Casio G-SHOCK Mudman GW-9500 ภาคต่อที่ทำให้รู้สึกไม่เหมือนเดิม

0

Mudman กลับมาแล้ว มาพร้อมรหัสใหม่ GW-9500 บนตัวเรือนที่บึกบึนซึ่งได้รับการผสมผสานในรูปแบบเพื่อการใช้งานอย่างจริงจัง พร้อมระบบ Triple Sensors ซึ่งทำให้ตัวนาฬิกาสามารถวัดได้ทั้งอุณหภูมิ ความสูง ความกดอากาศ และการเป็นเข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์

Casio G-SHOCK Mudman GW-9500
Casio G-SHOCK Mudman GW-9500

Casio G-SHOCK Mudman GW-9500 ภาคต่อที่ทำให้รู้สึกไม่เหมือนเดิม

  • Mudman ใหม่กลับมาสู่ตลาดอีกครั้งหลังจากชื่อนี้หายไปในปี 2013

  • เป็นการผสมผสานความถึกตามสไตล์ G-SHOCK เข้ากับฟังก์ชั่นเทพของ Protrek ด้วยเซ็นเซอร์ 3 ตัว

  • การออกแบบทำได้อย่างลงตัว และมีความโดดเด่นพร้อมเปิดตัว 3 รุ่นในตลาดกับราคา 14,900 บาท

- Advertisement -

อาจจะไม่ถึงกับเป็นคอลเล็กชั่นที่ผมชื่นชอบมากเท่ากับ Frogman แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่หลงใหลในนาฬิกาตระกูล Master of G ของ Casio G-Shock แล้ว ผมมีโอกาสสัมผัสกับนาฬิกาทุกรุ่นที่จัดอยู่ในกลุ่มของพวกพันธุ์ถึกของ G-SHOCK มาโดยตลอด

โดยเฉพาะพวกที่เกิดหลังทศวรรษ 2000 ดังนั้น เมื่อชื่อของ Mudman กลับมาสู่ตลาดอีกครั้ง แน่นอนว่า สิ่งนี้สามารถดึงความสนใจของผมกลับมาได้ทันทีในฐานะของนาฬิกาที่เคยมีประสบการณ์ร่วม และคงต้องบอกว่าหลังจากที่คว้า Casio G-SHOCK Mudman GW-9500 เข้ามาอยู่ในมือ สิ่งที่รู้สึกได้ทันทีคือ นี่ไม่ใช่ Mudman ที่ผมเคยรู้จักมาก่อนหน้านี้เลย

ก่อนจะไปถึงตัวนาฬิกา มาทำความรู้จักกับ Mudman กันสักหน่อย นาฬิการุ่นนี้ถือกำเนิดในช่วงทศวรรษที่ 1990 หรือผมมักจะเรียกว่าหลังยุค Frogman รุ่นแรก ซึ่งเป็นตัวเบิกทางให้ Casio G-SHOCK เริ่มผลิตนาฬิกาที่มีคุณสมบัติพิเศษออกมาขายในตลาด หรือพวกที่เกิดมาเพื่อการใช้งานเฉพาะกลุ่มหรือมีฟังก์ชั่นเทพๆ

นอกเหนือจากรุ่นธรรมดาที่เน้นความถึกกับดีไซน์สำหรับใช้งานในชีวิตประจำวัน ในตอนนั้น Casio ยังไม่เรียกนาฬิกาพวกนี้ว่า Master of G เหมือนกับยุค 2000 แต่จะมีชื่อเรียกตามความสามารถของนาฬิกาเรือนนั้น เช่น Antman, Fisherman, Gaussman, Raysman, Wademan, Lungman และมีอีกรุ่นที่ชื่อว่า Mudman

Mudman รุ่นแรกเปิดตัวในปี 1995 แต่ก่อนหน้านี้มีคนบอกว่าชื่อนี้เคยถูกใช้มาก่อนในการตั้งเป็นชื่อเล่นให้กับนาฬิการุ่น DW-5500C หรือ Casio G-Shock II ที่เปิดตัวในปี 1985 มาพร้อมกับโครงสร้างตัวเรือนใหม่ที่มีความสามารถในการกันโคลน และมีคนตั้งชื่อเล่นให้ว่า Mudman ก่อนที่ชื่อนี้จะถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการในอีก 10 ปีต่อมาโดย Casio

อย่างไรก็ตาม ผมรู้จัก Mudman หรือถูกตั้งฉายาว่า ‘เจ้าตุ่น’ ตามโลโก้ที่อยู่บนฝาหลัง ครั้งแรกในยุคของรุ่น G-9000 เปิดตัวในปี 2006 ซึ่งมาพร้อมกับตัวเรือนดีไซน์สวย และมีรุ่นคู่ขนานที่ทำตลาดญี่ปุ่นในชื่อ GW9000 ซึ่งมาพร้อมกับโมดุลที่ใช้ระบบ Multiband  พร้อมหน้าตาที่แตกต่างกันอย่างขัดเจน แต่ใช้กรอบและสายแบบเดียวกัน

Casio G-SHOCK Mudman GW-9500
Casio G-SHOCK Mudman GW-9500

นี่คือ นาฬิกาเรือนหนึ่งที่ผมทั้งชอบและไม่ชอบ ชอบในแง่ของหน้าตาและขนาดที่ไม่เทอะทะ แต่ไม่ชอบ เพราะปุ่มกดยากโคตรๆ เพราะทางทีมออกแบบต้องซีลให้มั่นใจว่าโคลนจะไม่เล็ดรอดเข้าไปข้างในตัวเรือน และนี่คือเอกลักษณ์ของนาฬิกาที่กันโคลนของ G-SHOCK เลยก็ว่าได้

Mudman กลับมาอีกครั้งในช่วงราวๆ ปี 2011 กับรุ่นใหม่ในรหัส G/GW-9300 ซึ่งเป็นเวอร์ชันปกติ และเวอร์ชันสำหรับตลาดที่ใช้ระบบ Multiband โดยรุ่น GW-9300 จะมีความพิเศษขึ้นกับการใช้สายที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ ก่อนที่ชื่อ Mudman จะหายไปและเปิดทางให้กับ Rangeman ในรหัส GW-9400 เข้ามาแทนที่เมื่อปี 2013 ส่วนนาฬิกาตระกูลลุยโคลนก็เปลี่ยนไปเป็นพวก Mudmaster ที่มีให้เลือกหลายหลายขนาด ระดับราคา และชื่อ Mudman ก็หายไปหลังจากนั้น

จนกระทั่งเมื่อปี 2023 Casio G-SHOCK ได้ปัดฝุ่นนำชื่อ Mudman กลับมาอีกครั้ง

ผมดีใจนะ เพราะส่วนตัวผมเป็นแฟนของนาฬิกากลุ่ม Master of G ของ Casio G-SHOCK มานาน และชอบนาฬิกาในกลุ่มนี้มาก แต่ที่ผ่านมาพวกตระกูล Mudmaster ถ้าไม่นับตัวมัดใหญ่หรือที่เรียกกันว่า GWG-1000 และรุ่นล่าสุดในรหัส GWG-2000 แล้ว ที่เหลือบอกได้เลยว่าสอบไม่ผ่านในแง่ความชอบ ชนิดที่เคยพยายามลองทาบหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่สามารถปิดดีลได้ และทำให้ผมต้องลืมนาฬิกาลุยโคลนของ Casio G-SHOCK ไปเลย

Casio G-SHOCK Mudman GW-9500

ดังนั้น การมาของ Mudman ใหม่ ผมจึงมีความหวังเอาไว้สูงมาก และก็ต้องผิดหวังทันทีที่ได้เห็นภาพหลุดในอินเตอร์เน็ต ซึ่งตอนแรกผมคิดว่าเป็นพวกภาพ Rendering แต่แหล่งข่าวภายในยืนยันว่า ‘ของจริง 100%’ มันคืออารมณ์ที่ตรงข้ามกับ Love at first sight อย่างสุดขั้ว และสารภาพเลยว่า ผมถึงกับอุทานว่า ‘@#!! ทำอะไรกันเนี่ย’ หน้าตาของ Mudman ใหม่แทบไม่ได้วนเวียนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของคำว่า ‘สวย’ เลย

แต่แปลกนะครับ หลังจากนั่งมองนานๆ มันกลับให้อีกอารมณ์และต้องบอกตามตรงว่า ‘สะดุดตา’ เหมือนกับบางคนที่ไม่ได้สวย แต่กลับมีความสะดุดตาบางอย่างที่มักจะทำให้เราหันไปมองได้เสมอๆ จนกระทั่งตกหลุมรักในที่สุด

ในมุมมองของผม หน้าตาของ Casio G-SHOCK Mudman GW-9500 เป็นแบบนั้นจริงๆ จนในที่สุดผมก็ต้องไปพบกับตัวจริงให้ได้สักครั้ง นั่นแหละความคิดจึงได้เปลี่ยนไปทั้งหมด พร้อมกับมีเจ้า Mudman GW-9500-1A4 ติดมือกลับบ้านอย่างสบายใจ

Mudman ใหม่มีทำตลาดในช่วงแรก 3 รุ่นคือ GW-9500-1 รุ่นดำแดงหน้าจอปกติ ตามด้วย GW-9500-3 สีเขียวที่สอดคล้องกับ GW-9400-3 และสีใหม่ คือ Mudman GW-9500-1A4 ในสไตล์ทูโทน เทา-ส้ม ที่ถูกใจผมเหลือเกิน

โดย 2 รุ่นหลังจะมากับหน้าจอแบบเนกาทีฟ โดยคอนเซ็ปต์ของ Mudman ยังเหมือนเดิม คือ การเป็นนาฬิกาที่มีความทนทานในทุกสภาพการใช้งาน ทนโคลน แต่ที่พิเศษคือ การติดฟังก์ชั่นเพิ่มเข้าไปคล้ายคอนเซ็ปต์ที่พวกเขานำมาใช้กับ Rangeman นั่นคือ การทำ Casio G-SHOCK มาจับมือกับ Protrek เพื่อให้ได้นาฬิกาสไตล์ Adventure ที่มีความทนทาน จนกระทั่งสร้างชื่อให้กับ Rangeman อย่างมาก

แน่นอนว่า Mudmaster ก็เป็นสไตล์นี้เช่นกัน แต่ส่วนตัวผมว่าใช้งานยากมาก โดยเฉพาะการที่ต้องดูข้อมูลที่อยู่บนหน้าจอแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวเหยียดตรงตำแหน่งนาฬิกาที่เล็กมากเหมือนกับให้มางั้นๆ ไปแหละ พอจะใช้งานจริง ส่วนตัวผมถือว่าลำบากเอาเรื่องเลย กับการเพ่งมอง ต่างจาก Mudman ที่มากับหน้าจอขนาดใหญ่ เต็มตา

หน้าจอแบบ LCD ของ Mudman GW-9500 เป็นแบบ Duplex 2 ชั้น ช่วยให้สามารถแสดงกราฟิกเข็มทิศได้ที่ชั้นบนสุด ในขณะที่ชั้นล่างแสดงเวลาขนาดใหญ่และการวัดต่างๆ นอกจากนี้จอ LCD ยังได้รับการออกแบบให้บางลงเพื่อลดความเทอะทะแม้จะมีดีไซน์แบบสองชั้น การใช้จอ LCD แบบเนกาทีฟที่มีโครงสร้างสองชั้นเป็นครั้งแรกสำหรับ G-SHOCK เช่นกัน มองได้ง่ายแม้ในสภาพแสงน้อยหรือแสงจ้า

ซึ่งถ้าตรงนี้ยังมีปัญหาอยู่ ก็สามารถกดปุ่มในตำแหน่ง 6 นากาเพื่อเปิดไฟได้ หรือจะกดค้างสัก 3 วินาทีเพื่อเปิดระบบ Auto Light หรือการพลิกข้อมือเพื่อให้ไฟส่องสว่าง ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ LT แสดงอยู่บนหน้าจอ

จริงๆ Mudman กับการติดตั้งเซ็นเซอร์ไม่ใช่ของใหม่ เพราะในรุ่น G/GW-9300 ก็เคยมีมาแล้ว แต่เป็นแค่ Twin Sensors จนกระทั่งมาเป็น Rangeman นั่นแหละถึงจะเป็น Triple Sensors บอกได้ทั้งความสูง/ความกดอากาศ และอุณหภูมิ รวมถึงเข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์ และในรุ่นนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นแบบ Triple Sensors ดังนั้น การดูผ่านหน้าจอ LCD ขนาดใหญ่เหมือนกับ Protrek ผมว่าเป็นอะไรที่แจ่มมากๆ

Casio G-SHOCK Mudman GW-9500
Casio G-SHOCK Mudman GW-9500

แต่สิ่งนี้ก็ต้องแลกมากับอะไรบางอย่างที่เป็นความเรื่องมากของผมเอง ผมชอบ Casio Pretrek ในตระกูล PRW-2500 ด้วยเหตุผลคือ หน้าจอใหญ่และมีข้อมูลเยอะ ทำให้ดูรกและแน่นๆ ดี แต่สำหรับ Mudman GW-9500 ครั้งแรกที่ได้เห็นคือ บนหน้าจอหลักของการแสดงเวลา ผมว่าโล่งไป ดูแล้วไม่ค่อยลงตัวเลย สุดท้ายก็ต้องหาปรับรูปแบบหน้าจอไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้จุดที่ต้องการ แต่ก็ยังไม่ถือว่าชอบที่สุด

เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ผมว่า Mudman GW-9500 คือแนวคิดเดียวกับ Rangeman ในแง่ของการผสมผสาน G-SHOCK กับ Protrek แต่กับ Rangeman เหมือนกับแค่ผสมผสานเรื่องฟังก์ชั่น แต่สำหรับ Mudman ใหม่พวกเขามาทั้งฟังก์ชั่นและดีไซน์ ด้วยหน้าจอขนาดใหญ่ ซึ่งตรงนี้ก็ให้อารมณ์คล้ายกับ Rangeman รุ่น GPR-B1000 ที่เชื่อมต่อ Bluetooth ได้ หรือแมวใหญ่ แต่ย่อส่วนขนาดลงมา

Casio G-SHOCK Mudman GW-9500 Casio G-SHOCK Mudman GW-9500
Casio G-SHOCK Mudman GW-9500 Casio G-SHOCK Mudman GW-9500

ตัวเรือนมีลักษณะเหลี่ยมคมเน้นความบึกบึน แต่ที่ดีคือ ตัวเรือนไม่ใหญ่เทอะทะเหมือนกับ GPR-B1000 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้ตัวเรือนแบบ Carbon Core Guard ซึ่งทำให้สามารถลดได้ทั้งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและความหนาของตัวเรือน ใส่ง่ายขึ้น ไม่เทอทะ มีความหนา 14.8 มิลลิเมตร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ Mudmaster GWG-2000 ที่ใช้เทคนิคเดียวกัน Mudman ใหม่บางกว่า 1.3 มิลลิเมตร

Casio G-SHOCK Mudman GW-9500

เส้นผ่านศูนย์กลาง 52.7 มิลลิเมตร และ Lug to Lug 56.7 มิลลิเมตร ผมถือว่าขนาดกำลังดีเลยสำหรับการเป็น G-SHOCK ในตระกูล Master of G ที่ต้องเน้นความบึกบึกสักหน่อย ซึ่งกับข้อมือ 7 นิ้วแบบแบนๆ ของผม มิติตัวเรือนขนาดนี้ไม่ได้สร้างปัญหาใดๆ ในการสวมใส่

นี่คือนาฬิกา G-SHOCK ในฝันที่ผมเฝ้าหามา และเหมือนกับทีมออกแบบดูจะรับรู้ถึงความต้องการของผมได้ในที่สุด

Casio G-SHOCK Mudman GW-9500 Casio G-SHOCK Mudman GW-9500

สิ่งที่ผมค่อนข้างชอบอีกเรื่องใน Mudman GW-9500 คือ ปุ่มกดได้ง่ายมาก ไม่ต้องออกแรงกดมากเหมือนกับรุ่นก่อนๆ ตรงนี้เป็นผลมาจากการใช้โครงสร้างใหม่ที่มีความทนทานต่อโคลน โดยจากเอกสารของ Casio G-SHOCK นั้น ปุ่มด้านหน้าและปุ่มเซนเซอร์สั่งการสามปุ่มได้รับการป้องกันด้วยชิ้นส่วนสเตนเลสสตีลทรงกระบอกและมีรูปทรงขนาดใหญ่ใช้งานง่าย ออกแบบมาเพื่อป้องกันโคลนและน้ำ นอกจากนี้ก้านปุ่มยังมีการติดตั้งปะเก็นเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากโคลนและฝุ่น กดง่ายและสะดวกกว่าเดิมเยอะเลย

Casio G-SHOCK Mudman GW-9500

ตัวเรือน กรอบและสายผลิตจาก Biomass Plastic ซึ่งถือเป็นพลาสติกชีวมวลรูปแบบหนึ่งที่ Casio ได้นำมาใช้กับนาฬิการุ่นต่างๆ

โดยพลาสติกประเภทนี้ถูกผลิตขึ้นจากชีวมวล เช่น ข้าวโพดและน้ำมันละหุ่งทำให้ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าแบรนด์นาฬิกาแบรนด์ไหนที่ควรจะหันมาใส่ใจเรื่องขยะพลาสติกที่กำลังสร้างปัญหาให้กับโลก ผมว่า Casio G-SHOCK นี่แหละเหมาะสมที่สุด

ซึ่งในแง่ของภาพรวมในเชิงตัวพลาสติกนั้น ผมไม่ติดเลยนะแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีคนบ่นๆ เรื่องความแข็งของสายที่ผลิตจากวัสดุประเภทนี้ ซึ่งผมว่ามีความแข็งบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับมากจนขัดใจหรือสร้างความลำบากในการสวมใส่ การเปลี่ยนตัวรัดสายเป็นพลาสติก บางคนอาจจะไม่ชอบ แต่ส่วนตัวผมแฮปปี้มากครับ

เพราะไม่ต้องระวังเรื่องรอยที่ขะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับความสามารถในการกระชับกับสายได้ดีกว่าโลหะ ไม่รูดหล่นลงมาอยู่ใกล้กับตัวรัดสายเหมือนกับพวกตัวรัดสายโลหะ

Casio G-SHOCK Mudman GW-9500Casio G-SHOCK Mudman GW-9500

ตัวโมดุลเป็นรหัส 3553 ซึ่งมาพร้อมกับ Tough Solar ในการเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้าเก็บเข้าในแบตเตอรี่แบบชาร์จได้ มีโหมด PS ในการดับหน้าจอเมื่ออยู่ในที่มืดเพื่อประหยัดพลังงาน และเมื่อชาร์จจนเต็ม สามารถใช้งานได้ราวๆ 6 เดือนโดยไม่ต้องโดนแสง

หรือถ้าอยู่ในโหมด PS ก็อยู่ได้นานถึง 26 เดือนแบบถูกเก็บอยู่ในที่มืด และมาพร้อมระบบ Multiband 6 โดยโหมดต่างๆ ก็เหมือนกับ G-SHOCK ทั่วไป คือ ตั้งเวลาปลุก ตั้งเวลาถอยหลัง จับเวลา และ Worldtime บวกกับฟังก์ชั่นจาก Triple Sensor ถือว่าเป็นนาฬิกา Adventure ที่ครบเครื่องรุ่นหนึ่ง

ทั้ง 3 รุ่นเปิดตัวในบ้านเราที่ราคา 14,900 บาท ถือว่าเป็นราคาที่จับต้องได้ และถือว่าคุ้มค่ากับนาฬิกาที่มีความครบเครื่องขนาดนี้ แต่สิ่งเดียวที่ผมเสียดายคือ Casio น่าจะเติมฟังก์ชั่นการเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นผ่านทาง Bluetooth เข้ามาด้วย ซึ่งน่าจะทำให้ Mudman มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นจนน่าสนใจอย่างแน่นอน

               และหวังว่าเสียงสะทอนจากตรงนี้จะวิ่งตรงไปถึงหูของทีมพัฒนา Master of G บ้างนะครับ

รายละเอียดทางเทคนิค : Casio G-SHOCK Mudman GW-9500

  • ส้นผ่านศูนย์กลาง: 53.7 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug: 56.7 มิลลิเมตร
  • ความหนา: 14.8 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือนและสาย :Biomass Plastic
  • Module : 3553 ระบบ Tough Solar และ Multiband6
  • ฟังก์ชั่น: จับเวลาเดินหน้า-ถอยหลัง การวัดอุณหภูมิ การวัดความสูง ความกดอากาศ และการเป็นเข็มทิศแบบอิเล็กทรอนิกส์
  • การกันน้ำ: 200 เมตร
  •  ประทับใจ : การออกแบบ หน้าจอ LCD ใหญ่และไฮเทค ฟังก์ชั่น และปุ่มกดง่ายขึ้นแต่คงความสามารถในการกันโคลน
  • ไม่ประทับใจ : รูปแบบของข้อมูลบนหน้าจอหลักที่น้อยไปกหน่อยจนดูโล่งๆ และโมดุลน่าจะเชื่อมต่อ Bluetooth ได้