บลองแปง (Blancpain) ยลโฉมพยัคฆ์ลายเมฆอันงามสง่า กับสองเรือนเวลาเมติเยร์ ดาร์ท บูติกอิดิชั่นรุ่นพิเศษ เอ็กซ์คลูซีฟสำหรับไต้หวันโดยเฉพาะ
Blacnpain Formosa clouded leopard งามศิลป์บนเรือนเวลาจาก Métiers d’Art เพื่อไต้หวัน
เรือนเวลาคอลเลคชั่น เมติเยร์ ดาร์ท (Métiers d’Art) ซึ่งเดอะ แมนูแฟคเจอร์ (The Manufacture) หรือสำนักนวัตกรรมเรือนเวลาของบลองแปง (Blancpain) ได้รังสรรค์ขึ้นนั้น นำพาให้ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมอันหลากหลายอีกทั้งความสัมพันธ์กับโลกกว้างยังนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งผสมผสานทั้งการรังสรรค์เรือนเวลาด้วยความเชี่ยวชาญอันเป็นเลิศ ผนวกกับสุดยอดทักษะศิลป์อันทรงคุณค่า สู่การสดุดีธรรมชาติ
หมุดหมายแห่งการเดินทางของบลองแปงในครั้งนี้คือไต้หวัน กับการเผยโฉมเรือนเวลาสุดพิเศษที่มีเพียงสองเรือนในโลกเท่านั้น เพื่อถ่ายทอดความอัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตที่พบได้เฉพาะบนเกาะแห่งนี้ ทั้งยังมีความผูกพันกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกด้วย นั่นคือ เสือลายเมฆฟอร์โมซา (Formosa clouded leopard)
ในอดีต เสือลายเมฆฟอร์โมซา เป็นสัตว์พื้นถิ่นของเกาะไต้หวัน เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนถึงจิตอนุรักษ์ของผู้คนในเกาะ และยังเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเผ่าไพวัน (Paiwan) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมเคารพบูชา ปัจจุบันเสือลายเมฆเรียกได้ว่าแทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากแทบไม่มีประชากรเสือชนิดนี้หลงเหลืออยู่เลย
บลองแปงปรารถนาที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของเสือลายเมฆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะอันโดดเด่นของเสืออันงดงาม ผ่านศิลปะการรังสรรค์เรือนเวลาอันเป็นงานหัตถ์ศิลป์ ที่บลองแปงได้เพาะบ่มพัฒนาจนเชี่ยวชาญยิ่ง เสือลายเมฆนั้นถือเป็นสัตว์หายาก ส่วนศิลปะขั้นสูงในระดับที่บลองแปงร่วมสืบสานอยู่นี้ ก็เป็นความชำนาญที่หาใครเทียมได้ยากเช่นกัน อย่างการวาดภาพจิตรกรรมขนาดเล็กด้วยเทคนิคเคลือบสีลงยา (miniature enamel painting)
ในโลกนี้ก็มีผู้ทำนาฬิกาเพียงน้อยรายเท่านั้นที่สามารถทำได้ หรือเทคนิคชากุโด (shakudō) ซึ่งเป็นการนำทองแดงและทองคำมาผ่านกระบวนการทำปฏิกริยาให้เปลี่ยนสี ก็มีบลองแปงเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถทำได้
บลองแปงได้พัฒนาและสืบสานศิลปะหลากหลายแขนง รวมถึงมรดกศิลป์โบราณต่างๆ ซึ่งฝ่ายเมติเยร์ ดาร์ท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเวิร์คชอป ”เดอะ ฟาร์ม” ของบลองแปงในเมืองเลอ บราซูส์ (Le Brassus) ได้เพียรฝึกฝนและพัฒนาศิลปะหลักๆ 5 แขนงด้วยกัน ได้แก่ ศิลปะพอร์ซเลน, การวาดภาพจิตกรรมขนาดเล็กด้วยเทคนิคเคลือบสีลงยา, เทคนิคชากุโด, งานสลักมือ และ ศิลปะการคร่ำ (damascening) ซึ่งบลองแปงมักจะนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นพิเศษอยู่เสมอ รวมถึงหน้าปัดนาฬิการูปเสือลายเมฆไต้หวันนี้ ซึ่งเป็นเรือนเวลารุ่นพิเศษที่มีเพียง 2 เรือนเท่านั้นในโลก นับเป็นสุดยอดผลงานสร้างสรรค์อันปราณีตโดยช่างศิลป์ของบลองแปง
หน้าปัดเผยให้เห็นเสือลายเมฆกำลังเยื้องย่างอยู่ในป่า เสือชนิดนี้เป็นนักกายกรรมตัวยง และชอบแฝงตัวอยู่ตามต้นไม้และพงไพร ช่างศิลป์ได้ค่อยๆบรรจงวาดและแกะสลักรายละเอียดขนาดเล็ก ทั้งต้นไม้ใบไม้ รวมถึงรายละเอียดบนตัวของเสือลายเมฆอันงดงามน่าพิศมัย ที่ต้องอาศัยทั้งฝีมือวาดภาพลงบนเนื้อพอร์ซเลน, การสลัก และ ศิลปะชากุโด เพื่อส่งให้ลายขนแซมจุดของเสือลายเมฆ ที่ดูคล้ายเมฆนั้นยิ่งสมจริงและโดดเด่น
สำหรับรุ่นสลักลายนั้น ช่างศิลป์แห่งเดอะ แมนูแฟคเจอร์ใช้ความปราณีตถึงขั้นบรรจงประดับหนวดเสือทีละเส้นด้วยทองคำบางประดุจเส้นไหม โดยใช้เทคนิคการคร่ำทอง หน้าปัดนาฬิกาจึงเปรียบเสมือนงานหัตถ์ศิลป์ที่ก่อกำเนิดด้วยมือของช่างศิลป์ นับเป็นการผสมผสานทั้งสุดยอดสุนทรียะและฝีมืออันเลอเลิศเข้าไว้ด้วยกัน
ส่วนรุ่นหน้าปัดรูปเสือลายเมฆฟอร์โมซาเรือนที่เป็นรูปวาดอีนาเมลบนเนื้อพอร์ซเลนนั้นมีขนาด 33 มม. มาในตัวเรือนทองคำขาว พร้อมกรอบหน้าปัดล้อมเพชร ทำงานด้วยกลไกอินเฮ้าส์ขึ้นลานอัตโนมัติรหัส 1154 ที่ถูกขัดแต่งอย่างงดงามเผยโฉมอยู่ด้านหลังตัวเรือน ส่วนเรือนที่สร้างสรรค์จากศิลปะชากุโดคร่ำทอง มาในตัวเรือนเรดโกลด์ขนาด 45 มม. ด้านหลังตัวเรือนซึ่งเป็นกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ใส เผยให้เห็นกลไกขึ้นลานด้วยมือรหัส 15B ที่สลักลาย โกต์ เดอ เฌแนฟ (Côtes de Genève) อีกด้วย
ศิลปะการวาดภาพอีนาเมลขนาดเล็กอันวิจิตรบนพอร์ซเลน
การสร้างสรรค์จิตรกรรมอีนาเมลขนาดเล็ก เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่ช่างศิลป์บลองแปง ณ เวิร์คชอป “เดอะ ฟาร์ม” ในเมืองเลอ บราซูส์ สืบสานและพัฒนาฝีมือจนเชี่ยวชาญ การนำเทคนิคเคลือบสีลงยามาใช้กับหน้าปัดนาฬิกานั้นมีขั้นตอนแสนซับซ้อน เริ่มต้นจากการเตรียมผิวพอร์ซเลนให้เหมาะแก่การวาดลวดลาย ความงดงามของหน้าปัดอีนาเมลในแบบฉบับของบลองแปง ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน สลับกับการตากชิ้นงาน และเข้าเตาเผา เนื้อพอร์ซเลนทำจากผงแร่ควอร์ตซ์, ผงแร่เฟลด์สปาร์ (feldspar) และดินคาโอลิน (kaolin) นำไปผสมน้ำให้จับตัวเล็กน้อย จากนั้นนำไปกรองเพื่อกำจัดสิ่งที่อาจปะปนหรือฝุ่นผงออก แล้วจึงนำไปขึ้นรูปในพิมพ์หน้าปัดนาฬิกา
เมื่อถอดจากพิมพ์แล้วจะตากไว้นาน 24 ชั่วโมง ก่อนนำไปเผาที่อุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง การเข้าเตาเผาครั้งแรกจะช่วยให้หน้าปัดพอร์ซเลนแข็งตัวขึ้นเพื่อนำไปเคลือบลงยาต่อไป เมื่อเคลือบลงยาด้วยมือทีละชิ้นแล้ว จะต้องนำไปเผารอบสองนาน 24 ชั่วโมง ณ อุณหภูมิ 1,300 องศาเซลเซียส เพื่อให้เงางาม โปร่งแสง และได้เนื้อแกร่งทนทาน และก่อนที่หน้าปัดซึ่งผ่านกระบวนการต่างๆมาเรียบร้อยแล้วจะมีโอกาสได้สัมผัสกับปลายพู่กัน ช่างศิลป์จะทำการเสก็ตช์ภาพที่ต้องการก่อน ซึ่งมักจะมีการลองหลากหลายรูปแบบเพื่อประเมินหาดีไซน์ที่ดีที่สุด
ช่างศิลป์บลองแปงให้ความสำคัญกับความสมดุล ไม่เฉพาะในแง่มุมการดีไซน์เท่านั้น แต่ยังต้องการให้ดีไซน์ดูงดงามกลมกลืนกับรายละเอียดอื่นๆบนหน้าปัดอีกด้วย เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะใช้ดีไซน์แบบใด ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมสี โดยผสมผงสีอีนาเมลกับน้ำมันสน จากนั้นผู้วาดจะผสมสีด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้โทนที่ต้องการ ซึ่งบลองแปงยังได้สร้างสรรค์เฉดสีเฉพาะขึ้นมาเองหลากหลายเฉด เมื่อผสมสีเรียบร้อยแล้ว ถึงจะลงเริ่มลงมือวาดลาย
เนื่องจากหน้าปัดนาฬิกามีขนาดเล็ก ช่างศิลป์จึงต้องใช้พู่กันที่มีขนาดเล็กมาก และเนื่องจากสีที่ใช้เป็นสีเคลือบลงยาอยู่แล้ว เมื่อวาดเสร็จจะต้องนำไปเข้าเตาเผาต่อที่อุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส หน้าปัดแต่ละชิ้นจึงมีความเป็นเอกลักษณ์ ผู้ครอบครองนาฬิกาพอร์ซเลนอีนาเมลของบลองแปงแต่ละคนจึงจะได้เป็นเจ้าของนาฬิกาที่ไม่มีใครเหมือนและมีเพียงเรือนเดียวเท่านั้นในโลก
การสลักลายและการสร้างสรรค์หน้าปัดนาฬิกาด้วยเทคนิคชากุโด
ชากุโด เป็นศิลปะญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมานานหลายร้อยปี ซึ่งเหล่าซามูไรนิยมใช้ตกแต่งลายดาบ (katana) ของตน โดยเหล่าช่างศิลป์บลองแปงได้ประยุกต์นำมาใช้กับการทำหน้าปัดนาฬิกาที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร การนำศิลปะชนิดนี้มาใช้กับนาฬิกานั้นริเริ่มมาจากจิตวิญญาณความคิดสร้างสรรค์ของแบรนด์ ที่มักจะค้นคว้าหาศิลปะแขนงใหม่ๆ และลวดลายที่ไม่เหมือนใครมาประทับไว้ในเรือนเวลาอยู่เป็นนิจ
ชากุโด คือการเปลี่ยนสีของทองคำและทองแดงจากโทนสีเหลือง/ส้มตามธรรมชาติให้กลายเป็นสีดำหรือเทานวล อธิบายง่ายๆก็คือการนำดิสก์หน้าปัดนาฬิกาทรงกลมไปจุ่มลงในสารเคมีอุ่นๆซึ่งประกอบด้วยคอปเปอร์ อะซิเตท (copper acetate) สีเขียวอมเทาเรียกว่า โรกุโช (rokushō) จนกว่าจะได้โทนสีที่ต้องการ
ภูมิปัญญาโบราณนี้มักให้ผลลัพธ์ที่ไม่แน่ไม่นอน และอาจเกิดความเสียหายได้ง่ายถึงแม้จะทำด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดก็ตาม ดิสก์หน้าปัดนาฬิกาจะถูกนำไปจุ่มแล้วเอาขึ้นมาล้างและเช็คสีซ้ำหลายครั้ง เมื่อได้โทนสีที่ต้องการจึงเป็นอันสำเร็จขั้นตอนชากุโด ถึงแม้ว่าการทำปฏิกริยากับสารจะเป็นหัวใจหลักของศิลปะแขนงนี้
บลองแปงก็ยังได้ผสมผสานศิลปะแขนงอื่นๆเพิ่มเติมเข้าไปอีก ทั้งการแกะลาย, การคร่ำทอง และการสลักชิ้นงาน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีขั้นตอนการชากุโดซ้ำระหว่างกระบวนการเหล่านี้อีกหลายครั้ง เพื่อให้หน้าปัดมีสีและมิติที่ยิ่งงดงาม เรือนเวลาบลองแปงที่รังสรรค์ด้วยเทคนิคชากุโดแต่ละเรือนจึงมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ลึกซึ้งกว่าสร้างสีสันหรือการสลักที่ดูแตกต่าง แต่ละเรือนจึงมีความพิเศษและมีเพียงเรือนเดียวเท่านั้นในโลก
เนื่องจากจะไม่มีเรือนไหนที่สร้างสรรค์ออกมาได้เหมือนกันอย่างแน่นอนและเรือนเวลารูปเสือลายเมฆฟอร์โมซานี้เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความพิเศษได้ชัดเจนที่สุด การสร้างสรรค์นาฬิกาสุดเอ็กซ์คลูซีฟเรือนนี้เริ่มจากการเสก็ตช์ภาพท่วงท่าเสือและฉากป่าลงบนกระดาษก่อน ใช้ทองคำแกะลายเป็นรูปตัวเสือและลวดลายอื่นๆที่ต้องอาศัยเครื่องมือที่มีความแม่นยำสูง และยังต้องนำทองคำแกะลายเหล่านี้ไปชุบน้ำเกลือเพื่อให้ได้เฉดสีตามที่ต้องการ เช่น สีเส้นขน
จากนั้นนำมาประกอบลงบนหน้าปัดโดยใช้หมุดขนาดเล็กยึดเข้ากับรูเล็กๆที่เจาะรอไว้บนหน้าปัด จากนั้นตีเก็บปลายหมุดด้านหลังเพื่อยึดให้คงที่ ในสมัยโบราณมักใช้เทคนิคชากุโดควบคู่กับการคร่ำ ซึ่งเป็นศิลปะโบราณในการเซาะร่องลายแล้วตอกทองคำฝังลงไป โดยไม่ปรากฏว่ามีการใช้กาวแต่อย่างใด เพราะการตอกเป็นการช่วยให้ทองคำฝังแน่นบนเนื้อวัตถุ จากนั้นจึงค่อยขัดตกแต่งให้เรียบเนียน
บลองแปงได้ผสมผสานทั้งเทคนิคชากุโด การแกะสลัก และการคร่ำ ซึ่งสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของบลองแปงซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและเป็นผู้เดียวในโลกแห่งเรือนเวลา ที่นำศิลปะเหล่านี้มาผสมผสานเข้าไว้ด้วยกัน
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/