Casio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DR การรีเทิร์นที่ไม่ทำให้ผิดหวัง

0
- Advertisement -

หลังจากที่เคยครอบครองเจ้า Casio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A9DR มาแล้ว ในตอนนี้ เพื่อรับกับกระแสการเตรียมเปิดตัวรุ่นใหม่อย่าง GWG-2000 ทำให้เกิดอารมณ์คิดถึงอยากได้เจ้า Mudmaster GWG-1000 กลับมาอยู่ในกรุอีก และต้องบอกว่าการรีเทิร์นครั้งนี้ไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ

Casio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DR

Casio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DR การรีเทิร์นที่ไม่ทำให้ผิดหวัง

  • นาฬิกาตัวลุยโคลนสุดเจ๋งของ Casio G-Shock

  • ตัวเรือนขนาด 1 มิลลิเมตร และหนาถึง 18 มิลลิเมตร

  • ขับเคลื่อนด้วย Module 5463 พร้อม Triple Sensors Version 3

ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อยู่ดีๆ ผมก็คิดถึงเจ้า Mudmaster ในรหัส GWG-1000 หรือแฟนๆ Casio G-Shock บ้านเราเรียกกันว่า ‘มัดใหญ่’ ขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะความโหยหาในอดีตที่เคยครอบครอง บวกกับ Mudmaster รุ่นใหม่ในรหัส GWG-2000 กำลังจะเข้ามา ก็เลยทำให้ผมตัดสินใจไล่ล่าเจ้า Casio G-Shock Mudmaster GWG-1000 เข้ามาอยู่ในกรุอีกครั้ง และครั้งนี้เลือกเอารุ่น Black Out หรือ GWG-1000-1A1DR

เหตุผลที่เลือกก็ไม่มีอะไรมาก ในบรรดารุ่นพื้นฐานของ Mudmaster นอกจากรุ่น GWG-1000-1A9DR ที่ผมเคยมีและทำรีวิวเอาไว้ตอนสมัยก่อตั้งเว็บใหม่ๆ นั้นแล้ว ที่เหลือไม่มีสีสันที่ถูกใจเอาเสียเลย ไอ้ที่ถูกใจราคา Re-Sale ก็ทะยานไปไกลจนแตะกันไม่ลง มีเจ้านี่แหละที่โดนใจและถูกใจมากที่สุดในช่วงวงเงินที่ผมตั้งเอาไว้สำหรับการรีเทิร์นในครั้งนี้

แน่นอนว่า Mudmaster รุ่นแรกในตระกูล GWG-1000 คือ อะไรที่ใหญ่ และถึกกว่าที่คิด เรียกว่าสมัยนั้นผมมีเจ้า GWF-1000 และคิดว่ามันใหญ่เอาเรื่องแล้วกับข้อมือ 7 นิ้วของตัวเอง แต่พอมาเจอ Mudmaster เข้าไป ต้องบอกว่าชิดซ้ายไปเลย และ GWG-1000 สามารถตอบสนองในด้านความสะใจเกี่ยวกับขนาดทั้งในแง่ของเส้นผ่านศูนย์กลาง Lug to Lug และความหนาได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังเป็นนาฬิกาที่ครบเครื่อง เรียกว่าคือ การรวมร่างในแง่ของฟังก์ชั่นของ Mudman กับ Rangeman ได้อย่างลงตัว

แถมด้วยความสามารถที่รับเอา Know How ที่ผ่านการทดสอบในเรื่องของแรงเหวี่ยงหนีศูนย์หรือ Tough Movement หรือ Tough MVT ที่มาจากนาฬิกานักบินในกลุ่ม Gravitymaster มาด้วย ซึ่งในตัวนาฬิกาจะมี GEL หรือ AlphaGel วางเอาไว้ระหว่างโครงสร้างตัวเรือนและโมดุลเพื่อทำหน้าที่ในการดูดซับแรงสั่นสะเทือนหรือแรงเหวี่ยง

Casio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DRCasio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DR

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมคิดถึงคือ เรื่องของดีไซน์ที่มีอยู่ในตัวของ Mudmaster โดยเฉพาะ Design Language ที่ทาง Casio นำมาใช้กับนาฬิกาในกลุ่ม Master of G ของพวกเขาในยุคกลางทศวรรษที่ 2010 โดยจุดเด่นอยู่ที่การนำปุ่มไฟมาติดตั้งอยู่ในกรอบตัวเรือนตรงตำแหน่ง 6 นาฬิกา

ซึ่งตามจินตนาการที่อยู่ในหัวผมนั้น ตรงนี้เหมือนกับได้รับแรงบันดาลใจมาจากส่วนคางที่ยาวยื่นของ Gundam RX-78 ยังไงยังงั้น และ Rangeman ในรหัส GW9400 คือ นาฬิกาอีกรุ่นที่รับเอาแนวทางการออกแบบตรงนี้มาใช้ รวมถึงนาฬิกาออกกำลังกายอย่าง GBA-800

นอกจากนั้น รายละเอียดต่างๆ ของตัวนาฬิกาต่างได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ ‘การลุย’ เช่น ลวดลายของสายก็เหมือนกับพื้นโลหะที่เป็นลายกันลื่นซึ่งพบได้กับพวกตัวลุยโคลน หรือยานยนต์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ซึ่ง Casio เองก็ยังยึดแนวคิดนี้ตอนออกแบบ GWG-2000 เช่นเดียวกับพวกหน้าตัดของปุ่มกดในตำแหน่งต่างๆ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดนี้

Casio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DRCasio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DRCasio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DR

ขณะความ ‘แข็ง’ ของการกดปุ่มต่างๆ นั้น ต้องบอกว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่คนซึ่งต้องการสัมผัสตัวลุยโคลนของ Casio G-Shock ควรจะต้องทำความคุ้นเคยเอาไว้ให้มากๆ เพราะว่าปุ่มพวกนี้จะถูกออกแบบให้กดยากเพราะมีชั้นของประเก็นและแหวนรองในการช่วยป้องกันการเข้าของฝุ่นหรือโคลน เช่นเดียวกับการออกแบบให้เป็นลักษณะกระบอกและลูกสูบของเครื่องยนต์ หรือ Cylindrical Guard Structure โดยตัวบอดี้จะเป็นหลุมลงไปเหมือนกับกระบอกสูบ และปุ่มกดจะถูกวางลงไปในหลุมเหมือนกับลูกสูบ

Casio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DRCasio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DR

สำหรับบนหน้าปัดถือเป็นอีกจุดที่สวยและถูกใจมาก ส่วนตัวแล้วผมชอบนาฬิกาแบบ 2 ระบบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อการจัดวางในลักษณะซึ่งเน้นไปที่ Analog ด้วยการใช้พื้นที่หลักบนหน้าปัดสำหรับชุดเข็มแสดงเวลาโดยที่มีหน้าจอ LCD เล็กๆ ในการแสดงผลเป็นตัวเลขดิจิตอลเป็นตัวรอง ต้องบอกว่าเป็นดีไซน์ที่ถูกจริตผมอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ทีมออกแบบของ Casio G-Shock ทำได้ดีมาก เพียงแต่ขนาดของหน้าจอ LCD อาจจะดูเล็กไปสักนิดในการอ่านค่าตัวเลข และยิ่งเหนื่อยไปกันใหญ่สำหรับรุ่น Mudmaster GWG-1000-1A1DR ที่เป็นหน้าจอแบบ Negative

Casio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DRCasio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DRCasio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DR

ชุดเข็มมีขนาดใหญ่และต้องบอกว่าพรายน้ำที่แต้มสาร Neo-Brite นั้นมีความไวในการอมแสงและคายแสงออกมาได้ดีไม่แพ้นาฬิกาดำน้ำ ขณะที่ตรงตำแหน่ง 10 นาฬิกาจะมีหน้าปัดย่อยพร้อมชัดเข็มในการบอกถึงสถานะของนาฬิกาในตอนนั้นว่าอยู่ในฟังก์ชั่นอะไร ส่วนหลักชั่วโมงจะมีตัวเลขอาระบิกขนาดใหญ่เฉพาะในตำแหน่งสำคัญ เช่น 3-6-9-12 ถือเป็นการจัดวางและออกแบบได้อย่างยอดเยี่ยมมาก

Casio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DR

ส่วนตัวหนังสือบนขอบรอบนอกหน้าปัดที่หลายคนอาจจะสงสัยว่าคืออะไรนั้น คำตอบคือ เป็นตัวย่อของชื่อเมืองที่แสดงเขตเวลาต่างๆ ซึ่งมีเอาไว้สำหรับใช้ในการตั้งเวลาและการเปลี่ยนเวลาเมื่อตอนที่คุณเดินทางข้ามโซนเวลา โดยการทำงานจะใช้ร่วมกันของเข็มวินาทีที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ และเม็ดมะยมที่เป็นปุ่ม Smart Access ซึ่งเวลาใช้เมื่ออยู่ในตำแหน่ง Time Keeping หรือตำแหน่งปกติ คุณต้องคลายเกลียวและดึงออกมาเหมือนกับนาฬิกาปกติ จากนั้นก็หมุนเพื่อเลือกโซนเวลาที่ต้องการ นอกจากนั้นยังใช้หมุนเพื่อใช้ในการเซ็ตในฟังก์ชั่นต่างๆ อีกด้วย

Mudmaster มากับโมดุล 5463 พร้อมฟังก์ชั่น Multiband 6 ซึ่งสามารถปรับเวลาในหน่วยวินาทีให้มีความเที่ยงตรงโดยอาศัยสัญญาณจากคลื่นวิทยุที่ในตอนนี้มี 6 เสาทั่วโลก แต่บ้านเราใช้ไม่ได้

ส่วนระบบ Tough Solar ก็มีมาด้วยในการเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้าเก็บในแบตเตอรี่ จับเวลาเดินหน้า ถอยหลัง และตั้งปลุก รวมถึงระบบ Tripel Sensors ที่ Casio บอกว่าเป็นเวอร์ชัน 3 สามารถวัดทั้งระดับความสูง ความกดอากาศ อุณหภูมิ และเข็มทิศ เรียกว่าครบเครื่องสำหรับนาฬิกาตัวลุยควรจะมี

เพียงแต่เมื่อเปรียบเทียบกับพวก Smart Watch กลุ่ม Outdoor แล้ว Mudmaster อาจจะยังขาดบางอย่างอยู่ เช่น ฟังก์ชั่นพระอาทิตย์ขึ้น-ลง พวกข้างขึ้นข้างแรม หรือพวก Navigation แต่ก็ทดแทนมาด้วยความถึกที่มีมากกว่า และการที่ไม่ต้องชาร์จอะไรมากมาย

และอย่าลืมว่านี่คือ นาฬิกา Adventure ที่เกิดจากเทคโนโลยีเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ซึ่ง Smart Watch กลุ่ม Outdoor ยังมีเพียงไม่กี่รุ่นและไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น และตอนนั้น เส้นทางของ Casio G-Shock ต่อนาฬิกาในสไตล์นี้ยังไม่มีความชัดเจนอะไร เช่นเดียวกับแนวคิดของการเชื่อมต่อหรือ Connected ผ่านทางบลูทูธก็เพิ่งจะเกิดขึ้นกับแบรนด์ได้ 4 ปีเท่านั้นเอง

สำหรับในเรื่องของการใช้งาน เหมือนกับทุกครั้งที่ผมเขียนรีวิวคือ คุณควรจะไปดาวน์โหลดคู่มือที่เป็นไฟล์ PDF มาติดเอาไว้ และนั่งอ่านมันซะ เพราะถ้าอยากใช้เป็นก็ต้องอ่านและทำความเข้าใจ เพราะถ้าให้เขียนอธิบาย…เอาเป็นว่าไม่จบง่ายๆ อย่างแน่นอน

มาถึงบทสรุปก่อนที่รุ่นใหม่อย่าง GWG-2000 จะเปิดตัว ถ้าคุณไม่ติดเรื่องของขนาดข้อมือ หรืออารมณ์การใส่นาฬิกาแบบ Oversize แบบจัดๆ บอกได้เลยว่า Mudmaster GWG-1000 คือ ตัวเลือกที่คุณไม่ควรพลาด เพราะถือว่าฟังก์ชั่นจัดเต็มและใช้งานได้อย่างหลากหลาย ที่สำคัญคือ นาฬิการุ่นนี้คือศูนย์รวมทางด้าน Know How ที่ Casio G-Shock รวบรวมมาจากนาฬิการุ่นต่างๆ ซึ่งรวมถึงเพื่อนร่วมแบรนด์อย่าง Protrek

ที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่านี่คือนาฬิกาที่เปิดตัวเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ดังนั้น จงอย่านำไปเปรียบเทียบกับ Smart Watch ในสไตล์ Outdoor ทั้งหลายในแง่ของฟังก์ชั่นที่อาจจะมี ‘แค่’ บางอย่างที่ขาดหายไป แต่ก็แลกมาด้วย ‘หลาย’ อย่างที่บรรดา Smart Watch ในสไตล์ Outdoor พวกนั้นไม่สามารถทดแทนได้

รายละเอียดทางเทคนิค : Casio G-Shock Mudmaster GWG-1000-1A1DR

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 56.1 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 59.5 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 18 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือนและสาย : เรซิน
  • กระจก : Sapphire
  • กลไก : Module 5463 Multiband 6 Tough Solar
  • ฟังก์ชั่น : วัดความสูง ความกดอากาศ อุณหภูมิ และเข็มทิศ / World Time / ตั้งปลุก / จับเวลาเดินหน้า / จับเวลาถอยหลัง
  • ความแม่นยำ : ±15 วินาทีต่อเดือน (โดยไม่มีการปรับเทียบสัญญาณ)
  • อายุการใช้งานแบตเตอรี่โดยประมาณ :
    6 เดือนกับแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟได้ (ซึ่งเป็นระยะเวลาการใช้งานปกติโดยที่แบตเตอรี่ไม่โดนแสงหลังจากการชาร์จ)
    25 เดือนกับแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟได้ (ซึ่งเป็นระยะเวลาการใช้งานเมื่อเก็บแบตเตอรี่ไว้ในที่มืดสนิทพร้อมกับเปิดฟังก์ชันประหยัดพลังงานหลังจากที่ชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้ว)
  • การกันน้ำ : 200 เมตร
  • ประทับใจ : ขนาดและความบึกบึน ฟังก์ชั่นที่ครบครัน การแสดงผลแบบ 2 ระบบ
  • ไม่ประทับใจ : หน้าจอ LCD ที่เล็กไปหน่อยสำหรับการอ่านค่า