Casio G-Shock GMW-B5000D-1 ย้อนยุคแต่สุดไฮเทค

0

อีกผลผลิตที่น่าตื่นตาตื่นใจจาก Casio G-Shock กับการผลิตนาฬิกาย้อนยุคที่อ้างอิงการก่อกำเนิดของซับแบรนด์ผ่านทางรุ่น DW-5000C เพียงแต่คราวนี้มากับตัวเรือนที่ผลิตจากโลหะและวางขายในชื่อ Casio G-Shock GMW-B5000D-1

- Advertisement -

Casio G-Shock GMW-B5000D-1 ย้อนยุคแต่สุดไฮเทค

  • ระลึกถึง G-Shock รุ่นแรก DW-5000C
  • ตัวเรือนและสาย GMW-B5000D-1 ผลิตจาก Stainless Steel
  • ราคาจำหน่ายในไทย 23,000 บาท

แม้ว่าจะจากกันไปนาน แต่ช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีของ Casio G-Shock ผมก็ยังมีโอกาสร่วมแจมกับคอลเล็กชั่นต่างๆ ที่พวกเขาปล่อยออกมา จะมีขาดไปก็คงเป็น Gold Tornado ที่มาแต่ตัวแรงชนิดทำลายล้างเงินค่าแรงในกระเป๋าจนแทบสิ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีข่าวเมื่อต้นปีว่าพวกเขาจะมีทีเด็ดกับแนวคิดในการเอาของเก่ามาทำอะไรให้ใหม่ขึ้นเพื่อโอกาสพิเศษนี้นั้น ตรงนี้มีความสามารถในการดึงดูดความสนใจของผมได้มาก (เช่นเดียวกับรั้งมือขวาไม่ให้รีบส่งบัตรเครดิตให้กับพนักงานขาย) และต้องการดูว่า ทีเด็ดนั้นคืออะไร และเจ้า GMW-B5000 ที่เปิดตัวออกมาก็ไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ

Casio ปล่อยข่าวคอลเล็กชั่นนี้ออกมาตั้งแต่ช่วงงาน Basel 2018 หรือล่วงหน้าเกือบๆ เดือนก่อนที่ GMW-B5000 ถูกส่งวางขายอย่างเป็นทางการในตลาดญี่ปุ่น ตรงนั้นถือว่าเป็นการกระพือและสามารถสร้างพลังในการอยากมีส่วนร่วมกับคอลเล็กชั่นนี้ให้กับผมอย่างมาก ไม่ใช่เพราะว่าเป็นอีกครั้งที่ G-Shock ใช้โลหะในการผลิตตัวเรือน แต่เป็นเพราะแนวคิดที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ (สำหรับผม) มากกว่า ในการนำเอาความดั้งเดิมอย่างนาฬิกา DW-5000 Series ที่ถือเป็นจุดกำเนิดของ G-Shock เมื่อปี 1983 มาทำใหม่ให้ดูแปลกและแตกต่างด้วยการใช้โลหะเป็นวัสดุหลักในการผลิต

            เพราะตอนแรกผมนึกว่าจะเป็นการผลิตที่เน้นสีสันให้แปลกใหม่และแปลกตา แบบมุกเดิมๆ ที่ชอบทำกันมา

จริงๆ แล้วในคอลเล็กชั่นนี้มีเปิดตัวออกมาหลายแบบ ถ้าไม่นับตัว Limited ที่เปิดออกมาด้วย ก็มีทั้งหมด 4 แบบด้วยกัน คือ GMW-B5000-1, GMW-B5000TFC, GMW-B5000D-1 และ GMW-B5000TFG-9 แต่ที่เด่นสุดและกลายเป็นตัวโปรโมทที่เราเห็นกันบ่อยที่สุดก็คือ 2 แบบหลัง คือ สีเงินและทองกับราคา 23,000 บาท และ 25,000 บาทในบ้านเรา

อันนั้นคือราคาจริงๆ ตามป้ายที่ขายในไทยนะ เพราะช่วงที่ Demand กำลังพุ่งปรี๊ด แต่ Supply มีให้เห็นน้อยมาก ผมเคยเห็นราคาพุ่งไปในระดับ 33,000 บาทสำหรับสีเงิน และเกือบๆ 40,000 บาทสำหรับสีทองกันเลยทีเดียว

แต่เอาละ…ในที่สุดผมก็ได้มา แถมยังมีโอกาสได้เลือกด้วยว่าจะเอาสีไหนในราคาพาร์ตามป้ายบวกกับส่วนลดอีกต่างหาก แน่นอนแม้ว่าสีทองจะมาแรงและมีอนาคตที่แจ่มใสแถมฝาหลังยังมีสลักโลโก้ฉลอง 35 ปี แต่เอาเข้าจริงๆ ผมซื้อมาใส่ไม่ได้ซื้อมาเก็งกำไร และดูเหมือนว่าสีทองอาจจะไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองสักเท่าไร ก็เลยมาจบที่ GMW-B5000D-1 สีเงินแทน

สารภาพเลยว่าตอนแรกที่เห็นหน้าตา ในใจก็คิดแค่ว่ามันคือ G-Shock ที่มีหน้าตาถอดแบบมาจากตัวคลาสสิคอีกรุ่นหนึ่งที่อยู่ในตลาด แต่มันเริ่มมาอินและเห็นว่านาฬิกาเรือนนี้ไม่ธรรมดา ก็ตรงที่ต้องมานั่งหาข้อมูลเพิ่มเติม และพบว่า Casio ใส่ใจในการผลิตคอลเล็กชั่น GMW-B5000 มากแค่ไหน

ไม่มีใครปฏิเสธในเรื่องของ Know How ที่ Casio เก็บเกี่ยวตลอด 35 ปีที่พวกเขาผลิตนาฬิกาพันธุ์ถึกอย่าง G-Shock แต่ส่วนใหญ่แล้ว พวกนั้นจะมากับตัวเรือนที่ใช้เรซินซึ่งดูแล้วเป็นวัสดุที่ดูดซับแรงกระแทกได้ดีกว่า ซึ่งก็ผิดจากตัวเรือนที่ผลิตจากโลหะที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างออกไป

Casio บอกว่าตัวเรือนผลิตจากสแตนเลสด้วยวิธี Forged พร้อมกรรมวิธีที่ทำซ้ำไปมากถึง 10 เที่ยวในการขึ้นรูปและขัดเพื่อให้ได้กรอบที่มีรูปทรงและโครงตามที่ต้องการ อีกทั้งยังมีการปรับแต่งโครงสร้างตัวเรือนเพื่อให้สามารถทนทานต่อแรงกระแทกได้ในระดับที่สูง และมีชิ้นส่วนที่ผลิตจากเรซินแทรกกลางระหว่างกรอบตัวเรือนกับโมดุลทำหน้าที่เป็นโครงสร้างรองรับและกระจายแรงกระแทกที่เกิดขึ้นบนตัวเรือนโลหะทั้งหมด

ผมเชื่อมั่นในเรื่องที่เค้าเล่ามานะ เพราะตลอด 35 ปีที่ผ่านมา Casio พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาเจ๋งแค่ไหนในการผลิตนาฬิกาที่มีคุณสมบัติลักษณะนี้ แต่เมื่อมองดูสิ่งที่อยู่บนข้อมือแล้ว ในใจพลางคิดว่าจะมีสักกี่คนที่คิดอยากเอาเจ้า GMW-B5000 ออกไปลุยให้มีริ้วรอยเกิดขึ้นบนตัวเรือน เพราะจริงอยู่ที่ไส้ในคงไม่พัง แต่รอบนอกนี่คงเต็มไปด้วยรอยถลอกที่เมื่อเป็นโลหะแล้วจะเป็นได้อย่างชัดเจน…คงน่าเสียดายชะมัด

อีกสิ่งที่ Casio ถือว่าทำได้ดีสำหรับ GMW-B5000D-1 คือ การขัดแต่งแบบเงาสลับด้านบนตัวนาฬิกา ซึ่งบนขอบ Bezel ที่ทำหน้าที่เป็นกรอบกันกระแทก และด้านข้างตัวเรือนนั้นมีการขัดด้านเห็นพื้นผิวเป็นเส้นๆ (Hairline Finishing) ขณะที่บนพื้นผิวหลักๆ ของกรอบตัวเรือนจะขัดเงา เรียกว่าพอโดนแสงทีมีการสะท้อนให้แสบตาอย่างแน่นอน แต่ก็ดูกลมกลืนและไม่ขัดกันแต่อย่างใด เช่นเดียวกับสายที่มีลวดลายคล้ายกับสายเรซินของ DW5000 รุ่นแรก แต่มีการออกแบบให้เป็นข้อต่อสำหรับสายเหล็ก และบานพับเป็นแบบล็อกชั้นเดียวมีปุ่มกดอยู่ทางด้านข้าง

งานออกแบบที่ยกมาจาก DW-5000C ที่เป็นรุ่นดั้งเดิมนั้นถูกนำมาใช้ในรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับการแสดงผลต่างๆ บนหน้าจอถูกจัดวางในลักษณะที่เหมือนกับรุ่นดั้งเดิม แต่ก็มีลูกเล่นใหม่ๆ เพิ่มเข้าไป เช่นระบบ Tough Solar ระบบ Multiband6 รวมถึงการมี Bluetooth เพื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านทาง Application ที่ชื่อว่า G-Shock Connected หน้าจอดิจิตอลแบบใหม่ STN LCD ซึ่งมาแทนที่แบบเดิมคือ TN LCD ให้การแสดงผลที่มีความคมชัดขึ้น และมีมุมที่มองเห็นรายละเอียดบนหน้าจอได้เพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดวางหน้าจอมาในอัตราส่วน 16:10 ที่ว่ากันว่ามีความคมชัดและมองเห็นได้ง่ายสำหรับสายตาของมนุษย์ ฝาหลังเป็นแบบขันเกลียว ผลิตจากสแตนเลส ขัดเงา และเคลือบ DLC เพื่อความทนทาน

โมดุล 3459 ที่นำมาใช้กับรุ่น GMW-B5000D-1 ไม่ได้มีฟังก์ชั่นอะไรที่พิเศษจากระบบมาตรฐานที่เราพบเจอใน G-Shock รุ่น Standard จับเวลาเดินหน้า ถอยหลัง ตั้งปลุก World Time ส่วนสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ การปรับภาษาของวัน (Day) ที่ได้ 6 แบบ คือ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี และสเปน (น่าเสียดายไม่มีญี่ปุ่น ไม่อย่างนั้นแจ่มไปเลย) การติดตั้ง Bluetooth สำหรับเพิ่มขีดความสามารถในการปรับเวลาที่ Sync เข้ากับ Server Time ของ Smartphone โดยจะมีการปรับอัตโนมัติ 4 ครั้งต่อวันในช่วงตอน 6.30-12.30-18.30-00.30 น.ในกรณีที่มีการเชื่อมต่อกับ Smartphone ส่วน Multiband 6 ก็ใช้บ้านเราไม่ได้อยู่แล้ว

หลังจากที่มาถึงร้านได้เห็นตัวจริง ตอนแรกเกิดอาการลังเลว่าจะใส่เลยหรือเก็บเอาไว้ก่อนดี ไม่ใช่จะเอาไปขายต่อหรอกนะ แต่เป็นเพราะผมเลิกใส่นาฬิกาสายเหล็กมานานมากแล้ว ส่วนใหญ่พอได้มาก็ถอดสายเหล็กออกและเปลี่ยนเป็นสายหนังทันที ก็เลยไม่ต้องมานั่งตัดสายให้เสียเวลา แต่กับ GMW-B5000D-1 มันทำไม่ได้ เพราะตัวเรือนที่อยู่ข้างในถูกออกแบบมาให้มีขายสายและรูปแบบของการยึดสายที่แตกต่างจาก DW-5600 อย่างชัดเจน

ส่วนเรื่องของสายจะใช้ร่วมกันได้หรือไม่นั้น บอกเลยว่าไม่ได้ในกรณีที่ถอดมาแล้วสวมใช้เลยโดยที่ไม่ต้องดัดแปลง เพราะหัวสายก็ไม่เหมือนกัน  ส่วนการยึดสายเข้ากับตัวเรือนนั้น ทาง GMW-B5000D-1 จะทำเป็น Tube ร้อยผ่านหัวสายและใช้น็อตตัวผู้ขันอีกฝั่งเพื่อเป็นตัวยึด ขณะที่ DW-5600 เป็นแบบสปริงบาร์ ถ้าจะทำน่าจะได้ แต่ต้องดัดแปลงกันหน่อย ประมาณว่าผ่าๆ ฝานๆ หัวสายที่เป็นยางเพื่อให้เข้าร่องบนตัวเรือนของ GMW-B5000D-1 ให้ได้ ส่วนการร้อย Tube นั้นไม่น่าจะมีปัญหา เพราะสายของ DW-5600 มีช่องสำหรับให้สปริงบาร์ผ่านอยู่แล้ว

สุดท้ายผมก็เลยสั่งตัดข้อสายและใส่กลับบ้าน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีเลยก็ว่าได้ที่ผมสวมนาฬิกาสายเหล็ก

ถ้าถามความรู้สึก ?

เฮ้ย…ผมชอบนะ ปกติผมใส่แต่ G-Shock ขนาด Oversize เรือนหนาๆ ตัวเรือนเป็นเรซินมาตลอด ตอนแรกก็กลัวๆ แต่พอทาบ GMW-B5000D-1 บนข้อมือ สารภาพเลยถูกใจมากกว่าที่คิด ขนาดตัวเรือนที่ไม่ใหญ่มาก กว้าง 43.2 มิลลิเมตร Lug-to-Lug 49.3 มิลลิเมตร และหนา 13 มิลลิเมตร (ไซส์ใกล้เคียงกับ DW-5600 ที่ขายอยู่ในตลาด) กลายเป็นขนาดที่กำลังดีบนข้อมือของผม และทำให้ผมมีความรู้สึกว่าได้นาฬิกาที่สามารถใส่กับชุดทำงานที่เป็นทางการก็ได้ หรือจะลำลองก็ได้ เสียอย่างเดียว ผมต้องทำความคุ้นเคยกับน้ำหนักในระดับ เกิน 1.5 ขีดมา 20 กรัมของมันให้ได้

หลายคนอาจจะบอกว่าการผลิตตัวเรือนให้มีหน้าตาคล้ายกับของเดิมอย่าง DW-5000C เป็นจุดเด่นของ GMW-B5000D-1 ผมคิดอย่างนั้นเหมือนกันนะ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ไปๆ มาๆ ผมกลับชอบการใส่ใจในรายละเอียดที่พวกเขานำของเก่ามาเป็นตัวตั้งต้นและใช้ในการออกแบบและผลิตสายเหล็กของตัวเองให้มีหน้าตาคล้ายกับสายยางแบบเรซิน แถมยังใช้การขัดแบบเงาสลับด้านบนตัวสายเพื่อช่วยเพิ่มความสวยและความสะดุดตามากขึ้น

อีกสิ่งที่เสียดายคือ ในเมื่อราคาขยับกันมาถึงขนาดนี้แล้ว สเป็กน่าจะจัดเต็มอีกสักหน่อย แทนที่จะใช้ Mineral Glass เหมือนกับรุ่นทั่วไป น่าจะเปลี่ยนมาเป็น Sapphire เพื่อให้มันพิเศษมากขึ้นมาอีกสักหน่อยก็ยังดี

อ้อ…อีกเรื่อง ถ้าเป็นรุ่นพิเศษขนาดนี้  Casio Thailand น่าจะทำแพ็คเกจให้เด่นสักหน่อยก็ไม่ได้ พอพนักงานหันไปหยิบกล่องมาใส่ เจอเข้ากับกระป๋องเหล็กเหมือนกับรุ่นธรรมดา (อีกละ) บอกตามตรงเลยว่า เซ็งจริงๆ

รายละเอียดทางเทคนิค : Casio G-Shock GMW-B5000D-1

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 43.2 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 49.3 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 13 มิลลิเมตร
  • ตัวเรือนและสาย : Stainless Steel
  • น้ำหนัก : 167 กรัม
  • Module : 3459 Multiband 6 & Bluetooth & Tough Solar
  • ความแม่นยำ: ±15 วินาทีต่อเดือน (โดยไม่มีสัญญาณเทียบเวลา)
  • อายุแบตเตอรี่ : 10 เดือนเมื่อชาร์จเต็มและใช้แบบไม่โดนแสง / 22 เดือนเมื่อชาร์จจนเต็มและเปิดโหมด PS เอาไว้
  • ประทับใจ: ดีไซน์ ความใส่ใจในรายละเอียด
  • ไม่ประทับใจ : แพ็คเกจ และกระจก