Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W ถึงไม่ใช่นักดำน้ำแต่ก็โดนใจ

0

การกลับมาอีกครั้งของนาฬิการุ่นพิเศษเพื่อฉลองครบรอบ 30 ปีของ Aqualand JP-2000 กับ 2 สีใหม่ ซึ่งทาง Ana-Digi.com ไม่พลาดที่จะเก็บ Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W เข้ามาอยู่ในกรุ เพราะถือเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่ในคอลเล็กชั่นนี้อย่างหน้าปัดแบบ Full Lume ขณะที่ฟังก์ชั่นใช้งาน ต้องยอมรับว่าเป็นนาฬิกาที่ครบเครื่องสำหรับนักดำน้ำในราคาที่เข้าถึงได้

- Advertisement -

Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W

Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W ถึงไม่ใช่นักดำน้ำแต่ก็โดนใจ

  • การนำนาฬิการุ่นคลาสสิคอย่าง Citizen Aqualand C0023 มาเพิ่มความสดใหม่

  • ตัวเรือนคงรายละเอียดเอาไว้ แต่ปรับให้ดูทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะการใช้หน้าปัดแบบ Full Lume

  • ขับเคลื่อนด้วยกลไกควอตซ์แบบดิจิตอล ที่มีทั้งโหมดแสดงเวลา และการใช้ดำน้ำ โดยเฉพาะการวัดความลึก และเวลาในการดำน้ำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่ของการเป็น Tool Watch โดยมีช่วงราคาที่เข้าถึงได้ บริษัทนาฬิกาญี่ปุ่นเหนือกว่าแบรนด์นาฬิกาสวิสส์ในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะความมุ่งมั่นและความเชี่ยวชาญในเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิตอล-ควอตซ์มาผสมผสานกับนาฬิกาข้อมือเพื่อให้กลุ่มคนที่เป็นมืออาชีพในด้านนั้นๆ ได้ใช้งาน

ในช่วงทศวรรษที่ 1980 มีนาฬิการุ่นหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมา ได้รับความนิยมอย่างมาก และกลายเป็น Iconic ในด้านดีไซน์ ใช่แล้วเรากำลังพูดถึง Citizen Promaster Aqualand ที่มาพร้อมกับระบบวัดความลึก ซึ่งในตอนนี้มีการผลิตใหม่กับรุ่น Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W

ก่อนที่ Promaster จะถือกำเนิดขึ้นในปี 1989 นั้น Citizen ได้บุกเบิกตลาดนาฬิกาที่มีความสามารถในการรองรับกับความต้องการของกลุ่มคนที่เป็นทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่นมาโดยตลอด แต่ทว่าในปี 1985 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญ เมื่อพวกเขาเปิดตัวนาฬิกาดำน้ำออกมาที่ผสมผสานทั้งการบอกเวลาและการวัดความลึกเอาไว้ในเรือนเดียวกัน ชนิดที่ไม่ต้องพึ่ง Dive Computer ก็ได้ นาฬิกาเรือนนี้มากับชื่อ Aqualand และมีรหัสรุ่นคือ C0023 ถือเป็นนาฬิกาเรือนแรกที่นำระบบอิเล็กทรอนิกส์และการแสดงผลแบบดิจิตอลของการวัดความลึกเข้ามาใส่ในนาฬิกาข้อมือ ซึ่งจริงๆ แล้วในยุคนั้น มี Dive Comp ใช้กันแล้ว แต่การที่จะนำเครื่องมือนี้มาย่อขนาดเพื่อให้อยู่ในไซส์ของนาฬิกาข้อมือ และมีความเที่ยงตรงในการทำงาน ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W

ขณะดำน้ำ ว่ากันว่ามีอยู่ 3 เรื่องที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก นั่นคือ ระยะเวลาการดำน้ำ ความลึกในการดำน้ำ และรูปแบบที่แน่นอนของการดำน้ำ ในช่วงแรกๆ ของการดำน้ำลึก นักดำน้ำมักจะสวมนาฬิกาดำน้ำไว้ที่แขนข้างหนึ่งและมีมาตรวัดความลึกขนาดใหญ่ พร้อมด้วยเข็มทิศ สวมไว้ที่อีกข้างหนึ่ง ซึ่งนั่นคือ Dive Comp รุ่นแรกๆ ที่ยังเป็นแบบกลไก ดังนั้น ว่ากันว่าการเข้ามาของ Citizen Aqualand C0023 คือ จุดเริ่มต้นของบางอย่าง และก็เป็นจุดจบของบางอย่าง

การใช้นาฬิกาน้ำแบบกลไกกับขอบตัวเรือนจับเวลาที่จะต้องทำงานร่วมกับตาราง No-Deco (ซึ่งตามปกติจะอยู่บนสายยางของนาฬิกาดำน้ำเกือบทุกรุ่นของ Citizen ในยุคนั้น) กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นแล้ว เช่นเดียวกับการที่จะต้องสวมทั้งนาฬิกาจักรกลที่มือข้างหนึ่ง และมี Dive Comp แบบโบราณอยู่เคียงข้างด้วย ในปี 1983 มีการเปิดตัว Dive Comp ที่แสดงผลแบบดิจิตอลที่มีความเที่ยงตรงกว่าอย่าง Orca Edge ออกมา และเริ่มมีแบรนด์อื่นตามมาเช่น Suunto และ UWATEC ในปี

Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W

1987 แต่เทรนด์ของนักดำน้ำหลายคนในยุคนั้น มักจะมี Citizen Aqualand C0023 อยู่บนข้อมือหนึ่ง และ Dive Comp อีกข้อมือ โดยนาฬิกาของ Citizen จะทำหน้าเหมือนกับเป็นอุปกรณ์สำรอง เพราะทำหน้าที่ได้มากกว่าการจับแค่เวลาเหมือนกับนาฬิกาดำน้ำแบบจักรกล

Citizen Aqualand รุ่นแรกเปิดตัวออกมาพร้อมกับการเป็นนาฬิกาดำน้ำเรือนแรกของโลกที่เพียบด้วยฟังก์ชั่น และมีระบบวัดความลึกแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง Citizen ได้สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาหมายเลข 4611923 เอาไว้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1985

Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W

นั่นคือ จุดที่ทำให้นาฬิกาเรือนนี้ดี้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักดำน้ำ แม้ว่าหน้าตาจะดูแปลกประหลาด แต่กลับกลายเป็นว่าหน้าตาลักษณะนี้แหละที่ทำให้ได้รับการจดจำและกลายเป็นตำนานอีกบทของ Citizen เลย Citizen Aqualand C0023 รุ่นต่างๆ ถูกผลิตและขายออกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเปิดตลาดให้กับนาฬิกาดำน้ำรุ่นใหม่ของ Aqualand ที่จะมากับระบบวัดความลึก เรียกว่าแทบจะเป็นของคู่กันเลย

อีกทั้งนาฬิกาเรือนนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดตัวคอลเล็กชั่นของ Citizen ที่เรียกว่า Promaster ซึ่งตามออกมาในปี 1989 และตามด้วยรุ่นปรับปรุงใหม่ที่เรียกว่า JP-2000 ซึ่งเริ่มจำหน่ายในปี 1992

ดังนั้นในวาระฉลองครบรอบ 30 ปีของนาฬิการุ่น JP-2000 ทาง Citizen จึงเปิดตัวรุ่นปรับปรุงใหม่ออกมาในปี 2022 และมีทั้งสีสันและหน้าตาหลากหลายทางเลือก และ JP-2007-17W ก็ถือหนึ่งในนั้น

Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W

สิ่งที่แตกต่างจากที่ผ่านมาคือ ในรุ่นใหม่มาการเติมลูกเล่นและสีสันใหม่ๆ เข้าไป นอกเหนือจากตัวเรือนสีสแตนเลส หน้าปัดดำ และเข็มนาทีสีแดงอย่างที่เราคุ้นเคยกันมานาน ผมเลือก JP-2007-17W เพราะสีสันและหน้าตา แถมยังเป็นรุ่นเดียวที่มากับการเคลือบ PVD สีเทาเข้มบนตัวเรือน และหน้าปัดแบบ Full Lume หรือเรืองแสงทั้งแผ่น เรียกว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนในคอลเล็กชั่นนี้

Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W

จุดเด่นที่ทำให้ JP-2007-17W มีความน่าสนใจนอกเหนือจากเรื่องที่เกริ่นไปในพารากราฟเมื่อกี้คือ การคงดีไซน์ของตัวเรือนแบบดั้งเดิมเอาไว้ ซึ่งใน JP-2000 ก็รับเอารูปแบบดั้งเดิมของรุ่น C230 ที่เปิดตัวในปี 1985 มาครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือนที่มีชิ้นส่วนในตำแหน่ง 9 นาฬิกายาวยื่นออกมา พร้อมกับมีการเจาะช่องสำหรับเอาไว้ให้เซ็นเซอร์ใช้รับแรงดันของน้ำ

เพื่อประโยชน์ในการประมวลผลและระบุความลึก การจัดวางเลย์เอาท์ของปุ่ม คือ ตำแหน่ง 2 -4-8-10 นาฬิกา  รวมถึงเลย์เอาท์บนหน้าปัด ที่จะมีการเจาะช่องดิจิตอลเอาไว้ในตำแหน่ง 12 นาฬิกา ซึ่งหน้าจอนี้จะใช้ในการระบุข้อมูลต่างๆ ตามฟังก์ชั่นที่มีอยู่ในกลไก เช่น LOG ในการดำน้ำ ความลึก ระยะเวลาในการดำน้ำแต่ละ LOG

Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W

มันเป็นดีไซน์ที่บอกเลยว่าแปลกสุดๆ และน่าเกลียดสุดๆ ตอนที่คุณเห็นครั้งแรก แต่หลังจากที่ปรับความรู้สึกได้ ผมว่าทุกคนน่าจะมีความรู้สึกแบบเดียวกับผม คือ เป็นนาฬิกาที่โคตรเท่เลย

JP-2007-17W มาพร้อมกับขนาดตัวเรือน 44 มิลลิเมตร และจะเพิ่มเป็น 50.7 มิลลิเมตรเมื่อนับรวมส่วนที่ยื่นออกไป ตัวเรือนใส่แล้วไม่ได้รู้สึกว่ากางอะไรมากมาย เพราะ Lug to Lug หรือปลายขาสายเมื่อวัดจากด้านหนึ่งมายังอีกด้านหนึ่งแค่ 48 มิลลิเมตรเท่านั้น เรียกว่าคนที่มีข้อมือไซส์ 6.5-7 นิ้วใส่แล้วสวยเลย

แต่สิ่งเดียวที่ผมค่อนข้างติดคือ ความกว้างขาสาย ซึ่งอยู่ที่ 24 มิลลิเมตร เรียกว่าถ้าเบื่อสายยางของเดิมจากโรงงาน แล้วต้องหาสายไซส์ 24 มาใส่ ส่วนตัวผมว่ามันดูแล้วไม่ค่อยสวยเท่าไร ทำให้ภาพรวมของนาฬิกาดูเป็นแท่งๆ ทื่อๆ ยังไงพิกล สรุป ความยืดหยุ่นในเรื่องของปรับแต่งด้วยสายอาจจะลำบากสักนิด

Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W
a close up of a watch a close up of a watchCitizen Promaster Aqualand JP2007-17W

ตัวเรือนของ JP-2007-17W มากับการเคลือบ PVD สีเทาเข้ม ทำให้ตัวนาฬิกาดูลงตัวขึ้นและตัดกับหน้าปัดที่เป็นแบบ Full Lume สีเขียวอมเหลือง ขณะที่ตามปกติแล้วถ้าเป็นหน้าปัดแบบ Full Lume บนหลักชั่วโมงและเข็มมักจะไม่ค่อยเคลือบสารเรืองแสงมาให้ แต่ปล่อยให้เหมือนกับเงาดำแบบภาพ Silhouette ซึ่งในรุ่นนี้ Citizen ไม่ได้ทำแบบนั้น มีการใช้ขอบดำตัดที่หลักชั่วโมงและบนชุดเข็ม แต่ก็มีการแต้มสารเรืองแสงเอาไว้ด้วย แต่เป็นคนละโทนสีกับของพื้นหน้าปัด เวลาดูในที่มืดก็จะได้ความสวยในอีกแบบ

Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W

การใช้งานไม่ได้ยุ่งยากและวุ่นวายอะไร เพราะ Citizen พยายามคงรูปแบบของการใช้งานของปุ่มต่างๆ เช่นเดียวกับฟังก์ชั่นให้เหมือนกับ C0023 รุ่นแรก แต่สำหรับกลไกใหม่อย่าง C520 ก็มีการเติมลูกเล่นใหม่ๆ เข้าไปด้วย เพื่อให้นาฬิกามีความทันสมัย และสอดรับกับควาทต้องการของคนใช้งานในปัจจุบัน

กลไก C520 สำหรับหน่วยเป็นเมตร และจะเป็นรหัส C526 สำหรับหน่วยเป็นฟุต ถือเป็นกลไกแบบควอตซ์ ดิจิตอล และอนาล็อค หรือ Analog-Digital

โดยจริงๆ แล้วนาฬิกาจะมีอยู่ 2 โหมดหลักคือ  คือ Time Mode และ Diving Mode

ซึ่งแบบแรกจะแบ่งออกเป็น 3 โหมดย่อยตามฟังก์ชั่นในการทำงาน คือ บอกเวลา  ตั้งปลุก และจับเวลา  ส่วนใน Dive Mode จะแบ่งเป็น Log Mode ในการเรียก Log ดำน้ำขึ้นมาดู บันทึกได้สูงสุด 4 ครั้ง ตามด้วย Depth Alarm Mode แจ้งเตือนเมื่อถึงระดับความลึกที่ตั้งเอาไว้ และวัดความลึกได้สูงสุด 80 เมตร Dive Time Alarm Mode แจ้งเตือนเมื่อครบระยะเวลาในการดำน้ำในแต่ละครั้ง โดยสามารถตั้งได้ระหว่าง 5-310 นาที  และ Dive Mode ในการแสดงระดับความลึกสูงสุด และระยะเวลาในการดำน้ำแต่ละครั้ง

Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W

ด้านบนในตำแหน่ง 12 นาฬิกาจะเป็นจอดิจิตอลในการแสดงค่าต่างๆ เมื่อเข้าสู่โหมดดำน้ำ หรือถ้าเป็นโหมดดูเวลาปกติก็จะใช้ในการบอกข้อมูลอื่นๆ เช่น Day/Date เวลาในแบบดิจิตอล หรือวินาที โดยจะเปลี่ยนสลับได้ผ่านทางการกดปุ่มในตำแหน่ง 2 นาฬิกา ส่วนการสลับระหว่าง Time Mode กับ Diving Mode จะต้องกดปุ่มในตำแหน่ง 8 นาฬิกาค้างเอาไว้ 2 วินาที ระบบก็จะสลับให้

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องของการใช้ระบบดิจิตอลบอกเวลาแล้ว ตัวนาฬิกาเองด้วยความที่เป็นนาฬิกาดำน้ำที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสอดคล้องกับ ISO6425 ดังนั้น รายละเอียดเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานนี้ยังมีอยู่ เช่น ขอบตัวเรือนหมุนทางเดียว สำหรับใช้ในการจับเวลาดำน้ำได้ เป็นระบบสำรองนอกเหนือจากระบบหลักในตัวกลไก

ในเรื่องความเที่ยงตรงนั้น ผมไม่ใช่นักดำน้ำก็เลยไม่ได้มีโอกาสนำไปทดลองใช้งาน แต่จากข้อมูลของ Citizen ระบุว่าค่าความลึกที่แสดงบนหน้าจอจะมีความแปรผันไปตามรูปแบบของน้ำด้วยเช่นกัน ด้วยเพราะการเซ็ตค่าเซ็นเซอร์เอาไว้สำหรับการใช้งานในทะเลเป็นหลัก ซึ่งน้ำทะเลจะมีความเข้มข้นอยู่ที่ 1.025

ดังนั้น ระดับความลึกในการแสดงเมื่อดำที่น้ำจืดจะแตกต่าง เรียกว่ามีมากกว่าในน้ำเค็มประมาณ 2.5% เช่น ในน้ำเค็มโชว์ 20 เมตร แต่ในน้ำจืดจะอยู่ที่ประมาณ 20.5 เมตร ดังนั้น ตัวเลขที่โชว์เวลาดำในน้ำจืดจะต้องบวกเพิ่มเข้าไปด้วย ถ้าโชว์ 20 เมตรบนหน้าปัด ความหมายคือ ความลึกที่แท้จริงจะประมาณ 20.5 เมตร

การใช้งานโดยรวมไม่ยุ่งยากและวุ่นวายเพียงแต่อาจจะต้องนั่งอ่านแมนนวลกันสักหน่อย เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะปวดหัวได้

สรุปโดยรวมแล้ว ต้องบอกว่า Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W เป็นนาฬิกาที่ครบเครื่องสำหรับนักดำน้ำในราคาที่ไม่แพงมาก แต่สำหรับคนทั่วไปอย่างผมเป็นต้น ความคุ้มค่าที่จะได้รับคงมีเรื่องเดียวคือ ความโฉบเฉี่ยวของดีไซน์ แต่คงไม่ได้มีโอกาสในการใช้ฟังก์ชั่นเท่าไรนัก

อีกสิ่งที่น่าเสียดายคือ ในกรณีที่ทำฉลองโอกาสพิเศษ Citizen น่าจะเปลี่ยนกลไกใหม่ที่เป็นแบบ Eco-Drive ไปเลย ซึ่งจะทำให้นาฬิการุ่นนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น แต่ก็อย่างว่าละครับ ราคาที่ตั้งเอาไว้คงจะไม่ใช่ในระดับนี้อย่างแน่นอน เพราะราคาของรุ่นนี้ก็ตั้งเอาไว้ถึง 550 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยบวกภาษีน้ำเข้าแล้วก็รวม 20,000 บาทแล้ว

รายละเอียดทางเทคนิค : Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 44 มิลลิเมตร (ไม่รวมเซ็นเซอร์) / 7 มิลลิเมตร (รวมเซ็นเซอร์)
  • Lug to Lug : 48 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 14 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 24 มิลลิเมตร
  • กระจก : Mineral
  • กลไก : Calibre 520
  • ฟังก์ชั่น : แสดงเวลา วัดความลึก จับเวลา บอกเวลาในการดำน้ำ
  • แบตเตอรี่ : 2 ปี
  • การกันน้ำ : 200 เมตร
  • ประทับใจ : ดีไซน์ สตอรี่ ฟังก์ชั่น
  • ไม่ประทับใจ : ราคาเมื่อเปรียบเทียบกับสเป็ก