Citizen มีคอลเล็กชั่นนาฬิกาที่น่าสนใจหลายรุ่น แต่ที่ถือว่าได้นับความนิยมจากบรรดาแฟนๆ ทั่วโลกรุ่นหนึ่งคือ บรรดานาฬิกานักบินในตระกูล Hawk ของ Promaster และในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ Navihawk หนึ่งในบรรดานาฬิกานักบินที่ถือว่าอยู่คู่กับแบรนด์มาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเปิดตลาดนาฬิกาสไตล์นี้ในช่วงทศวรรษที่ 1990
Citizen Promaster Navihawk JY8030-83E A-T ครบฟังก์ชั่นในราคาเข้าถึงได้
-
นาฬิกานักบินที่เพียบพร้อมด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานและคงเอกลักษณ์ของนาฬิกาในกลุ่ม Hawk ของ Citizen
-
ตัวเรือนผลิตจากสแตนเลสสตีล ขนาด 48 มิลลิเมตร พร้อม Slide Rule
-
ขับเคลื่อนด้วยกลไกแบบกินแสง หรือ Eco-Drive ในรหัส U680
จุดกำเนิดในความประทับใจของผมที่มีต่อคอลเล็กชั่น Promaster ในกลุ่ม Air ของ Citizen นั้นไม่ต่างจากที่ผมมีให้กับ Speedmaster X-33 ของ OMEGA นั่นคือ การยืนเกาะตู้ส่องสมัยที่ยังเป็นนักเรียน เมื่อทุกอย่างพร้อมและสามารถเข้าถึงได้ นาฬิกาพวกนี้มักจะฝังใจมาจนถึงปัจจุบันและเป็นตัวเลือกที่ผมมักจะไม่พลาดสอยเข้ามาเมื่อโอกาสมาถึง เพียงแต่ผลของการกระทำอาจจะต่างกันนิดหนึ่งตรงที่ว่า ถ้าเป็นกรณีของ Citizen Promaster ผมเลือกที่จะสอยรุ่นใหม่ๆ ของพวกเขาเข้ามามากกว่าการไปนั่งไล่ตามเอารุ่นเก่าๆ และแม้ว่า Citizen Promaster Navihawk JY8030-83E A-T ที่เพิ่งได้มาจะไม่ใช่คอลเล็กชั่นใหม่ล่าสุด แต่ก็เพิ่งตกรุ่นไปได้ไม่นาน และส่วนตัวผมคิดว่านาฬิการุ่นนี้คือการออกแบบที่ลงตัวที่สุดของตระกูล Navihawk เลยก็ว่าได้
ถ้าคุณเป็นแฟนคอลเล็กชั่น Promaster ของ Citizen โดยเฉพาะพวก Air ซึ่งเป็นนาฬิกาที่ถูกออกแบบมาเพื่อนักบิน ชื่อของเหยี่ยวรูปแบบต่างๆ เช่น Skyhawk, Nighthawk, Sailhawk ไปจนถึง Navihawk คือสิ่งที่จะต้องคุ้นเคยและผ่านหูมาตลอดเช่นเดียวกับรูปแบบของนาฬิกาที่มักจะมีหน้าปัดที่ดูรกๆ และเต็มไปด้วยสเกลต่างๆ มากมายตามแบบฉบับนาฬิกานักบินยุคใหม่ซึ่งจะต้องมี Slide Rule ในการช่วยคำนวณอะไรบางอย่างให้มาด้วย
ความรักของมันคือสิ่งที่ผมชอบและประทับใจเช่นเดียวกับการเป็นนาฬิกา 2 ระบบ ซึ่ง Citizen ยึดรูปแบบนี้ในการผลิตนาฬิกาตระกูล Hawk ของพวกเขามาตลอด ยกเว้นบางรุ่นเท่านั้นที่มาในรูปแบบของการแสดงเวลาเพียงแค่แบบเดียว เช่น Nighthawk รุ่นเก่าๆ และอาจจะรวมถึง Navihawk รุ่นใหม่ล่าสุดที่เปลี่ยนมาเป็นนาฬิกาแสดงเวลาแบบเข็ม ซึ่งผมก็ได้แต่หวังว่าเมื่อ Skyhawk ต้องเปลี่ยนรุ่นใหม่ พวกเขาจะยังคงคอนเซ็ปต์ของการใช้กลไกแบบ 2 ระบบเหมือนกับที่เป็นมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1990
Navihawk ถือเป็นรุ่นย่อยรุ่นแรกๆ ที่อยู่คู่กับ Citizen Promaster Air มานานตั้งแต่ปี 1994 กับการใช้กลไก Cal.300 มีการแสดงผลทั้งเข็มและหน้าจอดิจิตอลที่อยู่ในตำแหน่ง 4 และ 9 นาฬิกา ซึ่งถือเป็นเลย์เอาท์ดั้งเดิมที่อยู่คู่กับนาฬิกาตระกูลนี้มาเลยทีเดียว สำหรับในรุ่นใหม่ๆ Navihawk ยังถูกแบ่งเป็นเวอร์ชันต่างๆ ตามประเภทกลไกที่ถูกวางเอาไว้ด้วย เช่น รุ่นที่ใช้กลไกธรรมดา รุ่นที่มีรหัส A-T ต่อท้าย หรือ Atomic Timekeeping ซึ่งจะเป็นพวก Radio Controlled ที่ใช้กลไกแบบปรับความเที่ยงตรงของเวลาในหน่วยวินาทีและนาทีผ่านทางคลื่นวิทยุที่ส่งออกมาจากเสาวิทยุทั้ง 6 ต้นที่กระจายอยู่ทั่วโลก (คล้ายกับระบบ Multiband ของ Casio G-Shock) และรุ่นที่เป็น Satellite Wave GPS ซึ่งพวกนี้จะเป็นนาฬิการุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งเปิดตัวออกมาในช่วงไม่เกิน 10 ปี
สำหรับรุ่นที่ผมเลือก คือ Citizen Promaster Navihawk JY8030-83E A-T แม้ว่าจะตกรุ่นไปแล้ว เพราะ Citizen เปิดตัว Navihawk รุ่นใหม่ออกมาเมื่อปี 2021 แต่ที่ต้องยอมก็เพราะนี่คือรุ่นที่ถอดแบบความดั้งเดิมของการแสดงผลบนหน้าปัดในแบบ Analog & Digital ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมของนาฬิกาตระกูลนี้ และสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง ซึ่งตอนแรกตั้งใจจะตามหาเวอร์ชันพิเศษที่อยู่คู่กับ Promaster มานานอย่าง Blue Angle แต่สุดท้ายก็หาไม่ได้ภายในงบประมาณที่วางเอาไว้
สิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนาฬิการุ่นนี้คือ Citizen ขยับขนาดตัวเรือนขึ้นตลอด ซึ่งจากเดิมที่คุ้นเคยกับไซส์ 41 มิลลิเมตรในรุ่นแรกๆ ตามมาเป็น 44 มิลลิเมตรในรุ่นใหม่หน่อย ส่วนรุ่นนี้ตัวเรือนถูกปรับขึ้นมาเป็น 48 มิลลิเมตร ซึ่งกับยุคนี้ เทรนด์นาฬิกาตัวเรือนเล็กลงกำลังมา หลายคนอาจจะไม่ถูกใจกับไซส์นี้เท่าไร และด้วยตัวเลขขนาดนี้ทำให้นาฬิกาเรือนนี้เหมาะกับคนที่ข้อใหญ่ หรือชอบนาฬิกาเรือนใหญ่ นี่ยังไม่นับรวมถึงการยาวยื่นของ Pusher ในระบบจับเวลาซึ่งอาจจะทำให้หลายคนรำคาญเวลาสวมใส่เพราะอาจจะชนเข้ากับหลังมือ…แต่ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาอะไรเลยสำหรับผมที่มักจะเอาความชอบนำหน้าอยู่เสมอ
แตกต่างจากอีกฝั่งที่ผมค่อนข้างหงุดหงิดมากกว่า เพราะตัวส่วนผมชอบให้ด้านข้างฝั่งขวาของตัวเรือนเป็นแบบเรียบ ไม่ต้องมีอะไรสลัก หรือมีป้ายอะไรแปะให้ดูเยอะหรือเลอะเทอะจนเกินไป ซึ่งสุดท้ายแล้ว เจ้านี่ก็ดันมีของอย่างว่ามาด้วย ถามว่าชอบไหม ผมว่ามันเหมือนกับส่วนเกินนะ แต่ถึงขนาดทำให้เป็นปัจจัยที่ทำให้เลิกซื้อไหม ก็ไม่ถึงกับไม่ แค่ไม่ถูกใจเท่านั้นเอง
นาฬิการุ่นนี้มากับตัวเรือนที่ผลิตจากสแตนเลสสตีล และให้สายสแตนเลสถักแบบ Milanese มาด้วย ซึ่งผมค่อนข้างสงสัยว่าจะให้มาทำไม เพราะดูแล้วมันไม่น่าจะเข้ากันกับตัวนาฬิกาเลย ซึ่งจากภาพที่ผมนำมาถ่ายประกอบในการ Review คือ ผมจัดการเปลี่ยนสายใหม่แล้ว เพราะส่วนตัวไม่ค่อยปลื้มกับสายแบบนี้เท่าไร และนั่นทำให้ผมพบว่า นาฬิกาเรือนนี้มากับความกว้างขาสายแปลกๆ นั่นคือ 23 มิลลิเมตร (อีกแล้ว)
อย่างไรก็ตาม ขนาดไม่ใช่ประเด็นที่ผมใช้ในการตัดสินใจเลือกนาฬิกาเรือนนี้มากเท่ากับความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นบนหน้าปัด และต้องบอกว่า Citizen ถือเป็นแบรนด์ที่ผลิตนาฬิกานักบินเพื่อความต้องการของนักบินอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการจับเอา Slide Rule หรือเครื่องคิดเลขมาไว้อยู่บนหน้าปัดและสั่งการหมุนผ่านทางปุ่มที่อยู่ในตำแหน่ง 7 นาฬิกา ไม่ต้องใช้มือหมุนกับขอบตัวเรือนเหมือนกับนาฬิกาบางรุ่น
เอาเข้าจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น Navihawk หรือ Skyhawk ทาง Citizen ออกแบบให้ตัวนาฬิกาสามารถใช้กลไกแบบเดียวกัน โดยไม่รู้สึกว่าเหมือนกัน นอกจากคุณจะจ้องจับผิด และเป็นกลไกที่ถูกใช้มานาน ทั้งในตัว Promaster เอง และนาฬิการุ่นอื่นๆ อย่าง Atessa ซึ่งเป็นคอลเล็กชั่นที่มีขายเฉพาะในญี่ปุ่น ตรงนี้ผมมองว่าดีในแง่ของการเรียนรู้ ทำให้ไม่ต้องมานั่งอ่านแมนนวลให้วุ่นวาย แค่จับหลักการใช้งานให้ได้ เท่านี้ก็ไม่ต้องมานั่งงงกัน
กลไกที่ว่าคือ U680 พร้อม Ec0-Drive ในการเปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นกระแสไฟฟ้าเก็บเอาไว้ในตัวนาฬิกา ซึ่งคนที่ผ่านนาฬิกาของ Citizen ในยุคทศวรรษที่ 2000 น่าจะคุ้นเคยดี เพราะถูกใช้ในหลายรุ่นโดยเฉพาะในกลุ่ม Promaster ซึ่งเมื่อดูที่หน้าตาก็จะทราบได้ทันทีเลยว่านาฬิการุ่นนั้นใช้กลไก U680 เพราะบนหน้าปัดจะมีเลย์เอาท์ในการจัดวางคล้ายกัน ซึ่งแถบบนจะมากับวงย่อย 3 วงวางเรียงกัน วงซ้ายสุดเป็นมาตรวัดแสดงระดับพลังงานในแบตเตอรี่และเป็นตัวบอกการรับสัญญาณ ตรงกลางเป็นเวลา UTC สำหรับใช้ทางการทหาร และขวาเป็นตัวบอกว่าเวลาที่แสดงอยู่บนหน้าปัดหลักเป็น A.M. หรือ P.M.
