องค์ที่ 2 ของการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของ Fifty Fathoms ทาง Blancpain ได้ยกระดับเรือนเวลารุ่นพิเศษให้เป็นมากกว่าเครื่องบอกเวลา แต่ยังมีฟังก์ชั่นที่สามารถเพิ่มประโยชน์ในการทำงานของนักดำน้ำที่ต้องทำงานใต้น้ำ และเป็นการดำน้ำแบบ CCR ด้วยขอบตัวเรือนและเข็มสำหรับจับเวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ Blancpain Fifty Fathoms 70th Anniversary ACT2 : Tech Gombessa มีความน่าสนใจ และพลิกโฉมหน้าวงการนาฬิกาดำน้ำอีกครั้ง

Blancpain Fifty Fathoms 70th Anniversary ACT2 : Tech Gombessa เป็นมากกว่าเครื่องบอกเวลา
-
การพัฒนาร่วมกันของ Blancpain กับ Laurent Ballesta ผู้ก่อตั้งโครงการ Gombessa
-
จุดเด่นคือ กลไกและขอบตัวเรือนแบบจับเวลา 3 ชั่วโมงสำหรับนักดำน้ำแบบ CCR
-
ราคาจำหน่ายในเมืองไทยอยู่ที่ 921,000 บาท
เรื่องราวของการเฉลิมฉลองในวาระพิเศษของนาฬิกาดำน้ำยุคใหม่เรือนแรกของโลกที่ก่อกำเนิดขึ้นในปี 1953 ได้ดำเนินมาถึงองค์ที่ 2 หรือ ACT 2 แล้ว เมื่อ Blancpain เปิดตัวนาฬิการุ่นพิเศษ Fifty Fathoms 70th Anniversary ACT2 : Tech Gombasso เพื่อการฉลองครบรอบ 70 ปีของคอลเล็กชั่น Fifty Fathoms พร้อมความพิเศษในการพัฒนาให้เป็นนาฬิกาเพื่อนักดำน้ำมืออาชีพกับฟังก์ชั่นในการจับเวลา 3 ชั่วโมงที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับนาฬิกาเรือนนี้โดยเฉพาะ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการก่อกำเนิดของ Fifty Fathoms ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการนาฬิกาดำน้ำอย่างแท้จริง และตลอด 70 ปีที่ผ่านมา นาฬิกาคอลเล็กชั่นนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั่วโลกจนนำไปสู่การสร้างสรรค์นาฬิการุ่นต่างๆ ออกมาอย่างมากมาย และในโอกาสครบรอบ 70 ปี หลังจากที่มีการเปิดตัว ACT 1 ซึ่งเป็นนาฬิการุ่นพิเศษเวอร์ชันแรกออกมาเมื่อต้นเดือนมกราคม อีก 1 เดือนถัดมาก็ถึงคิวของ ACT 2 อย่างที่เห็นอยู่นี้
![]() |
![]() |
ถ้าคุณชอบนาฬิกาดำน้ำ คุณต้องชอบนาฬิกาเรือนนี้ และถ้าคุณมีอาชีพเป็นนักดำน้ำ ยิ่งจะต้องชอบมากขึ้น เพราะ Fifty Fathoms 70th Anniversary ACT2 : Tech Gombessa เป็นการทำงานร่วมกันของ Marc A. Hayek ประธานและ CEO ของ Blancpain กับ Laurent Ballesta ผู้ก่อตั้งโครงการ Gombessa ภายใต้ชื่อ “Tech Gombessa”
![]() |
![]() |
เทคโนโลยีนี้มีความสามารถในการจับเวลาดำน้ำได้นานถึง 3 ชั่วโมงเป็นครั้งแรก อีกทั้งการเปิดตัวนี้ยังมีขึ้นเพื่อระลึกถึงการครบรอบ 10 ปีของโครงการ Gombessa ที่ Blancpain มีส่วนช่วยผลักดันในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นในปี 2013
