Casio G-Shock DW-5900-1 กลับมาของความคลาสสิค

0

ตอนที่เห็นเจ้า DW-5900 รุ่นใหม่ครั้งแรก ผมตั้งเป้าเอาไว้แล้วว่าจะต้องสอยมันเข้ากรุให้ได้ และก็ไม่ผิดหวังกับทุกรายละเอียดที่อยู่บนนาฬิกาเรือนนี้ แถมราคาก็ยังสบายกระเป๋ากว่าที่คิด

Casio G-Shock DW-5900-1
นาฬิการุ่น DW-5900 ในความทรงจำผม

Casio G-Shock DW-5900-1 กลับมาของความคลาสสิค

  • การกลับมาของรุ่นคลาสสิค DW-5900

  • ใช้โมดุล 3465 ครบทุกฟังก์ชั่นตามแบบฉบับ G-Shock

  • ราคาป้าย 3,600 บาท

- Advertisement -

นาฬิการุ่น DW-5900 ในความทรงจำผม คงต้องย้อนกลับไปในฟุตบอลโลกปี 1994 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโน่นเลย บอกเลยว่าตอนที่เห็นเพื่อนมันเอามาใส่โชว์นั้น ถือว่าสวยสุดๆ และอิจฉาโคตรๆ แต่ด้วยที่ตอนนั้นยังไม่ได้เล่นนาฬิกาอะไรเป็นเรื่องเป็นราว และยังเพิ่งทำงานในอัตราเงินเดือนแค่หมื่นนิดๆ ก็เลยจำใจใส่ Tag Heuer F1 คู่ทุกข์คู่ยากต่อไป ดังนั้น เมื่อ Casio มีข่าวว่าจะ Re-Issue ด้วยการนำนาฬิการุ่นนี้กลับมาทำใหม่อีกรอบ ผมจึงไม่ยอมพลาดด้วยประการทั้งปวง และถึงกับเนื้อเต้นเมื่อ LINE ของร้านคู่ใจเด้งขึ้นมาพร้อมกับข้อความว่า ‘ของมาแล้วพี่’

ถ้าคุณสังเกตดูให้ดีจะพบว่าในช่วงปีนี้ที่เป็นการฉลองครบรอบ 35 ปีของ G-Shock ถ้าไม่นับตัวที่อยู่ในคอลเล็กชั่นฉลอง 35 ปีแล้ว ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเน้นไปที่การนำของเก่าในอดีตกลับมาทำใหม่ หรือไม่ก็เน้นไปที่พวกตระกูลเหลี่ยมอย่าง 5600 ที่มีออกมามากมายจนใครที่มาทางสายนี้แทบจะล้มละลายกันเลย

ต่อจาก 5700 Series คราวนี้มาถึง 5900 Series ที่ถือว่าเป็นนาฬิกาคลาสสิครุ่นหนึ่งของ G-Shock และยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบในตระกูล 3-Eye หรือแบบ 3 ตาที่มาโด่งดังเอาในภายหลังกับรุ่น DW-6900 โดยนาฬิกา 5900 Series เปิดตัวครั้งแรกในปี 1992 เด่นด้วยรูปทรงแบบแปดเปลี่ยม และการสร้างสีสันบนตัวเรือนด้วยการเลือกใช้สีสันแต่งแต้มบนฟอนท์ที่อยู่ตามจุดต่างๆ บนตัวเรือน เช่นเดียวกับพื้นสีของฟิล์มในวงจับเวลาทั้ง 3 ที่อยู่ครึ่งบนของหน้าปัด โดยที่ครึ่งล่างจะเป็นหน้าจอดิจิตอลสำหรับแสดงเวลาหลัก

นอกจากชื่อ 5900 แล้ว นาฬิการุ่นนี้ยังมีชื่อเล่นเหมือนกับนาฬิการุ่นอื่นๆ ของ G-Shock โดยแฟนบางกลุ่มเรียกมันว่า Walter เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะนาฬิการุ่นนี้ถูกใส่เข้าฉากในภาพยนตร์เรื่อง The Big Lebowski ที่เป็นภาพยนตร์ของ 2 พี่น้องตระกูล Coen ซึ่งออกฉายในปี 1998 และถือเป็นหนังดังเรื่องหนึ่งหลังจากที่พี่น้องคู่นี้ได้รับรางวัลออสการ์มาจากเรื่อง Fargo โดยเหตุที่เรียกว่า Walter ก็เพราะนาฬิกาเรือนนี้ถูกสวมโดยตัวละครที่ชื่อว่า Walter Sobshack ที่นำแสดงโดย John Goodman เจ้า 5900 ก็เลยได้ชื่อเล่นนี้นับจากนั้นเป็นต้นมา

ตอนที่รับของและเดินไปจ่ายเงินนั้น ผมค่อนข้างแปลกใจไม่น้อยที่เจ้า DW-5900 กลับมีราคาที่ไม่แรงอะไรมากมายเมื่อเปรียบเทียบกับ DW5700 ทั้งที่มีราคาป้ายในญี่ปุ่นเท่ากัน โดย DW-5900 มีราคาป้ายในไทยอยู่ที่ 3,600 บาท ขณะที่ DW-5700 ตั้งราคาเอาไว้ที่ 4,000 บาท โดยที่ทั้งคู่มีราคาป้ายในญี่ปุ่นเท่ากันที่ 11,000 เยน หักส่วนลดพิเศษจากร้านที่ผมได้ถือว่ารับได้ แบงค์พัน 3 ใบยังเหลือเอาไว้กินราเมงได้อีกชาม

ผมเลือกรุ่น DW-5900-1 ด้วยเหตุผล 3-4 ข้อ อย่างแรกคือ ต้องการความคลาสสิคแบบที่ยังมีกลิ่นอายของรุ่นดั้งเดิมที่เปิดตัวเมื่อปี 1992 ประการต่อมาคือ สีสันของฟอนต์ที่อยู่บนขอบตัวเรือน ข้อต่อมาคือ การใช้สีพื้นบนหน้าจอของวงย่อยทั้ง 3 ถือเป็นไฮไลท์ที่สะดุดตาสำหรับนาฬิกาเรือนนี้เลยก็ว่าได้ และข้อสุดท้ายคือ มันไม่ได้ใช้หน้าจอแบบเนกาทิฟ ที่ทำให้คนอายุเยอะอย่างผมดูเวลาได้ลำบาก

จากสเป็กของมิติตัวเรือนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 46.8 มิลลิเมตรและมี Lug-to-Lug ยาวถึง 51.4 มิลลิเมตร ผมถือว่าไซส์นี้ลงตัวและเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เรียกว่าเป็นไซส์ Unisex ที่ผู้ชายใส่ได้ผู้หญิงใส่ดี แม้ว่าวันที่ไปรับเจ้า DW-5900 กลับบ้านนั้นผมคาด G-Steel อยู่บนข้อมือที่มีขนาดใหญ่กว่า และหลังจากที่ได้ลองเอามาคาดข้อมือตัวเอง ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเล็กสักเท่าไรในแง่ความรู้สึก ดูแล้วลงตัวกว่าเจ้าตัวกลมอย่าง DW-5700 เสียอีก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะได้ความหนาของตัวเรือนเข้ามาช่วยด้วย โดยอยู่ในระดับ 15.5 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าหนากว่าทั้ง DW-5700 และ DW-5600

Casio จัดการลอกแบบทั้งงานดีไซน์ดั้งเดิมทั้งในรูปแบบและรายละเอียดอื่นๆ มาแบบครบครัน จนเรียกว่าถอดแบบกันมาเลย ทั้งสีสันของฟอนต์บนขอบตัวเรือน ตัวอักษรต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามจุดบนหน้าปัด ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าเยอะเกิน แต่ผมกลับชอบนะ ดูแล้วลงตัว เช่นเดียวกับพื้นหน้าปัดตรงขอบ 3 วงด้านบนที่มีการแกะลายเป็นลักษณะคล้ายกับ Waffle และก็อย่างที่บอกข้างต้นว่าเจ้าตัวอักษรเหล่านี้แหละคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผมเลือกรุ่นมาตรฐาน DW-5900-1 แทนที่จะเป็นตัวดำล้วนอย่าง DW-5900BB-1 ซึ่งส่วนตัวผมว่ามันโล่งไปหน่อย

สำหรับเจ้า 3 วงข้างบน เชื่อว่าคนที่ผ่านการคาดเจ้า DW-6900 มาแล้วคงไม่สงสัยในการทำงานสักเท่าไร โดยวงซ้ายและขวาเวลาที่อยู่ในโหมดปกติแล้วจะเป็นตัวบอกวินาทีในการเดินของนาฬิกา โดยจะนับทีละ 1 วินาทีวนกันไป โดยใน 1 วงจะมีทั้งหมด 5 วินาที และเมื่ออยู่ในโหมดจับเวลาก็จะวิ่งวนตามเข็มวินาที แต่จะเปลี่ยนทิศทางเป็นทวนเข็มวินาทีเมื่ออยู่ในโหมดนับถอยหลัง ขณะที่วงตรงกลางจะเป็นการบอกการทำงานของฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น ตั้งปลุก เปิด-ปิดเสียงเวลากดปุ่ม ฯลฯ

โมดุลที่ถูกนำมาใช้ใน DW-5900 เป็นรหัส 3465 ไม่มีฟังก์ชั่นอะไรพิเศษ เหมือนกับอีกหลายโมดุลของ G-Shock คือ จับเวลา นับถอยหลัง ตั้งปลุกได้ 5 ครั้งต่อวัน ตั้งปลุกซ้ำ และแสดงเวลาได้ 48 เมืองจาก 31 โซนเวลาทั่วโลก โดยแถมพ่วงมากับอายุของแบตเตอรี่ในระดับ 5 ปี ส่วนใครที่กดไฟบนหน้าปัดแล้วมีเสียงหึ่งๆ พร้อมกังวลใจว่าผิดปกติหรือเปล่านั้น ในคู่มือของโมดุลนี้ก็มีการบอกเอาไว้เหมือนกันว่าการใช้การแสดงไฟแบบ EL (Electro-Luminescent) Blacklight นั้นอาจจะมีเสียงนิดหน่อยอันเป็นผลมาจากการสั่นของแผง EL ที่ถูกกด ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ยังสามารถตั้งเวลาในการส่องสว่างว่าจะให้อยู่ในระดับ 1.5 วินาที หรือ 3 วินาทีได้อีกด้วย โดยกดปุ่ม Adjust ค้างเอาไว้จนไฟวินาทรกระพริบ จากนั้นให้กดปุ่ม Light เพื่อเลือกระดับความสว่าง โดยสังเกตที่เครื่องหมายที่อยู่ด้านบนหน้าจอ ถ้าเป็น 1.5 วินาทีจะมีมีมาร์คเกอร์ทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดขนาดเล็กปรากฏอยู่ แต่ถ้าเป็น 3 วินาทีเครื่องหมายนี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อเซ็ตได้แล้วก็กดปุ่ม Adjust ออกเป็นอันจบพิธี

ส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างพอใจกับเจ้า DW-5900-1 นอกจากจะมี Story ให้พูดถึงเวลาที่ใครถามแล้ว หน้าตาและราคาของมันยังถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ ไม่แพงจนเกินไป รวมถึงขนาดที่ลงตัวไม่ดูเล็กจนเกินไปเมื่ออยู่บนข้อมือระดับ 7 นิ้วของผม แต่ถ้าใครที่มีขนาดข้อมือใหญ่กว่านี้ แนะนำไปให้ลองทาบดูตัวจริงจะดีกว่าครับ

ข้อมูลทางเทคนิค : Casio G-Shock DW-5900-1

  • รหัสโมดุล : 3465
  • เส้นผ่านศูนย์กลางตัวเรือน : 46.8 มิลลิเมตร
  • Lug-to-Lug : 51.4 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 15.5 มิลลิเมตร
  • ตัวเรือน/สาย : เรซิน
  • ฟังก์ชั่น : จับเวลา นับถอยหลัง ตั้งปลุกได้ 5 ครั้งต่อวัน ตั้งปลุกซ้ำ และแสดงเวลาได้ 48 เมืองจาก 31 โซนเวลา
  • ความเที่ยงตรง : +/-15 วินาทีต่อเดือน
  • ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
  • อายุแบตเตอรี่ : 5 ปี
  • ประทับใจ : ดีไซน์ การใช้สีสัน ขนาดที่พอเหมาะ
  • ไม่ประทับใจ : NA