Citizen Promaster BN0220-16E สวย คลาสสิค ราคาจับต้องได้

0
- Advertisement -

ตอนเดือนเมษายนที่ผ่านมา Citizen เปิดเผยนาฬิการุ่นใหม่ที่เป็นการ Re-Issue จากผลผลิตในอดีตเมื่อปี 1982 และนี่คือ นาฬิการุ่นนั้นกับความสวยและคลาสสิค ที่ไม่ควรพลาด

Citizen Promaster BN0220-16E

Citizen Promaster BN0220-16E สวย คลาสสิค ราคาจับต้องได้

  •  Citizen เปิดตัวนาฬิกาดำน้ำรุ่นใหม่ที่เป็นผลงาน Re-Issue มาจากนาฬิกาดำน้ำรุ่นดังในปี 1982

  • มีจำหน่ายด้วยกัน 3 รุ่น แต่รุ่นที่น่าสนใจคือ BN0220-16E บนตัวเรือนไทเทเนียม

  • ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 60,500 เยนในญี่ปุ่น และบ้านเรายังไม่มีขายอย่างเป็นทางการโดยตัวแทนจำหน่าย

ตอนที่ผมเห็นภาพแรกพร้อมกับข่าวที่ Citizen จะปัดฝุ่นนำนาฬิการุ่นดังในอดีตของตัวเองที่เปิดตัวเมื่อปี 1982 กลับมาทำใหม่ บอกตรงๆ เลยว่าผมจับเจ้านี่ใส่ Wish List ของปีนี้ทันทีแม้ว่าในช่วงเดียวกันนั้นจะมีนาฬิกาดำน้ำอีกตัวของ Citizen ที่เทพกว่าทั้งตัวเรือนไทเทเนียม และกลไกอัตโนมัติรออยู่ก็ตามที และเมื่อโอกาสมาถึง เจ้า Citizen Promaster BN0220-16E บินตรงจากฮ่องกงมาสู่มือผมอย่างรวดเร็วกว่าที่ข้อความใน eBay บอกเอาไว้เสียอีก แน่นอนว่า…หลังจบรีวิวว่าจะไปใส่ดาวให้กับร้านที่ทำการซื้อขายในครั้งนี้สักหน่อย

Citizen Promaster BN0220-16E

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Citizen เปิดเผยข่าวการรีเมคนาฬิการุ่นนี้ออกมา และมีขายด้วยกัน 3 รุ่นย่อย ซึ่งผมเลือกเอารุ่น BN-0220-16E มาครองด้วยเหตุผลเดียวคือ มันเป็นสายตรงของนาฬิการุ่นดั้งเดิมที่เปิดตัวในปี 1982 กับชื่อ Professional Diver 1300m หรือ 1251-215249 ด้วยรูปลักษณ์ รายละเอียดและการให้สีสันที่เหมือนกัน เพราะอีก 2 รุ่นที่เหลือ แม้ว่าจะใช้ตัวเรือนแบบเดียวกัน แต่สีสันบนหน้าปัด…มันไปคนละแนวกันเลย

1251-215249 ถือว่าเกิดมาช่วงของการแข่งขันและแย่งชิงความเป็นเจ้าเทคโนโลยีในตลาดนาฬิกาดำน้ำของ Citizen กับ Seiko อย่างแท้จริง เพราะจริงอยู่ที่คู่ปรับของ Citizen บุกเบิกตลาดกลุ่มนี้มานานตั้งแต่ปี 1965 และเปิดตัวนาฬิกาดำน้ำออกมาขายหลายรุ่น แต่เจ้า 1251-215249 คือ นาฬิกาที่ผลิตในเชิงพาณิชย์เรือนแรกของนาฬิกาดำน้ำจากญี่ปุ่นที่มีตัวเลขการกันน้ำก้าวข้ามระดับ 1,000 เมตรมาอยู่ที่ 1,300 เมตร ซึ่งในช่วงปี 1982 Seiko Tuna Can ยังมีตัวเลขอยู่ที่ 600 เมตรเท่านั้นเอง (ก่อนที่จะขยับมาเป็น 1,000 เมตรในปี 1986)

Citizen Promaster BN0220-16E Citizen Promaster BN0220-16E

BN-0220-16E เป็นงาน Re-Issue ที่ถอดแบบมาจาก 1251-215249 ในเกือบทุกจุด แต่ก็ไม่ถึงกับครบทุกจุด โดยในแง่ดีไซน์หลักนั้น มากับกรอบทรงเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่ห่อตัวเรือนทรงกลมของหน้าปัดพร้อมกับขอบตัวเรือนแบบหมุนทางเดียวเอาไว้ ที่หายไปก็เห็นจะเป็นน็อตที่ยึดมุมทั้ง 4 ด้านของ 1251-215249  ที่ไม่มีในรุ่นนี้ ขณะเดียวกันเม็ดมะยมก็ถูกย้ายจากฝั่งซ้ายมือ (เมื่อหันนาฬิกาเข้าหาตัว) หรือตำแหน่ง 9 นาฬิกา มาอยู่ที่ฝั่งขวา หรือตำแหน่ง 3 นาฬิกาเหมือนกับนาฬิกาทั่วไป

ตรงนี้กลายเป็นจุดแรกที่ผมค่อนข้างขัดใจในระดับหนึ่งเลย เพราะในเมื่อได้รับแรงบันดาลใจมาถึงขนาดนี้แล้ว ทั้งรูปทรง และการขัดทรายตัวเรือนไทเทเนียมเพื่อให้ดูดิบๆ แล้วทำไมถึงไม่ยึดเลย์เอาท์การจัดวางเม็ดมะยมตามแบบดั้งเดิมเอาไว้ด้วย ก็พอจะเข้าใจที่การวางเม็ดมะยมเอาไว้ที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกาเพื่อคนถนัดซ้ายนั้น อาจจะมีปริมาณของประชากรในส่วนนี้น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ถนัดขวา ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่ส่วนตัวผมว่ามันลดทอนความขลังของตัวนาฬิกาลงไปในระดับหนึ่งเลย

Citizen Promaster BN0220-16E Citizen Promaster BN0220-16E

สำหรับตัวเรือนมีขนาดใกล้เคียงกับรุ่นดั้งเดิม ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลาง 45.8 มิลลิเมตร และหนา 14.3 มิลลิเมตร ซึ่งเมื่อบวกกับตัวเรือนแบบ Lug Free หรือไม่มีขาสายยาวยื่นออกมา ก็ถือว่าทำให้สะดวกสบายและเหมาะมือกับคนที่มีขนาดข้อมือระดับปานกลางอย่าง 6.5 นิ้วขึ้นมา เพราะไม่มีขาสายยาวยื่นออกมาจากตัวเรือน เมื่อบวกกับสายยางยุคใหม่ที่ค่อนข้างนุ่มสบายแล้ว บอกเลยว่าเป็นนาฬิกาที่ใส่สบายข้อมือรุ่นหนึ่งเลยเดียว เพราะแม้ตัวจะดูใหญ่แต่การใช้ไทเทเนียมในการผลิตตัวเรือนนั้น ทำให้ลดความหนักลงไปได้ในระดับหนึ่งเลย เรียกว่าตอนที่หยิบออกมาจากกล่อง เบาจนนึกว่านาฬิกาพลาสติกเสียอีก

Citizen Promaster BN0220-16E Citizen Promaster BN0220-16E

อย่างที่บอกในตอนต้น เหตุที่ผมเลือก BN-0220-16E ก็เพราะความเหมือนในเรื่องของสีสันในสไตล์ดำทองที่เหมือนกับรุ่นดั้งเดิม ซึ่งในรุ่นใหม่นี้ทำได้ดีและสวยสะดุดตากว่ารุ่นหน้าปัดแบบลายพรางเสียอีก สีดำ-ทองเป็นคู่สีที่เข้ากันได้ดีอยู่เสมอ นอกจากจะสวยแล้วยังทำให้ดูแพงขึ้นอีกด้วย และเข้ากับตัวเรือนที่มาในแบบพ่นทรายและเคลือบด้วยกรรมวิธี Duratect MRK ในการป้องกันการเกิดรอยจากการขูดขีดในระหว่างใช้งาน โดยมีค่าความแข็งอยู่ที่ 1,300-1,500 HV หรือ Hardness Vicker

Citizen Promaster BN0220-16E Citizen Promaster BN0220-16E

การคุมโทนสีบนนาฬิกาเรือนนี้ถือว่าทำได้ดี เพราะ Citizen เลือกใช้แค่ดำกับทอง แต่สิ่งที่ดูขัดตาและขัดใจผมนิดหน่อยคือ สีดำบนพื้นหน้าปัดที่มีการทำประกายระยิบระยับเหมือนกับโรยกากเพชรบนหน้าปัด ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดอาการหลอกตานิดๆ เวลาที่มองไปบนหน้าปัด มันทำให้ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนมีคราบอะไรติดอยู่บนกระจกจนเผลอเอาชายเสื้อเช็ดอยู่เป็นประจำ (ตัวอย่างที่ไม่ดีนะครับ ควรใช้ผ้าที่สะอาดเช็ด กระจกจะได้ไม่เป็นรอยจากพวกฝุ่นที่อาจจะเกาะอยู่บนเสื้อ)

