Cartier เปิดตัว Women’s Pavilion ใน Expo 2025

0

ในงาน Expo 2025 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม 2025 ที่โอซาก้า คันไซ ญี่ปุ่น ทาง Cartier ประกาศเปิดตัว Women’s Pavilion ภายใต้ความร่วมมือกับทีมจัดงาน World Expo 2025 และรัฐบาลญี่ปุ่น ร่วมด้วย กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

- Advertisement -

Cartier Women’s Pavilion Expo 2025

Cartier เปิดตัว Women’s Pavilion ใน Expo 2025

ขณะที่คนทั้งโลกกำลังร่วมฉลองให้กับวันสตรีสากล Cartier ประกาศเปิดตัว Women’s Pavilion ในงาน Expo 2025 ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม 2025 ที่โอซาก้า คันไซ ญี่ปุ่น ด้วยความภาคภูมิใจ

ภายใต้ความร่วมมือกับทีมจัดงาน World Expo 2025 และรัฐบาลญี่ปุ่น ร่วมด้วย กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ในฐานะเครื่องหมายของการเดินหน้าเฉลิมฉลองให้กับผู้มีวิสัยทัศน์ที่กำลังสร้างสรรค์อนาคต และยกย่องเชิดชูบทบาทที่สำคัญยิ่งของผู้หญิงในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของโลก ส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาค และชี้แนะแนวทางแก่คนรุ่นใหม่

Cartier Women’s Pavilion Expo 2025

สำหรับ Cartier ผู้หญิงคือที่มาของแรงบันดาลใจอันไม่สิ้นสุด ทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญของความคิดสร้างสรรค์และค่านิยมของเมซงมาโดยตลอด ด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อผู้หญิงก้าวไปข้างหน้า มนุษยชาติก็ก้าวไปข้างหน้าเช่นกัน Cartier

จึงสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มุ่งมั่นอุทิศตนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยความกระตือรือร้นที่จะทำงานร่วมกัน และลงมือแก้ปัญหาที่เร่งด่วนท้าทายเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ความมุ่งมั่นอย่างไม่สั่นคลอนนี้คือหัวใจหลักของ Women’s Pavilion ซึ่งทำหน้าที่เป็นเวทีระดับโลกในการส่งเสริมให้เกิดบทสนทนา นวัตกรรม และการลงมือปฏิบัติร่วมกัน

Cartier Women’s Pavilion Expo 2025

หัวใจหลักของ Women’s Pavilion คือ คำประกาศที่ทรงพลัง เรียกร้องขอโลกที่สดใสกว่าเดิม โลกที่ทุกคนได้อยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคกลมเกลียว โดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพอย่างแท้จริง โลกที่ความเคารพซึ่งกันและกันเติบโตเบ่งบาน และทุกคนมีโอกาสที่จะบรรลุศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง

“Women’s Pavilion เชิดชูผู้หญิงทุกคน รวมทั้งบทบาทที่ผู้หญิงสามารถทำได้ ร่วมกับคนอื่นๆ ที่มุ่งมั่น เพื่อสร้างสรรค์อนาคตของพวกเราทุกคน” Cyrille Vigneron (ซีริลล์ วิญเญอรอง) ประธานกรรมการ Cartier Culture & Philanthropy กล่าว “บนเวทีสุดพิเศษแห่งนี้ Cartier และ Expo 2025 ณ โอซาก้า ขอเชิญผู้เยี่ยมชมงานทุกคนมาร่วมการเดินทางที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเสมอภาค ทั้งในระดับบุคคลและด้วยการลงมือปฏิบัติร่วมกัน”

จาก Expo 2020 ณ ดูไบ มาสู่ Expo 2025 ณ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น Women’s Pavilion ยังคงเดินหน้าสืบสานพันธกิจในการสร้างมรดกที่ยั่งยืน โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากประชาคมต่างๆ ทั่วโลก ถอดภูมิปัญญาแห่งมนุษยชาติ และแสดงพลังอำนาจของการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างอนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืนกว่าเดิม เป็นอนาคตที่สะท้อนคนทุกรุ่น

เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักของ World Expo ครั้งนี้ Women’s Pavilion ยึดคำขวัญ “อยู่ร่วมกัน ออกแบบร่วมกัน เพื่ออนาคต” (Living Together, Designing Together, For the Future) เพื่อเฉลิมฉลองพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและศักยภาพของผู้หญิงในการกำหนดวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม

หัวใจของวิสัยทัศน์ดังกล่าว คือ แนวคิดที่ว่า “การอยู่ร่วมกัน” (“ともに生き Living Together”) ที่ขยายขอบเขตออกไปไกลกว่าเรื่องเพศสภาพ เพื่อที่จะสำรวจความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนระหว่างการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล (symbiosis) กับความยั่งยืน (sustainability) สะท้อนให้เห็นว่าสังคม ภูมิภาค หรือบุคคล สามารถเข้ามารับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับโลกใบนี้ได้

และเพื่อให้สอดคล้องกับอีกหนึ่งแนวคิดสำคัญของ World Expo 2025 ซึ่งคือ “การออกแบบร่วมกัน” (“ともに輝く Designing Together”) Women’s Pavilion จินตนาการถึงอนาคตที่ทุกชีวิตรวมกันเป็นหนึ่งอย่างกลมเกลียว เพื่อบรรลุศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และมุ่งสร้างรากฐานให้กับวันพรุ่งนี้ที่เท่าเทียมกว่าวันนี้ ด้วยการสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันและการสร้างนวัตกรรม

เมื่อมองไปข้างหน้า แนวคิด “เพื่ออนาคต” (“未来へ〜 For the Future”) ตอกย้ำบทบาทของ Women’s Pavilion ในฐานะเวทีแลกเปลี่ยนความคิดที่ก้าวหน้า โดยไม่เพียงแต่จะเชิดชูความสำเร็จของโครงการที่ผ่านมา แต่ยังส่งเสริมสนับสนุนความหวังและความตั้งใจใหม่ๆ ที่ยังไม่บรรลุผล เพื่อสร้างมรดกไว้สำหรับการพัฒนาต่อยอดอนาคตต่อไป

“เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก ที่ได้เป็นผู้ดูแล Women’s Pavilion อันเป็นเป็นความร่วมมือของ Cartier ณ Expo 2025 ในโอซาก้า คันไซ ต่อเนื่องจากความร่วมมือก่อนหน้านี้ Expo 2020 ณ ดูไบ คำถามคือ เราจะสามารถทำอะไรได้อีก เพื่อก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศ ดิฉันหวังว่า Women’s Pavilion ที่เรานำเสนอจะช่วยจุดประกายให้ผู้เข้าชมได้ตระหนักถึง ได้ร่วมรู้สึก และนำไปสู่การร่วมกันลงมือปฏิบัติ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้น” June Miyachi (จูน มิยาชิ) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Cartier ประเทศญี่ปุ่น กล่าว

ด้านหน้าของ Women’s Pavilion ได้รับการออกแบบจากสถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น Yuko Nagayama (ยูโกะ นากายามะ) โดยได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะการต่อไม้แบบไม่ใช้ตะปูของญี่ปุ่น หรือ Kumiko (คุมิโกะ) มีนัยเชิงสัญลักษณ์หมายถึงความเชื่อมโยงระหว่างจารีตประเพณีกับความทันสมัย โดยสิ่งก่อสร้างเปี่ยมเอกลักษณ์นี้ได้เปิดตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในงาน World Expo 2020 ที่ดูไบ และได้รับการดัดแปลงเพื่อใช้ที่โอซาก้าอีกครั้ง เน้นย้ำความมุ่งมั่นที่ Cartier มีต่อความยั่งยืนและงานฝีมือมาอย่างยาวนาน และยังสะท้อนวิสัยทัศน์ของคุณ Nagayama ที่ให้ความสำคัญต่อวัฏจักรที่ผูกพันกันของธรรมชาติ มนุษย์ และทรัพยากร ต้นไม้ที่อยู่รอบๆ พาวิลเลี่ยนมาจากพื้นที่ท้องถิ่น และจะกลับคืนสู่ขุนเขาของโอซาก้าเมื่องานเอ็กซ์โปสิ้นสุดลง โดยต้นไม้เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แทนวัฏจักรการเกิดใหม่ของธรรมชาติ

Cartier Women’s Pavilion Expo 2025

นอกจากนี้ Women’s Pavilion ยังผสานลวดลายเรขาคณิตและองค์ประกอบทางธรรมชาติเข้าด้วยกัน ด้วยแรงบันดาลใจจากหลักสถาปัตยกรรมเรือนแถวแบบดั้งเดิมหรือ Machiya (มาชิยะ) สร้างพื้นที่ที่สอดคล้องกับการทำงานร่วมกันและการแลกเปลี่ยนที่มีความหมายเมื่อผู้เข้าชมงานเข้ามาภายใน Women’s Pavilion ก็จะได้ดื่มด่ำกับการเดินทางสุดพิเศษ ที่ศิลปินชื่อดัง Es Devlin (เอส เดฟลิน) ผู้เป็น Global Artistic Lead ของพาวิเลียน ทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์

Es Devlin ผู้มีแนวทางเปี่ยมวิสัยทัศน์ มองว่างาน World Expo “เป็นที่รวมของเครื่องดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยแต่ละพาวิเลียนทำหน้าที่เสมือนเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้น ที่สื่อสารข้อความของตนออกไปในวงกว้างตลอดระยะเวลา 6 เดือนในงานระดับโลกครั้งนี้”

Cartier Women’s Pavilion Expo 2025 Cartier Women’s Pavilion Expo 2025

ด้วยจิตวิญญาณดังกล่าว Women’s Pavilion มุ่งที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนมุมมองอย่างลึกซึ้งในด้านความเสมอภาคทางเพศสภาพ ด้วยการพาผู้เยี่ยมชมเข้าไปสัมผัสเรื่องราวส่วนบุคคลหลายๆ เรื่องอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันให้เกิดการสะท้อนคิด และเชื่อมโยงประสบการณ์เข้ากับประเด็นอันเป็นสากลในที่สุด นิทรรศการนี้เชิญชวนให้ผู้เข้าชมลงชื่อของตนเองเพื่อให้อัตลักษณ์ของผู้เยี่ยมชมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่กำลังบอกเล่า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพลังของชื่อ ที่เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางทั้งในระดับบุคคลและระดับสากล

Women’s Pavilion เปลี่ยนผู้เข้าชมแต่ละกลุ่มให้เป็นคอมมูนิตีสำหรับการซักซ้อม (rehearsal community) ซึ่งสะท้อนถึงการทำงานศิลปะของ Es Devlin ที่มีวิวัฒนาการไม่เคยหยุดนิ่ง โดยมุ่งที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายและมุมมองใหม่ผ่านการพบปะแบบมีส่วนร่วมดังกล่าว ควบคู่ไปกับการชูประเด็นวิกฤติภูมิอากาศและอารยธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน ประสบการณ์ที่ดื่มด่ำนี้เป็นสะพานเชื่อมการมีส่วนร่วมของบุคคลกับการเรียกร้องให้ลงมือปฏิบัติร่วมกัน และเป็นการสื่อสารข้อความของ Women’s Pavilion ให้กว้างไกลออกไปเหนือขอบเขตทางกายภาพและทางเวลาจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือนี้สะท้อนให้เห็นผ่านประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมของ Women’s Pavilion นำเสนอผ่านกลุ่มศิลปินที่มีความโดดเด่น ได้แก่ Naomi Kawase (นาโอมิ คาวาเสะ) นักสร้างภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่น ที่นำความเชี่ยวชาญในฐานะผู้กำกับการแสดงมารังสรรค์ภาพยนตร์เบิกโรงให้กับ Women’s Pavilion พร้อมกันนั้นนักแสดง ผู้กำกับ และศิลปินชาวฝรั่งเศส Mélanie Laurent (เมลานี โลรองต์) ได้เสริมพลังให้แก่ผู้หญิง ผ่านภาพวาดบุคคล (พอร์ตเทรต) งานประติมากรรม ซาวด์สเคป (soundscape) และการจำลองเสมือนจริง (virtual reality) ที่สร้างอารมณ์และบรรยากาศได้เป็นอย่างดี พร้อม Hiro Chiba (ฮิโระ ชิบะ) ที่มารังสรรค์ภาพพอร์เทรตคลอโรกราฟที่ก้าวล้ำ ร่วมกับ Laurent  เพิ่มมิติทางศิลปะให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นไป

ในขณะที่ Mariko Mori (มาริโกะ โมริ) ศิลปินสหสาขาได้สร้างสรรค์ผลงานในธีมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและมนุษยธรรมร่วมกันของ Women’s Pavilion ซึ่งจัดแสดงในชั้นบนของพาวิเลียน Toshiya Ogino (โทชิยะ โอกิโนะ) นักออกแบบภูมิทัศน์ ได้นำเอาโลกธรรมชาติ เข้ามาเป็นจุดสนใจ ผ่านสวนแบบยั่งยืนที่เต็มไปด้วยพรรณไม้ท้องถิ่น สะท้อนถึงฤดูกาลที่ผันแปรของประเทศญี่ปุ่น และแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง Chitose Abe (ชิโตเสะ อาเบะ) ดีไซเนอร์และครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ของแบรนด์ Sacai ก็ได้ออกแบบเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ประจำ Women’s Pavilion ให้สะท้อนถึงความกลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวและความทันสมัย

ผู้มีส่วนร่วมที่มากด้วยวิสัยทัศน์เหล่านี้ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์เรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของผู้หญิงที่มีต่อโลกอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง สร้างประสบการณ์ที่กระตุ้นความคิดที่เชื้อเชิญให้ผู้เข้าชมได้ไตร่ตรองถึงพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่ออุตสาหกรรมและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายหลวมรวมเป็นหนึ่งเดียว

Cartier Women’s Pavilion Expo 2025 Cartier Women’s Pavilion Expo 2025
Cartier Women’s Pavilion Expo 2025 Cartier Women’s Pavilion Expo 2025

บนชั้น 2 ของ Women’s Pavilion ผู้เยี่ยมชมจะได้พบพื้นที่ WA ซึ่งทำหน้าที่เป็นเวทีแห่งความคิดเห็นและเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการสนทนา การเสวนา และนิทรรศการจะเผยให้เห็นถึงประเด็นหลากหลายที่เป็นความท้าทายระดับโลก พื้นที่นี้ยังเป็นที่จัดการอภิปรายใน 6 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ ธรรมชาติ (Mother Nature) ธุรกิจและเทคโนโลยี (Business & Technology) การศึกษาและนโยบาย (Education & Policy) ศิลปะวัฒนธรรม (Arts & Culture) สาธารณกุศล (Philanthropy) บทบาทและอัตลักษณ์ (Roles & Identities) โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีวิสัยทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ นักเคลื่อนไหว หรือผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมมือกันเพื่อหาทางออกที่นำไปใช้ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง