ว่ากันว่าใครที่ตกหลุมรัก Casio G-Shock Frogman แล้ว ถือเป็นเรื่องยากมากที่จะถอนตัวออกไป แต่ถึงไปแล้ว สุดท้าย มันก็ต้องมีแมทช์รีเทิร์นกันอยู่ร่ำไป เหมือนอย่างที่ผมเป็นกับเจ้า Casio G-Shock Frogman GWF-1000-1JF
Casio G-Shock Frogman GWF-1000-1JF แล้วเราก็มาเจอกันอีกครั้ง
ในยุคที่ Casio มีสิ่งที่เรียกว่าเป็น Top of the line ของ G-Shock ไม่มากเหมือนกับปัจจุบัน ผมจำได้ว่า Frogman คือ ยอดปรารถนาของบรรดาคนรักนาฬิกาตระกูลนี้ และมันก็มักจะสะกดใจผมได้ทุกครั้งที่มองเห็น และแน่นอนว่าผมยังจำความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่สั่ง Frogman เจนเนอเรชั่นที่ 4 เข้ามาอยู่ในกรุซึ่งเป็นรหัส GF-1000-1DR (GWF-1000) พร้อมกับมือสั่นนิดๆ เมื่อเห็นราคาป้ายของมัน ที่กระโดดไปไกลจากรุ่นก่อนหน้าอย่าง GW-200
แน่นอน ฟาร์มกบของผมล่มสลายไปนานหลายปีแล้ว และกบตัวนั้นก็เดินจากไปนานแล้ว แต่สุดท้ายเมื่อหัวใจเรียกร้องอีกครั้งและผมจำเป็นต้องมี Casio G-Shock อยู่ในกรุแบบโดนจำกัดปริมาณ Frogman ก็ยังเป็นตัวเลือกอันดับแรกที่ผมจะสอยเข้ามา และคราวนี้เป็นรหัส GWF-1000-1JF ซึ่งในปัจจุบันค่อนข้างหายากแล้วในตลาด
เหตุผลคงไม่มีอะไรมาก คือ เรื่องของอายุอานามที่นานร่วม 10 ปีแล้ว และถูกเจนเนอเรชั่นใหม่อย่าง GWF-D1000 เข้ามาแทนที่ สิ่งที่เหลืออยู่คือ ผลผลิตที่ค้างสต็อกและอาจจะต้องควานหากันสักนิด แต่ก็ไม่ใช่ยากถึงขนาดงมเข็มในมหาสมุทร นอกจากคุณจะต้องการรหัส JF ที่มากับแพ็คเกจตามสไตล์ JDM ซึ่งเป็นกล่องหนัง มี Tag สวยงาม ต่างจากรหัสเดียวกันแต่เป็น DR ซึ่งมากับกระป๋องเหล็ก
ย้อนความกันสักนิดสำหรับคนที่สงสัยเกี่ยวกับ Frogman ตัวนี้ เพราะนี่คือ จุดเริ่มต้นหลายอย่างนับตั้งแต่ Frogman เกิดขึ้นในตลาดเมื่อปี 1993
-ถือเป็น Frogman รุ่นแรกที่มากับระบบ Multiband 6 จนทำให้มันได้รับฉายาว่า Atomic Frogman
-เป็นรุ่นแรกที่มีฟังก์ชั่น Moonphase และ Tide Graph สำหรับดูน้ำขึ้นน้ำลง
-เป็น Frogman รุ่นแรกที่มีขาย 2 โมดุล คือ สำหรับตลาดที่ใช้ระบบ Multiband 6 ไม่ได้อย่างบ้านเรา ก็จะใช้รหัส GF-1000 เป็นโมดุลในรหัส 3185 และฝาหลังก็จะเป็นรูปกบดำน้ำที่เราคุ้นเคยกัน แต่ถ้าเป็นตลาดที่ระบบ Multiband 6 ใช้ได้ เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ก็จะใช้รหัส GWF-1000 พร้อมโมดุล 3184 และฝาหลังเป็นรูปกบไฮเทคมีจานรับสัญญาณอยู่ที่ปาก
ผมยังจำได้ดีกับราคาป้ายที่ทำเอากระเป๋าเงินถึงกับสะท้านเมื่อ 10 ปีที่แล้วของเจ้า Frogman GF-1000 ในบ้านเราที่เปิดออกมาในระดับ 23,000 บาทสำหรับรุ่นธรรมดา และรุ่น BP ตัวม่วงในราคา 25,000 บาทซึ่งในปัจจุบันราคาไปไกลแล้ว และตอนนั้นทางเลือกในการเข้าถึงมีไม่มากไม่เหมือนในปัจจุบัน แต่สุดท้ายผมก็ได้ของใหม่ที่เดินทางมาจากทางใต้ในราคาที่ถูกกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนตัว JDM ที่เป็นรหัส GWF-1000 ไม่ต้องพูดถึง หายากถึงยากมาก…หมายถึงในตอนนั้นนะครับ
จริงๆ แล้วตอนเบื่อๆ อยากๆ GWF-1000 เดินเข้าเดินออกในกรุผมหลายครั้ง เรียกว่าได้มาแล้วก็ปล่อย พอคิดถึงก็สอยกลับมา ซึ่งในตอนนั้นของยังหาง่าย แต่ในปัจจุบันก็ยังพอมีให้เห็นตามกลุ่มใน Facebook กับราคาของใหม่ 15,000-16,000 บาทขึ้นอยู่กับ Supply ที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งถ้าให้แนะนำผมว่าของใหม่นี่แหละน่าสนใจสุด เพราะเท่าที่ลองเดินดูในตลาด ของมือสองมักจะราคาหนีกันไม่มาก แถมบางเรือนถูกแกะออกมา Custom ซึ่งส่วนตัวผมไม่ค่อยโดนเท่าไร
ตอนที่ GWF-1000-1JF คัมแบ็คกลับมาในรอบที่เท่าก็จำไม่ได้นั้น อารมณ์ที่เห็นนั้นเรียกว่ายังคงเหมือนเดิม คือ ตื่นตาตื่นใจ และดูโดดเด่นบนข้อมือ ถึงแม้ว่าในแง่ของการเข้ากันบนข้อมือของผมจะสู้เจ้า GW-200 ที่ใส่แล้วสบายกว่าไม่ได้ก็ตาม เรียกว่ารูบนสายยาวของ GWF-1000 (รวมถึง GF-1000) มันไม่พอดีเอาเสียเลย ถ้าไม่แน่นก็หลวมไป ซึ่งเป็นอาการเดียวกับที่เจอใน GWF-D1000 และต้องบอกว่าอันนี้เป็นอาการเฉพาะบุคคล ซึ่งบางท่านอาจจะใส่แล้วลงตัวกว่าผมก็ได้
เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้าอย่าง GW-200 นั้น ต้องบอกว่าเจ้า GWF-1000 ใหญ่ขึ้นแบบเห็นได้ชัดแบบไม่ต้องดูสเป็ก ตัว Lug-to-Lug ของนาฬิกาเพิ่มขึ้นชนิดที่ทำเอาใครข้อเล็กอาจจะต้องจำใจเกิดอาการ ‘กาง’ อย่างช่วยไม่ได้ และอีกสิ่งที่แตกต่างออกไปคือ น้ำหนัก เพราะในรุ่นนี้มีการใช้ Stainless Steel ในการผลิตตัวเรือนด้านใน ไม่ใช่ Titanium เหมือนกับ GW-200 ที่มีน้ำหนักเพียง 82 กรัม
สิ่งที่เรียกว่าถูกใจสำหรับผมมีอยู่ 2 อย่าง คือ ตัวเรือนที่มีเอกลักษณ์ในแบบไม่สมมาตร หรือ Asymmetric Design ที่หลายคนบอกว่าชวนให้นึกถึงลายเซ็นของนักออกแบบชื่อดังอย่าง Girogetto Giugiaro (ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการออกแบบกบ แต่ออกแบบนาฬิกาให้ Seiko) กับอีกอย่างคือปลายสายแบบตัดเฉียงที่ยื่นออกมาเยอะ นั่นเป็นเพราะ Casio ออกแบบให้ปลายสายด้ายยาวนั้นมีความยาวเป็นพิเศษสำหรับรองรับกับการใช้งานกับ Wet Suit ของนักดำน้ำ ดังนั้นเวลาใส่ในชีวิตประจำวัน มันจะยื่นออกมาค่อนข้างเยอะ ส่วนตัวผมค่อนข้างชอบนะ
เหมือนกับ Frogman 3 รุ่นก่อนหน้านี้ Casio ยังยึดดีไซน์และการจัดเรียงบนหน้าปัดที่เหมือนเดิม คือ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ หน้าจอหลักสำหรับบอกเวลา และหน้าจอเล็กด้านบน ซึ่งในรุ่นนี้เป็นพื้นที่ของ Moonphase และ Tide Graph ส่วนอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ วงแหวนสำหรับบอกวินาทีที่อยู่ในตำแหน่ง 10 นาฬิกาบนหน้าปัด ซึ่งตรงกลางจะมีตัว G เพื่อบอกตอนเวลารับสัญญาณในโมดุลที่มีระบบปรับเวลาตามคลื่นวิทยุอย่าง Multiband 6 ส่วนใครที่ซื้อมาแล้วไม่เห็นมีตัว G อย่างภาพที่ใช้ในการโปรโมทก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะบ้านเราใช้ระบบนี้ไม่ได้
Frogman เป็นนาฬิกาดำน้ำเพียงรุ่นเดียวของ Casio ที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบ ISO6245 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกออกแบบมาเพื่อนาฬิกาประเภทนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น การที่บนหน้าปัดมีคำว่า 200 เมตร นั่นหมายความว่า คุณสามารถสวมใส่แล้วกระโจนลงน้ำดำดิ่งลงใต้ท้องทะเล และกดใช้งานได้โดยที่ไม่ต้องกังวลในเรื่องว่าน้ำจะเข้า (แต่ปกติแล้ว ถ้ามีการเซ็ตเวลากันตั้งแต่ผิวน้ำ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีใครไปยุ่งในการกดปุ่มต่างๆ) ซึ่งตรงนี้จะต่างจาก G-Shock ทั่วไปที่มีคำว่า 200m ติดมาบนหน้าปัด ซึ่งถ้าดำแบบ Snorkling บนผิวน้ำ หรือไม่ลึกมากก็พอได้ แต่การกดปุ่มเล่นใต้น้ำ มีความเสี่ยงสูงที่จะน้ำจะเข้าได้
โมดุล 3184/3185 ของ Frogman GWF-1000/GF-1000 นั้นไม่ได้มีอะไรต่างกัน ยกเว้นเรื่องเดียวคือระบบ Multiband 6 ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่อก่อน Casio ค่อนข้างฟุ่มเฟือยในการผลิตโมดุลออกมาหลายแบบแต่ต่างกันแค่นิดเดียว ซึ่งในปัจจุบันดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ทำเช่นนั้นแล้ว และมาแบบโมดุลเดียวใช้กันทั่วโลก ซึ่งตัวอย่างก็คือ GW-9400 Rangeman หรือเจ้าแมวเหมียว ซึ่งสิ่งที่ต่างกันเวอร์ชันญี่ปุ่นจะมีแค่ตัวสายเป็นเรซินธรรมดากับมีใส้ในเป็นคาร์บอนไฟเบอร์
ในแง่ของฟังก์ชั่นเมื่อเปรียบเทียบกับโมดุล 2422 ของ GW-200 นั้นแตกต่างกันพอสมควร เช่น การตัดเรื่องการบันทึกข้อมูลและกรุ๊ปเลือดของเจ้าของ หรือการบันทึกจุดดำน้ำที่มีการล็อกมาให้ในโมดุลเลย และเพิ่ม Moonphase กับ Tide Graph มาให้ แต่ที่เหลือก็เหมือนกัน เช่นการบันทึก Log สำหรับดำน้ำได้ 10 Logs ซึ่งทำได้ทั้งแบบการดำครั้งเดียว หรือการดำแบบหลายครั้งในทริปเดียว การเซ็ตเวลาของการพักน้ำ ก่อนการดำครั้งต่อไป โดยการเข้าสู่โหมด Diving นั้นทำได้ด้วยการกดปุ่มในตำแหน่ง 8 นาฬิกา หรือปุ่ม Mode ค้างเอาไว้ 1-2 วินาทีก็จะตัดเข้าทันที และถ้าต้องการยกเลิกก็ทำแบบเดียวกัน…ซึ่งแน่นอนทั้งหมดนี้ผมแทบไม่ได้ใช้เลย นอกจากปุ่มกดจับเวลา ตอนต้มมาม่ากิน
ใครที่สนใจ GWF-1000 แน่นอนว่ายังหาได้สำหรับมือ 1 และดูเหมือนว่า GF-1000 ที่เป็นของใหม่ น่าจะหายากกว่าตามท้องตลาด โดยส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นธรรมดาดำ-แดง หรือรหัส 1DR/1JF ส่วนพวกรุ่นพิเศษอย่าง Burning Red หรือดำทองที่ผลิตออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ตอนนี้กลายเป็น Rare Item ไปแล้วเช่นเดียวกับรหัส BP ที่จะต้องมีราคา 30,000 บาทอัพ ทั้งที่เมื่อก่อนผมหามาได้แค่หมื่นต้นๆ เท่านั้นเอง และดันขายกินไปไม่ถึงหมื่น…น่าเสียดายชะมัด
ในแง่ของความคุ้มค่าในการใช้งาน คงต้องบอกว่าการจ่ายในระดับ 15,000-16,000 บาทเพื่อแลกกับ Frogman มันเป็นอะไรที่ไม่คุ้มค่าเท่าไรเลย นอกจากคุณจะมีงานอดิเรกเป็นนักดำน้ำ เพราะฟังก์ชั่นทั้งหมดเน้นไปที่การใช้งานตรงนั้น ส่วนที่เหลือก็จะเป็นฟังก์ชั่นที่คุณพบได้ใน G-Shock รุ่นหลักพันบาท ดังนั้น อย่าถามถึงเรื่องนี้ถ้าคิดที่จะซื้อ Casio G-Shock Frogman
ข้อมูลทางเทคนิค : Casio G-Shock Frogman GWF-1000-1JF
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 52.8 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 58.3 มิลลิเมตร
- ความหนา : 18 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก : 115 กรัม
- กระจก : Mineral Glass
- Module : 3814 สำหรับรุ่นมี Multiband6 GWF-1000 และ 3815 สำหรับรุ่นที่ไม่มีระบบ Multiband 6 หรือ GF-1000
- แบตเตอรี่ : ชาร์จผ่านพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Tough Solar
- ฟังก์ชั่น : Moonphase / Tide Graph / Worldtime / จับเวลาเดินหน้า / จับเวลาถอยหลัง / จับเวลาดำน้ำใน Diving Mode / การบันทึก Log ของการดำน้ำ
- ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : รูปทรง ขนาด ตำนาน และการเป็นที่สุดของ Master of G Series
- ไม่ประทับใจ : การหาช่องบนสายที่รัดกับข้อมือได้พอดี (เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล)
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/