California Dial ความลึกลับบนหน้าปัดนาฬิกาที่ยังไม่มีคำตอบ

0

เรารู้ว่ามันถูกเรียกว่า California Dial สำหรับหน้าปัดของนาฬิกาที่ใข้ตัวเลขแบบครึ่งบนโรมัน และครึ่งล่างแบบอาระบิก แต่ทว่ายังไม่มีใครคอนเฟิร์มอย่างชัดเจนว่า ทำไมถึงเรียกหน้าปัดแบบนี้ว่า California Dial

California Dial ความลึกลับบนหน้าปัดนาฬิกาที่ยังไม่มีคำตอบ
California Dial ความลึกลับบนหน้าปัดนาฬิกาที่ยังไม่มีคำตอบ

California Dial ความลึกลับบนหน้าปัดนาฬิกาที่ยังไม่มีคำตอบ

- Advertisement -

California Dial ถูกเรียกมานานและหลายคนอาจจะรู้จัก แต่เชื่อว่าก็ยังมีอีกหลายคนสงสัยว่ามันมีที่มาจากไหน และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น วันนี้มาคลายข้อสงสัยตรงนี้กัน โดยเราพยายามที่จะหาคำตอบจากเรื่องนี้ผ่านทางข้อมูลที่มีอยู่ในอินเตอร์เนตเพื่ออธิบายถึงเรื่องหน้าปัดแบบ California Dial

มาดูที่รายละเอียดของหน้าปัดกันก่อน California Dial เป็นหน้าปัดนาฬิกาที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์บอกเวลา โดยจะมีการแบ่งครึ่งหน้าปัด เป็น 2 ส่วน ซึ่งตำแหน่งด้านบน คือช่วง 2 ถึง 10 นาฬิกา แสดงผลด้วยตัวอักษรโรมัน ส่วนด้านล่างตำแหน่ง 4 ถึง 8 เป็นเลขอารบิค

ส่วนตำแหน่ง 12 นาฬิกาจะใช้เครื่องหมายสามเหลี่ยมเหมือนกับนาฬิกานักบิน ตำแหน่ง 6 นาฬิกาเป็นขีดแนวนอน เช่นเดียวกับตำแหน่ง 3 และ 9 อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบางยี่ห้อมีการแบ่งในลักษณะแนวตั้ง คือ แบ่งที่ตำแหน่ง 12 และ 6 นาฬิกา โดยให้ซีกซ้ายเป็นตัวเลขโรมัน และซีกขวาเป็นตัวเลขอารบิค

ประเด็นในเรื่องที่มาในการออกแบบนั้น มีการระบุว่านี่คือรูปแบบของหน้าปัดที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานในนาฬิกาดำน้ำตั้งแต่สมัยยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษที่ 1930 และมีใช้อยู่ในนาฬิกาอย่าง Rolex Panerai Glycine และ Kampfschwimmer โดยจริงๆ แล้ว บางแหล่งข้อมูลระบุว่าต้นทางของการออกแบบหน้าปัดนี้มาจากทาง Rolex ซึ่งผลิตและใข้อยู่ในรุ่น Ref.3595 ที่วางขายในช่วงปี 1934 ก่อนที่จะถูกนำมาใช้งานกันอย่างจริงจังขึ้นในปี 1936 เมื่อกองทัพอิตาลีมอบหมายให้ Panerai ผลิตนาฬิกาข้อมือสำหรับใช้กับทีมจู่โจมใต้น้ำ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว Panerai กลับส่งมอบงานนี้ให้กับ Rolex และตัวเองก็ไปผลิตอุปกรณ์ทางทหารอย่างอื่นที่ไม่ใช่นาฬิกาแทน

Rolex จัดการผลิตนาฬิกาตามความต้องการนี้เพื่อส่งให้กับ Panerai โดยเป็นรหัส Ref.3646 และถือเป็นนาฬิกาเรือนแรกในสายการผลิตของ Panerai กันเลยทีเดียว ซึ่งนาฬิกาเรือนนี้ใช้ตัวเรือนขนาด 47 มิลลิเมตรของ Rolex Oyster และจับกลไกรุ่น 618 แบบไขลานของตัวเองใส่เข้าไป ว่ากันว่ามีการผลิตออกมา 27 เรือน แต่ 17 เรือนใช้หน้าปัดแบบเดียวกับ Ref.3595 ซึ่งเป็นแบบ California Dial โดยในปี 1941 ทาง Rolex ยื่นจดสิทธิบัตรหน้าปัดชนิดนี้และได้รับอนุญาตในปีต่อมา

มีคนพูดถึงเรื่องของชื่อว่ามีที่มาอย่างไร ซึ่งจากการค้นหาและใช้หลักฐานจากบทความของเว็บไซต์ www.timepiecechronicle.com พวกเขาบอกว่ามีอยู่ 3 ทฤษฎีที่น่าสนใจซึ่งอธิบายถึงเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชื่อนี้ ทฤษฏีแรกคือ นาฬิกา Ref.3595  แบบ Bubble Back ของเขาได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดที่แคลิฟอร์เนีย และนั่นทำให้พวกเขานิยามชื่อนี้ขึ้นมา

ทฤษฎีที่ 2 คือ การที่ดีลเลอร์ที่ขายนาฬิกาวินเทจในช่วงทศวรรษที่ 1980 ตั้งอยู่ที่ Melrose Avenue เมืองแอลเอ ทำยอดขายของ Bubble Back รุ่นหลังๆ ที่มาพร้อมกับหน้าปัดแบ่งครึ่งอย่างนี้ และนั่นทำให้ตัวแทนที่นี่เริ่มมองหาของมารองรับกับความต้องการด้วยการโทรหาตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ในเมืองอื่นๆ และเมื่อพวกเขาต้องอธธิบายรูปแบบของหน้าปัดหลายต่อหลายครั้ง บรรดาดีลเลอร์รายอื่นๆ ที่ทำงานร่วมด้วยก็เลยตั้งชื่อว่า California Dial ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของหน้าปัดแบบนี้ และสร้างความเข้าใจที่ง่ายและสะดวกในการพูดคุย

ทฤษฎีสุดท้าย มาจาก James Dowling นักเขียนเรื่องนาฬิกาชื่อดังและเป็นดีลเลอร์นาฬิกาด้วย ซึ่งเขาได้ตอบที่ฟอรั่มของเว็บไซต์ Timezone.com และเชาอธิบายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เมื่อตลาดนาฬิกาวินเทจในแอลเอขยายตัวขึ้นอย่างมาก คนที่รับฟื้นฟูหน้าปัดที่มีรกรากอยู่ที่นี่อย่าง Kirk Rich ก็เลยกลายเป็นคนสำคัญในการฟื้นฟูหน้าปัดเหล่านี้ ซึ่งบรรดาดีลเลอร์ทั้งหลายต่างส่งหน้าปัดนาฬิกาแบบแบ่งครึ่งของตัวเองมาให้กับ Rich เพื่อทำการฟื้นฟูสภาพ และนับตั้งแต่นั้นมาบรรดาดีลเลอร์ทั้งหลายไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกา หรือจากมุมอื่นของโลก จักเรียกหน้าปัดแบบนี้ด้วยชื่อ California Dial เพราะเป็นคำที่ง่ายกว่าการเรียกแบบอธิบายสิ่งที่อยู่บนหน้าปัดอย่าง Roman Arabic Dial

และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่แน่ชัดเกี่ยวกับชื่อที่มาของคำว่า California Dial  ได้ แต่เท่าที่ดูแล้ว ดูเหมือนว่าทฤษฎีที่ 3 ดูแล้วเข้าเค้ามากที่สุด