ขอกลับมาตามกระแสวัยรุ่นกันสักหน่อย เพราะหลังจากที่ได้เห็นหน้าตาแล้ว ผมว่า Casio G-Shock GA700SE-1A9DR ถือเป็น G-Shock อีกรุ่นที่สวยและโดดเด่น เพราะมีการเติมสีสันบนความเข้มอย่างลงตัวอย่างพอเหมาะ
Casio G-Shock GA700SE-1A9DR : เติมสีสันบนความเข้มอย่างลงตัว
ตอนแรกผมคิดว่าอยากจะลองนาฬิกาที่ยังไม่เคยมีมาก่อนอย่างรหัส GA700 ของ Casio G-Shock และเล็งเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่าน่าจะสอยรุ่นสีแดง หรือไม่ก็ตัวบลูยีนส์โรสโกลด์ แต่หลังจากที่ได้เห็นคอลเล็กชั่น Layered Neon Colors ในเว็บของ G-Shock ออสเตรเลีย
สารภาพเลยว่าผมหลงรักเจ้า GA700SE ทั้ง 3 เรือนนี้มาก และตั้งเป้าเอาไว้ว่า เช้ามาเมืองไทยเมื่อไร เราต้องเจอกันและสุดท้ายก็เป็นไปตามคาด Casio G-Shock GA700SE-1A9DR ก็หลุดเข้ามาอยู่ในกรุของผมจนได้
จริงๆ แล้ว GA700 เป็นนาฬิกาที่ไม่ได้มีฟังก์ชั่นอะไรที่พิสดารไปจาก G-Shock ที่มีอยู่ในตลาด คุณสมบัติของมันก็เหมือนกับ G-Shock ทั่วไป คือ จับเวลาทั้งเดินหน้าในระดับ 1/100 และถอยหลัง World Time แสดงเวลา 31 โซนเวลาใน 48 เมืองทั่วโลก และกันน้ำ 200 เมตร เรียกว่างานนี้ไม่ได้ขายฟังก์ชั่น แต่ขายดีไซน์กันเป็นหลัก
ซึ่งในคอลเล็กชั่นปกติของพวกมันตอนที่เปิดตัวออกมาแรกๆ นั้น ยังไม่มีแรงมากพอที่จะดึงดูดใจเงินในกระเป๋าของผม จนกระทั่งตอนที่เป็น 1 ในคอลเล็กชั่น Denim’D Color นี่แหละ การใช้สีเข้าช่วยนั้นทำให้ตัวเรือนของ GA700 ดูดีขึ้นมาผิดหูผิดตา
ย้อนกลับมาที่ Layered Neon Colors คอลเล็กชั่นนี้ ทาง Casio เคยนำมาใช้แล้วตั้งแต่ต้นปีกับการเปิดตัวให้กับ GA110 โดยคุณสมบัติของการอยู่ในคอลเล็กชั่นนี้คือ การมีสีสันที่สดใส และการใช้สายแบบ Layered มีการแบ่งเป็น 2 สี 2 ชั้น
ซึ่งในปัจจุบันแทบจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ไปแล้วสำหรับนาฬิกาหลายๆ รุ่นของ G-Shock และคราวนี้ก็มาตกอยู่กับรุ่น GA700 ที่จะเปิดตัวคอลเล็กชั่นนี้ออกมา โดยมีด้วยกันทั้งหมด 3 เรือนคือ GA700SE-1A2DR สีเทาฟ้า ตามด้วย GA700SE-1A4DR สีดำแดง และ GA700SE-1A9DR ที่ผสมผสานหลากหลายสี และเป็นรุ่นที่มีความต้องการของตลาดมากที่สุดในบรรดาทั้ง 3 เรือน
เอาเข้าจริงๆ นะ ตอนที่เห็นคอลเล็กชั่นนี้ครั้งแรก ผมกลับสนใจรุ่น GA700SE-1A2DR มากกว่า และเมื่อไปเห็นตัวจริงที่เคาน์เตอร์ก็ต้องบอกเลยว่า มันสวยกว่าที่คิดเยอะ เพราะตัวเรือนนาฬิกาออกสีเทา ซึ่งปกติแล้ว เราไม่ค่อยได้เห็น G-Shock ผลิตสีนี้ออกมา แต่สุดท้ายแล้วภายใต้วงเงินเท่ากัน และบัตรเครดิตมีงบประมาณให้รองรับได้แค่ 1 เรือน
ผมก็เลยตัดสินใจเลือก GA700SE-1A9DR กลับบ้านมาแทน ด้วยเหตุผลที่ว่ามันหหายากกว่า เพราะถ้าเกิดวันไหนผมแอบจิ๊กเงินเมียได้มากพอ การตามหารุ่นเทา-ฟ้า น่าจะทำได้ง่ายกว่า
ประเด็นที่ทำให้ผมค่อนข้างชอบ G-Shock คอลเล็กชั่นนี้นั้นมีอยู่หลายประการด้วยกัน อย่างแรก ผมเบื่อ GA110 ดังนั้นการที่มีคอลเล็กชั่นใหม่ซึ่งมีหน้าตาแบบไปวัดไปวาได้เข้ามาเป็นทางเลือกก็ย่อมดึงความสนใจผมได้ในระดับหนึ่ง และจะมีมากขึ้นถ้ามันมีหน้าตาที่สะดุดตามากพอ
ซึ่งหลังจากที่เคยแอนตี้งานดีไซน์แบบมีปุ่มกดไฟอยู่ในตำแหน่ง 6 นาฬิกามาตั้งแต่รุ่นแมวหรือ GW9400 อยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งมาได้สัมผัสจริงๆ ผมกลับเริ่มชอบดีไซน์ในสไตล์นี้ของ G-Shock เข้าให้แล้ว
อย่างที่ 2 การเลือกใช้สีที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นตัวทูโทนอย่างเทาฟ้า ดำแดง หรือสีเยอะหน่อยอย่างรุ่นนี้ ยอมรับเลยว่าทีมงานของ Casio G-Shock เลือกใช้สีได้แบบพอดี และไม่ ‘เยอะ’ จนเกินไป การแต้มสีแค่บางจุดแทนที่จะย้อมทั้งชิ้น เช่นบนเข็มนาที และชั่วโมง หรือสีเหลืองเรื่อๆ อยู่ที่ Insert Ring ด้านในของตัวหหน้าปัด ประกอบกับตัวเรือนเป็นแบบสีด้านนั้น
ทำให้นาฬิกามีความโดดเด่นแบบไม่เวอร์จนเกินไปชนิดคนมีอายุหน่อยอย่างผม ยังใส่ได้แบบเด็กรุ่นลูกไม่ค้อน ขณะที่ด้านหลังของสายที่มากับสีแบบจัดเต็มนั้น เมื่อคาดอยู่บนข้อมือแล้ว การโผล่ออกมาของปลายสายสีเหลืองเป็นส่วนที่เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดุดตาได้เป็นอย่างดี
อย่างที่ 3 ผมมักจะชอบเสมอสำหรับ G-Shock ที่ไม่เพนต์สีเลอะเทอะบนขอบ Bezel เพราะอย่างที่เราทราบกันดี นาฬิกาค่ายนี้ชอบเยอะในเรื่องของการสลักตัวอักษรอะไรเต็มไปหมด อารมณ์ประมาณพวกรถแต่งที่แปะสติกเกอร์บนบานประตูเพื่อบอกให้โลกรู้ว่าเอาอะไรใส่เข้าไปบ้าง
ดังนั้นถ้าพวกเขาเลือกเติมสีเข้าไปในตัวอักษรเหล่านี้ เชื่อว่าเสน่ห์ของ GA700SE หมดไปแน่นอนในมุมมองของผม แต่นี่กลับไม่เติมอะไร และปล่อยให้มันเป็นสีดำด้านๆ ของตัวเรือน และให้ตัวนาฬิกามีความเท่ในแบบเรียบๆ แต่ดูดี
GA700 ใช้โมดุลในรหัส 5522 ซึ่งฟังก์ชั่นไม่มีอะไรมากมายอย่างที่บอกในช่วงต้น มีอายุแบตเตอรี่ 5 ปี และเมื่อเป็นรุ่นที่เน้นความเข้มของโทนสีดำ และการใช้หน้าจอดิจิตอลแบบ Negative สารภาพเลยว่าคนสูงอายุอย่างผมมีปัญหาในการมองอย่างมาก และแม้ว่าจะกดไฟ LED เพื่อช่วยดู เอาเข้าจริงๆ ว่าการติดตั้งอยู่ในตำแหน่ง 6 นาฬิกาของตัวหลอดไฟ มันแทบจะไม่ได้ช่วยในการมองเลย อย่าว่าแต่หน้าจอดิจิตอลเลย แต่ดูเวลาของเข็มยังลำบากเลย
สำหรับบนหน้าปัดมีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนของหน้าจอดิจิตอล คือ วงกลมในตำแหน่ง 10 นาฬิกา ซึ่งปกติแล้วในนาฬิกาบางรุ่นมันจะเป็นตัวบอกจับเวลาในระดับวินาที หรือการบ่งบอกสถานะการทำงานของบางฟังก์ชั่นในนาฬิกา แต่สำหรับของ GA700 คือ การบอกว่าคุณกดปุ่ม Mode ในตำแหน่ง 7 นาฬิกาไปอยู่ในโหมดการทำงานอะไร ส่วนหน้าจอที่เป็นแถบสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางติดกันคือ ตัวนับเวลาในหน่วยวินาที
ส่วนหน้าจอด้านล่างสุดจะเป็นตัวบอก Day/Date หรือจะเปลี่ยนมาบอกหน่วยวินาทีก็ได้ และเป็นการบอกการจับเวลาเป็นตัวเลือกเมื่อคุณเลือกใช้งานในโหมดจับเวลาทั้งด้านหน้าและถอยหลัง ซึ่งจากการย้ายปุ่มไฟมาอยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกานั้น ทำให้ปุ่มมาตรฐานทั้ง 4 ที่อยู่ด้านข้างในแต่ละมุมบนตัวเรือน ซึ่งปุ่ม 2 นาฬิกาซึ่งปกติแล้วเป็นปุ่ม Light ก็ทำหน้าที่แค่กดเปลี่ยนการแสดงผลบนหน้าจอด้านล่าง กับการกดเพื่อ Rest การจับเวลา ซึ่งถ้าคุณต้องการจับเวลาเดินหน้า ในขณะที่อยู่ที่ Timekeeping Mode หรือโหมดแสดงเวลา ก็สามารถทำได้ทันทีด้วยการกดปุ่มในตำแหน่ง 4 นาฬิกาที่เป็นปุ่ม Shortcut โดยที่ไม่จำเป็นต้องมากดปุ่มในตำแหน่ง 7 นาฬิกาเพื่อไล่การเข้าถึงโหมดต่างๆ
เมื่อดูขนาดตัวเรือนที่ถือว่ามีตัวเลขตามมาตรฐานของ G-Shock ในกลุ่ม GA นั้นต้องบอกว่า ไม่มีปัญหาเลยสำหรับการรัดอยู่บนข้อมือ 7 นิ้วของผม ไม่รู้สึกว่ากาง หรือหนาจนเทอะทะ แต่อย่างใด ถือว่าโดยรวมแล้วโอเคมาก
ในช่วงแรกที่ GA700SE หลุดเข้ามา ราคายังไม่เกิน 3,000 บาทเลย แน่นอนว่าด้วยหน้าตาที่ดูดี จึงทำให้ดีมานด์ในตลาดมีมากขึ้น และหมดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรุ่น GA700SE-1A9DR ซึ่งตรงนี้ทำให้ราคาของมันขยับขึ้นไปในระดับหนึ่งจนเรียกว่าเกือบแตะ 4,000 บาท และเมื่อทาง Casio Thailand นำเข้ามาขายและเปิดตัวในราคา 4,400 บาท บนเคาน์เตอร์ก็แปะป้ายเลยว่าไม่มีส่วนลด
แต่สุดท้ายเมื่อของเริ่มทะลักเข้ามามากขึ้น ราคาของหิ้วที่ผมเห็นครั้งสุดท้ายก่อนเขียนรีวิวก็หล่นกลับมาอยู่ที่ 3,300 บาท ซึ่งในช่วงเวลานี้ที่ของยังมี และยังสามารถหาได้ในราคาไม่แพง ใครที่สนใจก็รีบจัดการซะ เพราะไม่เช่นนั้น เกิดความต้องการในตลาดมีเพิ่มขึ้นอีกระลอก และซัพพลายดันหมดลงอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวจะกลายเป็นต้องกล้ำกลืนฝีนทนจ่ายเงินในราคาที่แพงเกินกว่าความเป็นจริงอีก
ส่วนของผมปัญหานี้ได้หมดไปแล้ว
คุณสมบัติของ : Casio G-Shock GA700SE-1A9DR
- ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง : 53.4 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 57.5 มิลลิเมตร
- ความหนา : 18.4 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก : 69 กรัม
- ตัวเรือน/สาย : เรซิน
- กระจก : Mineral Glass
- ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
- ฟังก์ชั่นทำงาน : จับเวลา 1/100 วินาที จับเวลาถอยหลัง Worldtime ตั้งปลุก ปฏิทินอัตโนมัติจนถึงปี 2099
- จุดเด่น : การใช้สีที่พอเหมาะ ดูสวยแบบไม่เวอร์ ขนาดตัวเรือนที่พอเหมาะ ไม่ใหญ่จนเกินไป
- จุดด้อย : หน้าจอมืด ทำให้มองลำบากสำหรับคนสูงอายุ และไฟส่องสว่างแบบ LED ที่ใช้ยังไงก็ไม่คุ้นสักที
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/