โฉมใหม่ของคอลเล็กชั่น Mudmaster จาก Casio G-Shock มากับการปรับปรุงใหม่หลายจุดตั้งแต่ตัวเรือน โมดุล แต่นาเสียดายที่รูปลักษณ์โดยรวมของตัวนาฬิกาปรับเปลี่ยนน้อยไปหน่อย จึงอาจจะทำให้หลายคนเกิดคำถามว่าเป็นรุ่นใหม่จริงหรือเปล่า ?

Casio G-Shock GWG-2000 Mudmaster ใหม่ทั้งเรือนแต่ดีไซน์มีกลิ่นอายรุ่นเก่ามากไปหน่อย
-
รุ่นใหม่ของ Mudmaster ที่มาพร้อมกับตัวเรือนแบบ Carbon Core Guard
-
ขนาดตัวเรือนลดลงในบางส่วนและสวมใส่สบายขึ้น โดยที่ฟังก์ชั่นยังครบครัน
-
ราคาป้ายในเมืองไทย 32,000 บาท และมีจำหน่ายด้วยกัน 3 รุ่นย่อย
หลังจากที่มีการปล่อยภาพและข่าวออกมาสักระยะ ในที่สุด Casio G-Shock GWG-2000 Mudmaster รุ่นใหม่ก็เปิดตัวในเมืองไทยสักที และแน่นนอนว่ารุ่นที่ผมเฝ้าคอยและเตรียมรอสัมผัสนั้นหนีไม่พ้น GWG-2000-1A5DR ที่ดูแล้วความสวยดำโด่งมาเป็นอันดับแรก (ในมุมผม) และดูแล้วน่าจะเป็นรุ่นที่สืบทอดความ Rare ในการตามหาต่อจาก GWG-1000-1A9DR ของ Mudmaster รุ่นแรก
Mudmasterเป็นหนึ่งในนาฬิกาที่อยู่ในกลุ่ม Master of G ของ G-Shock และแน่นอนว่าเป็นนาฬิกาที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในภาคพื้นดินด้วยความสามารถที่เป็นการผสมผสานกันระหว่าง Mudman และ Rangeman ซึ่งนั่นทำให้ Mudmaster รุ่นแรกที่มีรหัส GWG-1000 หรือบ้านเราเรียกว่า ‘มัดใหญ่’ ได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั่วโลกได้เป็นอย่างดี เพราะว่ามีฟังก์ชั่นครบครัน และเป็นฟังก์ชั่นที่สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันได้มากกว่านาฬิการุ่นอื่นๆ ในคอลเล็กชั่น Master of G

สำหรับรุ่นใหม่ที่เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 นั้น บอกเลยว่าผมเฝ้ารอมาตั้งแต่ได้ยินข่าวในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่บ้านเรามาช้ามากเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดต่างแดน เพราะรุ่นนี้ถูกวางขายในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่เดือนตุลาคม ขณะที่บ้านเรากว่าจะมาถึงมือแฟนๆ ต้องรอจนถึงเดือนพฤศจิกายนกันเลยทีเดียว
ผมเลือก GWG-2000-1A5DR ด้วยเหตุผลเดียวกับที่เลือก GWG-1000-1A9DR คือ นาฬิกา G-Shock แบบทูโทนด้วยตัวเรือนสีหนึ่งและสายสีหนึ่ง โดยเฉพาะคู่สีเข้ม-อ่อนมักจะทำได้สวยและได้รับการตอบรับจากลูกค้าได้ดีอยู่เสมอ นอกจากนั้นในรุ่น GWG-2000-1A5DR ยังมีกลิ่นอายของความเป็นตัวลุยภาคพื้นดินได้เป็นอย่างดี ด้วยตัวสายที่ออกโทนสีน้ำตาลอ่อนเหมือนกับพวกตัวพรางทะเลทราย หรือ Desert Tone
ก่อนที่นาฬิกาเรือนนี้จะมาถึงมือสิ่งหนึ่งที่ผมคาดหวังจากนาฬิกาเรือนนี้คือ ความสะดวกสบายเวลาสวมใส่อยู่บนข้อมือและความบึกที่ยังคงสไตล์ของ Mudmaster เอาไว้ ส่วนฟังก์ชั่น…อันนี้ไม่เคยคาดหวังอยู่แล้ว เพราะคิดว่ายังไง G-Shock ต้องจัดมาให้เต็มเพื่อให้นาฬิกาเรือนนี้มีความสมบูรณ์แบบในการใช้งาน ก็เลยมั่นใจได้ว่าตรงนี้ไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
คงมีแค่เรื่องเดียวที่ผิดหวังนิดนึงแบบเล็กๆ ก็คือ Mudmaster รุ่นใหม่ไม่ได้มากับโมดุลที่มีการเชื่อมต่อ Bluetooth เหมือนกับ Master of G รุ่นใหม่ๆ อย่าง Frogman แบบเข็มในรหัส GWF-A1000 ส่วนหนึ่งคิดว่า Casio น่าจะกำหนดระดับตลาดของ Mudmaster ใหม่ให้มีความชัดเจนแบบไม่ต้องไปทับกับนาฬิกาที่มีอยู่ในตลาด เพราะถ้าอยากจะใช้นาฬิกาลุยๆ ที่เชื่อมต่อได้ คุณก็ต้องขยับขึ้นไปหาพวก Rangeman ตัวใหญ่ในรหัส GPRB-1000 แทน
คำถามแรกที่เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นกับแฟนๆ ของ Casio G-Shock เหมือนอย่างที่ผมสงสัยคือ อะไรคือความต่างของ GWG-1000 กับ GWG-2000 ? เรียกว่าถ้าคุณไม่ใช่แฟนสายตรง อาจจะไม่มีข้อมูลเหล่านี้อยู่กับตัวอย่างแน่นอน และเชื่อว่าเมื่อมองผ่านๆ อาจจะคิดว่า หน้าตาของ 2 รุ่นนี้ก็เหมือนกันอย่างกับแกะ
เอาเป็นว่าผมสรุปแบบนี้แล้วกัน ถ้าเปรียบเทียบ Mudmaster เป็นรถยนต์สักรุ่น GWG-2000 คือ รุ่นใหม่แกะกล่องที่ยังมีกลิ่นอายของดีไซน์และหน้าตาที่ถอดแบบมาจาก GWG-1000 ประเด็นที่ผมกำลังจะบอกคือ ในแง่เชิงเทคนิคและโครงสร้างตัวเรือน GWG-2000 แตกต่างจาก GWG-1000 อย่างสิ้นเชิง จะมีก็แค่ดีไซน์เท่านั้น ที่ถอดแบบกันมา แต่ก็ไม่ถึงกับเปลี่ยนทุกจุดหรือทุกรายละเอียด
GWG-2000 Mudmaster ใช้โครงสร้างตัวเรือนแบบ Carbon Core Guard ถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อแรงกระแทก ลุยโคลนและลุยทรายในการผจญภัยได้แบบไม่ต้องยั้ง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโครงสร้างภายนอกล่าสุดของ G-Shock เพื่อมอบตัวเรือนนาฬิกาที่เล็กลงและกระชับข้อมือยิ่งขึ้น ด้วยกรอบคาร์บอนลายหินอ่อน โครงสร้างตัวเรือนป้องกันแกนกลางที่ทำจากคาร์บอน และปุ่มกันโคลนที่ผสมผสานระหว่างปุ่มกดที่ทำมาจากสเตนเลสสตีลและวัสดุรองที่ทำจากซิลิโคน ผงคาร์บอนไฟเบอร์ละเอียดนำไปคลึงให้เป็นเรซิน จากนั้นจึงรีดร้อนเพื่อหลอมเป็นกรอบนาฬิกาที่มีความซับซ้อนขึ้น แต่ก็แข็งแกร่งยิ่งกว่าที่เคย
สิ่งหนึ่งที่ Casio เคลมกับ GWG-2000 เมื่อเปรียบเทียบกับ GWG-1000 คือ ตัวเรือนที่มีขนาดเล็กลงและกระชับมากขึ้น แต่เมื่อมองดูที่ตัวเลขมิติตัวเรือนแล้วจะพบว่าเล็กลงจริงในบางจุด แต่บางจุดก็มีเพิ่มขึ้น เช่น เส้นผ่านศูนย์กลางเล็กลงจาก 56.1 มิลลิเมตรในรุ่น GWG-1000 มาเป็น 54.4 มิลลิเมตรในรุ่นนี้ แต่ทว่า Lug to Lug ของรุ่นใหม่ GWG-2000 ยาวขึ้นเป็น 61.2 มิลลิเมตร และมีความหนาลดลง 1.9 มิลลิเมตรมาอยู่ที่ 16.1 มิลลิเมตร และน้ำหนักลดลงจาก 119 กรัมมาเป็น 106 กรัม
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องของการใช้กรอบตัวเรือนที่ผลิตด้วยคาร์บอนไฟเบอร์และเป็นแบบแยกชิ้นส่วนตรงบริเวณที่เป็นขาสายเพื่อเชื่อมเข้ากับสายนาฬิกา ซึ่งจะต่างจากรุ่นเดิมที่เป็นแบบเรซินหล่อแบบชิ้นเดียว ทำให้ Casio สามารถออกแบบแยกส่วนได้ตามความเหมาะสม และตรงนี้ผมคิดว่าส่วนหนึ่งทำให้ตัวนาฬิกาดูไม่โป่งพองขึ้นมา โดยเฉพาะบริเวณหัวสายเหมือนกับที่สัมผัสได้จากรุ่น GWG-1000
ย้อนกลับมาที่หน้าตาแล้ว ถ้ามานั่งจับความต่างกันแบบจุดต่อจุดโดยใช้ภาพเปรียบเทียบ คุณจะพบกับความต่างอย่างชัดเจนเยอะมาก แต่ก็เป็นในส่วนของรายละเอียดย่อยๆ ไม่ใช่จุดใหญ่ เช่น บริเวณที่เป็นวงแหวนสำหรับระบุ Time Zone ซึ่งเป็นชื่อเมือง ในรุ่นใหม่มีการย้ายไปอยู่ด้านในหน้าปัดแทนที่จะอยู่ขอบนอกเหมือนกับรุ่น GWG-1000 รวมถึงรูปทรงและลายบนชุดเข็มชั่วโมง นาที และวินาที
ขณะที่บริเวณสายหรือหน้าตัดของปุ่มกดนั้นจะยังคอนเซ็ปต์เดิมในการใช้การเซาะร่องเป็นลายตารางที่ดูคล้ายกับพวกแถบกันลื่นที่คุณจะพบได้บนบริเวณกาบบันไดหรือตัวถังของรถที่เอาไว้ใช้ลุยโคลนหรือออฟโรดอย่าง ATV หรือพวกตัวแข่งแรลลี่ครอสส์ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการใส่ใจในเรื่องการจับเอารายละเอียดที่สอดคล้องกันเข้ามาใส่เอาไว้ในตัวนาฬิกา
สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างแปลกใจมากคือ โมดุลของ GWG-2000 ที่ถูกเปลี่ยนจาก 5463 จากรุ่น GWG-1000 มาเป็น 5678 ในรุ่นใหม่ ทั้งที่เมื่อนั่งดูหน้าตาแล้วมันก็แทบไม่ได้แตกต่างอะไรมาก แถมในรุ่นใหม่ก็ไม่ได้มีฟังก์ชั่น Bluetooth เพิ่มเข้ามาแต่อย่างใด เอาเป็นว่าลองนั่งไล่สเป็กและดูเปรียบเทียบระหว่าง 2 รุ่นมันก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมเลย…แล้วอย่างนั้นจะเปลี่ยนรหัสไปทำไม ?
นี่คือสิ่งที่คาใจมากและผมพยายามหาคำตอบให้ได้ แต่ทว่าในตอนนี้ยังไม่ได้คำตอบที่ต้องการ
ผมลองนั่งปรินต์และเอาสเป็กของนาฬิกาทั้ง 2 รุ่นมาเปรียบเทียบและพบว่ามันแทบไม่ได้แตกต่างอะไรเลย ฟังก์ชั่นที่เป็นจุดเด่นของตัวนาฬิกาทั้งการวัดความสูง ความกดอากาศ อุณหภูมิและเข็มทิศยังมีเหมือนเดิม และตัวเลขในด้านความสามารถของการวัดทั้งระดับต่ำและสูงก็ยังเหมือนเดิม เรื่องพวก Multiband6 ก็เหมือนเดิมด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องระยะเวลาในการเก็บแบตเตอรี่ทั้งในเรื่องการใช้งานปกติ และการเก็บผ่านโหมด Power Saving แบบไม่โดนแสงใดๆ ก็ยังเหมือนเดิมคือ 6 เดือนสำหรับการใช้ปกติแบบไม่โดนแสง และ 25 เดือนในกรณีที่อยู่ในที่มืด
ส่วนการปรับเซ็ตฟังก์ชั่นต่างๆ คุณสามารถทำผ่านทั้งการกดปุ่มในตำแหน่ง 10 นาฬิกาค้างเอาไว้ 2-3 วินาที หรือจะเซ็ตผ่านทาง Smart Access ที่มาในรูปแบบเม็ดมะยมขันเกลียวในตำแหน่ง 3 นาฬิกา ซึ่งถ้าถามผมว่าแบบไหนสะดวกสุด ? คำตอบคือ Smart Access แม้ว่าตอนที่หมุนคลายเกลียวจะยากนิดนึงสำหรับคนที่มีมือและนิ้วใหญ่ เพราะตัวคราวน์การ์ดถูกออกแบบมาค่อนข้างหนาและกระชับเข้ากับเม็ดมะยม
บทสรุปกับค่าตัวระดับ 32,000 บาท ซึ่งแพงขึ้นจาก GWG-1000 ประมาณ 4,000-5,000 บาทแล้วแต่รุ่นย่อยนั้น ต้องบอกว่ามีความสมเหตุสมผลในแง่ของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการนำคาร์บอนไฟเบอร์เข้ามาใช้เพื่อทำให้ตัวนาฬิกามีลวดลายที่แตกต่าง
แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ผมว่า การปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และหน้าแบบสังเกตได้ชัดเจนกว่านี้ น่าจะทำให้คนที่มี GWG-1000 ครอบครองอยู่ในมือ จะได้มีเหตุผลที่ดีและหนักแน่นพอมาสนับสนุนในการที่จะซื้อเพิ่มเข้ามาอยู่ในกรุ มากกว่าที่จะปล่อยเรือนเก่าออกไป เพื่อขยับไปหารุ่นที่ใหม่กว่า ซึ่งมีหน้าตาที่ดูแล้วแทบไม่ต่างกัน
ข้อมูลทางเทคนิค : Casio G-Shock Mudmaster GWG-2000
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 54.4 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 61.2 มิลลิเมตร
- ความหนา : 16.1 มิลลิเมตร
- กระจก : Sapphire
- โมดุล : รหัส 5678 Multiband 6 / Tough Solar
- ฟังก์ชั่น : จับเวลาเดินหน้า / ถอยหลัง / ตั้งปลุก / World Time / เข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์ / วัดความกดอากาศ / วัดความสูง / วัดอุณหภูมิ
- กำลังสำรอง : 25 เดือนเมื่อชาร์จเต็ม โดยที่ไม่โดนแสงแดดหรือแสงไฟ และอยู่ในโหมด Power Saving
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : การนำคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ในการผลิต การใช้สีสัน และฟังก์ชั่นที่ครบครันสำหรับการใช้งาน
- ไม่ประทับใจ : ความต่างในแง่ของรูปลักษณ์ที่มีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นก่อน
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/