ถัดลงมาฝั่งซ้ายและขวาจะเป็นหน้าจอดิจิตอลสำหรับใช้ในการบอกเวลาที่ 2 หรือเมืองที่เวลานั้นๆ แสดงผลอยู่ ขณะที่ตรงตำแหน่ง 6 นาฬิกาจะเป็นมาตรวัดสำหรับบอกฟังก์ชั่นหลักในการทำงาน โดยจะเลือกผ่านการหมุนเม็ดมะยมหลังจากที่ดึงขึ้นมา 1 สเต็ป ซึ่งก็จะมีทั้งการบอกเวลาปกติ การแสดง 2 เขตเวลาที่ตั้งเอาไว้ การจับเวลาเดินหน้า ถอยหลัง การตั้งปลุก
ในแง่การใช้งานไม่ยุ่งยากอะไร แต่ต้องนั่งอ่านคู่มือกันสักนิดนึง โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในช่วงแรก แต่สุดท้ายฟังก์ชั่นที่ให้มาทั้งหมด คิดว่าคงใช้กันไม่กี่อย่างเท่านั้น ที่บ่อยๆ ก็คือ การแสดง 2 เวลา และการตั้งปลุก โดยการควบคุมและปรับตั้งทั้งหมดจะใช้ Pusher ที่อยู่ฝั่งขวาและเม็ดมะยม ส่วนปุ่มหมุนที่อยู่ในตำแหน่ง 7 นาฬิกา หรือทางฝั่งซ้ายนั้น เป็นปุ่มสำหรับหมุนเพื่อใช้สเกล Slide Rule ที่อยู่ข้างในหน้าปัด โดยคำนวณได้ตั้งแต่ระดับน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่ ระยะทางที่บินไปถึงจุดหมาย เวลาที่ใช้ในการบิน และความเร็วภาคพื้นดิน
เรียกว่าอเนกประสงค์ใช้ย่อย และเหมาะกับนักบินอย่างมาก แต่…ในมุมผมคิดว่าตำแหน่งการวางปุ่มนี้มันผิดที่ผิดทางไปหน่อยนะ ถ้าคุณถนัดขวา และสวมนาฬิกามือซ้าย เป็นเรื่องยากมากที่จะใช้มือขวาเพื่อหมุนปุ่มนี้ ทำได้นะ แต่ฝืนสุดๆ ยกเว้นคุณจะเป็นพวกชอบสวมนาฬิกามือขวา หรือไม่ก็ถอดนาฬิกาออกมาจากข้อมือเพื่อหมุน นั่นแหละถึงจะทำได้สะดวก ผมคิดว่าขณะที่กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า คงไม่มีนักบินคนไหน โดยเฉพาะกับเครื่องบินขับไล่ ถอดนาฬิกาออกมาเพื่อคำนวนค่าอะไรสักอย่าง ถ้าเป็นไปได้ คงอยากจะทำงานผ่านบนข้อมือไปเลยจะดีกว่า ซึ่งก็ต้องเลือกสวมนาฬิกาเรือนนี้บนข้อมือขวาแทน แต่ถ้าเป็นเครื่องบินพาณิชย์ หรือเครื่องบินลำใหญ่ๆ ที่มีนักบินผู้ช่วย อันนี้คงมีเวลาที่จะถอดออกมาใช้คำนวนค่าต่างๆ
ในเมืองไทย เท่าที่ทราบนาฬิการุ่นนี้ไม่ได้เข้ามาขายอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ถ้าอยากได้ คงต้องพึ่งบริการจากภายนอกเพียงอย่างเดียว ซึ่งราคาของ Citizen Promaster Navihawk JY8030-83E A-T อยู่ที่ 725 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 26,000 บาทแต่ผมเชื่อว่าถ้าอยากได้คุณสามารถหาส่วนลดจากเว็บขายนาฬิกาที่มีอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะฝั่งอเมริกาได้ไม่ยาก ในระดับราคาบวกลบ 400 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 15,000 บาทบวกลบแบบยังไม่รวมค่าส่งและภาษี
ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นนาฬิกาที่โอเคเลย แม้ว่าจะไม่ค่อยโดนใจในบางจุด แต่ถ้ามองในแง่ภาพรวม และความคุ้มค่ากับราคา ผมว่านี่คือ Tool Watch ที่คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปที่สุดรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่บ้านเรา ไม่ค่อยมีนาฬิกาลักษณะนี้เข้ามาทำตลาดมากนัก
ข้อมูลทางเทคนิค : Citizen Promaster Navihawk JY8030-83E A-T
- เส้นผ่านศูนย์กลาง: 48 มิลลิเมตร
- Lug to Lug: 52 มิลลิเมตร
- ความหนา: 15.5 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 23 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน: สแตนเลสสตีล
- กระจก: Mineral
- กลไก: รหัส U680 ควอตซ์แบบ Solar พร้อมฟังก์ชั่น Radio-Controlled
- การกันน้ำ: 200 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ ฟังก์ชั่นที่ครบครัน
- ไม่ประทับใจ : แถบป้ายด้านข้างตัวเรือน ความกว้างขาสายที่ไซส์แปลกหาสายใส่ลำบาก
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline