ่ และหนาสำหรับคนที่มีข้อมือธรรมดา เพราะมาทั้งเส้นผ่านศูนย์กลางตัวเรือนในระดับ 47.2 มิลลิเมตร บวกกับความหนา 16.7 มิลลิเมตร และยังไม่นับ Lug to Lug ที่ยาวถึง 51 มิลลิเมตร ดังนั้น ใครมีข้อมือต่ำกว่า 7 นิ้วผมคิดว่าหมดสิทธิ์ที่จะใส่แล้วสวย ส่วนใส่ได้ไหม…ใส่ได้ แต่คงกางแน่ๆ แต่สำหรับผม ไม่มีปัญหา เพราะใส่นาฬิกาไซส์ใหญ่จนเคยตัว
ตัวนาฬิกาใช้วัสดุที่เรียกว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ Citizen คือ Super Titanium ซึ่งก็คือไทเทเนียมนั่นแหละแต่ผ่านกระบวนจัดการเพื่อลดข้อด้อยของไทเทเนียมอย่างเรื่องของการเกิดรอยง่าย ซึ่งตัว Citizen ได้ริเริ่มในการพัฒนาวัสดุอย่างไทเทเนียมตั้งแต่ปี 1970 และในปี 2000 พวกเขาเปิดตัว Super Titanium
ซึ่งมีขนาดเบากว่าสแตนเลสสตีล 60% ในรูปทรงและขนาดเดียวกัน พร้อมกับเพิ่มความทนทานต่อการขูดขีดด้วยการเคลือบผิวแบบ Duratect ซึ่งนับจากนั้น Citizen ก็พัฒนาวัสดุไทเทเนียมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับการเคลือบผิวที่เรียกว่า DuraTect MRK ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2006 และทั้งหมดถูกนำมาใช้กับ Citizen Promaster Satellite Wave CC7014-82E ทั้งตัวเรือนและสาย
สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบในตัวนาฬิกาเรือนนี้คือ รายละเอียดที่อยู่บนหน้าปัดนาฬิกา เช่น โซนเวลาต่างๆ ที่อยู่ขอบนอกหน้าปัด Slide Rule เพื่อใช้ในการคำนวณ เช่นเดียวกับตัวหน้าปัดที่มีการแบ่งเป็นชั้นๆ หรือ Layer ต่างๆ จนทำให้ดูมีมิติ โดยทาง Citizen ออกแบบให้การแสดงผลของ Mode ต่างๆ เปลี่ยนจากการใช้เข็มชี้มาเป็นจานหมุนแทน ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้กลไกใหม่ในรหัส F990 ที่เปิดตัวในปี 2018
บนหน้าปัดจะแบ่งเป็น 3 วงย่อย ในตำแหน่ง 3 นาฬิกาจะเป็นการแสดง Mode เพื่อให้ตัวนาฬิกาแสดงผล โดยการที่จะเลือกโหมดได้ต้องดึงเม็ดมะยมขึ้นมาในตำแหน่ง 1 นาฬิกาแล้วค่อยหมุนเพื่อเลือก ซึ่งก็แบ่งเป็น Time แสดงเวลา UTC การแสดงเวลา UTC หรือเวลาที่กรีนิช LLL แสดงระดับแบตเตอรี่ SET การตั้งเวลา ALM
การตั้งปลุก และ CHR ระบบจับเวลา โดยเมื่อหมุนเลือกแต่ละ Mode จานหมุนในตำแหน่ง 9 นาฬิกาก็จะเปลี่ยนไปตามให้สอดคล้องกับ Mode ที่ถูกเลือก เช่น ถ้าเลือก LLL จานหมุนตำแหน่ง 9 นาฬิกาก็จะหมุนเลือกสเกลที่เป็น E-F แสดงระดับแบตเตอรี่ขึ้นมาแทน ส่วนหน้าปัดย่อยในตำแหน่ง 6 นาฬิกาจะเป็นการแสดงเวลา UTC ในโหมด Time หรือเป็นการตั้งเวลาปลุกเมื่อเข้าสู่ Mode ALM
กลไกรุ่นนี้ใช้เวลา 3 วินาทีในการปรับเวลาหลังจากที่ได้รับสัญญาณ ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็วมาก สามารถเชื่อมต่อกับดาวเทียมทั้ง 4 ดวงเพื่อความเที่ยงตรงและแม่นยำในการปรับเวลาตามเขตโซนเวลา ซึ่งสามารถปรับเลือกได้ 27 เมืองสำคัญของโลก มีความเที่ยงตรงระดับ +/-5 วินาทีต่อเดือน และเมื่อชาร์จแบตเตอรี่จนเต็มจะสามารถอยู่ได้นานถึง 5 ปีได้โดยไม่ต้องโดนแสงเมื่อเข้าสู่โหมด PS หรือ Power Save ถือว่าเป็นสเป็กที่น่าทึ่งอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องแบตเตอรี่ที่ตามปกติแล้วเราจะเจอกันเต็มที่ก็แค่ 2 ปีภายใต้เงื่อนไขของการทำงานแบบเดียวกัน
นอกจากนั้น การ Sync ของเวลา ยังทำได้ผ่านทาง Radio Wave ด้วย สำหรับเมืองที่มีเสาวิทยุในการส่งกระจายคลื่นออกมาที่มีทั้งหมด 6 เสาทั่วโลก และในเมืองไทยไม่มี หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อสามารถ Sync หรือปรับเวลาได้จากการรับสัญญาณดาวเทียมแล้ว และจะมานั่งกังวลเกี่ยวกับเรื่องของการปรับเวลาให้มีความเที่ยงตรงในหน่วยย่อยของวินาทีด้วยคลื่นวิทยุทำไม ?
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความยุ่งเหยิงของสเกลต่างๆ บนหน้าปัด มีอยู่อย่างหนึ่งมี่ขัดใจมากๆ เลยก็คือ การสลักข้อมูลเอาไว้บนขอบตัวเรือนบางๆ ที่มีสีดำ ข้อความเหล่านี้ตามปกติแล้วมักจะอยู่บนฝาหลัง เพราะเป็นการหาอะไรก็ตามมาเรียงบนพื้นดินเพื่อสื่อสารกับคนที่อยู่บนเฮลิคอปเตอร์ที่เข้ามาช่วยเหลือ
หรือ Ground to air signal code จริงๆ การวางเอาไว้ด้านบนถือเป็นเรื่องดี เพราะไม่ต้องถอดนาฬิกามาดูข้อความบนฝาหลัง แต่กับรุ่นนี้สวมขึ้นข้อและดูรายละเอียดจากบนข้อมือได้เลย เพียงแต่ผมรู้สึกว่ามันแปลกๆ ที่มีตัวอักษรวางเรียงเป็นข้อความอยู่บนขอบตัวเรือน ซึ่งตามปกติแล้วเราแทบจะไม่เคยได้เห็นจากนาฬิการุ่นไหน
เช่นเดียวกับ Seiko ที่มี Astron ทางด้าน Citizen ก็มีผลผลิตลักษณะเดียวกันออกมาแข่งขันด้วย นั่นคือ Eco-Drive Satellite Wave ซึ่งพวกเขาเปิดตัวออกมาในปี 2011 พร้อมความสามารถในการปรับเวลาตามสัญญาณของดาวเทียม ซึ่งให้ความเที่ยงตรงและความสะดวกในการใช้งานเมื่อมีการข้ามโซนเวลา
ก่อนที่ในปี 2013 จะเปิดตัวนาฬิกาที่มาพร้อมกับหน้าปัดแบบ 3 ชั้น ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหน้าปัดของเครื่องบินเจ็ตและมาพร้อมกับกลไกแบบ Satellite Wave โดยทาง Citizen ใช้ชื่อว่า Satellite Wave Air ก่อนที่จะเปิดตัวกลไก F900 ในปี 2015 ที่มีความรวดเร็วในการปรับเวลาหลังรับสัญญาณ และตามด้วยกลไก F990 ในปี 2018 ซึ่งเป็นกลไกชุดเดียวกับ Citizen Promaster Satellite Wave CC7014-82E
แต่ถ้าเอารสนิยมส่วนตัวมาเป็นที่ตั้ง ผมยังหาเหตุผลให้กับตัวเองไม่ได้เลยว่าทำไมถึงจะไม่ซื้อ Citizen Promaster Satellite Wave CC7014-82E เพราะทุกสิ่งที่ชอบถูกรวมอยู่ในนาฬิกาเรือนนี้เลย ติดอย่างเดียวก็คือ ป้ายราคาในบ้านเราและนโยบายของการตั้งราคา ที่ทำไมถึงไม่คิดที่จะทำให้ผมตัดสินใจซื้อตั้งแต่เห็นครั้งแรก แต่กลับต้องใช้เวลานานเพื่อรอส่วนลดแบบมโหฬารชนิดเกิน 50% ตาม Outlet ของแบรนด์แล้วถึงจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของ หรือซ้ำร้ายคือการหันไปพึ่งพิงตลาดผู้นำเข้ารายย่อยแทน
