ผมชอบ Bulova Oceanographer รุ่นใหม่ตั้งแต่แรกเห็น และไม่พลาดที่จะเก็บเข้ากรุ แต่ Nobody Perfect นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับนาฬิกาเรือนนี้ เพราะทุกอย่างเกือบดี แต่หลายคนอาจจะติดใจแค่ตรงกลไกที่ดูโบราณไปหน่อย
Bulova Oceanographer Devil Diver สวย มีสตอรี่ แต่กลไกน่าผิดหวัง
-
นาฬิกาที่ถูกสร้างใหม่จากรุ่นดั้งที่เปิดตัวในปี 1972 ในชื่อ Devil Diver
-
ขยายขนาดตัวเรือนเป็น 44 มิลลิเมตร พร้อมหน้าตาที่ถอดแบบมาจากรุ่นดั้งเดิม แต่กลไกเป็น Miyota แบบไม่มีระบบ Hacking เข็มวินาที
-
ราคาป้ายเมืองไทย 25,500 บาท
ชื่อของ Bulova กับตลาดนาฬิกาดำน้ำ ในยุคนี้แทบจะมองไม่เห็นเลย แต่ถ้าเป็นในอดีตเชื่อว่าแฟนๆ น่าจะจำกันได้กับเจ้านักดำน้ำปิศาจ หรือ Devil Diver ซึ่งก็คือนาฬิกาสุดคลาสสิคอีกรุ่นของ Bulova ที่มีชื่อว่า Oceanographer ซึ่งเปิดตัวในช่วงทศวรรษที่ 1970 ก่อนที่แบรนด์จะปัดฝุ่นนำชื่อนี้กลับมาสู่ตลาดอีกครั้งพร้อมปลุกกระแสให้ชื่อของ Bulova กลับมาได้รับความสนใจจากบรรดาผู้ที่ชื่นชอบนาฬิกาดำน้ำ ซึ่งผมก็ดันเป็นหนึ่งในนั้นเสียด้วย
เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นตอนที่ได้อ่านข่าวของการคัมแบ็ค ซึ่ง ณ ตอนนั้นผมเห็นแค่ตัวดำ-แดง ที่อ้างอิงสีสันจากรุ่นดั้งเดิมของ Bulova Oceanographer ส่วนชื่อที่ถูกเรียกว่า Devil Diver นั้นก็มาจากตัวเลขการกันน้ำ 666 ฟุตในหน่วยเป็นฟุต (หรือ 203 เมตร) ซึ่งไปสอดคล้องกับสัญลักษณ์ของปิศาจตามความเชื่อของชาวคริสต์ ส่วนเหตุผลที่ทำให้ผมหลงเจ้านาฬิกาเรือนนี้ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าหน้าตาที่ถูกโฉลกกัน
อันนี้สำคัญนะ เพราะนาฬิกาเรือนนั้นจะต้องอยู่กับเรา และถ้าหน้าตาไม่โดนใจแล้ว ต่อให้ราคาขายต่อในตลาดดีขนาดไหน สุดท้ายมันก็อยู่กับผมไม่ทนอยู่ดี ซึ่งเจ้า Devil Diver ถูกเปิดตัวออกมาเมื่อปี 2018 หรือ 46 ปีให้หลังจากรุ่นดั้งเดิมที่ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี…ผมไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่ถ้าจะให้เอารสนิยมตัวเองเป็นบรรทัดฐานแล้ว เชื่อว่าดีไซน์ที่สวยบวกกับหน้าตาที่ดูทันสมัยสำหรับนาฬิกาดำน้ำในยุคนั้น น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดี
สำหรับเวอร์ชันปัดฝุ่นกลับมาใหม่นั้น ในตอนแรกเปิดตลาดด้วยสีดั้งเดิมคือ ดำ-แดง และหลังจากนั้น Bulova ก็เพิ่มสีใหม่เข้ามาคือ หน้าปัดน้ำเงินและขอบส้ม หน้าปัดน้ำเงิน ขอบเหลือง และหน้าปัดเขียว ขอบดำ ซึ่งถือว่าเรือนแรกนั้นถูกใจผมมากที่สุดและนำไปสู่การตัดสินใจเดินหน้าลุยเพื่อเก็บเข้าคอลเล็กชั่นของตัวเอง
ในรุ่นใหม่นั้นมากับตัวเรือน 44 มิลลิเมตร ซึ่งตอนแรกผมคิดว่าค่อนข้างใหญ่เหมือนกัน แต่เมื่อนำขึ้นข้อและดูภาพรวมของรูปทรงแล้ว ต้องบอกว่าไม่ได้ใหญ่เทอะทะอย่างที่คิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Bulova Oceanographer เป็นนาฬิกาแบบขาสั้น และ Lug to Lug ไม่ได้ยาวมากก็เลย ส่วนรูปทรงเป็นแนวทรงกลมแต่พื้นที่ตัวเรือนด้านข้างบานออกคล้ายกับทรงดองเต่า
ซึ่งถ้าจะให้นึกภาพเปรียบเทียบนาฬิกาที่มีรูปทรงใกล้เคียงก็คือนาฬิกาดำน้ำของ Doxa โดยสื่อนอกบางคนเรียกสไตล์การออกแบบนาฬิกาตัวเรือนแบบนี้ว่า Cushion Case หรือ Squircle คือ นาฬิกาที่ดูออกแนวเหลี่ยม แต่มีความโค้งมนเหมือนจับเอาสี่เหลี่ยมกับวงกลมมารวมกัน….แต่ให้ตายสิ ผมว่าดูยังไงก็ไม่เหมือนและไม่น่าใช่
