Casio G-Shock GPW-1000BDR นักบิน GPS ลุยได้ทั่วโลก

0

หลังจากลังเลอยู่นาน ในที่สุดเทศกาลลดกระหน่ำของ Casio Thailand ในช่วงเดือนกรกฎาคมก็แผลงฤทธิ์และทำให้ผมตัดสินใจสอยเจ้า Casio G-Shock GPW-1000BDR เข้ามาอยู่ในกรุอย่างไม่ลังเล แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่ค่อยเดินทางไปไหนมาไหนแล้วก็ตาม

- Advertisement -

Casio G-Shock GPW-1000BDR นักบิน GPS ลุยได้ทั่วโลก

  • Casio G-Shock GPW-1000BDR มาพร้อมกับตัวเรือนขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 56 มิลลิเมตร
  • GPW-1000 ถือเป็นนาฬิกา GPS แบบชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์เรือนแรกของโลก
  • การใช้งานไม่ยุ่งยาก แต่ควรนั่งอ่านคู่มือให้เข้าใจ

ในยุคที่ Smartwatch ยังไม่เกลื่อนตลาด และทางเลือกของนาฬิกาที่ฉลาดยังมีไม่เยอะ การเปิดเวอร์ชันใหม่ของ Gravitymaster ที่มาพร้อมกับการปรับเวลาตามสัญญาณ GPS โดย Casio G-Shock ถือเป็นอะไรที่ไฮเทคสุดๆ และเรียกว่าเป็นการพลิกโฉมหน้าของวงการนาฬิกาดิจิตอลในตอนนั้นเลย และแม้ว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีการเชื่อมต่อจะก้าวหน้าไปไกลจากจุดที่มันเปิดตัวออกมาเมื่อเกือบๆ 4 ปีที่แล้ว แต่สำหรับผมนาฬิกาที่เป็นนาฬิกาจริงๆ แต่มีฟังก์ชั่นไฮเทคแบบนี้อย่าง GPW-1000 ยังมีความน่าสนใจอยู่เสมอ และยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเห็นป้ายลด 50% วางอยู่ข้างๆ

ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของมัน ย้อนความสักนิดกับความผูกพันธ์ที่ผมมีต่อนาฬิกานักบินของ Casio G-Shock เรียกว่านี่คืออีกหนึ่งไลน์อัพที่ผมติดตามอย่างเหนียวแน่นและเมื่อเข้าสู่ยุคของรุ่นใหม่อย่าง G1200/GW3000 ที่ทนขึ้นกับเทคโนโลยี Tough MVT ผมติดตามพัฒนาการของมันมาตลอดและน่าจะเรียกว่าเกือบทุกรุ่นหลักตั้งแต่ GW3500, GW-A1000 ตามด้วย GW-A1100 ก่อนที่จะมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านมาสู่รุ่น GPW-1000

จริงๆ แล้วผมอยากจะสอยเจ้า GPW1000 เข้ามาอยู่ในกรุหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่ด้วยค่าตัวที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับการเป็นนาฬิกาที่มีเทคโนโลยี เพราะมีการใช้ระบบปรับเวลาตามสัญญาณ GPS ร่วมกับการยังใช้ระบบ Multiband 6 ปรับเวลาละเอียดในบางเขตประเทศที่มีการปล่อยคลื่นวิทยุ และผมไม่ได้ชีพจรลงเท้าเหมือนกับสมัยหนุ่มๆ ทำให้เราคลาดกันหลายต่อหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมากับช่วงมหกรรมลดกระหน่ำของทาง Casio Thailand ฝันที่คิดเอาไว้ก็เป็นจริงจนได้ และแม้ว่าจะไม่มีโอกาสเลือกรุ่นย่อย แต่เจ้า GWP-1000B-1A ที่ได้มาก็ถือว่า สวยและลงตัวในแบบเข้มเรียบๆ ไม่มีสีสันสดใสมาแซมเหมือนกับเพื่อนร่วมก๊วน

เมื่อปี 2014 ตอนที่เปิดตัวออกสู่ตลาดใหม่ๆ Casio เคลมว่านี่คือนาฬิกาเรือนแรกของโลกที่มาพร้อมกับการปรับเวลาตามคลื่น GPS และสัญญาณวิทยุ โดยที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เรือนแรกของโลก โอว์… เล่นเคลมกันอย่างนี้ก็เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวสิ เพราะนี่คือ 3 เทคโนโลยีสำคัญของ Casio ที่คู่แข่งในตลาดไม่มีอยู่ในมือเลย จะมีก็แค่ Radio Wave Controlled และ Solar Power เท่านั้น ส่วนการปรับเวลาตาม  GPS ในสมัยนั้นยังเป็นเรื่องไกลตัว

เอาเข้าจริงๆ ในเรื่องของการปรับเวลาตามสัญญาณ GPS กับผมไม่ใช่สิ่งที่เชิญชวนให้ควักเงินซื้อมากเท่ากับหน้าตาที่สะดุดตาของ GPW-1000 เพราะอย่างที่บอกตั้งแต่แรกว่าผมตกหลุมรักและเป็นแฟนประจำของนาฬิกาตระกูลนักบินของ Casio G-Shock มาตั้งแต่ก่อนและในช่วงที่ใช้ชื่อว่า Gravity Defier และในช่วงที่มีงบฯ  สำหรับซื้อ ผมก็ไม่ได้เดินทางไปไหนมาไหนบ่อยเหมือนกับสมัยหนุ่มๆ ดังนั้น ฟังก์ชั่นการปรับเวลาตามสัญญาณ GPS จึงยังไม่เด่นพอที่จะเชิญชวนให้เสียเงินมากเท่ากับหน้าตาที่สวยและดุดัน

ในนาฬิกาตระกูลนักบินนี้จะว่าไปแล้ว นับจากรุ่น GW-A1000 ซึ่งมีการนำเม็ดมะยมไฟฟ้า หรือ Smart Access เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกนั้น กลับกลายเป็นการกำหนดแนวทางและสไตล์ในการออกแบบนาฬิกาในกลุ่มนี้ของ Casio G-Shock ด้วยสไตล์ตัวเรือนขนาดใหญ่ มี Crown Guard ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา และฝั่งตรงข้ามก็มีส่วนที่ยื่นออกมาในลักษณะที่คล้ายกัน โดยที่ขอบ Bezel จะมีการระบุตัวย่อของเมืองที่เป็นโซนเวลาสำคัญๆ เอาไว้สำหรับใช้ในการดูข้อมูลในการทำงานของระบบ ขณะที่ปุ่มในตำแหน่ง 4 นาฬิกาจะใช้สำหรับกดในการรับสัญญาณ GPS เพื่อปรับเวลาให้ตรงกับโซนเวลานั้นๆ ที่คุณยืนอยู่

สิ่งที่ผมค่อนข้างชอบใน GPW-1000 คือ การใช้ลายคาร์บอนไฟเบอร์ในการออกแบบพื้นหน้าปัด ตัวสายมากับเส้นใยคาร์บอนไฟเบอร์  ขอบกันกระแทกที่เป็นโลหะเคลือบ DLC ให้สัมผัสที่บึกบึนมาก และเวลามองกลางแสงแดด จะไม่ได้ดำสนิท แต่ออกเทาเข้ม ทำให้ตัวเรือนมีความสะดุดตาแบบเข้มๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับบนหน้าปัดที่ไม่มีอะไรรกตาเยอะแยะ แค่หลักชั่วโมงเด่นๆ ในตำแหน่ง 12 และ 6 นาฬิกา เช่นเดียวกับเข็มทรงดาบที่ดูแล้วลงตัวอย่างมาก

สำหรับขนาดตัวเรือน งานนี้ก็เหมือนกับคนที่กำลังจะเล็งๆ ซื้อ Frogman GWF-D1000 ว่าถ้าข้อมือไม่ใหญ่จริงให้ไปลองก่อน อย่าเพิ่งตัดสินใจสั่ง เพราะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางในระดับ 56 มิลลิเมตร และ Lug-to-Lug ระดับ 66 มิลลิเมตรบอกได้เลยว่างานนี้ไม่ได้เกิดมาเพื่อคนข้อมือเล็ก นอกจากคุณจะฝืนแบบไม่สนใจอะไร…อันนั้นก็อีกประเด็น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมค่อนข้างหงุดหงิดกับ G-Shock รุ่นใหม่ๆ คือ การหันมาใช้ตัวรัดสายที่เป็นเหล็ก จริงอยู่มันช่วยทำให้นาฬิกาดูดีขึ้นและทนทาน แต่ในมุมของผมเองผมเจอแต่สิ่งที่ไม่ค่อนพึงประสงค์เท่านั้น ตั้งแต่รอยขูดในระหว่างใช้งาน เสียงดังโดยเฉพาะตอนถอดแล้วตัวรัดสายมันรูดหล่นมาชนเข้ากับบัคเคิล และที่สำคัญคือ ดูเหมือนมันจะไม่ทำหน้าที่ซึ่งควรจะเป็น นั่นคือ การรัดสาย เพราะส่วนใหญ่แล้ว ตัวรัดสายแบบเหล็กมักจะรูดเคลื่อนที่เสมอ อาจจะเป็นเพราะทาง Casio ออกแบบให้กว้างหน่อย เพื่อให้สอดสายยาวอย่างสะดวก ก็เลยทำให้มันมีพื้นที่เคลื่อนตัวได้มากกว่าแบบยางที่จะมีขนาดแน่นขึ้นมาหน่อย

อีกสิ่งคือ ตัวพรายน้ำ Neo Bright ของ Casio ยังไม่แจ่มเท่าไร และถ้าคุณคุ้นเคยกับความสว่างแบบไวไฟของพรายน้ำที่ได้จากนาฬิกาดำน้ำของ Seiko แล้ว คุณจะรู้สึกถึงความอืดในการดูดแสง และความสว่างในการคายมันออกมาที่เรียกว่าไม่น่าประทับใจเอาเสียเลย ซึ่งตรงนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ Casio คุ้นเคยกับการกดไฟเพื่อดูมากกว่า ซึ่งในรุ่นนี้ก็มีทั้งพรายน้ำ และไฟส่องสว่างแบบ LED  ติดตั้งมาให้ด้วย

GPW-1000 ใช้โมดุลในรหัส 5410 และสิ่งที่เราจะบอกคือ คุณควรอ่านคู่มือสักหน่อย เพราะนาฬิกาเรือนนี้มีฟังก์ชั่นให้เรียนรู้เยอะเหมือนกัน และจากการที่เป็นนาฬิกาแบบเข็มไม่ใช่ดิจิตอลเหมือนกับรุ่นอื่นๆ อาจจะทำให้หลายคนถึงกับงงหรือมึนในการเซ็ต หรือการใช้โหมดอื่นๆ ของตัวนาฬิกา แม้ว่า Casio จะมีตัว Sub Dial สำหรับบอกโหมดต่างๆ เอาไว้ก็ตาม เอาเป็นว่าก่อนใช้งานก็หยิบแมนนวลที่หนาเป็นปึกๆ มานั่งอ่านกันสักหน่อยก็แล้วกัน

สิ่งที่ต่างออกไปเวลาซื้อ G-Shock รุ่นอื่นๆ คือ คุณจำเป็นจะต้องปรับเซ็ตเวลาของตัวเองด้วยการระบุพิกัดเสียก่อน ซึ่งในแมนนวลของ Casio เน้นย้ำเรื่องนี้ โดย 2  กรณีที่ต้องจัดการคือ เมื่อซื้อนาฬิกาใหม่ และตอนที่ย้ายโซนเวลา ซึ่งแบบแรกคงไม่มีปัญหา เพราะคนขายบ้านเราส่วนใหญ่ตั้งเวลามาให้แล้ว

แต่ถ้าเอาชัวร์ ก็เดินออกไปนอกห้าง (จ่ายเงินก่อนนะ) แล้วไปยืนกดปุ่มตรงตำแหน่ง 4 นาฬิกา หรือปุ่ม B เอาไว้ 3 วินาทีจนกระทั่งเข็มวินาทีวิ่งไปที่ T+P แล้วจากนั้นระบบก็จะประมวลผลเองและปรับเวลาตามไทม์โซนที่คุณอยู่ ซึ่งถ้าสำเร็จก็เข็มวินาทีจะชี้ไปที่ Y แล้วปรับเวลาให้ แต่ถ้าเข็มชี้ไปที่ N อย่าเพิ่งตกใจ อาจจะเป็นเพราะพื้นที่ซึ่งคุณยืนอยู่อาจจะมีสิ่งกีดขวางสัญญาณ ก็ให้ลองใหม่

และเท่าที่ลองใช้งานมาถือว่าการรับสัญญาณของ GWP-1000 ทำงานได้อย่างรวดเร็ว และสามารถปรับเวลาโดยที่คุณไม่ต้องมานั่งลุ้นว่ามันจะทำได้หรือไม่

อ่อ…ก่อนลองมั่นใจก่อนนะว่านาฬิกาของคุณอยู่ในโหมด Timekeeping ถ้าไม่ชัวร์ก็กดปุ่มตรงตำแหน่ง 8 นาฬิกาหรือปุ่ม C สัก 2 วินาที แต่ถ้าเอาชัวร์ก็เหลือบสายตาไปดูที่ Sub Dial ตรงตำแหน่ง 3 นาฬิกา ถ้าอยู่ในโหมดนี้ เข็มจะชี้ไปที่ Day หรือวันในสัปดาห์

อีกสิ่งที่สำคัญเวลาคุณคาดเจ้านี้เดินทางด้วยเครื่องบินคือ มันจะมีการส่งสัญญาณซึ่งอาจจะทำให้เกิดการรบกวนคลื่นวิทยุการบินได้ จำเป็นต้องตัดเข้าสู่ Plane  หรือ Flight Mode ซึ่งก็ไม่ยาก แค่กดปุ่มตรงตำแหน่ง 8 นาฬิกาหรือปุ่ม C สัก 4 วินาที เข็มตรง Sub Dial ที่เคยชี้ Day ก็จะเปลี่ยนมาชี้ที่รูปเครื่องบิน เท่านี้ก็จบ และอย่าลืมปลดออกด้วยการกดปุ่มนี้อีกครั้งหลังจากที่ถึงจุดหมาย แล้วจากนั้นก็กดปุ่มเพื่อปรับเซ็ตเวลาตามไทม์โซนใหม่

จริงๆ แล้วนาฬิกาเรือนนี้ยังทำอะไรได้มากกว่านี้ ดังนั้น จงนั่งอ่านคู่มือซะ

เอาเข้าจริงๆ แม้ว่าฟังก์ชั่น  GPS กับชีวิตประจำวัน ณ ตอนนี้ของผมแทบจะไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่ก็ต้องบอกว่า ด้วยหน้าตาและรูปทรงที่สะดุดตาของ GPW-1000B ทำให้มันกลายเป็นนาฬิกาเรือนโปรดและเป็น Beater Watch สำหรับใส่ในชีวิตประจำวันของผมเลยก็ว่าได้ และที่สำคัญ ผมต้องพามันออกมารับแสงบ่อยๆ เพื่อชาร์จพลังกลับเข้าไป เพราะตามคู่มือของ Casio บอกว่า การรับสัญญาณ GPS ต้องใช้ระดับพลังงานค่อนข้างเยอะ และผมละกลั๊วกลัวว่า ถ้าไม่เอาออกมาขึ้นข้อ และเจอแสงบ่อยๆ เดี๋ยวพอจะใช้งานจริงๆ แล้วจะเดี้ยงเอา รุ่นนี้ยิ่งไม่มีตัว Power Indicator ให้เห็นเป็นเรื่องเป็นราวเสียด้วยสิ

รายละเอียดทางเทคนิค : Casio G-Shock GPW-1000BDR


เส้นผ่านศูนย์กลาง : 56 มิลลิเมตร

Lug-to-Lug : 66 มิลลิเมตร

ความหนา : 18.8 มิลลิเมตร

น้ำหนัก : 126 กรัม

กระจก : แซฟไฟร์เคลือบสารตัดแสงสะท้อน

พรายน้ำและการส่องสว่าง : LED และ Neo Bright

โมดุล : 5410

ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร

ความเที่ยงตรง : ±15 วินาทีต่อเดือน (โดยไม่มีสัญญาณเทียบเวลา)

อายุแบตเตอรี่โดยประมาณ:

7 เดือนกับแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟได้ (ซึ่งเป็นเวลาการทำงานปกติโดยที่นาฬิกาไม่โดนแสงหลังจากการชาร์จ)

18 เดือนกับแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟได้ (ซึ่งเป็นเวลาการทำงานปกติเมื่อเก็บนาฬิกาไว้ในที่มืดพร้อมกับเปิดฟังก์ชันประหยัดพลังงานหลังจากที่ชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้ว)

  • สิ่งที่ประทับใจ : หน้าตา ฟังก์ชั่นการปรับเวลาตามสัญญาณ GPS ที่ใช้งานสะดวก ขนาดของตัวเรือนที่เต็มข้อมือ
  • สิ่งที่ไม่ประทับใจ : ตัวรัดสายแบบโลหะ ราคาแบบไม่หักส่วนลดที่ทำให้ลังเลและตัดสินใจยาก พรายน้ำที่ไม่ค่อยแจ่มเท่าไร