การเปิดตัว Protrek PRW61Y-3ER ของ Casio ทำให้ผมเริ่มหันกลับมามองนาฬิการุ่นนี้อีกครั้ง เพราะหลงรักในขนาดและดีไซน์ที่ดูเรียบง่าย และหลังจากได้ลองใช้งาน พบว่านี่คือ Protrek ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีความกะทัดรัด สวมใส่สบาย แต่ก็เปี่ยมด้วยความสามารถในการใช้งานเช่นเดิม
Casio Protrek PRW61Y-3ER บางเบา แต่เพียบด้วยฟังก์ชั่น
-
นาฬิกาเรือนแรกของ Casio ที่ใช้วัสดุ Bio-Mass Plastic
-
ขนาดตัวเรือนไม่ใหญ่และบางบวกกับดีไซน์เรียบง่ายทำให้สวมใส่สบาย
-
เพียบพร้อมด้วยฟังก์ชั่น เช่น วัดความสูง ความกดอากาศ อุณหภูมิและเข็มทิศ
ภาพจำของผมกับนาฬิกาคอลเล็กชั่น Protrek จาก Casio นั้น ต้องบอกว่าหนักหนาเอาเรื่องกว่า G-SHOCK อีก แต่กับรุ่นใหม่ล่าสุดของพวกเขาอย่าง Casio Protrek PRW61Y-3ER ถือว่าเป็นสิ่งที่พลิกอารมณ์ และเปลี่ยนมุมมองของผมต่อนาฬิกาคอลเล็กชั่นนี้ของ Casio ไปเลย
เล่าสักนิดถึงเรื่องที่เกริ่นข้างต้น เหตุผลไม่มีอะไรซับซ้อนครับ เพราะด้วยความที่ Protrek เป็นพวกนาฬิกาบอกข้อมูล และสมัยก่อนพวกเขายังผลิตแต่เวอร์ชันดิจิตอล ดังนั้น หน้าจอก็เลยต้องมีขนาดใหญ่เหมือนกับสมาร์ทวอทช์ยุคนี้ ตัวเรือนก็เลยต้องใหญ่ในระดับ 50 มิลลิเมตรอัพ แต่สิ่งที่ผมไม่แฮปปี้เท่าไรคือ พวกเขาชอบออกแบบให้ความกว้างของสายมีขนาดเล็ก มันก็เลยเหมือนกับคนหัวโตแต่ขาลีบ แถมตัวนาฬิกาก็ไม่สามารถเปลี่ยนสายทดแทนได้ เพราะรูปทรงมักจะออกแบบให้ตัวเรือนกับสายมีความสอดรับกันและต้องใช้สายเฉพาะรุ่นเท่านั้น
จริงอยู่ที่ Protrek ยุคหลังๆ จะออกแบบให้ตัวนาฬิกามีขนาดเล็กลงและใส่ง่ายขึ้น รวมถึงหลังจากที่เปิดตัว PRG510 Series ออกมา ซึ่งใช้วิธีในการแสดงเวลาด้วยเข็ม และมีหน้าจอเป็นแถบเล็กๆ อยู่ในตำแหน่ง 6 mymedic.es นาฬิกา แต่ด้วยความรู้สึกที่ฝังใจในอดีต ก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่า Protrek เป็นนาฬิกาที่ค่อนข้างใหญ่เอาเรื่อง นั่นก็เลยทำให้ผมค่อนข้างห่างๆ จากนาฬิกาคอลเล็กชั่นนี้ไป จนกระทั่งได้มาเจอกับเจ้า Casio Protrek PRW61Y-3ER ก็เลยทำให้ผมอยากกลับมาลองคบกับ Protrek อีกครั้ง
เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่ทำให้ดูชอบ Protrek รุ่นนี้อย่างแรก คือ ดูจากสเป็กแล้วตัวนาฬิกาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เส้นผ่านศูนย์กลาง 47.4 มิลลิเมตรถือว่าค่อนข้างเล็กเลยเมื่อดูจากสิ่งที่ Protrek หรือ G-SHOCK ทำออกมา ส่วน Lug to Lug ที่มีถึง 54.2 มิลลิเมตรนั้น ตรงนี้ไม่ใช้ประเด็นอะไร เพราะว่าพวกเขาชอบนับชิ้นส่วนที่ยาวต่อจากตัวเรือนออกมา มันก็เลยดูโอเวอร์ๆ หน่อย แต่พอใส่จริงไม่ล้นอย่างที่คิด และด้วยความหนา 14.7 มิลลิเมตรถือว่าตัวนาฬิกาโอเคเลย
![]() |
![]() |
ประการต่อมา PRW61 Series คือ นาฬิการุ่นแรกของ Casio ที่มาพร้อมกับการใช้ Bio-Mass Plastic หรือพลาสติกชีวภาพ ที่เกิดจากการนำวัตถุดิบอย่างข้าวโพดและเม็ดละหุ่งมาผลิต เป็นผลผลิตที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเรื่องของการสร้างขยะพลาสติกในกรณีที่นาฬิกาเรือนนั้นไม่ได้มีการใช้งานหรือถูกทิ้ง เช่นเดียวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ธรรมชาติ ถือว่าเข้ากับคอนเซ็ปต์ของ Protrek ซึ่งเป็นนาฬิกาสำหรับนักผจญภัยในธรรมชาติ
Casio ได้นำ Bio-Mass Plastics มาใช้ในการผลิตตัวเรือน สาย และฝาหลังของ PRW-61 ซึ่งเป็นนาฬิการุ่นใหม่ล่าสุดของ Protrek ที่เปิดตัวในปี 2022 โดยถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ใส่ใจต่อสภาพแวดล้อมด้วยการวางเป้าหมายในการพัฒนาและใช้วัสดุที่มีความยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals กับนาฬิกาที่จำหน่ายในตลาด
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
และสุดท้ายคือ ผมชอบหน้าปัดของนาฬิกาเรือนนี้มาก จริงอยู่ที่ Casio ใช้เลย์เอาท์นี้ในการวางรายละเอียดบนหน้าปัดของ Protrek มาหลายรุ่นแล้ว เช่น PRG600, PRW6600, PRG650 หรือรุ่นล่าสุดอย่าง PRG601 โดยจะมีวงกลมย่อยพร้อมเข็มอยู่ในตำแหน่ง 10 นาฬิกาเพื่อบอกว่าตอนนี้นาฬิกาอยู่ในโหมดไหน และมีหน้าจอดิจิตอลอยู่ในตำแหน่ง 6 นาฬิกา
แต่ที่ผ่านมาพวกเขามักใช้ตัวเลขผสมอยู่ในหลักชั่วโมง หรือไม่ก็เป็นตัวเลขล้วนๆ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่ามันเยอะเกินไป แต่สำหรับ PRW61 พวกเขาใช้แค่แท่งเหลี่ยมสำหรับทำหน้าที่เป็นหลักชั่วโมง และแท่งเหลี่ยมสีขาวนี้มีการเคลือบด้วยสารเรือนแสง Neobrite สำหรับใช้มองในเวลากลางคืน นอกเหนือจากการมีไฟ LED สำหรับกดส่องดูหน้าจอ
รุ่นที่ผมได้มาคือ Protrek PRW61Y-3ER ดังนั้น รายละเอียดส่วนใหญ่ ซึ่งก็รวมถึงพื้นหน้าปัดและสายจะเป็นสีเขียว และ Casio เลือกใช้สีเขียวโทนเข้มที่ดูดีมาก เมื่อตัดกับหลักชั่วโมงแล้ว ช่วยทำให้ตัวนาฬิกามีภาพรวมที่ดูสะอาด และสบายตา และสอดรับกับการเป็นนาฬิกาสำหรับนักผจญภัย
ที่สำคัญบนหน้าปัดของนาฬิการุ่นนี้ไม่มีสเกล หรือข้อมูลอะไรที่เยอะแยะจนทำให้ดูรกจนเกินงาม สิ่งที่มีอยู่ก็มีแค่ข้อความ Triple Sensors ที่อยู่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา และ Tough MVT. (Tough Movement) ที่อยู่เหนือช่องดิจิตอล ซึ่งตรงนี้ผมก็ค่อนข้างแปลกใจเหมือนกันว่าทำไม Protrek ถึงมีระบบนี้มาด้วย
สมัยก่อน ตามปกติแล้ว Tough MVT. จะอยู่ในนาฬิกานักบินที่ใช้เข็ม และเป็นการการันตีว่านาฬิกาของพวกเขา มีความทนทานต่อแรง G ที่กระทำทั้งแนวด้านข้าง และแนวดิ่ง หรือ Triple G อยู่ในนาฬิกาอย่าง G-1200 หรือ GW-3000
แต่สำหรับความหมายยุคใหม่ของ Tough MVT. คือ การบอกว่านาฬิกาเรือนนั้น มีส่วนประกอบของ 4 นวัตกรรมในตัวเรือน นั่นคือ Multiband 6 การปรับความเที่ยงตรงผ่านคลื่นวิทยุ, Tough Solar การเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นไฟฟ้าเพื่อชาร์จในแบตเตอรี่, Hybrid Design
การใช้ชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักเบาของเรซินและโลหะบนชิ้นส่วนของโครงสร้างภายในเพื่อความทนทาน เช่นเดียวกับกับการเป็นนาฬิกาแบบ 2 ระบบ คือ เข็มและดิจิตอล และสุดท้ายคือ Automatic Pointer Adjustment เป็นระบบที่เข็มจะเช็คความเที่ยงตรงในการเดินตลอดทุกชั่วโมงเพื่อปรับให้กลับมาเดินตรง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาได้เมื่อนาฬิกาถูกกระแทกอย่างแรงในขณะใช้งานหรือได้รับผลกระทบจากสนามแม่เหล็ก
![]() |
![]() |
ดังนั้น มั่นใจได้ว่า PRW61 ทนและถึกอย่างแน่นอน
ในแง่ของการสวมใส่นั้น บอกเลยว่า นี่คือ Protrek ที่ผมแฮปปี้อย่างมาก เบาและสบาย หน้าตาดูสวยไม่เหมือนกับนาฬิกาสำหรับผจญภัย โมดุล 5673 ตอบสนองการใช้งานกลางแจ้งด้วยกลไกที่มาพร้อมกับ Triple-Sensor ที่สามารถวัดความสูง/ความกดอากาศ เข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์ และการวัดอุณหภูมิ (หรือมักจะถูกเรียกว่า ABC-Altimeter, Barometer และ Compass) พร้อมกับฟังก์ชั่น Multiband6 ในการปรับเวลาตามคลื่นวิทยุ และ Tough Solar ในการชาร์จกระแสไฟฟ้าผ่านทางแสงอาทิตย์
![]() |
![]() |
นอกจากนั้น ฟังก์ชั่นปกติก็มีทั้ง การปรับเวลาในแบบ WorldTime ที่มีให้เลือกถึง 29 เมืองจาก การจับเวลาที่มีความละเอียดในระดับ 1/100 วินาที รวมถึงการนับถอยหลัง 24 ชั่วโมง และตั้งปลุกได้ถึง 5 ครั้งต่อวัน และเมื่อชาร์จจนเต็ม สามารถใช้งานได้นานถึง 6 เดือนโดยที่ไม่โดนแสงอาทิตย์ในกรณีที่ทุกฟังก์ชั่นถูกสั่งให้ทำงาน หรือ 25 เดือนเมื่ออยู่ในโหมด Power Saving การตั้งเวลาผ่านทางเม็ดมะยมของระบบ Smart Access ผมว่าเป็นอะไรที่ง่ายและใช้งานสะดวกมาก
อย่างไรก็ตาม สิ่งเดียวที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่อาจจะไม่เหมาะกับวัยของผมคือ หน้าจอดิจิตอลขนาดเล็กตรง 6 นาฬิกาแถมยังเป็นหน้าจอแบบ Negative ด้วย ทำให้ดูหรืออ่านค่าค่อนข้างลำบากสำหรับคนสูงอายุ
น่าเสียดายที่บ้านเรา คอลเล็กชั่น Protrek หาค่อนข้างยากและแทบไม่เห็นจากเคาน์เตอร์ของ Casio อีกเลย ทำให้ผมต้องสั่ง Casio Protrek PRW61Y-3ER จากเมืองนอกเข้ามา และเมื่อได้ลองสัมผัสแล้ว นี่คือ Protrek ที่น่าประทับใจ และทำให้ผมลืมความรู้สึกที่ค่อนข้างติดลบในแง่ของดีไซน์และขนาดจากนาฬิกาคอลเล็กชั่นนี้ไปเลย
รายละเอียดทางเทคนิค : Casio Protrek PRW61Y-3ER
- เส้นผ่านศูนย์กลาง: 47.4 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 52 มิลลิเมตร
- ความหนา: 14.7 มิลลิเมตร
- กระจก: Mineral
- กลไก: Module 5673 Tough Solar / Multiband 6 / Triple–Sensor
- การกันน้ำ: 100 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ ความเบา และฟังก์ชั่น
- ไม่ประทับใจ : หน้าจอดิจิตอลขนาดเล็กที่ทำให้ดูข้อมูลยาก
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline