Casio G-Shock DW5750E-1B ลองแล้ว ไม่เล็กอย่างที่คิด

0

หลังจากที่ DW5750 Series ทำตลาดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2007 ในตอนนี้ Casio  ปัดฝุ่นเอา G-Shock ซีรีส์นี้กลับมาสู่ตลาดอีกครั้งพร้อมดีเทลและรายละเอียดที่ถอดแบบมาจากตัววินเทจดั้งเดิมที่ผลิตขายครั้งแรกในปี 1987 และมีทำตลาดด้วยกัน 2  รุ่น คือ DW5750E-1D และ DW5750E-1B

Casio G-Shock DW5750E-1B ลองแล้ว ไม่เล็กอย่างที่คิด
Casio G-Shock DW5750E-1B ลองแล้ว ไม่เล็กอย่างที่คิด

Casio G-Shock DW5750E-1B  ลองแล้ว ไม่เล็กอย่างที่คิด

  • การกลับมาของนาฬิกาซีรีส์หน้าปัดกลม 5750 ครั้งแรกนับจากปี 2007
  • ใช้โมดุล 3299 ร่วมกับรุ่น DW5600
  • เปิดตัว 2 รุ่นราคาเท่ากันที่ 4,000 บาท
- Advertisement -

นาฬิกาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางในระดับ 45.4 มิลลิเมตรแล้วคุณกลับมีความรู้สึกว่าขนาดมันดูเล็กไปหน่อย ผมกำลังจะบอกว่าความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้แค่แบรนด์เดียวเท่านั้นในโลก นั่นคือ Casio G-Shock เพราะผมเชื่อว่าเราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกับการใส่นาฬิกาแบรนด์นี้ที่มีตัวเลขทั้งเส้นผ่านศูนย์กลางและ Lug-to-Lug เกิน 50 มิลลิเมตรกันซะมากกว่า ดังนั้น ตอนที่กางสเป็กเพื่อดูการกลับมาของซีรีส์วินเทจอย่าง DW5750 แล้วพบว่า ตัวเลขของ 2 เรื่องนี้ต่ำกว่า 50 มิลลิเมตรทั้งคู่นั้น คำถามที่เกิดขึ้นในหัวผมทันทีคือ  มันจะเล็กไปไหมเนี่ย ?

อย่างไรก็ตาม เมื่อมายืนเกาะตู้อยู่ที่ห้างอันคุ้นเคยแถวๆ บางกะปิ ประเด็นที่ผมกังวลในตอนแรกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาเป็นหัวข้อที่ว่า ‘จะซื้อรุ่น DW5750E-1D หรือ DW5750E-1B ดี?’…บางครั้งแค่ดูสเป็กอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมาลองของจริงด้วย

เอาเป็นว่า 2 รุ่นนี้ผมเสียเวลาในการตัดสินใจร่วมครึ่งชั่วโมง และถามกับคนขายแบบย้ำแล้วย้ำอีก ยังดีที่ซื้อกับเขาบ่อยและมียอดสะสมทั้งปีถึงขนาดเป็นลูกค้า V.I.P. ไม่อย่างนั้นคงโดนเตะโด่งออกมาจากร้านแล้ว

ประเด็นคือผมชอบความวินเทจของการใช้สีและการออกแบบในสไตล์ย้อนยุคของ DW5750E-1D แต่ติดตรงที่ว่าเมื่อคาดอยู่บนข้อมือแล้ว ความรู้สึกที่ชอบหรือนาฬิกายิ้มให้กลับไม่มีเหมือนกับเวลาที่ DW5750E-1B อยู่บนข้อมือ แถมงบประมาณที่จะใช้จ่ายในครั้งนี้เม้มมาได้เพียงแค่เรือนเดียวเท่านั้น ก็เลยต้องคิดกันนานหน่อย

ผมอาจจะไม่ใช่คลังข้อมูลเคลื่อนที่ของ G-Shock สักเท่าไร แต่เท่าที่ลองเสิร์ชหาดูและเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้นั้น DW5750 เป็นการกลับมาโดยอ้างอิงดีไซน์และสไตล์ของ DW5700 โดยถือเป็นนาฬิกา G-Shock รุ่นที่ 2 ซึ่งใช้หน้าปัดแบบกลม (รุ่นแรกคือ DW5400 ที่เปิดตัวในปี 1985)

ที่ผ่านมานับจากปี 1987 ที่เริ่มทำตลาด นาฬิการุ่นนี้มักจะมีคอลเล็กชั่นใหม่ๆ ออกมาวางขายอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงเวลาของการฉลอง 25 ปีของ G-Shock และเมื่อพวกเขาเปิดตัวคอลเล็กชั่น Rising White ออกมาในปี 2007 DW5725B-7 คือรุ่นสุดท้ายของนาฬิกาซีรีส์นี้ที่ถูกผลิตขายในตลาด และแทบจะถูกลืมเลือนไป จนกระทั่งในช่วงเวลาของการครบรอบ 35 ปี G-Shock ก็ปัดฝุ่นนำกลับมาผลิตขายใหม่อีกครั้ง ด้วย 2 ทางเลือก คือ หน้าตาวินเทจที่เน้นสีสันและรูปแบบเหมือนกับตัวดั้งเดิมอย่างรุ่น DW5750E-1D และทางเลือกใหม่แบบเข้มดำสนิทสุดสวยอย่าง DW5750E-1B

สำหรับคนที่คิดจะซื้อ DW5750 ซีรีส์แล้วมานั่งมองหาว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง คงต้องบอกว่าให้ลืมๆ มันไปเสียเถอะ เพราะการ Re-Issue ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของฟังก์ชั่น แต่เป็นการย้ำเตือนความคลาสสิคของ G-Shock รุ่นเก่าๆ ที่เราเคยสวมใส่สมัยนุ่งขาสั้นและหัวเกรียน อีกทั้งเมื่อกางสเป็กดูแล้วพบว่ามันใช้โมดุล 3229 ด้วยแล้ว…บอกได้เลยว่าจบข่าว

เพราะนี่คือโมดุลสำหรับนาฬิการุ่นเบสิกสุดของ Casio G-Shock และถูกใช้อยู่ในรุ่น DW5600 โดยโมดุลนี้เคยถูกดัดแปลงมาแล้วจากรุ่น 1545 ด้วยการเพิ่มระยะเวลาของปฏิทินในเครื่องจากเดิมอยู่ที่ปี 2039 มาเป็น 2099 ดังนั้น จึงมั่นใจ ว่าสามารถใช้กันยาวแน่นอน ดีไม่ดีคนใส่กลับบ้านเก่าก่อนนาฬิกาเสียอีก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นตรงนี้ผมโคตรละหงุดหงิดเลยในแง่ของความชัดเจนในด้านข้อมูล เพราะเมื่อเสิร์ชดูในเว็บของ Casio ทั้งในไทยและต่างประเทศ ก็ระบุว่ามันคือ 2039 แต่เมื่อผม Download PDF  ของคู่มือโมดุล 3229 มานั่งอ่านดู รวมถึงเช็คในแมนแนวลมที่แถมมาในกล่อง ปรากฏว่ามันเป็น 2099…สุดท้ายแล้วจะเชื่อใครได้ละเนี่ย แต่เอาเป็นว่าผมลองเทสต์แล้ว ปฏิทินของตัวนาฬิกาน่าจะเริ่มจากปี 2000-2099 ตามที่ระบุในคู่มือ

ส่วนฟังก์ชั่นก็เบสิกสุดๆ ตรามแบบฉบับรุ่นพื้นฐานของ G-Shock คือ จับเวลา 1/100 วินาที และจับเวลาถอยหลังได้ตั้งแต่ 1 วินาทีจนถึง 24 ชั่วโมง ตั้งปลุก ซึ่งเทพตรงนี้สามารถเซ็ตปลุกได้ทั้งแบบทุกวันในเวลาที่ระบุ แบบเจาะจงวันในเวลาที่ระบุ หรือแบบล่วงหน้าได้เป็นเดือนในแบบระบุวันและเวลา หรือแบบวันและเวลานั้นๆ ของทุกเดือน (ซึ่งยังมองไม่เห็นประโยชน์ระยะยาวของมันเลย)

นอกจากนั้น ยังมีฟังกชั่น Backlight Function ซึ่งหลายคนสงสัยมากเลยว่ามันคืออะไร ซึ่งตรงนี้คือ ระบบแจ้งเตือนด้วยไฟกระพริบเวลาที่อะไรสักอย่างที่ถูกเซ็ตเอาไว้สัมฤทธิ์ผล เช่น เมื่อนับถอยหลังจนครบเวลาที่เซ็ตเอาไว้ หรือตอนที่ปลุกตามเวลาที่กำหนด โดยการแจ้งเตือนนอกจากจะมีเสียงและตัวไฟส่องสว่างก็จะกระพริบเตือนด้วย โดยตรงนี้คุณสามารถเซ็ตได้ด้วยการกดปุ่มตรงตำแหน่ง 2 นาฬิกาค้างเอาไว้ 2 วินาทีจนมีเสียงดัง ‘ปิ๊บ’ จากนั้นก็จะเห็นสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมที่มีวงกลมอยู่ในข้างในปรากฏขึ้นเหนือตัวเลขแสดงเวลาในหน่วยวินาที เท่านี้ก็เป็นอันจบ

Casio G-Shock DW5750E-1B ลองแล้ว ไม่เล็กอย่างที่คิด
Casio G-Shock DW5750E-1B ลองแล้ว ไม่เล็กอย่างที่คิด

มาที่เรืองของตัวเรือนและเสน่ห์ในการดึงดูดให้เสียเงินกันบ้าง อยางที่บอกว่าที่ผ่านมาผมใส่แต่ G-Shock เรือนใหญ่ แถมตอนที่ไปซื้อก็ดัดสวมนาฬิกาไซส์ 50 มิลลิเมตรไปด้วย ดังนั้น อารมณ์ตอนลองทาบ DW5750 เป็นครั้งแรกก็เลยหงุดหงิดเล็กน้อยในเรื่องขนาด เพราะรอยต่อในเรื่องของอารมณ์ที่มีต่อขนาดมันต่างกันจนเกินไป  ถ้าเป็นไปได้ ผมแนะนำว่า ตอนที่จะไปซื้อ ให้สวมนาฬิกาเรือนธรรมดา ไซส์ 42-44 มิลลิเมตรไป อาจจะไม่รู้สึกถึงขนาดที่แตกต่างกันมากก็ได้ ขณะที่ตัวสายซึ่งคาดว่าก็น่าจะใช้ร่วมกับพวกนาฬิกาตระกูล DW5600 รุ่นมาตรฐาน ที่มีการเจาะรูบนส่วนหัวของสายที่มีการเซาะร่องเป็น 3 แถว ดูเข้ากันเป็นอย่างดี

ผมเสียเวลากับตรงนี้ 10 นาทีในการปรับอารมณ์ให้เป็นปกติ ซึ่งมันก็ไปได้นะ เพราะหลังจากนั้น ผมกลับไม่รู้สึกถึงขนาดที่เล็ก (ในฐานะที่เป็นนาฬิกา G-Shock) ของ DW5750 เลย กลับรู้สึกโอเคขึ้นด้วยซ้ำ เพราะส่วนประกอบอื่น เช่น Lug-to-Lug ในขนาด 48.9 มิลลิเมตร และความหนาในระดับ 13.4 มิลลิเมตร มีส่วนช่วยเติมเต็มความรู้สึกตรงนี้ได้เป็นอย่างดี แถมน้ำหนักก็เบา ใส่สบาย

จากเดิมที่ผมไม่ค่อยชอบ G-Shock รุ่นเบสิกเท่าไร หลังจากที่ขลุกอยู่กับเจ้านี่ 2 วัน ไม่น่าเชื่อว่า DW5750 จะเปลี่ยนใจผมได้ ความลงตัวในเรื่องขนาด และรูปทรงที่ดูแล้วแปลกแตกต่างจากรุ่นทั่วไปที่เราไม่ได้เห็น G-Shock ทรงนี้มานานร่วม 10 ปีนั้น ทำเอาผมต้องคาด DW5750 อยู่บนข้อมือนานติดต่อกันถึง 4 วัน ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ที่ยังไม่มีเรือนไหนทำได้เลยนับตั้งแต่ผมเริ่มเล่นนาฬิกาอย่างจริงจังเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะสถิติเดิมที่ผมใส่ซ้ำกันสูงสุดก็แค่ 3 วันเท่านั้น อันนี้ไม่นับตอนเดินทางไปไหนมาไหนนะ

เอาละชมกันมาเยอะแล้ว คราวนี้มาดูสิ่งมี่ผมคิดว่าไม่ค่อยโอเคเท่าไรในเรื่องการใช้งาน อย่างแรกคือ หน้าจอที่อยู่ลึกและมีตัวบอดี้นูนสูงขึ้นมาเป็นตัวกระแทกตามสไตล์ G-Shock นั้น กลับหลายเป็นหลุมดักฝุ่นและสิ่งสกปรกไปซะอย่างนั้น รุ่นอื่นก็เป็นบ้าง แต่ทำไมไม่รู้ว่า DW5750 ถึงกลับสร้างความรำคาญให้กับผมมาก ถ้าให้เดาอาจจะเป็นเพราะหน้าจอที่เล็ก และหลุมตรงนี้มีความลึกกว่านาฬิการ่วมโมดุลอย่างพวก เมื่อหน้าจอแคบและหลุมลึก มันก็เลยเก็บฝุ่นได้ดี ผมคิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นนะ

อย่างที่ 2 คือ เรื่องของราคา เพราะตามราคาป้ายตั้งเอาไว้ที่ 4,000 บาทถ้วน ในขณะที่ตัวนาฬิกาถือว่าเป็น Standard Analogue และ Digital ของ G-Shock ราคาตั้งกลับแพงกว่า DW5600 ที่มีพื้นฐานเดียวกันประมาณ 700 บาท เอาเป็นว่าราคาส่วนลดที่ผมได้จากตัวแทนจำหน่ายเท่ากับราคาป้ายที่ยังไม่หักส่วนลดของ DW5600 รุ่นมาตรฐาน เลย ตรงนี้ก็เลยแค่รู้สึกว่าค่าความเป็นวินเทจและการคัมแบ็คของมันมีตัวเลขสูงไปหน่อยเท่านั้นเองเมื่อเปรียบเทียบกับสเป็กที่ได้มา

ส่วนที่เหลือผมไม่ติดขัดอะไรนะ และสุดท้ายมันก็ไม่เล็กอย่างที่คิด

Casio G-Shock DW5750E-1B ลองแล้ว ไม่เล็กอย่างที่คิด
Casio G-Shock DW5750E-1B ลองแล้ว ไม่เล็กอย่างที่คิด

รายละเอียดทางเทคนิค : Casio DW5750E-1B

เส้นผ่านศูนย์กลาง      45.4 มิลลิเมตร

Lug-to-Lug           48.9 มิลลิเมตร

ความหนา              13.4 มิลลิเมตร

น้ำหนัก                   53 กรัม

ตัวเรือนและสาย    เรซิน

กระจก    Mineral

โมดุล      3299

ฟังก์ชั่น   จับเวลาเดินหน้า 1/100 วินาที / จับเวลาถอยหลัง 1 วินาทีถึง 24 ชั่วโมง / ตั้งปลุก

ระดับการกันน้ำ 200 เมตร

  • ประทับใจ                ดีไซน์ รูปทรง น้ำหนัก
  • ไม่ประทับใจ           ราคาที่ดูสูงไปหน่อยเมื่อดูจากสเป็ก และการกักฝุ่นบนหน้าปัด