Breitling Aerospace E79362 นาฬิกานักบินแบบ SuperQuartz สุดเจ๋ง

0

นาฬิกาสุดเจ๋งแบบ 2 ระบบจาก Breitling ที่ได้รับความนิยมจากแฟนๆ ทั่วโลก นั่นคือ Aerospace วันนี้เราจะมารีวิวและทำความรู้จักกับรุ่น Breitling Aerospace E79362 ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของนาฬิการุ่นนี้นับตั้งแต่เปิดตัวรุ่นแรกในปี 1985

- Advertisement -

Breitling Aerospace E79362

Breitling Aerospace E79362 นาฬิกานักบินแบบ SuperQuartz สุดเจ๋ง

  • นาฬิกาแบบ 2 ระบบที่ Breitling เปิดตัวรุ่นแรกมาตั้งแต่ปี 1985

  • ตัวเรือนไทเทเนียม ขนาด 42 มิลลิเมตรสวมใส่กำลังดี

  • กลไกแบบ 2 ระบบ SuperQuartz พร้อมฟังก์ชั่นที่จำเป็นสำหรับนักบิน

นอกเหนือจากการผลิตนาฬิกาจักรกลแล้ว นาฬิกาควอตซ์ในสไตล์ดิจิตอล-อนาล็อก หรือ Ana-Digi ถือเป็นอีกคอลเล็กชั่นที่โดดเด่นและได้รับการยอมรับจากแฟนๆ ของ Breitling เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในต่างประเทศ เรียกว่า ถ้าคุณเป็นแฟนของ Breitling แล้วและเมื่อเปิดกรุออกมาดู

นอกจากนาฬิกาจักรกลที่ชื่อคุ้นตาอย่าง Navitimer Avenger และ Superocean แล้ว อย่างน้อยพวกเขามักจะมีนาฬิกาควอตซ์รวมอยู่ด้วย 1 เรือน ถ้าไม่ใช่พวกตระกูล B ก็จะต้องเป็น Aerospace ซึ่งถือว่าเป็นคอลเล็กชั่นยอดนิยมและมีประวัติความเป็นมาที่ค่อนข้างยาวนานระดับหนึ่ง

และแน่นอนว่า ผมก็ป็นคนหนึ่งในนั้นที่ติดใจและหลงใหลในนาฬิกาตระกูลนี้อย่างมาก และตั้งในใจว่าจะต้องเก็บเข้ากรุให้ได้

Aerospace ถือกำเนิดในปี 1985 ในยุคที่แบรนด์สวิสส์ยังอยู่ในอาการบาดเจ็บจากวิกฤตอันมาจากการรุกรานของนาฬิกาควอตซ์ และถือเป็นนาฬิกาที่อยู่ในกลุ่มนักบินของ Breitling ซึ่งในช่วงแรกที่เปิดตัวจะยังเป็นแค่รุ่นย่อยที่อยู่ในคอลเล็กชั่น Navitimer

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ในรุ่นแรกๆ ของ Aerospace จะมีคำว่า Navitimer อยู่เหนือช่องหน้าจอดิจิตอล โดยนับจากปี 1985 จนถึง 2021 Breitling เปิดตัวออกมาแล้ว 3 รุ่นหลัก คือ รุ่นแรก 1986-2004 ตามด้วยรุ่นที่ 2 ในปี 2005-2012 และ Aerospace Evo ที่เปิดตัวในปี 2013 จนถึงปัจจุบัน

Breitling Aerospace E79362Breitling Aerospace E79362

ส่วนรุ่นที่เรากำลังจะเล่าถึงในการ Review ครั้งนี้คือ Aerospace รุ่นที่ 2 รหัส E79362 ที่มีการปรับปรุงตัวเรือนและดีไซน์ให้ดูทันสมัยขึ้น เช่นเดียวกับการขยายขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจาก 40 มิลลิเมตรในรุ่นแรกมาเป็น 42 มิลลิเมตรในรุ่นนี้ (ส่วนรุ่น Evo ขยายขึ้นเป็น 43 มิลลิเมตร) และเป็นรุ่นใหม่ที่ถูกเปิดตัวออกมาในช่วงครบรอบ 20 ปีที่ชื่อของ Aerospace อยู่ในตลาด

อย่างไรก็ตาม รุ่นที่ผมได้มานั้นถือเป็นรุ่นที่เปิดตัวหลังปี 2007 ซึ่งสามารถสังเกตได้จากข้อความที่อยู่บนหน้าจอดิจิตอล เพราะในรุ่นแรกที่เปิดตัวปี 2005 จะใช้คำว่า Chronometer Certifie แต่สำหรับรุ่นหลังปี 2007 จะเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Chronometer Aerospace

Breitling Aerospace E79362

นอกจากนั้น Aerospace Avantage ถูกเรียกเฉพาะรุ่นแรกที่เปิดตัวในปี 2005-2006 เท่านั้น เพราะหลังจากนั้น Breiting ก็ตัดคำว่า Avantage ออกไป พร้อมกับเปิดตัวรุ่น UTC ออกมาในปี 2006 โดยจะมีฟังก์ชั่น Co-Pilot Auxiliary ที่เป็นโมดุลหน้าจอดิจิตอลเอาไว้บนข้อแรกๆ ของสาย

เช่นเดียวกับที่ฝาหลังของรุ่นใหม่ๆ จะเป็นสเกลสำหรับแปลงค่าของหน่วยต่าง เช่น ลิตร แกลลอน ออนซ์ หรือไมล์ กิโลเมตรเพื่อให้นำไปใช้ในการคำนวน แทนที่จะเป็นสัญลักษณ์ของ Breitling เหมือนกับรุ่นเก่าๆ

ความน่าหลงใหลของ Aerospace ในรุ่นที่ 2 สำหรับส่วนตัวผมนั้นมีอยู่ ข้อ อย่างแรกก็คือตัวเรือนที่ดูมีความทันสมัยมากขึ้น แต่ไม่มากจนเกินไป เรียกว่ายังคงความคลาสสิคในแง่ของดีไซน์ตามแบบฉบับนาฬิกายุค 80-90 ของ Breitling เอาไว้ โดยเฉพาะขอบตัวเรือนที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ อย่างที่ 2 คือ รูปแบบของการวางจอดิจิตอลบนหน้าปัด ที่ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน และตรงกลางไม่มีเข็มวินาทีที่เดินทีละวินาทีมาให้กวนสายตา โดยเข็มนาทีจะขยับทุกๆ 20 วินาทีแทน

และสุดท้ายคือ ขนาดที่กำลังดีกับข้อมือ ซึ่งไซส์ 42 มิลลิเมตรของ Breitling นั้น ตามปกติแล้วมักจะสร้างปัญหาให้กับผมในแง่ของการดูแล้วไม่ค่อยเต็มข้อเท่าไร จึงมักจะถูกผมเมินอยู่เสมอ แต่นั่นเป็นปัญหาที่เคยเกิดกับรุ่น Colt และ Superocean แต่สำหรับ Breitling Aerospace E79362 แล้ว กลับทำให้ผมรู้สึกตรงกันข้าม

เพราะมิติตัวเรือนที่มี Lug to Lug 48 มิลลิเมตร และหนาราวๆ 10 มิลลิเมตรของนาฬิการุ่นนี้ ถือว่าลงตัวแบบพอดีเลย ไม่รู้สึกว่าหนาจนเกินไป และใส่ค่อนข้างสบายเลย

Breitling Aerospace E79362 Breitling Aerospace E79362

นอกจากนั้น การใช้วัสดุอย่างไทเทเนียม ทำให้ตัวเรือนของ Breitling Aerospace E79362 มีความด้านนิดๆ เรียกว่าพลิกสไตล์และแนวคิดในเรื่องการขัดแต่งของ Breitling ในยุคนั้นที่มักจะเน้นตัวเรือนที่มีความเงามาก จนทำให้นาฬิกาดูบลิ๊งก์ๆ แต่สิ่งที่ตามมาคือ ความง่ายต่อการสังเกตเห็นรอยขนแมวจนบางคนอาจจะถึงขั้นรำคาญตากันเลยทีเดียว

หลังจากที่ผมซื้อนาแล้วเอาไปอวดเพื่อนฝูง คำถามที่เกิดขึ้นอย่างแรกคือ ‘คิดยังไงถึงซื้อมา ?’ เพราะกับราคาที่ผมได้มาในหลักหมื่นระดับเฉียด 3 ใบเทานั้น ถือว่าสิ่งที่ได้มาแทบจะไม่ได้คุ้มค่าอะไรเลยในแง่การลงทุนและการใช้งาน ราคาขายต่อไม่ต้องพูดถึง ส่วนฟังก์ชั่นก็ไม่ได้เทพอะไรมากมายเมื่อเปรียบเทียบกับ Casio G-Shock เรือนละ 2-3 พันที่มีขายอยู่ในตลาด แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่หนักแน่นพอที่จะทำให้เกิดการตัดสินใจแบบไม่ลังเลก็คือการใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลซะ

สำหรับผมสิ่งที่น่ากังวลจากการตามหา Aerospace ที่มีอายุอานามนานนิดนึงคือ สภาพของกลไก เพราะขึ้นชื่อว่ากลไกควอตซ์แล้ว สิ่งที่น่ากังวลสำหรับการตามหาของมือสองคือ

เจ้าของเดิมนั้นดูแลนาฬิกาเรือนนี้ดีขนาดไหน และปัญหาคลาสสิคที่เกิดขึ้นกับนาฬิกาควอตซ์ที่ผมคิดว่าเกิน 50% เท่าที่มีอยู่ในตลาดมาจากความละเลยของเจ้าของที่บางครั้งปล่อยให้แบตเตอรี่หมดจนกระทั่งสารเคมีที่อยู่ในแบตเตอรี่เยิ้มออกมาจนทำให้แผงวงจรเสียหาย และเราไม่มีทางทราบได้เลยว่าปัญหานี้เกิดขึ้นหรือไม่กับนาฬิกาที่ซื้อมา

Breitling Aerospace E79362

ส่วนอีกจุดคือ สภาพของหน้าจอดิจิตอล เพราะหลายเรือนที่ขาดการดูแลและทำให้น้ำยาเริ่มเยิ้มและทำให้เกิดรอยด่างบนหน้าจอ แต่ตรงนี้ค่อนข้างดูยากสักหน่อย เพราะว่า Breitling Aerospace มากับหน้าจอแบบ Negative ทำให้ยากที่เราจะเห็นรอยเยิ้มของหน้าจอตรงนี้  นอกจากจะด่างจนกระทั่งเป็นรอยปื้นใหญ่ๆ

ดังนั้น ถ้าลุยกันแบบเดี่ยวๆ อาจจะเหมือนกับวัดดวงกันนิดๆ นอกเหนือจากนาฬิกาเรือนนั้นจะปีใหม่สุดๆ และคุณนำให้ช่างตรวจสอบก่อนที่จะมีการตกลงใจซื้อขายกัน ซึ่งผมแนะนำว่า ถ้าคิดจะซื้อ ใช้เวลากันมันให้นานในการตรวจสอบ และก็ทุกระบบด้วย เพราะถ้ากลไกเกิดความเสียหาย ค่ายกเครื่องไม่ถูกแน่นอน

แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าไปถอยเอากลไก ETA ที่เป็นพื้นฐานของ Calibre 79 ของนาฬิกาเรือนนี้มาทดแทนในราคาที่ถูกกว่าหลายเท่าก็ได้ แต่ปัญหาคือ ตัวหนังสือในการแสดงผลบนหน้าจอ LCD นั้นจะเล็กกว่าจนมองเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

Calibre 79 ของ Breitling ถือว่าเป็นกลไก Super Quartz ที่มาพร้อมกับความคลาดเคลื่อน 15 วินาทีต่อปี ซึ่งถือว่าแจ่มทีเดียวสำหรับกลไกที่เกิดขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ฟังก์ชั่นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนและนั่งอ่านแมนนวลเพียงแป๊บเดียวก็เก็ต แต่สิ่งที่ไม่เก็ต คือ กว่าจะรู้ทริกในการทำให้เกิดสิ่งที่ต้องการนั้นต้องใช้เวลานานเอาเรื่อง และบางครั้งถึงขั้นเหงื่อตกจนพาลคิดไปว่า ‘นาฬิกาเสีย หรือทำไม่เป็นกันแน่ ?’

Breitling Aerospace E79362

ด้วยเหตุที่เม็ดมะยมของ Aerospace ค่อนข้างเล็ก ดังนั้นการใช้มือหมุนให้เร็วตามที่แมนนวลระบุเพื่อเปลี่ยนฟังก์ชั่นนั้น บอกเลยว่าโคตรยากเมื่อนาฬิกาอยู่บนข้อมือ และบ่อยครั้งสุดท้ายก็กลายเป็นแค่เปิดไฟ (ในกลไกนี้ ถ้าหมุนเม็ดมะยมเร็ว คือ เปลี่ยนฟังก์ชั่น แต่ถ้าหมุนช้าคือ เปิดไฟ) ซึ่งฟังก์ชั่นก็มีทั้งตั้งปลุก, แจ้งเวลาแบบ Minute Repeater, จับเวลาเดินหน้าและถอยหลัง และการแสดงเวลาที่ 2 หรือ T2

โดยการกดปุ่มเพื่อเลือกก็สามารถกดจากเม็ดมะยมลงไปได้เลย ส่วนการตั้งแต่ละฟังก์ชั่น หมุนให้เร็วๆ เมื่ออยู่ในฟังก์ชั่นนั้นๆ เพื่อเปลี่ยนเวลาในการจับเวลาถอยหลัง หรือปลุก

Breitling Aerospace E79362

ส่วนใครที่กลัวเม็ดมะยมหลุดเพราะหมุนเร็วก็ไม่ต้องกังวล เพราะกลไกนี้ใช้ระบบ Fly-by-Wire ในการส่งสัญญาณไปยังตัวรับสัญญาณ ไม่ใช่เป็นแกนเม็ดมะยมที่เชื่อมต่อเข้ากับกลไกหรือชุดเข็มเหมือนพวกนาฬิกาอัตโนมัติ หรือนาฬิกาควอตซ์ปกติ

จะเห็นได้ว่า ฟังก์ชั่นที่มีอยู่ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากมาย แล้วทำไม Aerospace ถึงครองใจแฟนๆ Breitling ซึ่งถ้าคุณอยู่ในกลุ่ม facebook อย่าง Breitling  Owners 1884 แล้วละก็ คุณจะเห็นบรรดา Aerospace บ่อยมาก เรียกว่าเป็นรองก็แค่ Superocean เท่านั้นเอง และดูเหมือนบรรดาเจ้าของ Breitling นั้นไม่ได้แคร์เลยว่ามันคือนาฬิกาควอตซ์

ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ?

แต่ถ้าให้ผมตอบแทนคือ ความเท่และความสะดวกในการใช้งานของมัน เรียกว่าหยิบขึ้นมาใช้ได้เลย ขณะที่อีกความเห็นของบรรดาเจ้าของ Breitling ในกลุ่มพวกนี้ที่เป็นนักบินยังเพิ่มเติมความเห็นว่า นาฬิกาเรือนนี้เหมาะมากๆ สำหรับอาชีพพวกเขา

Breitling Aerospace E79362

ผมเห็นด้วยนะในหลายๆ ข้อ แต่มีอยู่แค่ข้อเดียวเท่านั้นที่อาจจะคิดต่าง นั่นคือ ราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้คนที่ไม่รักจริงยากที่จะยอมควักเงิน เพราะอย่างรุ่นใหม่ล่าสุด Aerospcae EVO ราคาป้ายของรุ่นสายเหล็กก็ซัดเข้าไปถึง 147,000 บาท ซึ่งผมเชื่อว่า Breitling Aerospace E79362 คงราคาเฉียดแสนในช่วงที่มันเปิดตัวเมื่อ 14 ปีที่แล้ว และเมื่อมองตามค่าเงินในยุคนั้นแล้ว ความรู้สึกก็คงไม่ต่างกัน

Breitling Aerospace E79362

แต่ถ้าคุณมองหาความสะดวกที่เปี่ยมด้วยความหรู แบรนด์ที่มีประวัติยาวนาน และคุณภาพที่เหนือระดับจากนาฬิกาควอตซ์หลักพันหลักหมื่นที่คุ้นเคย ที่สำคัญคือ ซื้อเพราะชอบหรือรัก โดยไม่สนใจปัจจัยอื่นๆ แสดงว่าคุณกับ Breitling Aerospace E79362 คือ เนื้อคู่กันอย่างไม่ต้องสงสัย

Breitling Aerospace E79362 Breitling Aerospace E79362

ข้อมูลทางเทคนิค : Breitling Aerospace E79362

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 42 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 48 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 10.4 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน : ไทเทเนียม
  • กระจก : Sapphire
  • กลไก : ควอตซ์ ดิจิตอล-เข็ม Breitling 79
  • ฟังก์ชั่น : ตั้งปลุก แสดงเวลาที่ 2 จับเวลาเดินหน้า จับเวลาถอยหลัง Minute Repeater
  • การกันน้ำ : 100 เมตร
  • ประทับใจ : ขนาด ความสวย และฟังก์ชั่น
  • ไม่ประทับใจ : ราคากับความเป็นนาฬิกาควอตซ์ และการใช้เม็ดมะยมในการควบคุมระบบต่างๆ ของกลไก ซึ่งเม็ดมะยมมีขนาดเล็กทำให้หมุนลำบาก