ยอมรับเลยว่า Casio G-Shock GPW-2000-1A เป็นนาฬิกานักบินที่ครบเครื่องจริงๆ ทั้งหน้าตา และฟังก์ชั่น แต่คำถามคือ เราไม่ค่อยเห็นมันบนข้อมือของแฟนๆ G-Shock สักเท่าไร มันเป็นเพราะอะไร
Casio G-Shock GPW-2000-1A นักบินฟังก์ชั่นเทพ
-
Casio G-Shock GPW-2000-1A เปิดตัวเมื่อปี 2017
-
เป็นครั้งแรกที่ Module สามารถเชื่อมกับ GPS+Bluetooth+Multiband6
-
ราคาในบ้านเราตามป้ายอยู่ราวๆ 39,000 บาท
จำได้ว่าตอนที่ Casio เปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ของ GravityMaster ในรหัส GPW-2000 ที่งาน Basel World 2017 นั้น
เว็บไซต์ Ana-Digi.com ยังอยู่ในยุคของการเริ่มตั้งไข่ และการเขียนรายงานเกี่ยวกับนาฬิกาเรือนนี้ถือเป็นงานชิ้นแรกๆ ของผมที่เว็บไซต์สนี้เลยก็ว่าได้
เอาเป็นว่ามันเหมือนกับความฝังใจและบวกกับการที่ผมค่อนข้างชอบคอลเล็กชันนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็เลยเป็นที่มาของ Review ในครั้งนี้
เอาเข้าจริงๆ ผมมีความชอบในตัวนาฬิกานักบินของ G-Shock ตั้งแต่พวกเขายังใช้ชื่อว่า Gravity Defier และ G1200 เป็นรุ่นแรกที่ผมได้มีโอกาสสัมผัส ยอมรับเลยว่าชอบแบบสุดๆ และก็ตามเก็บกันอย่างต่อเนื่อง แต่เน้นไปที่รุ่นใหญ่กว่าอย่างพวก GW-A1000 และ GW-A11000 ก่อนย้ายมาที่รุ่นท็อปของพวกเขาคือ GPW-1000 ที่เป็นนาฬิกา GPS เรือนแรกของคอลเล็กชั่น ดังนั้น เมื่อทราบข่าวว่า G-Shock กำลังจะเปิดตัวรุ่นใหม่ที่เจ๋งกว่าออกมา ผมเลยค่อนข้างตื่นเต้นเล็กน้อย ก่อนที่จะหงายหลังตึง เมื่อทราบราคาหลังจากที่เข้ามาสู่ตลาดเมืองไทย ซึ่งเปิดกันที่ 40,000 บาทมีทอนเล็กน้อย
ก็พอจะเข้าใจนะว่าเป็นรุ่นใหม่และเป็นครั้งแรกที่ Casio จับเอาระบบ GPS และ Bluetooth เข้ามารวมอยู่ด้วยกันจนพวกเขากล้าที่จะบอกว่านี่คือครั้งแรกที่ G-Shock มากับนาฬิกาที่มีทั้ง GPS และ Bluetooth อยู่ในเรือนเดียวกัน โดยที่ยังไม่นับระบบ Wave Ceptor ที่พวกเขาเรียกว่า Multiband ซึ่งถูกรวมเข้ามาด้วย แต่กับราคาที่เปิดออกมาแบบทำให้คนที่ตั้งตารอถึงกับใจสลายขนาดนี้ มันก็เลยค่อนข้างเซ็งเล็กๆ ทำให้ตอนนั้นผมถึงกับลืมนาฬิการุ่นนี้ไป และหันไปคบของตายอย่าง Frogman GWF-D1000 ดีกว่า
จะว่าไปแล้วทั้ง GPW-2000 และ GWF-D1000 เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นนาฬิกาที่ซื้อมาแล้วโคตรจะไม่คุ้มในแง่การใช้งานเลย เพราะค่าตัวในบ้านเราชนิดทำร้ายกระเป๋าอย่างรุนแรงโดยที่มนุษย์เงินเดือนแทบจะใช้ฟังก์ชั่นอะไรไม่ได้เลย มีแค่ Passion เท่านั้นที่ได้ทำหน้าที่ เพียงแต่ว่าสิ่งสำคัญที่ GPW-2000 ไม่มีและทำให้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนๆ G-Shock เท่าที่ควรคือ Story และความรู้สึกของคนเล่น G-Shock โดยเฉพาะพวกรุ่นเก่าๆ อย่างผม ที่ค่อนข้างฝังใจว่า ถ้าจะต้องควักเงินซื้อ G-Shock เรือนละหลายๆ หมื่นสักเรือนหนึ่ง ตัวเลือกแรกจะต้องเป็น Frogman
จึงไม่น่าแปลกใจที่เปิดตัวมาแค่ปีเดียว แต่มีรุ่นย่อยมาตรฐานแค่ 2 รุ่น และรุ่นพิเศษเพียงแค่ 2 รุ่นเท่านั้นคือ GPW-2000-3A ในแนว Military และรุ่นพิเศษ Gold Tornado ของการฉลองครบรอบ 35 ปี ขณะที่เท่าที่ลองสังเกตการโพสต์และดูตามข้อมือของบรรดาคนที่สวม G-Shock แล้ว เรียกได้ว่าแทบจะไม่เคยเห็นตัวจริงๆ บนข้อมือเลย
ส่วนเหตุผลหนะหรือ…รบกวนช่วยเลื่อนเมาส์กลับขึ้นไปอ่านข้างบนใหม่ แต่เอาเถอะ สุดท้ายผมก็ทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว และจัดการเก็บ Casio G-Shock GPW-2000-1A เข้ามาอยู่ในกรุของตัวเอง
นับจาก GW-A1000 เป็นต้นมา นาฬิกาในคอลเล็กชันนี้มีเอกลักษณ์ในเรื่องการออกแบบตรงที่ Crown Guard ซึ่งจะปกป้องเม็ดมะยมอิเล็กทรอนิกส์ของระบบ Smart Access ซึ่งเมื่อดูจากวิวัฒนาการในด้านการออกแบบตั้งแต่ GW-A1100 ที่เปิดตัวเมื่อสักปี 2012 แล้วดูเหมือนว่า Casio จะปรับปรุงการออกแบบให้ดูลงตัวและกลมกลืนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่เกิดความรู้สึกว่ามันเป็นส่วนที่ยาวยื่นออกมาจนแปลกแยกเหมือนเวลาผมดูเม็ดมะยมของนาฬิกาอย่าง Graham หรือ Ball ในบางรุ่น อย่างไรก็ตาม ในรุ่น GPW-2000 สิ่งที่ผมยังต้องเจอกับ Crown Guard แบบนี้คือ มันหมุนค่อนข้างยาก
ส่วนหน้าตาโดยรวมของ GPW-2000 ถือว่าถูกจริตกับคนที่อยากได้นาฬิกาสปอร์ตทรงถึกๆ โดยสิ่งที่ยังเหมือนเดิมมาตลอดคือ การใช้วงในของ Bezel เป็นแถบสำหรับแสดงชื่อเมืองโดยย่อ ตรงนี้มีประโยชน์อย่างไร ก็มีประโยชน์สำหรับให้คุณได้ตั้งแต่วันทั้ง Home Time และ World Time แค่เลือกชื่อเมืองระบบก็จะปรับให้เสร็จ ไม่ต้องมานั่งเมื่อยมือหมุน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของตัวนาฬิกาในระดับ 57.1 มิลลิเมตร และ Lug to Lug 66 มิลลิเมตร เมื่อเข้ากับข้อมือขนาด 7 นิ้วของผมถือว่าลงตัวมาก และการหาช่องบนสายด้านยาวสำหรับรัดบนข้อมือนั้นสามารถเจอกับช่องในฝัน ที่เมื่อรัดแล้วไม่แน่นไม่หลวมจนเกินไป
ตัวโครงสร้างของนาฬิกาถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกับการกระแทกตามแบบฉบับ G-Shock ซึ่ง Casio บอกว่าโครงสร้างตัวเรือนของ GPW-2000 นั้นได้รับการออกแบบใหม่และรองรับในการดูดซับแรงกระแทก และตรงตามาตรฐาน Triple G ซึ่งรองรับการกระทำ 3 แบบ คือ แรงกระแทก แรงเหวี่ยงหนีศูนย์ และการสั่นสะเทือน ตัวสายเป็นแบบเสริมด้วยเส้นใยคาร์บอนไฟเบอร์เอาไว้ด้านใน ซึ่งตรงนี้กลายเป็นมาตรฐานปกติไปแล้วสำหรับนาฬิกาในกลุ่ม Master of G รุ่นใหม่ๆ ที่มีราคาป้ายเกินหลักหมื่น
หน้าปัดถูกออกแบบในลักษณะ 3 มิติคือ มีการเล่นระดับของวงหน้าปัดย่อย และหลักชั่วโมง ซึ่งถือว่าทำได้ดี เพราะทำให้หน้าปัดดูมีมิติมากขึ้น ส่วนอีกสิ่งที่ Casio ชูให้เป็นจุดเด่นของ GPW-2000 คือ เป็นครั้งแรกที่พวกเขานำสิ่งที่เรียกว่าเป็น Double Plate มาใช้ ซึ่งวงในจะเป็นเพลทสำหรับแสดงวันที่ หรือ Date โดยจะแสดงที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา และอีกเพลทที่เป็นวงนอกจะแบ่งการแสดงผลออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
-พิกัดของเมืองที่มีการกดใช้ GPS ในส่วนของละติจูด (และต้องดูร่วมกับหน้าปัดย่อยตรงตำแหน่ง 9 นาฬิกาที่จะเป็นตำแหน่งในส่วนของลองติจูด)
-การแสดงวันของสัปดาห์ หรือ Day of the Week เช่น วันจันทร์ วันอังคาร
-แสดงโหมดการทำงานของระบบ เช่น จับเวลาเดินหน้า-ถอยหลัง หรือปลุก
ซึ่งการทำงานทั้งหมดผ่านการกดปุ่มตรงตำแหน่ง 8 นาฬิกาหรือปุ่ม Mode
นาฬิกากลุ่มนักบินที่มีการแสดงเฉพาะเข็มถือเป็นยาขมสำหรับแฟนๆ ของ G-Shock เลยก็ว่าได้ และปัญหาส่วนใหญ่คือ ตั้งเวลาไม่เป็น เมื่อก่อนถือว่าใช่ แต่การมีเม็ดมะยมไฟฟ้าของระบบ Smart Access ถือว่าช่วยลดปัญหานี้ได้อย่างมาก ไม่มีขั้นตอนวุ่นวาย แค่หมุนคลายเกลียว ดึงเม็ดมะยมออกมา 2 สเต็ป เท่านี้เราก็ทราบว่าในตำแหน่ง Home Time นั้นแสดงเวลาของเมืองอะไรอยู่ ถ้าไม่ถูกต้องคุณก็แค่หมุนเม็ดยมเพื่อให้เข็มวินาทีหมุนไปตกยังเมืองที่คุณต้องการ เท่าที่ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
แต่วิธีที่สะดวกกว่านั้นคือ กดปุ่มรับสัญญาณ GPS ตรงตำแหน่ง 4 นาฬิกาค้างเอาไว้ก็จบแล้ว โดยหลังจากกดค้าง เข็มวินาทีจะวิ่งไปที่ตัว T และคุณกดอีกครั้งให้ไปที่ T+P ตัวนาฬิกาก็จะรับสัญญาณ แล้วก็รอ ส่วนจะนานหรือเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่คุณอยู่ว่ารับสัญญาณได้ดีแค่ไหน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นเข็มวินาทีก็จะวิ่งไปที่ตัว Y ซึ่งอยู่ระหว่างหลัก 12 กับ 1 แต่ถ้าไม่สำเร็จก็จะกลับมาที่ตัว N ซึ่งอยู่ระหว่างหลัก 1 กับ 2
ส่วนการตั้งเวลาของ World Time หรือเวลาที่ 2 ซึ่งจะแสดงผลอยู่ตรงหน้าปัดย่อยในตำแหน่ง 6 นาฬิกา หลังจากคลายเกลียวออกมาก็ดึงแค่สเต็ปเดียว แล้วก็หมุนเลือกเมืองที่ต้องการเป็นอันจบ
อีกสิ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่เดินทางสลับไปมาเพียงแค่ 2 เมืองบ่อยๆ ก็สามารถใช้โหมด Dual Time ได้ โดยขั้นแรกคุณเซ็ตเวลาหลักหรือ Home Time เป็นเมืองที่คุณอยู่เสียก่อน จากนั้นก็ปรับ World Time เป็นเมืองที่คุณเดินทางไปบ่อยๆ เมื่อต้องการเปลี่ยนสลับหน้าที่ของ 2 เมืองนี้ ในการเป็น Home Time กับ World Time ก็กดปุ่มตรงตำแหน่ง 2 นาฬิกาค้างเอาไว้ แล้วจากนั้นระบบก็จะสลับให้เอง และถ้าต้องการสลับกลับก็ทำวิธีเดียวกันนี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ GPW-2000 เหนือกว่า GPW-1000 คือ ฟังก์ชั่นที่เรียกว่า Flight Log ซึ่งคราวนี้คุณจำเป็นที่จะต้องเชื่อมต่อกับ Application บนสมาร์ทโฟนที่ชื่อว่า G-Shock Connected ซึ่งใช้งานง่ายและ Sync เร็วมาก โดยหลังจากที่ลงทะเบียนและเลือกนาฬิกาที่จะ Sync แล้วก็ทำตามสิ่งที่บอกในโทรศัพท์ คุณก็จะเชื่อมต่อได้สำเร็จ โดยสังเกตจากการที่เข็มวินาทีจะหยุดและชี้ไปที่ตัว C ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำเอาผมงงอยู่พักใหญ่ เพราะพอกดปุ่มอะไรบนตัวนาฬิกา ระบบก็ปลดการเชื่อมต่อทุกที แต่สุดท้ายหลังจากลองเสิร์ชหาคลิปใน Youtube และก็พบว่ามันไม่ได้ผิดปกติอะไร
ผมเข้าใจ (เอาเอง) ว่า ถ้าเป็นระบบที่มีหน้าดิจิตอล คุณจะสามารถมองเห็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อกันได้ แต่กับหน้าปัดแบบเข็ม คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเชื่อมกันอยู่ (นอกจากหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู) ผมเลยคิดว่าทีมออกแบบของ Casio ก็เลยเลือกล็อกเข็มวินาทีเอาไว้ที่ตำแหน่ง C (หรือ Connected) เพื่อบอกว่ามันกำลังเชื่อมต่อกับ Application อยู่ และถ้าจะทำอะไรก็ให้ไปกดที่ Application แทน
กลับมาที่ฟังก์ชั่น Flight Log จริงๆ แล้วมันไม่ได้เหมาะกับนักบินเพียงอย่างเดียว แต่เหมาะกับนักเดินทางด้วย เพราะคุณสามารถบันทึกเที่ยวบินในการเดินทางของคุณด้วยการกดปุ่มตรงตำแหน่ง 4 นาฬิกาค้างเอาไว้ประมาณ 2.5 วินาทีเพื่อให้ระบบมีการบันทึกพิกัด ณ ตอนนั้นเอาไว้ อารมณ์เดียวกับเวลาหลายๆ ท่านชอบ Check-in ผ่าน App โบราณอย่าง Four Square หรือใน facebook นั่นแหละ จากนั้นเมื่อต้องการสร้างทริปหรือ Group ของการเดินทาง พอคุณเชื่อมเข้ากับสมาร์ทโฟน ข้อมูลทั้งหมดก็จะถูกส่งลงเข้าไปในสมาร์ทโฟน และที่แจ่มคือ คุณสามารถดูเส้นทางการเดินทางของคุณพร้อมข้อมูลผ่านรูปแบบ Map ทั้งแบบ 2D หรือ 3D ได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการสื่อสารออกมา และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนมองว่า GPW-2000 อาจจะไม่เหมาะกับตัวเอง ก็เพราะพวกเขาสื่อสารประโยชน์ของฟังก์ชันนี้ออกมาไม่หมด และเน้นไปที่กลุ่มเฉพาะมากเกินไป จนตอนหลังก็ไม่รู้ว่าเพราะขายไม่ดีหรือเปล่า Casio จึงต้องทำคลิปอีกตัวออกมาแชร์บน Youtube เพื่อให้เห็นประโยชน์ในด้านอื่นของฟังก์ชั่น Flight Log
ส่วนคุณพ่อบ้านที่ชอบแวบแบบมีนัยยะ อันนี้คงต้องระวังตัวกันเอาเองก็แล้วกัน เพราะดูแล้วฟังก์ชั่นนี้อาจจะไม่เหมาะ
กับค่าตัวในระดับ 39,000 บาทตามป้ายประเด็นเดียวที่ทำให้ GPW-2000 ดูไม่ค่อยฮ็อตในกลุ่มของคนเล่น G-Shock สักเท่าไร ไม่ใช่เพราะนาฬิกานักบินของ G-Shock ไม่ฮ็อต เพราะเท่าที่เซอร์เวย์ดูพวกรุ่นเล็กๆ อย่าง GA1100 ก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและเห็นคนใส่ติดข้อกันเยอะแยะ แต่น่าจะเป็นประเด็นในเรื่องของประโยชน์ในการใช้งานที่ดูแล้วไม่คุ้มกับค่าตัวที่ต้องจ่ายไปมากกว่า แม้แต่ตัวผมที่ว่าชอบๆ เห็นราคาขายในเมืองไทยแล้วยังต้องลังเล
หลายคนอาจจะเถียงแล้วทำไม Frogman ถึงขายได้ละ โอเค ช่วยเลื่อนเมาส์กลับไปอ่านบรรทัดบนๆ กันอีกครั้งครับ
ข้อมูลทางเทคนิค : Casio G-Shock GPW-2000-1A
- ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง : 57.1 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 66 มิลลิเมตร
- หนา : 18.2 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก : 120 หรัม
- ตัวเรือน : เรซิน+สแตนเลสสตีล
- สาย : เรซิน+คาร์บอนไฟเบอร์
- กระจก : Sapphire พร้อมเคลือบสารป้องกันการสะท้อนแสง
- โมดุล : 5502 GPS+Bluetooth+Multiband 6
- ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : หน้าตา ฟังก์ชั่น ความสะดวกในการตั้งเวลา
- ไม่ประทับใจ : ราคา และ Crown Guard
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/