Breitling Aerospace B70 ORBITER ฉลอง 25 ปีโปรเจ็กต์บอลลูนรอบโลก

0

เพื่อเป็นการฉลอง 25 ปีของการเดินทางรอบโลกแบบไม่หยุดพักจากโปรเจ็กต์ Breitling Orbiter 3 ทางแบรนด์ได้เปิดตัวนาฬิกาสุดพิเศษรุ่นนี้ออกมา พร้อมกับตัวเรือนแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างจาก Aerospace รุ่นปัจจุบันที่กำลังทำตลาดอยู่ในตอนนี้ และมาพร้อมกับกลไกควอตซ์รุ่นใหม่ในรหัส B70

- Advertisement -

Breitling Aerospace B70 ORBITER

Breitling Aerospace B70 ORBITER ฉลอง 25 ปีโปรเจ็กต์บอลลูนรอบโลก

  • นาฬิการุ่นพิเศษที่เกิดจากการสร้างสรรค์ผ่านทางตัวเรือน Aerospace แบบใหม่

  • ตัวเรือนมาพร้อมกับ Pusher สำหรับกดที่ติดตั้งอยู่ในตำแหน่ง 2 และ 4 นาฬิกา

  • กลไกใหม่ในรหัส B70 เข้ามาแทนที่ B79 ของรุ่นปัจจุบันที่ทำตลาด

เรื่องราวของการเดินทางครั้งสำคัญของ Breitling กับการเดินทางครั้งสำคัญเมื่อปี 1999 ได้นำไปสู่การพัฒนาเรือนเวลาสุดพิเศษของตระกูล Aerospace ในวาระของการครบรอบ 25 ปีของเหตุการณ์ในครั้งนั้น โดยนาฬิกาเรือนนี้มีชื่อว่า Breitling Aerospace B70 ORBITER พร้อมความเปลี่ยนแปลงบนตัวเรือนที่อาจจะดูผ่านๆ แล้วเหมือนกับ Aerospace รุ่นที่ขายอยู่ในท้องตลาด แต่จริงๆ แล้วมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Breitling Aerospace B70 ORBITER Breitling Aerospace B70 ORBITER

Breitling Aerospace B70 ORBITER

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 1999 เมื่อ Bertrand Piccard และ Brian Jones ประสบความสำเร็จในการเดินทางรอบโลกแบบไม่หยุดครั้งแรกด้วยบอลลูน ซึ่งบอลลูนได้ลงจอดที่ทะเลทรายในอียิปต์หลังจากที่ใช้ระยะเวลาในการเดินทางรวมทั้งสิ้น 19 วัน 21 ชั่วโมง และ 47 นาที รวมระยะทาง 45,633 กิโลเมตรภายใต้ชื่อโครงการ Breitling Orbiter 3

ซึ่งในครั้งนั้นทาง Breitling เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการเดินทางด้วย และเมื่อวาระพิเศษของโปรเจ็กต์ครบรอบ 25 ปี ทางแบรนด์จึงได้เปิดตัวนาฬิกาสุดพิเศษที่เป็น Special Edition ของโปรเจ็กต์นี้ออกมา

Breitling Aerospace B70 ORBITER Breitling Aerospace B70 ORBITER
Breitling Aerospace B70 ORBITER Breitling Aerospace B70 ORBITER

สิ่งที่น่าสนใจคือ บนตัวเรือนขนาด 43 มิลลิเมตรของ Breitling Aerospace ทื่มีการผลิตจากไทเทเนียมทั้งตัวเรือนและสายนั้น แม้ว่าหน้าตาของตัวนาฬิกาจะดูคล้ายกับรุ่นที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน แต่ตัวนาฬิกามีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการมีปุ่มกดด้านข้างตัวเรือนในตำแหน่ง 2 และ 4 นาฬิกา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวปุ่มกดโหมดต่างๆ แทนที่จะควบคุมด้วยเม็ดมะยมหลักเพียงปุ่มเดียวเหมือนกับ Aerospace รุ่นก่อนหน้านี้

Breitling Aerospace B70 ORBITER

ขอบตัวเรือนหมุนได้ 2 ทิศทางแตกต่างจากรุ่นเก่าที่เป็นแบบหมุนทางเดียว หน้าปัดมากับสีส้ม ซึ่งเป็นสีหลักของโปรเจ็กต์นี้ พร้อมกับสัญลักษณ์ของโปรเจ็กต์ที่อยู่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา ส่วนฝาหลังเป็นแบบใส ซึ่งแตกต่างจาก Aerospace รุ่นทั่วไป และที่อยู่ข้างในคือวัสดุสีเงินที่มีรอยยับย่นเหมือนกับบอลลูนที่ใช้ในการทำภารกิจนี้

ขณะที่กลไกมีการเปลี่ยนแปลงจากรหัส B79 ที่อยู่ในรุ่นทั่วไปมาเป็น B70 ซึ่งเป็นกลไกแบบ SuperQuartz รุ่นใหม่ด้วยการแสดงผลแบบ Analogue และ Digital ของ Breitling ซึ่งผ่านการพัฒนาเพื่อตอบสนองการใช้งานได้อย่างยอดเยี่ยม

ด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ครบครัน มีความเที่ยงตรงในระดับ Chronometer ผ่านการรับรองโดย COSC โดยฟังก์ชั่นก็มีทั้งการตั้งปลุก การจับเวลาด้วยความละเอียด 1/100 วินาที การแสดงเวลาที่ 2 โดยจะมีทั้งระบบจับเวลาแยกแบบต่อเนื่อง หรือ Split-Time และระบบ Flyback Chronograph พร้อมการจับเวลาถอยหลังสูงสุด 99 ชั่วโมง 59 นาที และ 59 วินาที

Breitling Aerospace B70 ORBITERBreitling Aerospace B70 ORBITER

รุ่นที่ทำตลาดมีด้วยกัน 2 แบบ คือ

  • EB70101A1O1E1 : สายไทเทเนียม
  • EB70101A1O1S1 : สายยาง
Breitling Aerospace B70 ORBITER Breitling Aerospace B70 ORBITER

ราคาของ Breitling Aerospace B70 ORBITER ในเมืองไทยอยู่ที่ 172,200 บาทสำหรับรุ่นสายไทเทเนียม และ 164,500 บาทสำหรับรุ่นสายยางที่มาพร้อมกับบานพับแบบ Folding Clasp

รายละเอียดทางเทคนิค : Breitling Aerospace B70 ORBITER

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 43 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน : ไทเทเนียม
  • กระจก : Sapphire พร้อมเคลือบสารกันการสะท้อนแสง
  • กลไก : แบบควอตซ์รหัส B70 แสดงผลในแบบ Analog และ Digital
  • ฟังก์ชั่น : จับเวลาเดินหน้า 1/100 วินาที จับเวลาถอยหลัง การแสดงเวลาที่ 2 การตั้งปลุก
  • การกันน้ำ : 100 เมตร