เพราะบอกตรงๆ นาฬิกา Citizen หลายเรือนสวยมากและเจ๋งมาก แต่หลายคนเมินหน้าหนีก็ตอนเห็นป้ายราคานี่แหละ
สารภาพเลยว่าไม่รู้เหมือนกันเอาเป็นว่าถ้าผมมีโอกาสเจอวิศวกรที่พัฒนาระบบพวกนี้จะเคลียร์เรื่องนี้มาให้ แต่ถ้าให้คาดเดาเอาจากความรู้สึกของตัวเองแล้ว คิดว่า ระบบการปรับเวลาให้เที่ยงตรงในหน่วยวินาทีผ่านทางคลื่นวิทยุ (ซึ่งบางค่ายอย่าง Casio จะเรียกว่า Multiband 5 หรือ 6) คงมีสำหรับพวกที่ต้องการความเที่ยงตรงสูง พลาดเวลาไม่ได้เลยแม้ในหน่วยวินาที และนาฬิกาจะช่วยปรับเวลาให้มีความเที่ยงตรงแบบอัตโนมัติกรณีที่คุณตั้งทิ้งไว้ในตอนกลางคืน แบบที่ไม่ต้องมานั่งยืนกลางแจ้ง แล้วกดปุ่มรอรับสัญญาณจากดาวเทียมกันทุกเช้า ซึ่งคุณคงไม่ได้มีเวลามากขนาดนั้นในทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา…ผมคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนี้นะ
ราคาป้าย 105,900 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดอย่าง Seiko Astron ถือว่าสูสีกันเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับความชอบแล้วว่าคุณโดนใจแบรนด์ไหนมากกว่ากัน เพราะถ้าเปรียบเทียบฟังก์ชั่น คงไม่ได้ต่างกันมากมายเท่าไร สำหรับการตัดสินใจซื้อนั้น ผมเชื่อว่าถ้าคุณไม่ได้ชอบนาฬิกาหรือเทใจให้กับนาฬิกาที่มีเทคโนโลยีแล้ว คงเมินหน้าหนีเมื่อเห็นป้ายราคาเพราะราคาระดับนี้คู่แข่งในตลาดมีเพียบ โดยเฉพาะสวิสส์แบรนด์ที่มากับกลไกจักรกล
รายละเอียดทางเทคนิค : Citizen Promaster Satellite Wave CC7014-82E
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 47.2 มิลลิเมตร
- ความหนา : 16.7 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 51 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือนและสาย : Super Titanium
- กระจก : Sapphire เคลือบสารกันการสะท้อนแสง
- กลไก : Calibre F990 Eco-Drive
- ฟังก์ชั่น : ปรับเวลาตามสัญญาณดาวเทียม / ปรับเวลาตามคลื่นวิทยุ / จับเวลา 1/1 วินาที / ปฏิทินถาวร / แสดงเวลา 2 โซน / ตั้งปลุก
- กำลังสำรอง : เมื่อชาร์จเต็มสามารถอยู่ในโหมด PS และไม่โดนแสงได้นานถึง 5 ปี
- ความเที่ยงตรง : +/-5 วินาทีต่อเดือนในกรณีที่ไม่ได้รับสัญญาณ
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : เทคโนโลยี ขนาดนาฬิกา และดีไซน์
- ไม่ประทับใจ : ราคาป้ายที่ตั้งค่อนข้างสูง และการนำ Ground to air signal code มาวางบนขอบตัวเรือน
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline