อีกหนึ่งคอลเล็กชั่นที่น่าสนใจของ Casio G-Shock กับนาฬิกาที่เน้นสีสันที่มีความหลากหลายบนนาฬิกาที่อ้างอิงบนดีไซน์ของนาฬิกาในแบบ 3-Eye โดยมีทั้งรุ่น DW6900 และ GD120 โดยมีขายด้วยกัน 3 สี แต่ในตอนนี้เราเลือกมาแค่ 2 สีที่โดนใจมากที่สุดเท่านั้น
Casio G-Shock DW6900NC-7DR / GD120NC-2DR สีสันสะดุดตาบนข้อมือ
-
คอลเล็กชั่นใหม่ของ Casio G-Shock กับเวอร์ชัน No Comply
-
3 สีจาก 2 รุ่น คือ DW6900 และ GD120
-
เมืองไทยยังไม่มีเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการ อดใจรออีกหน่อย
ถ้าไม่นับพวกนาฬิกาที่เกิดมาเพื่อการใช้งานอย่างตระกูล Master of G ผมจำไม่ได้แล้วว่า ครั้งสุดท้ายที่นาฬิกาในกลุ่ม Standard Digital ของ G-Shock มีความสามารถทำให้กระเป๋าเงินผมสั่นในระดับ 7 ริกเตอร์จนแทบจะรีบวิ่งตัวปลิวออกจากบ้านไปโอนเงิน คือ เมื่อไร แต่ที่แน่ๆ มันไม่ใช่การเปิดตัว Hyper Color ของ GA110 ที่สร้างตำนานบทใหม่ให้กับ Casio G-Shock อย่างแน่นอน
อาจจะไม่มีหรือมีแต่นานจนจำไม่ได้แล้ว แต่ที่แน่ๆ คือ เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากเสิร์ชไปเสิร์ชมาแล้วเจอกับภาพของคอลเล็กชั่นใหม่ที่เรียกว่า No Comply ที่ใช้นาฬิกาตระกูล GA120 และ DW6900 ของ Casio G-Shock แล้ว สารภาพเลยว่าความรู้สึกข้างต้นมันกลับมาแล้ว และผมนี่นับถอยหลังรอวันเสียเงินกับเขาเลยทีเดียว จนในที่สุดก็สมใจ และตอนแรกทำท่าว่าจะกวาดหมด 3 เรือนในคอลเล็กชั่น แต่สุดท้ายก็ได้มาแค่ DW6900NC-7AR และ GD120NC-2DR ที่หายไปคือ GD120NC-4DR เรือนสีแดง
ผมไม่ใช่คนที่ชอบเล่นสเก็ตบอร์ด ดังนั้นคำว่า No Comply สำหรับผมมันแทบไม่มีความหมายอะไร แถมตัวเองยังเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคอลเล็กชั่นที่ไป x หรือ Collaboration กับแบรนด์ที่ไหน แต่สุดท้ายมันก็เป็น Collaboration จริงๆ แต่เป็นศิลปินชาวเยอรมันที่ชื่อ Thomas Marecki หรือที่รู้จักกันในชื่อ Marok และคำว่า No Comply คือ ท่าการเล่นแบบหนึ่งของสเก็ตช์บอร์ดที่ยอดนิยมในช่วงทศวรรษที่ 1980 และเป็นคำ Motto ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์ใดๆ เพื่อสื่อให้เห็นถึงความอิสระเสรี
แน่นอนว่า No Comply ไม่ได้มีผลอะไรต่อผม เพราะชื่อของทั้งศิลปินและคอนเซ็ปต์มันไม่ได้มีแรงดึงดูดมากพอที่จะทำให้ผมเกิดความสนใจ แต่เรื่องของรุ่นและสีต่างหากละ ที่ทำให้คอลเล็กชั่นนี้มีความโดดเด่นและน่าสนใจขึ้นมมา
ผมไม่ได้บอกว่ามันเป็นเรื่องของสีสันที่ฉูดฉาด หรือเด่นเตะตาแทบหลุดเหมือนกับพวก Man Box ที่เปิดตัวเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว แต่เป็นเรื่องของการเลือกจับคู่สีและการผสมผสานที่เกิดขึ้นบนตัวเรือนต่างหากที่ทำได้ดีมาก ยกตัวอย่างเช่น GD120NC-2DR ที่เลือกการใช้สีฟ้า-น้ำเงินจับคู่กับเหลือง ซึ่งเป็นคู่สีที่ตัดกันและทำให้ดูสวยสะดุดตาได้ไม่ยาก หรืออย่างอีกรุ่นคือ DW6900NC-7DR ก็สวยไม่แพ้กัน กับโทนสีขาว-ดำ-ส้ม
อีกสิ่งที่กลายเป็นเทรนด์ที่เราได้เห็นกันมาตั้งแต่ปีที่แล้วคือ การนำเสนอตัวสายแบบ Dual-Layer ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสายสั้นหรือสายยาว จะมากับโทนสีที่แตกต่างกันระหว่างด้านนอกและด้านในของตัวสาย และนาฬิกาหลายๆ รุ่นของ Casio G-Shock โดยฉพาะรุ่นที่เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่น มักจะมากับสายลักษณะนี้ ซึ่งนั่นก็รวมถึงนาฬิกกาในคอลเล็กชั่น No Comply เช่นเดียวกัน
แต่สิ่งที่ทำให้พิเศษเพิ่มเติมคือ มีการเล่นโทนสีและสีสันให้สวยขึ้นในแบบ 3 สี อย่างเช่นในรุ่น DW6900NC-7DR ตัวเรือนมากับสีขาว และตัวสายจะเป็นการเล่นสีระหว่างดำกับส้ม แต่สาย 2 ฝั่งจะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นสายสั้นด้านในจะเป็นสีส้มและด้านนอกจะเป็นสีดำ แต่ถ้าเป็นสายยาวก็จะสลับกัน ด้านนอกเป็นสีส้ม และด้านในเป็นสีดำ ส่วนรุ่น GD120 จะว่าไปแล้วก็เกือบๆ 3 สีเหมือนกันนะ ถ้าไม่คิดว่าฟ้ากับน้ำเงินเป็นโทนสีเดียวกัน เช่นเดียวกับ GD120NC-4 ซึ่งมากับโทนสีแดง เทา และเหลืองออกสีไขไก่ และถือเป็นครั้งแรกของ G-Shock ที่มากับการสร้างความสวยงามในสไตล์นี้
อีกสิ่งที่ทำให้คอลเล็กชั่น No Comply แตกต่างจากรุ่นพิเศษอื่นๆ คือ เวลากดไฟแล้วจะมีตัวหนังสือ No Comply ขึ้นมาซึ่งเป็นภาพที่ Marok สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยสไตล์ที่คล้ายกับตัวอักษรในสไตล์ Graffiti ที่เราเห็นตามกำแพงบนถนน ซึ่งดูสวย มีสไตล์ และแปลกตาดี
นอกจากนั้นอีกจุดที่ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างโอเค และโดนใจตัวเองกับคอลเล็กชั่นนี้คือ การใช้หน้าปัดแบบธรรมดา ไม่ใช่พวกหน้าจอเนกาทีฟ ซึ่งดูเวลายากมาก (สำหรับผม) และเมื่อรวมๆ กับการให้สีบนตัวเรือนและสาย ทำให้ภาพรวมที่ได้รับจากนาฬิกาคอลเล็กชั่นนี้ถือว่าสวยเด่นขึ้นมาทันที
ผมไม่รู้เรื่องหลักเกณฑ์ในการเลือกนาฬิกาเข้ามาอยู่ในคอลเล็กชั่นของ Casio สักเท่าไต แต่ดูเหมือนว่าในคอลเล็กชั่นนี้จะมากับพวก 3-Eye ซึ่งถือเป็นคอลเล็กชั่นยอดฮิตของ G-Shock และถือเป็นแนวทางการออกแบบหลักที่สามารถนำไปต่อยอดในการใช้กับรุ่นอื่นๆ เพราะนอกจากรุ่นที่สืบสายตรงอย่าง DW6900 แล้ว ก็มี GD120 นี่แหละที่ใช้ดีไซน์สไตล์นี้ และก็ทำออกมาได้ดีด้วย
ในเรื่องของฟังก์ชั่นการทำงานของโมดุลเรียกว่าไม่มีอะไรที่ใหม่หรือแตกต่างจากที่ควรจะเป็น เพราะฟังก์ชั่นพื้นฐานรวมอยู่ในโมดุลพวกนี้หมด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโมดุลในรหัส 3230 หรือ 3427 ของรุ่น GD120 สิ่งที่สัมผัสได้ก็จะเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างการจับเวลาเดินหน้า ถอยหลัง ตั้งปลุก 5 ครั้งต่อวัน หรือ World Time ยกเว้นรุ่น GD120 ที่มากับระบบ Auto EL พลิกข้อมือแล้วไฟส่องสว่างติดได้ และแบตเตอรี่ที่มีอายุยาวนาน 7 ปี
ในแง่ของขนาดตัวเรือนเมื่ออยู่บนข้อมือ ผมยอมรับว่าตอนนี้กำลังหลงเจ้า DW6900 เพราะนอกจากสไตล์และรูปแบบของนาฬิกาที่ดูคลาสสิคแล้ว ขนาดของตัวนาฬิกายังถือว่าอยู่ในระดับที่รองรับกับข้อมือไซส์ 7 นิ้วของผมได้อย่างลงตัว ขณะที่รุ่น GD120 ซึ่งดูแล้วมีพื้นฐานมาของตัวกรอบและสายมาจากนาฬิกาตระกูล GA110/GA100 นั้น อาจจะล้นไปสักนิด เพราะมากับไซส์ 51.2 มิลลิเมตรสำหรับเส้นผ่านศูนย์กลางและ 55 มิลลิเมตรสำหรับ Lug-to-Lug แต่ก็ไม่ถือว่ามีปัญหาแต่อย่างใด เพียงแต่ในแง่ความรู้สึกของความพอดีกับข้อมือ DW6900 ที่ตอบสนองตรงนี้ได้ดีกว่า…แต่ถึงกระนั้น สุดท้ายผมก็สอยมาคู่อยู่ดี
สำหรับคนที่สนใจตอนนี้เรายังไม่เห็นคอลเล็กชันนี้หลุดออกมาให้เห็นในเคาน์เตอร์ของ Casio อย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าคงจะเข้ามาอีกมาอีกไม่นานเกินรอครับ ตอนนี้ก็บิลด์อารมณ์พร้อมกับเก็บเงินรอกันไปพลางๆ ได้เลย
ข้อมูลทางเทคนิค Casio G-Shock DW6900NC-7DR / GD120NC-2DR
DW6900NC-7DR | GD120NC-2DR | |
เส้นผ่านศูนย์กลาง (มม.) | 50 | 51.2 |
Lug-to-Lug (มม.) | 53.2 | 55 |
ความหนา (มม.) | 16.3 | 17.4 |
กระจก | Mineral Glass | Mineral Glass |
โมดุล | 3230 | 3247 |
ระดับการกันน้ำ (ม.) | 200 | 200 |
อายุแบตเตอรี่ | 2 ปี | 7 ปี |
- ประทับใจ : สีสัน ขนาด และราคาที่ไม่แรงจนเกินไป
- ไม่ประทับใจ : ไม่มี
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/