Citizen Promaster Dark Rider AV0077-82E : การกลับมาของเจ้า Bullhead

0

แม้ว่ารุ่นธรรมดาของเจ้า Citizen Tsuno Chronograph Racer หรือ Bullhead Re-Issue จะไม่ได้เข้ามาขาย แต่ทาง Citizen ก็ฉลอง 100 ปีในบ้านเราด้วยรุ่นพิเศษ Citizen Promaster Dark Rider AV0077-82E

Citizen Promaster Dark Rider
Citizen Promaster Dark Rider AV0077-82E : การกลับมาของเจ้า Bullhead

Citizen Promaster Dark Rider AV0077-82E : การกลับมาของเจ้า Bullhead

  • AV0077-82E เป็นรุ่นพิเศษที่ผลิตออกมาเพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี

  • ตัวเรือนขนาด 45 มิลลิเมตรเคลือบ PVD สีดำ

  • ราคาป้าย 39,900 บาท

- Advertisement -

เอาเข้าจริงๆ เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าปีนี้ Citizen ครบรอบ 100 ปี ซึ่งผมว่ามันเป็นการครบรอบหลักเวลาที่สำคัญ แต่กลับไม่เห็นแมสเซจ หรือการประชาสัมพันธ์ใดๆ หลุดออกมาให้เห็นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลยเมื่อเปรียบเทียบกับการฉลอง 35 ปีของ G-Shock จาก Casio จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาจนเกือบถึงปลายปีนั่นแหละ ถึงค่อยเห็นอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว เมื่อพวกเขาเริ่มโหมประชาสัมพันธ์พร้อมกับนำนาฬิกาคอลเล็กชั่นใหม่ออกมาเปิดตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Wish List ที่ผมสะดุดตาตั้งแต่แรกเห็นตอนที่เป็นรุ่นปกติ ใช่แล้วมันคือการกลับมาของเจ้า Bullhead หรือ Citizen Tsuno Chronograph Racer ซึ่งถูกนำมาผลิตเป็นเวอร์ชันพิเศษสีดำตลอดทั้งเรือนและจำหน่ายในบ้านเราช่วงของการฉลองครบรอบ 100 ปีด้วยจำนวนเพียง 200 เรือนเท่านั้นโดยใช้ชื่อว่า Citizen Promaster Dark Rider AV0077-82E

เรื่องราวของ Citizen กับนาฬิกาประเภทนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 1973 เมื่อพวกเขาเปิดตัวนาฬิการุ่นแรกออกมาในชื่อ Tsuno Chrono Challenge Timer พร้อมกลไก Caliber 8110 ที่เด่นกับระบบ Column Wheel และ Flyback กับงานออกแบบในสไตล์ Bullhead พร้อมกลไกอัตโนมัติ แถมว่ากันว่านาฬิกาในคอลเล็กชั่นนี้เป็นบันไดขั้นแรกที่ทำให้ก่อกำเนิดนาฬิกาในตระกูล Promaster ในปี 1989 อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเมื่อรุ่นพิเศษนี้ที่มีการผลิตทั่วโลก 3,000 เรือนและเข้ามาขายในบ้านเราเพียง 200 เรือน จึงมีคำว่า Promaster ติดมาด้วย

จริงๆ แล้วก่อนที่รุ่นนี้จะเปิดตัว ทาง Citizen ทำตลาดรุ่นปกติด้วย 4 ทางเลือกด้วยกัน ซึ่งแต่ละเรือนก็มากับตัวเรือนสีเงินสวยสะดุดตา ยกเว้นรุ่นนี้ซึ่งถูกส่งมาเป็นรุ่นที่ 5 และมาพร้อมกับความเข้มด้วยตัวเรือนที่ผลิตจาก Stainless Steel และมีการเคลือบ PVD ทั้งเรือนและสาย โดยดีไซน์ของนาฬิกาถูกปรับมาจากเจ้า Tsuno Chronograph Racer ยกเว้นขนาดตัวเรือนที่ถูกอัพสเกลขึ้นเป็น 45 มิลลิเมตร และมีความหนาราวๆ 15 มิลลิเมตร ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ถือเป็นถูกใจกับคนชอบนาฬิกาขนาดใหญ่อย่างตัวผมเป็นอย่างดี

แน่นอนว่าดีไซน์การจัดวางปุ่มกดและเม็ดมะยมในลักษณะ Bullhead เป็นอะไรที่ยั่วยวนใจผมได้ดีเสมอ เพราะส่วนตัวผมว่ามันเป็นดีไซน์ที่เจ๋งมาก แม้ว่าความสะดวกในการใช้งานจะไม่ไหลรื่นและดีเท่ากับการจัดวางทางด้านข้างเหมือนกับนาฬิกา Chronograph ทั่วไป เพราะมีความรู้สึกว่าการใช้งานปุ่มกดจับเวลาตอนที่นาฬิกาคาดอยู่บนข้อมือ ถ้าเป็นนาฬิกาในสไตล์ Bullhead จะจับค่อนข้างลำบากกว่า เช่นเดียวกับการตั้งเวลาที่ผมมักจะมีปัญหากับเข้า Seiko Landmaster อยู่เสมอ ทั้งการหมุนคลายเกลียว และความกระชับมือในการค่อยๆ ดันเม็ดมะยมเพื่อปรับเวลา ที่พยายามเกร็งมือขนาดไหน แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่ามันต้องใช้แรงมากกว่าปกติ

ส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างชื่นชมในความกล้าที่จะออกแบบและอัดรายละเอียดอะไรต่อมิอะไรให้อยู่บนหน้าปัด และไม่จำเป็นจะต้องมีการจัดวางให้เป็นเหมือนกับนาฬิกา Chronograph ทั่วไป ดังนั้น เราจึงได้เห็นช่องกรอบวันที่ย้ายมาอยู่ในตำแหน่ง 1.30 น. แทนที่จะอยู่ในตำแหน่ง 3 หรือ 4 หรือ 6 น.อย่างที่คุ้นเคยหรือการวางหน้าปัดย่อยในตำแหน่ง 9 น.ที่เป็นตัว Power Indicator ของระบบ Eco-Drive ที่ใหญ่สะใจ และเป็นการออกแบบให้มีขนาดบาลานซ์กับหน้าปัดย่อยในตำแหน่ง 3 นาฬิกา โดยมีคอนเซ็ปต์ไอเดียมาจากหน้าปัดรถแข่งในอดีต รวมถีงตำแหน่ง On/Off ของระบบตั้งปลุกที่อยู่ในตำแหน่ง 4 นาฬิกา และการเปิด-ปิดนี้ถูกควบคุมการทำงานโดยเม็ดมะยมในตำแหน่ง 5 นาฬิกาที่ในตอนแรกหลายคนสงสัยว่ามันมีเอาไว้เพื่ออะไรกันแน่

แม้จะดูรก แต่ผมก็ค่อนข้างชอบการออกแบบและการจัดวางรายละเอียดบนหน้าปัดของ Citizen Promaster Dark Rider AV0077-82E ทั้งการบาลานซ์หน้าปัดย่อยทั้ง 4 วงบนหน้าปัด การออกแบบให้ตัวหน้าปัดดูเป็นมิติและลึกลงไปด้วยการยกขอบสเกล Tachymeter ให้อยู่สูงขึ้นมา และการไม่พยายามยัดเยียดตัวหนังสือเอาไว้บนหน้าปัด จนยิ่งทำให้รกมากขึ้นไปอีก ด้งนั้นบนหน้าปัดของ AV0077-82E จึงมีแค่คำว่า Citizen และ Eco-Drive WR200m เท่านั้น

สิ่งเดียวในแง่ของการออกแบบที่ขัดใจผมคือ เรื่องความยืดหยุ่นของการเปลี่ยนสาย เพราะงานนี้ถ้าคิดจะเปลี่ยนสายหนัง คงมีแค่ 2 ชอยส์คือ สั่งสายหนังของ Citizen รุ่นย่อยอื่นเพราะใน Tsuno Chrono Challenge Timer ที่เป็นรุ่นปกติมีตัวสายหนังขายด้วย หรือไม่ก็ต้องส่งนาฬิกาไปให้กับช่างทำสายเพื่อสร้างสายหนังเฉพาะขึ้นมา แต่ดูแล้วแบบหลังน่าจะเป็นทางออกที่ดีและประหยัดเงินได้มากกว่าแบบแรก

ในมุมมองส่วนตัวอีกเช่นกันที่ผมค่อนข้างชอบนาฬิกาที่มีความยืดหยุ่นของการเปลี่ยนสาย เรื่องของการไม่ชอบใส่นาฬิกาสายเหล็กก็ส่วนหนึ่ง แต่ผมมีมุมมองที่ว่านาฬิกาก็มีลักษณะคล้ายกับรถยนต์ สายก็เหมือนกับล้อแม็กที่สามารถพลิกบุคลิกของตัววัตถุได้อย่างง่ายๆ มันอาจจะเป็นเงื่อนไขที่ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาเพื่อซื้อสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับรายละเอียดในเชิงสเป็กและภาพรวม แต่มันคงจะดีไม่น้อยถ้ารถยนต์ที่คุณตัดสินใจเลือกใช้ดุมล้อ PCD 114.3 หรือไม่ก็ 100 เหมือนกับล้อแม็กส่วนใหญ่ที่มีขายอยู่ในตลาดแทนที่จะเป็นตัวเลขแปลกๆ ที่แทบจะควานหาของแบบพลิกโลกเมื่อต้องการแต่งรถของตัวเอง

เอาละนอกเรื่องกันมาเยอะไปหน่อย กลับมาที่เรื่องนาฬิกากันต่อ สำหรับการเป็นนาฬิกาควอตซ์และใช้ระบบชาร์จกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หรือที่ Citizen เรียกว่า Eco-Drive อาจจะดูขัดใจกับใครหลายคน แต่ส่วนตัวแล้ว ผมคงต้องบอกว่าถ้าคุณรัก Citizen ยิ่งต้องทำใจให้คุ้นกับเรื่องนี้ เพราะสัดส่วนนาฬิกาของพวกเขาที่วางขายอยู่ในตลาดนั้น 60-70% จะใช้กลไกแบบ Eco-Drive ส่วนพวกควอตซ์ธรรมดา หรือ Automatic กลายเป็นชนกลุ่มน้อยไปแล้วสำหรับแบรนด์นี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมค่อนข้างขัดใจ (อีกแล้ว) กับเจ้า  AV0077-82E คือ มันดันใช้กลไกรุ่นเก่าไปหน่อยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าตัวในระดับ 39,900 บาท เพราะเป็นกลไกรหัส E210 หรือในกลุ่ม Caliber 2100 ที่พวกเขาใช้กับนาฬิกา Chronograph จับเวลารุ่นก่อนๆ ที่เปิดตัวขายเมื่อสัก 5-6 ปีที่แล้ว ดังนั้นในแง่ของความทันสมัยและสเป็กก็คงไม่ได้ดีเด่นอะไรมากมายเมื่อเปรียบเทียบเงินที่ต้องจ่ายไปในระดับแบงค์พัน 40 ใบ

ในแง่การทำงานกลไกรุ่นนี้มีความเที่ยงตรงในระดับ +/-15 วินาทีต่อเดือน มีความถี่ในการทำงานของผลึกควอตซ์ 32,768 Hz ตั้งปลุกได้ และการแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาจะนาน 20 วินาที ซึ่งก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไร และผมไม่ได้มีอคติอะไรกับนาฬิกาควอตซ์หรือ Eco-Drive ของ Citizen จะมีแค่เรื่องเดียวคือ กลไกมันเป็นรุ่นเก่าไปหน่อยเท่านั้นเอง ในเมื่อมีความพิเศษขนาดนี้น่าจะมีอะไรที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจสักหน่อย

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะถามว่ามันน่าซื้อไหม ? ซึ่งคำตอบของผมก็ยังเหมือนกับนาฬิกาหลายรุ่นที่ออกแนวแปลกๆ ซึ่งทุกอย่างถูกชักจูงและตัดสินใจโดยเรื่องของความชอบส่วนตัวมากกว่าการมองถึงสิ่งอื่นๆ เช่น ความคุ้มค่าในด้านราคาขายต่อ ภาพลักษณ์ หรือกลไกที่จะต้องเป็นอัตโนมัติเท่านั้นสำหรับบางคน

บทสรุปคือ ผมชอบและเล็งมันมาตั้งแต่ตอนที่มีข่าวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะตัดสินใจ เพราะมีแรงหนุนอยู่ในใจอยู่แล้ว แถมราคาที่ทาง www.excel-watch.com แจ้งมาให้ทราบนั้นเรียกว่าเย้ายวนใจสุดๆ ราคาตามป้าย 39,900 บาท แต่กับที่นี่จบกันที่ไม่เกิน 30,000 บาทแถมเหลืองบฯ เอาไว้กินบุฟเฟต์ได้อีก เรียกว่ามันเป็นข้อเสนอที่คุณปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆ

ขอขอบคุณ : www.excel-watch.com

ข้อมูลทางเทคนิค : Citizen Promaster Dark Rider AV0077-82E

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 45 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 15 มิลลิเมตร
  • กระจก : Sapphire
  • ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
  • กลไก : E210 Eco-Drive ใช้พลังงานแสงอาทิตย์
  • ระบบ : จับเวลา Chronograph / ตั้งปลุก
  • ระดับพลังงาน : 7-8 เดือนเมื่อชาร์จเต็ม
  • ประทับใจ : ดีไซน์ การเป็น Re-Issue ของนาฬิการุ่นดัง
  • ไม่ประทับใจ : รูปแบบของขาสาย และกลไกที่เก่าไปหน่อย