กว่าที่จะเป็นนาฬิกาเรือนนี้ การทำงานเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2018 และผ่านการทดสอบมานับครั้งไม่ถ้วน เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถใช้งานได้จริง และเป็นนาฬิกาดำน้ำที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาชีพเป็นนักดำน้ำโดยเฉพาะการดำน้ำแบบอิ่มตัว (saturation system) ซึ่งนักดำน้ำจะต้องใช้ชีวิตในห้อง หรือ Bell ที่อยู่ใต้น้ำเป็นเวลานานๆ และออกปฏิบัติการใต้น้ำในรูปแบบการทำงานมากกว่าสันทนาการ
สิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของตัวนาฬิกา คือ กลไกและขอบตัวเรือน ซึ่งจะต้องทำงานสอดประสานกัน โดยขอบหน้าปัดจับเวลาของ Fifty Fathoms Tech Gombessa มีสเกลจับเวลา 3 ชั่วโมงและทำงานควบคู่กับเข็มพิเศษซึ่งจะเดินครบหนึ่งรอบภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง ปลายเข็มมีสีสันและวัสดุเช่นเดียวกับมาร์กเกอร์บนขอบหน้าปัดที่มีการเคลือบสารเรืองแสงสีขาวพร้อมการเปล่งแสงสีเขียว เพื่อช่วยให้มองเห็นได้ง่ายเวลาอยู่ใต้น้ำ
การทำงานดังกล่าวนี้ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกและจดสิทธิบัตรร่วมกันโดย Marc A. Hayek และ Laurent Ballesta
ทำไมต้อง 3 ชั่วโมง ? คำตอบคือ ในการดำน้ำแบบวงจรปิด หรือ CCR-Closed Circuit Rebreather diving เป็นการดำน้ำในรูปแบบการทำงานใต้น้ำที่อาศัยการนำอากาศที่ใช้แล้ว หรือที่หายใจออกมา มาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อให้สามารถใช้อากาศนั้นได้อีกครั้ง เรียกว่าเป็นการหมุนเวียนจากอากาศที่มีอยู่จำกัดจากถังปกติ ไม่ต้องเติมออกซิเจนใหม่จากถังสำรอง และทำให้อยู่ใต้น้ำได้นานขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วจะอยู่ที่ 3 ชั่วโมง หรือมากกว่า แต่ตัวเลข 3 ชั่วโมงคือ เวลาที่ปลอดภัยที่สุด นั่นจึงมีการออกแบบให้นาฬิกาเรือนนี้สามารถจับเวลาได้ 3 ชั่วโมง
ในส่วนของกลไกเป็นแบบอัตโนมัติรหัส 13P8 ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งในด้านความเที่ยงตรงและความแข็งแกร่งที่มั่นใจได้เพื่อการใช้งานภายใต้สภาพสมบุกสมบัน ตัวกลไกพัฒนาต่อยอดมาจากรุ่น 1315 ประกอบด้วย 304 ชิ้นส่วน มี Balance Spring ที่ผลิตจากซิลิคอน เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 4Hz มีกำลังสำรอง 5 วัน หรือ 120 ชั่วโมง จากกระปุกลาน 3 ชุด พร้อมโรเตอร์ขึ้นลานที่มีการสลักสัญลักษณ์ของ Gombessa เอาไว้ กลไกนี้ถูกออกแบบเป็นพิเศษเพราะจะต้องมีฟังก์ชั่นเข็ม 3 ชั่วโมงเพื่อใช้ในการจับเวลาสำหรับนักดำน้ำที่จะต้องทำงานใต้น้ำเป็นเวลานานๆ
ตัวเรือนมีขนาด 47 มิลลิเมตร ผลิตจากไทเทเนียมเกรด 23 ซึ่งวัสดุดังกล่าวยังสามารถเรียกได้อีกแบบว่า เกรด 5 ELI (extra low interstitials) ถือเป็นไทเทียมที่มีความบริสุทธิ์ที่สุดที่มีอยู่ มีคุณสมบัติโดดเด่นทางด้านความแข็งแกร่ง ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ และมีน้ำหนักเบาจึงช่วยให้สวมใส่สบาย อีกทั้งตัวเรือนยังถูกออกแบบให้มีขาสายแบบยึดกับสายยางจากตรงกลาง หรือ Central Lugs และมีฮีเลี่ยมวาล์วแบบแมนนวลอยู่ในตำแหน่ง 10 นาฬิกา

นอกจากนั้น เพื่อช่วยเพิ่มประโยชน์ในการใช้งาน Blancpain เลือกใช้ขอบหน้าปัดจับเวลาเซรามิคแทนที่จะใช้ขอบแซฟไฟร์อย่างทุกครั้ง และออกแบบให้มีความโค้งมากขึ้นและเอียงลงเข้าหาหน้าปัดที่กรุด้วยคริสตัลซึ่งช่วยขจัดความผิดเพี้ยนในการมองเห็น อีกทั้งเพื่อช่วยในการอ่านค่าให้ได้ชัดเจนที่สุดในความมืดจึงเลือกใช้งานหน้าปัดแบบใหม่ที่เรียกว่า absolute black หรือสีดำสนิทที่สามารถดูดซับแสงได้เกือบ 97%
ในขณะที่หลักชั่วโมงผลิตจากวัสดุเรืองแสงทรงกล่องสีส้มที่เปล่งแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นสีที่เลือกไว้ใช้สำหรับการบอกชั่วโมงและนาทีจึงมีความแตกต่างจากสีที่เอาไว้ใช้บอกข้อมูลสำหรับการจับเวลาดำน้ำนั่นเอง

ตรงด้านหลังบริเวณพื้นที่ของตัวเรือนชิ้นกลางมีลักษณะเป็นมุมเอียงซึ่งแตกต่างจากลักษณะกลมมนทรง ‘อ่าง’ ของ Fifty Fathoms ในโมเดลอื่นๆ รอยบากที่ใช้สำหรับขันสกรูยังได้รับการปรับปรุงใหม่แต่ก็ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความแข็งแกร่งเช่นเดิม มีตุ้มเหวี่ยงสีแอนทราไซต์ประทับโลโก้ Gombessa Expeditions ที่โดดเด่นด้วยรูปทรงทันสมัยพร้อมการเปิดช่องขนาดใหญ่ 3 ช่องไว้สำหรับชื่นชมการทำงานของกลไก สายยางสีดำใช้การขันสกรูเพื่อยึดกับขาของตัวเรือนที่มีการเสริมความแข็งแรงด้วยไทเทเนียมด้านใน
ทำให้มั่นใจว่าสายจะอยู่ในรูปทรงที่ถูกต้องในระยะยาว อีกทั้งยังมีสายสำหรับต่อความยาวในกรณีสวมใส่นาฬิกาบนชุดดำน้ำ หัวเข็มขัดล็อคสายมีความกว้างพิเศษและพินที่ถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์ได้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเสริมการยึดนาฬิกาไว้กับข้อมือและเพื่อให้ง่ายต่อการรัดสายส่วนต่อ

นาฬิกาเรือนนี้ไม่ได้ผลิตแบบจำกัด แต่เป็นรุ่นพิเศษ มีราคาอยู่ที่ 921,000 บาท
รายละเอียดทางเทคนิค : Blancpain Fifty Fathoms 70th Anniversary ACT2 : Tech Gombessa
- รหัสรุ่น : REF: 5019 12B30 64A
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 47 มิลลิเมตร
- ความหนา : 14.81 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน : ไทเทเนียม เกรด 23
- กระจก : Sapphire พร้อมเคลือบสารกันการสะท้อนแสง
- กลไก : อัตโนมัติ 13P8
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- กำลังสำรอง : 120 ชั่วโมง หรือ 5 วัน
- การกันน้ำ : 300 เมตร
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline