ตอนที่ Citizen เปิดตัว Promaster Altichron ใหม่ออกมาเมื่อปี 2023 นี่คือ นาฬิกาเรือนหนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากรูปทรงและความสวยงามตามแบบฉบับ Field Watch ที่สามารถใส่ลุยภาคพื้นดินและปีนเขาแล้ว ความสามารถของมันยังรองรับกับการใช้งานได้อย่างยอดเยี่ยม และแน่นอนว่า ผมไม่พลาดที่จะสอยนาฬิกาเรือนนี้เข้ากรุของตัวเอง
Citizen Promaster Altichron BN4061-08E สายปีนป่ายไม่ควรพลาด
-
รุ่นล่าสุดของ Promaster Altichron นาฬิกาที่สามารถวัดความสูงได้
-
ตัวเรือนไทเทเนียม 47 มิลลิเมตร มากับกลไก J280 แบบ Eco-Drive ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นกระแสไฟฟ้า
-
หน้าปัดเต็มไปด้วยสเกลสำหรับวัดความสูงตามแบบฉบับ Altichron แต่ค่อนข้างใช้งานยากเพราะไม่ได้มีการแยกสีเอาไว้
จริงอยู่ที่นาฬิกาดำน้ำพร้อมฟังก์ชั่นวัดความลึกอย่าง Aqualand Ref.C0023 จะเป็นนาฬิกาเรือนแรกๆ ของ Citizen ที่นำเซ็นเซอร์วัดแรงกดอากาศมาใช้ในการวัดระยะทางในแนวดิ่งลงใต้น้ำ แต่ถ้าเป็นนาฬิกาสำหรับวัดความสูงที่เชื่อว่ามีเซ็นเซอร์ที่ทำงานภายใต้หลักการเดียวกันนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า Altichron คือ นาฬิกาเรือนแรกที่มีความสามารถในด้านนี้ ที่สำคัญ คอลเล็กชั่นนี้มาพร้อมกับจุดเริ่มต้นของคำว่า Promaster ด้วย
ดังนั้น เมื่อ Citizen เปิดตัวรุ่นใหม่ออกมาในปี 2023 ผมจึงไม่พลาดที่จะตามหานาฬิกา Citizen Promaster Altichron BN4061-08E รุ่นนี้เข้ามาอยู่ในกรุ
Altichron เปิดตัวครั้งแรกในปี 1989 พร้อมกับความสามารถในการผสมผสานระหว่างนาฬิกาข้อมือแบบควอตซ์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีในการวัดความสูงโดยอาศัยเซ็นเซอร์วัดแรงกดอากาศซึ่งติดตั้งอยู่ในกลไกรหัส Cal.040 นอกจากนั้น นาฬิการุ่นนี้ยังถือเป็นหนึ่งในตัวเปิดของ Promaster
ซึ่งเป็นคอลเล็กชั่นนาฬิกาสำหรับมืออาชีพที่ถูกแบ่งออกเป็น Land Sea และ Air เพื่อรองรับกับผู้ใช้งานจริง โดยนับจากนั้นเป็นต้นมา Altichron ก็กลายเป็นขาประจำของ Promaster มาตลอด ซึ่งก็รวมถึงรุ่นดังที่สร้างชื่ออย่างมาก คือ BN4021 Series ที่เปิดตัวในปี 2013
และในวาระครบ 10 ปีนับจาก BN4021 Series เปิดตัว คอลเล็กชั่นนี้ของ Citizen ก็ดึงความสนใจผมได้อีกครั้ง เมื่อพวกเขาเผยโฉมนาฬิการุ่นใหม่อย่าง BN4065-07L ออกมา ซึ่งในตอนแรกผมคิดว่ามีแค่รุ่นนี้เพียงแบบเดียว เพราะเมื่อเสิร์ชจากเว็บไซต์ของ Citizen ในตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นก็มีแต่รุ่นนี้ ซึ่งสวยนะครับแต่ว่ายังไม่ถูกใจเท่าที่ควร จนกระทั่ง มาเจออีกรุ่นที่ถือว่าเป็นพี่น้องกันอย่าง BN4061-08E งานนี้ก็เลยไม่รอด
จริงๆ ผมไม่แน่ใจกับแนวทางและนโยบายในการแบ่งรุ่นเพื่อทำตลาด เพราะดูแล้วนาฬิการุ่นนี้ก็ไม่ใช่พวกรุ่นพิเศษที่เกิดมาเพื่อประเทศหรือภูมิภาคเฉพาะ เหมือนกับเวอร์ชัน Red Arrows ที่มีเฉพาะในอังกฤษ หรือยุโรป เพราะเมื่อลองตามหาดูแล้ว พบว่า นอกจากฮ่องกงแล้ว นาฬิการุ่นนี้ยังมีขายอยู่ในบางประเทศแถวยุโรปด้วย แต่เท่าที่เห็นคือ จะมีแค่รุ่นใดรุ่นหนึ่งเท่านั้น ไม่เห็นมี 2 รุ่นวางขายอยู่กัน
ไม่ว่าจะเป็น BN4065-07L หรือ BN4061-08E ทั้ง 2 เรือนนี้ใช้พื้นฐานเดียวกันหมด ยกเว้นรายละเอียดปลีกย่อย เช่น สีตัวเรือนซึ่งเป็นแบบธรรมดากับ DLC สีดำ สีบนหน้าปัด และสาย โดยรุ่น BN4061-08E จะพิเศษหน่อย เพราะนอกจากสายหนังสีน้ำตาลจะจับคู่กันอย่างลงตัวกับตัวนาฬิกาแล้ว ยังมีแผ่นหนังรองข้อมือ พร้อมกับ Ground-Air Visual Code ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลเพื่อสื่อสารขอความช่วยเหลือจากเครื่องบินเพื่อให้ดูสมกับเป็นนาฬิกาตัวลุย นอกจากนั้น BN4061-08E มากับสายหนังสีน้ำตาล ที่ดูเข้ากันกับหน้าปัดสีดำ
ตัวนาฬิกามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 47 มิลลิเมตร และหนาถึง 16.4 มิลลิเมตร แต่เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่ทำให้นาฬิกาสวมสบายมีอยู่ 2 เรื่อง อย่างแรกคือ การใช้ Super Titanium ในการผลิตตัวเรือน และใช้สายหนัง ทำให้มีน้ำหนักเบา ลดภาระบนข้อมือเวลาสวมใส่ได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีการเคลือบด้วย Duratect MRK ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของพื้นผิวให้ทนต่อการขูดขีด ซึ่งอาจจะทำให้นาฬิกาเกิดรอยได้ง่าย
อย่างที่ 2 คือ ขาตัวเรือนไม่ยาวจนเว่อร์เมื่อเทียบกับเส้นผ่านศูนย์กลาง และภาพรวมของ Lug to Lug นาฬิกาอยู่ที่ 52 มิลลิเมตร นั่นหมายความว่า โอกาสที่นาฬิกาจะกางเมื่อสวมอยู่บนข้อมือเล็กๆ มีน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีนะครับ เพราะถ้าข้อมือเล็กมากยังไงก็ล้น แต่ถ้าข้อมืออยู่ในระดับ 6.5-7 นิ้ว ผมว่าใส่กำลังสวยเลย
สำหรับความหนาของตัวนาฬิกาส่วนหนึ่งมาจากกระจกที่เป็นแบบ Sapphire ทรงโค้ง ซึ่งเพื่อความสะดวกในการมองจากมุมต่างๆ เวลาที่นาฬิกาถูกสวมบนข้อมือ ทำให้มองเห็นรายละเอียดบนหน้าปัดโดยไม่จำเป็นต้องยกข้อมือขึ้นมาในระดับสายตาทุกครั้งที่ต้องการทราบข้อมูล แต่ข้อเสียก็มี เพราะนอกจากความหนาแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่กระจกจะกระแทกเข้ากับวัตถุต่างๆ ในระหว่างใช้งาน เพราะตัวกระจกอยู่สูงกว่าขอบตัวเรือน
เหมือนกับ Altichron รุ่นหลักๆ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเพราะการใช้กลไกแบบเดียวกัน นั่นคือรหัส J280 แบบ Eco-Drive ซึ่งเปลี่ยนพลังงานแสงแบบต่างๆ เป็นไฟฟ้าเก็บในแบตเตอรี่แบบชาร์จได้ จึงทำให้การจัดวางรายละเอียดของ Altichron นับจากปี 2013 เป็นต้นมาจึงมีความคล้ายกันในเชิงของเลย์เอาท์และรายละเอียดที่อยู่บนหน้าปัด
มุมหนึ่งดูแล้วอาจจะน่าเบื่อ และในอีกมุมหนึ่งต้องบอกว่าเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน เพราะกลุ่มลูกค้าเรียนรู้และรับรู้ในเรื่องของฟังก์ชั่นมาตั้งแต่รุ่นปี 2013 แล้ว เหมือนกับ G-Shock ซึ่งถ้าคุณใช้เป็นแล้ว จะทราบดีกว่า แต่ละปุ่มที่อยู่บนตัวเรือนและลำดับในเรื่องของการเข้าถึง Mode ต่างๆ จะเหมือนกัน แม้ว่าเป็นนาฬิกาคนละรุ่นก็ตาม
เลย์เอาท์ในการแสดงข้อมูลบนหน้าจอ รวมถึงจำนวนเข็มที่อยู่บนหน้าปัดของนาฬิกากลุ่มนี้จะคล้ายๆ กัน โดยเข็มตรงกลางจะมีทั้งหมด 5 เข็ม ซึ่ง 3 เข็มเป็นการบอกเวลา คือ เข็มชั่วโมง นาที และวินาที อีก 2 เข็มจะเป็นเข็มสำหรับใช้ในโหมดเข็มทิศ และทำอีกหน้าที่ในการระบุความสูงส่วนหลักหน่วย ส่วนอีกเข็มเป็นตัวระบุความสูงในส่วนหลักร้อย คือ 100-900 เมตร
บนหน้าปัดจะมี 3 หน่วยในการแสดงผล คือ วงนอกจะแสดงในส่วนของหลักสิบและหน่วย คือ 0-99 เมตร ภายในจะมีการแสดงมาตรวัดในส่วน 100-900 เมตร (และสามารถวัดในระดับต่ำกว่าน้ำทะเลได้ถึง -300 เมตร) และสุดท้ายคือ หน้าปัดย่อยในตำแหน่ง 9 นาฬิกาจะแสดงความสูงในระดับหลักพัน คือ 0-10,000 เมตร ซึ่งในโหมดปกติเข็มนี้จะทำหน้าที่เป็น Power Reserve Indicator
ในการใช้งานไม่ค่อยงงเท่าไร โดยมีปุ่ม 7 นาฬิกาเป็นตัวเริ่มการทำงานของฟังก์ชั่นวัดความสูง ส่วนปุ่ม 11 นาฬิกาคือ สั่งการทำงานของเข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ตรงตำแหน่ง 9 นาฬิกาจะมีช่องสำหรับเซ็นเซอร์ในการวัดความกดอากาศ แต่สิ่งที่ผมคิดว่ามันขาดไป คือ ความชัดเจนในเรื่องของการแสดงผล และน่าจะใช้สีในการแยกความแตกต่างของเข็มแต่ละแบบ เพราะในรุ่นนี้เข็มทั้งหมดเป็นสีขาว (ยกเว้นเข็มวินาทีที่เป็นสีเหลือง)
ปัญหาที่ตามมา โดยเฉพาะคนสายตาเริ่มไม่ดีอย่างผมคือ ดูเวลาไม่รู้เรื่อง หรืออาจจะรวมถึงการดูตัวเลขในการวัดไม่ชัดเจนในระหว่างใช้งาน เพราะไม่ได้มีการแยกสีในสเกลที่ใช้วัดในระดับต่างๆ
เข้าใจว่าอาจจะต้องกาคุมโทนเพราะไม่ให้หน้าปัดมีสีสันมากจนเกินไป แต่ผมว่านี่คือปัญหาใหญ่ที่ตามมาเลยละ โดยเฉพาะกับคนใช้งานที่มือหนึ่งจะต้องโหนหรือปีนป่าย และการรับทราบข้อมูลเป็นเรื่องยากและต้องยกข้อมือขึ้นดูเวลา แทนที่จะแค่เหลือบสายตามองไปที่ข้อมือที่สวมนาฬิกาก็เพียงพอแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการใช้งานแค่ดูเวลา หรืออาจจะปีนเขาเป็นงานอดิเรก นาฬิกาเรือนนี้สามารถตอบสนองการใช้งานทั้ง 2 รูปแบบได้อย่างลงตัว ด้วยขนาดและรูปทรงที่ลงตัว
ส่วนในบ้านเรา Citizen Promaster Altichron BN4061-08E ไม่ได้มีการนำเข้ามาจำหน่ายโดยทางแอลดีไอ เอ็นเตอร์ไพรส์ ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ก็เข้าใจได้ในแง่ของความนิยมของตลาดและราคาป้ายที่อาจจะสวนทางกัน…น่าเสียดายมาก
#Citizen #CitizenPromaster #Promaster
รายละเอียดทางเทคนิค : Citizen Promaster Altichron BN4061-08E
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 47 มิลลิเมตร
- ความหนา : 16.4 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 52 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน : ไทเทเนียมเคลือบด้วย Duratect MRK และ DLC
- กระจก : Sapphire ทรงโค้ง
- กลไก : J280 แบบ Eco-Drive
- ฟังก์ชั่น : เข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์ / สามารถวัดความสูงในระดับ -300 ถึง 10,000 เมตร
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ ฟังก์ชั่น ความเบาของตัวเรือน
- ไม่ประทับใจ : การใช้เข็มต่างๆ และสเกลสีเดียวกัน ทำให้ดูยากเมื่อใช้งาน
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline