ปกติ G-Shock ต้องตัวเรือนเรซินเท่านั้น แต่หลังจากที่เจอ G-Steel กับรุ่น Casio G-Shock GST-S130L-1A : G-Steel และได้สัมผัสตัวจริง ความคิดของผมเริ่มเปลี่ยนไปกับคอลเล็กชันนี้ทันที
Casio G-Shock GST-S130L-1A : G-Steel เจอสายหนัง
นาฬิกาบางเรือนบางยี่ห้อจะมีนิยามเดียวติดตัวมาตลอด เรียกว่าถ้านึกถึงเมื่อไรจะต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น ซึ่งในกรณีของ Casio G-Shock ในมุมของผมคือ นาฬิกาเรซิ่นหรือบางคนก็บอกว่านาฬิกาพลาสติก ดังนั้น ถ้ามันเป็นอะไรที่หลุดออกจากกรอบตรงนี้ ผมจะเกิดอาการตั้งแง่ และรู้สึกแปลกๆ เหมือนอย่าง G-Steel Collection ที่สารภาพเลยว่าในตอนแรกค่อนข้างแอนตี้ด้วยซ้ำ
แต่สุดท้ายก็ต้องขอบคุณจังหวะและโอกาสที่มาประสบกันพอดี คือ ของมีและกระสุนถูกโหลดมาทัน เลยทำให้ผมสามารถหลุดออกจากการยึดติดตามความคิดนี้ออกไปได้ และทำให้ Casio G-shock G-Steel กลายเป็น Collection ที่ไม่ธรรมดาจนเป็น Must have รุ่นหนึ่งในมุมของผมเลยก็ว่าได้
สำหรับตัวที่ได้มาเป็น Collection ใหม่ที่มากับสายหนังในรหัส GST-S130L-1A ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี และจะว่าไปแล้วก็เป็นอีกเรื่องที่แปลกเหมือนกัน เพราะจริงอยู่ที่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ G-Shock นำนาฬิกาตัวเองมาจับคู่กับสายหนัง แต่ที่ผ่านมาเราแค่ไม่ได้เห็นมันถูกเปิดตัวออกมามากเท่ากับสมัยทศวรรษที่ 1990 และตรงนี้ก็เลยเป็นการเปิดโอกาสที่ทำให้ผมลองที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับ G-Steel เพราะส่วนตัวผมเลิกใส่นาฬิกาสายเหล็กมานานหลายปีแล้ว ด้วยเหตุของน้ำหนักและต้องการหนีความซ้ำซากแบบเดิมๆ ของสายเหล็ก คราวนี้ก็เลยอยากลอง G-Shock ที่มากับสายหนังดูบ้าง
ในคอลเล็กชั่นสายหนังนี้มีทั้งรหัส GST-S120 และ GST-S130 โดยเป็นการปรับโฉมมาจากคอลเล็กชั่นดั้งเดิม GST-S100 และ GST-S110 โดยจุดหลักของความเปลี่ยนแปลงคือ เรื่องของชุดเข็มชั่วโมง และหน้าปัดที่มีการเปลี่ยนหลักชั่วโมงในตำแหน่ง 12 และ 6 นาฬิกาใหม่ รวมถึงสีสันที่อยู่บนช่องดิจิตอลย่อยทั้ง 3 จุด ในขณะที่ Module ตอนแรกเมื่อดูผ่านๆ อาจจะคิดว่าไม่เปลี่ยน แต่จริงๆ แล้วเปลี่ยนจากเดิมรหัส 5445 มาเป็น 5516
และต้องขอสารภาพเลยว่าจนด้วยเกล้าในการมองหาความต่างของ 2 โมดุลนี้ เพราะนั่งกางแมนนวลและอ่านดูแล้ว มันก็ไม่ได้ต่างกันอะไรเลยในแง่ของฟังก์ชั่นการทำงาน แต่เคยคุยกับพนักงานขายของ Casio ก็ให้ความเห็นว่า มันเป็น Module ที่ได้รับการปรับปรุงในเรื่องของระบบ Tough Solar ที่ดีขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงแท้แค่ไหน
ส่วนฟังก์ชั่นที่มีในตัว G-Steel กับ 2 โมดุลนี้ก็เหมือนกัน เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานปกติที่ G-Shock ทั่วไปพึงมี จับเวลาเดินหน้า ถอยหลัง ตั้งปลุก และ World Time Zone ไม่มีอะไรใหม่เพิ่มเติมเข้ามาจนทำให้เกิดความแตกต่าง
จริงๆ แล้ว G-Shcok กับตัวเรือนแบบเหล็กก็ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้ก็มีขายผ่านทางรุ่น MTG หรือ MRG รวมถึงนาฬิกานักบินบางรุ่นมาแล้ว แต่สำหรับการยกออกมาเป็นคอลเล็กชั่นแยกภายใต้ชื่อ G-Shock และทำตลาดเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนี้ นี่คือครั้งแรก และดูเหมือนว่าแนวคิดนี้จะค่อนข้างได้ผลอย่างมาก เพราะลูกค้า G-Shock ส่วนใหญ่ในโลกนี้จะคิดต่างจากที่ผมคิด และการตอบรับใน G-Steel Collection มีค่อนข้างสูงมาก
เมื่อฮิตและถูกพูดถึงขนาดนี้ก็เลยต้องลอง ต้องบอกเลยว่าไม่ผิดหวังและมันสามารถเปลี่ยนความคิดผมได้อย่างสิ้นเชิง จนคิดว่าตัวเองกำลังจะมองหาเรือนที่ 2 เข้ามาเก็บในกรุกันเลยทีเดียว
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะงานออกแบบตัวเรือนและหน้าปัดที่แม้ว่าในตอนแรกดูแล้วขัดๆ แต่เมื่อลองนั่งพิจารณาดีๆ แล้วมีความลงตัวอย่างมาก โดยเฉพาะขอบ Bezel ที่ถูกยกสูงและทำหน้าที่เหมือนกับการ์ดในการปกป้องกระจก และเมื่อมองจากทางด้านข้าง สามารถเห็นการยกระดับของพื้นที่ตรงส่วนนี้ขึ้นมาและมองเห็นหลุมเว้าลงไปของพื้นตรงส่วนกระจกหน้าปัด ซึ่งสารภาพตามตรงว่าผมค่อนข้างชอบนาฬิกาที่มีการดีไซน์ลักษณะนี้มากกว่าพวกที่กระจกหน้าปัดเสมอกับขอบ Bezel เสียอีก แม้ว่ามันจะมีข้อเสียตรงที่หลายเป็นพื้นที่ดักฝุ่นก็ตาม
ขนาดตัวเรือนของ GST-S130 เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นเดิมนั้นไม่เปลี่ยนแปลงในทุกรายละเอียด ทั้งเส้นผ่าศูนย์ กลาง 52.1 มม. Lug-to-Lug 59.1 มม. และความหนาในระดับ 16.1 มม. โดยที่รุ่น GST-S130L มีน้ำหนักอยู่ราวๆ 104 กรัม ซึ่งก็ไม่ได้สร้าวภาระอะไรให้กับข้อมือและแทบไม่แตกต่างจากพวก G-Shock ที่ใช้ตัวเรือนเรซินซึ่งปกติจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 80 กรัม
กับตัวเลขนี้และการได้ลองทาบของจริงบนข้อมือของผม คิดว่างานนี้ใครที่มีข้อมือต่ำกว่า 7 นิ้ว บอกได้เลยว่าอาจจะต้องฝืนทำใจกับอาการกาง เพราะตัวเรือนค่อนข้างใหญ่มาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ Casio ต้องเปิดตัว G-Steel ขนาด Mid-Size ในรหัส GST-S300 ที่ย่อส่วนลงมาอีกนิดลงมาทำตลาดเป็นอีกทางเลือก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ค่อนข้างขัดใจสำหรับคนที่ชอบใส่นาฬิกาสายหนังมาโดยตลอดคือ คุณภาพของหนังและความยากของการสลับสายจาก AfterMarket แม้ว่า Casio จะบอกวาหนังที่ติดมาจากโรงงานเป็นหนังแบบใหม่ที่ให้นิยามว่า “หนังทนทาน” ชนิดใหม่ หรือ New Tough Leather ผสมผสานเรซินกับหนังสังเคราะห์เพื่อสร้างสายนาฬิกาที่กันน้ำ มีความทนทานต่อการสึกกร่อนและแรงดึงที่ดีกว่าวัสดุหนังที่ผ่านมา
การเย็บที่ยอดเยี่ยมช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ให้ดูเหมือนหนังแท้ แต่ในแง่ของความรู้สึกที่ได้จากความเป็นหนังมันแทบไม่มีเลย เหมือนกับใส่สายนาฬิกาพลาสติกที่เคลือบด้วยสติกเกอร์ที่มีลายเหมือนหนังยังไงยังงั้น
ส่วนตัวรัดสายที่เป็นหนังจากปกติควรจะมีสัก 2 ชิ้นเหมือนกับสายหนังทั่วไป ก็ดันมีให้แค่ชิ้นเดียว แล้วถ้าเกิดพลาดท่าขาดไปแล้วละก็เป็นอันจบข่าว ครั้นจะมองหาสายใหม่มาใช้แทนก็ลืมไปได้เลย เพราะจากลักษณะของตัวเรือนทำให้ต้องสั่งสายตรงรุ่นเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องนำสายเดิมมารื้อเอาส่วนหัวที่เป็นพลาสติกออกมาใช้เป็นตัวตั้งต้นในการขึ้นสายเส้นใหม่…สรุปคือ ใช้เส้นเดิมไปดีที่สุด หรือไม่ก็หาสายยางจากรุ่น GST-S100 หรือ GST-S110 มาใช้แทน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสายจะไม่เป็นไปตามที่หวัง แต่ในแง่ของภาพรวมแล้ว GST-S130L-1A สามารถสร้างความพึงพอใจได้อย่างมาก โดยเฉพาะกับใครที่อาจจะเริ่มเบื่อกับตัวเรือนเรซินของ G-Shock และยังมีงบไม่มากพอที่จะไต่ขึ้นไปหา MTG
หลังจากที่ได้เข้านี่มาครอบครองแล้ว แน่นอนว่าผมเริ่มมองหาเป้าที่ 2 ของคอลเล็กชั่นนี้ และเชื่อว่าอีกไม่นานน่าจะลงเอยกับการเก็บรุ่นสายยางของ GST-S100G-1B อย่างแน่นอน
คุณสมบัติของ : Casio G-Shock GST-S130L-1A
- ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง : 52.4 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 59.1 มิลลิมตร
- ความหนา : 16.1 มิลลิเมตร
- Module : 5516
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- กระจก : มิเนอรัล
- ฟังก์ชั่น : ตัวจับเวลาละเอียด 1/100 วินาที / จับเวลาต่อเนื่องสูงสุด: 59’59.99” / จับเวลาถอยหลัง / World Time 31 โซนเวลา (48 เมือง + เวลาสากลเชิงพิกัด (Coordinated Universal Time)) / นาฬิกาปลุกที่ปลุกทุกวัน 5 เวลา
- แหล่งพลังงาน : แสงอาทิตย์ Tough Solar
- ความแม่นยำ : ±15 วินาทีต่อเดือน
- จุดเด่น : ตัวเรือนเหล็ก ออกแบบอย่างลงตัว น้ำหนักไม่เยอะเมื่อเทียบกับตัวเรือน
- จุดด้อย : สายหนังเหมือนพลาสติก ตัวรัดสายมีอันเดียว ขนาดใหญ่ไปหน่อยอาจไม่เหมาะกับคนข้อมือเล็ก
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/