อีกสิ่งที่อาจจะขัดใจคนเล่นนาฬิกาโดยเฉพาะกลุ่มคนไทยคือ การที่ใช้กลไกควอตซ์ ซึ่งส่วนตัวผม (และเท่าที่อ่านความเห็นของบรรดาฝรั่งตามกลุ่มต่างๆ ใน Facebook) ตรงนี้กลับไม่ใช่ประเด็นอะไรเลยในการมาลดทอนความน่าสนใจของ Citizen Promaster BN0220-16E กลไกควอตซ์ทำให้ใส่ง่าย และเหมาะกับการเป็น Daily Use Watch แต่การเป็น Eco-Drive ก็ทำให้ผมและบางคนที่มีนาฬิกาอยู่ในกรุแอบเซ็งนิดๆ เพราะมันจะกลายเป็นนาฬิกาอีกเรือนที่ผมต้องรับผิดชอบในการนำออกมาตากแดดเพื่อป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่แบบชาร์จได้ หรือตัวเก็บประจุพัง

Citizen Promaster BN0220-16E Citizen Promaster BN0220-16E

กลไกที่ใช้เป็นรหัส Cal. E168 แบบเปลี่ยนแสงอาทิตย์หรือแสงแบบต่างๆ ให้เป็นกระแสไฟฟ้าเก็บในแบตเตอรี่แบบชาร์จได้ ซึ่งเมื่อชาร์จจนเต็ม สามารถทำงานได้ต่อเนื่องแบบไม่ต้องโดนแดดหรือแสงได้นานถึง 6 เดือน และมีความเที่ยงตรง +/- 15 วินาทีต่อเดือน

Citizen Promaster BN0220-16E Citizen Promaster BN0220-16E

แม้ว่าความสามารถในการกันน้ำจะถูกลดทอนจาก 1,300 เมตรมาเหลือแค่ 200 เมตร แต่ต้องบอกว่านี่คือนาฬิกาที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานใต้น้ำ และสามารถผ่านมาตรฐานของ ISO ในด้านข้อกำหนดนาฬิกาดำน้ำแบบควอตซ์ หรือ ISO6425 โดยมีความสามารถในการกันน้ำ 200 เมตรตามสเป็กจากโรงงาน

ถ้าถามว่าน่าเป็นเจ้าของไหม ? เห็นสิ่งที่ผมทำและอธิบายเอาไว้ตั้งแต่พารากราฟแรก คงรู้คำตอบได้ทันที นี่คือ นาฬิกาดำน้ำที่มีความโดดเด่นทั้งในแง่ดีไซน์ การใช้วัสดุ และกลไกที่แม้ว่าผมจะบ่นนิดๆ ในเรื่องของการที่จะต้องมานั่งรับผิดชอบในการเอาออกมาตากแดด แต่สุดท้ายผมก็คิดว่าดีว่านำไปหาร้านเปลี่ยนถ่านบ่อยๆ

Citizen Promaster BN0220-16E

ตอนนี้ในเมืองไทยยังไม่มีเข้ามาจำหน่าย แต่ตลาดหลายแห่ง เช่น ฮ่องกง ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ มีทำตลาดแล้ว และกับราคาป้าย 60,500 เยน หรือเกือบ 20,000 บาท แม้ว่าฟังก์ชั่นแทบจะไม่มีอะไรนอกเหนือการบอกเวลา และการใช้งานใต้น้ำ แต่ต้องบอกว่าสตอรี่ และดีไซน์นี่แหละที่ทำให้ผมยอมจ่ายกับนาฬิกาเรือนนี้

ข้อมูลทางเทคนิค : Citizen Promaster BN0220-16E

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 45.8 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 45.8 มิลลิเมตร
  • ความหนา :3 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน : ไทเทเนียม เคลือบ Duratect MRK
  • กระจก: Mineral
  • กลไก : Cal. E168 แบบ Eco-Drive
  • ความเที่ยงตรง : +/- 15 วินาทีต่อเดือน
  • การกันน้ำ : 200 เมตร
  • ประทับใจ : สตอรี่ และดีไซน์ วัสดุ
  • ไม่ประทับใจ : การเปลี่ยนตำแหน่งเม็ดมะยม พื้นหน้าปัดแบบมีประกายระยิบระยับ