แต่เอาเถอะไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร แต่ดีไซน์นี้ค่อนข้างโดนใจผมอย่างมาก เพราะสะท้อนถึงความเป็นนาฬิกาดำน้ำยุคเก่า ให้ความคลาสสิค และที่สำคัญคือ ใส่ง่าย ไม่ล้น เพราะขาตัวเรือนค่อนข้างสั้น แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่ชอบใน Bulova Oceanographer คือ มันไม่บาง และมีตัวเลขความหนาที่ 15.9 มิลลิเมตรเลยทีเดียว
ส่วนตัวผมไม่ซีเรียสตัวเลขนี้เพราะถ้าเป็นนาฬิกาดำน้ำหรือพวกกลุ่มสปอร์ต มันไม่ควรมีตัวเลขต่ำกว่า 13 มิลลิเมตร โดยเหตุผลที่ Bulova Oceanographer มีความหนาขนาดนี้ก็เพราะส่วนหนึ่งมาจากการใช้กระจกหน้าปัดแบบ Box-Shape ทรงขอบยกสูงตามสไตล์นาฬิการุ่นเก่าๆ ส่วนอีกจุดคือ การออกแบบตรงช่วงตัวเรือนและขอบตัวเรือนนั้นมีลักษณะเชิดขึ้น ซึ่งถ้ามองด้านข้าง ผมว่ามันดูคล้ายกับภูเขาไฟ
Bulova Oceanographer มากับตัวเรือนและสายแบบสตีล ซึ่งส่วนตัวแล้วบอกเลยว่า ตัวสายผ่านในแง่ความสวยของสายที่เข้ากับตัวนาฬิกาเพื่อสะท้อนความวินเทจ แต่สิ่งที่ไม่โปรดเลยคือ บานพับที่ดูก๋องแก๋งไปหน่อย เหล็กตรงบานพับบางเฉียบและตัวล็อกที่ดูแล้วไม่ค่อยสมฐานะของนาฬิการะดับนี้ แต่สุดท้ายผมเลือกที่จะเปลี่ยนสายอยู่แล้วก็เลยไม่ได้ติดใจอะไรตรงนี้มากมายจนถึงกับมองว่าเป็นข้อด้อยอย่างรุนแรง
มาดูจุดที่ผมชอบกันดีกว่า Love at first sight คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมตอนที่ได้เห็นนาฬิกาเรือนนี้เป็นครั้งแรก แน่นอนว่าตัวเรือนคือ
จุดแรก สิ่งที่ตามมาคือ รายละเอียดบนหน้าปัด โดยเฉพาะหลักชั่วโมงแบบทรงกลมที่ถูกออกแบบให้ยกระดับขึ้นมาจนเหมือนกับเป็น 3 มิติซึ่ง Bulova ก็ยังยึดมั่นสไตล์นี้มาจากรุ่นดั้งเดิม การจัดวางตัวอักษรบนหน้าปัดที่ไม่เลอะเทอะ แต่ครบถ้วน กระจก Sapphire ที่ออกแบบให้มีเลนส์ Cyclop ในช่อง Date ที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา และเป็น Cyclop Len แบบกลับด้าน คือเอาฝั่งนูนพลิกไปอยู่ด้านในแทน ดังนั้นเมื่อคุณเอามือลูบจะพบกับความราบเรียบ
แต่ยังให้ประโยชน์ใช้สอยในการทำหน้าที่ขยายตัวเลขบนช่องวันที่ ขอบอินเสิร์ตที่เป็นแบบอะครีลิก ดูแวววาวสวยงาม และที่สำคัญคือ ผมชอบชุดเข็มชั่วโมงและนาทีของ Bulova Oceanographer มาก
นาฬิกาดำน้ำหลายแบบหลายแบรนด์ พยายามที่จะออกแบบชุดเข็มให้ดูดุดันหรือวิลิสมาหรา แต่ผมกลับค้นพบว่าการใช้ความเรียบง่าย และชุดเข็มแบบแท่งตรงๆ และปลายแหลมเหมือนกับรั้วบ้านนี่แหละ
บางครั้งดูลงตัวและโดดเด่นได้ภายใต้องค์ประกอบโดยรวมที่เข้ากับมัน ซึ่งก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Bulova Oceanographer ในความรู้สึกของผม และถ้าจะบอกว่านี่คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อก็คงไม่ผิด
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ติ ประเด็นหนึ่งที่ Bulova น่าจะทำได้ดี ในฐานะที่เป็นแบรนด์ในเครือของ Citizen คือ การเลือกใช้กลไกที่เพียบพร้อมกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องเบสิกที่กลไกยุคนี้ควรมี คือ Hacking System หรือระบบหยุดเข็มวินาที แต่ Bulova Oceanographer กลับไม่มี
เรื่องนี้ถูกมองได้ 2 ทาง อย่างแรกเป็นการมองในด้านดีสุดๆ คือ เป็นความตั้งใจของทีมออกแบบที่ต้องการให้ Bulova Oceanographer ถอดแบบรุ่นดั้งเดิมให้มากที่สุด ซึ่งก็รวมถึงกลไกที่ไม่มีฟังก์ชั่นนี้ แต่อีกมุมหนึ่งคือ ความคิดเห็นที่ตรงกันข้าม การเลือกใช้กลไก Miyota Cal.821D ที่ทำให้ถูกมองว่าเป็นการลดต้นทุนเกินไป ทั้งที่ Miyota ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Citizen มีตัวเลือกของกลไกอัตโนมัติมากมาย
ตรงนี้แหละที่กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ใครบางคนซึ่งไม่ได้มีความชอบเป็นทุนเดิมอยู่เลือกจำเป็นต้องเบนตัวเลือกไปสู่นาฬิกาดำน้ำของแบรนด์อื่นๆ ที่อยู่ในช่วงระดับราคาเดียวกันแต่ว่ามีความคุ้มค่าในเชิงสเป็กมากกว่า…ซึ่งส่วนตัวผมก็ไม่คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดอะไร
ที่ถูกมองว่าเป็นการลดต้นทุนก็เพราะนอกจากเวอร์ชันปกติแล้ว Bulova ยังผลิต Oceanographer ที่อ้างอิงความคลาสสิคออกมาขายเป็นแบบ Limited Edition อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งในรุ่นนี้มีขนาดตัวเรือน 41 มิลลิเมตร และใช้กลไก Sellita SW-200 ที่มีระบบ Hacking แถมยังขึ้นลานได้ 2 ทิศทาง…อันนี้ก็เลยดูย้อนแย้งไปนิดถ้าหากคุณใช้ความเห็นแรกมาสนับสนุนเรื่องของการใช้กลไกแบบไม่มีระบบ Hacking เพราะต้องการให้เหมือนรุ่นดั้งเดิม
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมไม่ยึดแค่จุดใดจุดหนึ่งมาเป็นเหตุผลหลักในการที่จะเลือกหรือไม่เลือกนาฬิการุ่นนั้น เพราะถ้ามีข้อด้อยเพียงข้อเดียว แต่มีข้อเด่นที่โดยใจผมมากกว่า…เท่านี้ก็มีเหตุผลในการเสียเงินกันแล้ว แต่ก็อย่างที่บอก คนที่ใช้กรอบความคิดแบบเดียวกับผมจะมีสักเท่าไร
ราคาป้ายของ Bulova Oceanographer ในบ้านเราอยู่ที่ 25,500 บาท ต้องบอกว่าตัวเลือกในช่วงราคานี้มีค่อนข้างเยอะ และถ้าเทียบกับคู่แข่งโดยตรงแล้ว ก็คงหนีไม่พ้น Seiko Prospex ที่ใช้กลไก 4R36 หรือ 4R35 ถามว่าสู้ได้ไหม
ในแง่ของดีไซน์และเรื่องเล่าหรือ Story นั้น Bulova Oceanographer มีมากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ว่าเมื่อดูจากเงื่อนไขอื่นๆ แล้ว เป็นรองอยู่หลายด้านเหมือนกันโดยเฉพาะกลไก และการได้รับความนิยมในแง่ของแบรนด์ รวมถึงความสะดวกในการแปรเปลี่ยนเป็นทุนยามเมื่อถึงยามหน้าสิ่วหน้าขวาน
แน่นอนว่าปัจจัยในการตัดสินใจซื้อนาฬิกาสักเรือนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ถ้าถามผม คำตอบคือ ลุยเลย เพราะผมมักจะเอาอารมณ์และความรู้สึกนำหน้าเหตุผลอยู่เสมอ ถึงได้มีนาฬิการักเจ้าของอยู่เต็มไปหมดนี่ไง (ไม่ฮา)
ข้อมูลทางเทคนิค : Bulova Oceanographer Devil Diver
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 44 มิลลิเมตร
- ความหนา : 15.9 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 46 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 20 มิลลิเมตร
- เม็ดมะยมและฝาหลัง : แบบขันเกลียว
- กระจก : Box Shape Sapphire มีการเคลือบสารกันการสะท้อนแสง
- กลไก : Miyota 812D อัตโนมัติ ไม่มีระบบ Hacking เข็มวินาที
- ความถี่ : 21,600 ครั้งต่อชั่วโม
- กำลังสำรอง : 42 ชั่วโมง
- ความเที่ยงตรง : -20 ถึง +40 วินาทีต่อวัน
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ สตอรี่ และชุดเข็ม
- ไม่ประทับใจ : กลไกที่โบราณไปหน่อย และตัวบานพับสายที่ดูไม่แข็งแรง
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/