ส่วนประกอบของนาฬิกาที่เรามักจะมองแต่เรื่องของวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตโดยที่บางครั้งลืมไปว่าหน้าที่ของ Bezel ที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่ 60 กว่าปีที่แล้ว คือ การเพิ่มฟังก์ชั่นการทำงานของนาฬิกาให้มีมากขึ้นโยที่ไม่ต้องเข้าไปยุ่งกับกลไก
Bezel of Watches กับประโยชน์ที่มีมากกว่าที่คิด
Bezel ถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่เราคุ้นเคยและเห็นกันมาจนชินตา ซึ่งนาฬิกามากมายหลายรุ่นที่มีขายอยู่ในท้องตลาด ยกเว้นพวก Dressed มักจะมีขอบ Bezel ติดตั้งมาด้วยจากโรงงาน ซึ่งหน้าที่ของมันไม่ใช่แค่การเป็นส่วนประกอบของนาฬิกาเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับ Bezel เป็นชิ้นส่วนวงแหวนที่ถูกวางเอาไว้รอบๆ ของกระจกนาฬิกา และเริ่มเข้ามาเป็นส่วนประกอบของนาฬิกาในช่วงทศวรรษที่ 1950 เมื่อบรรดาผู้ผลิตนาฬิกาเริ่มมองเห็นแล้วว่าพวกเขาจะเพิ่มฟังก์ชั่นการทำงานของนาฬิกาให้มากขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องไปยุ่งกับการปรับแต่งกลไก ซึ่งในปัจจุบัน Bezel ที่มีอยู่มีทั้งแบบยึดตายตัว แบบหมุนได้ทิศทางเดียว (โดยเฉพาะพวกนาฬิกาดำน้ำ) หรือแบบหมุนได้ 2 ทาง (สำหรับนาฬิกา Outdoor หรือ Adventure)
อย่างที่เกริ่นมาข้างต้น จุดมุ่งหมายในการนำ Bezel มาใช้ในช่วงแรกคือ การเพิ่มฟังก์ชั่นในการทำงานให้กับนาฬิกา ดังนั้น เราจึงเห็น Bezel ประเภทต่างๆ ปรากฏอยู่ตามนาฬิกาประเภทต่างๆ ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด ซึ่งเท่าที่เราลองสำรวจดูจะพบกับ Bezel ประเภทต่างๆ ตามนี้
-นับเวลาเดินหน้า : อันนี้ส่วนใหญ่จะพบในนาฬิกาดำน้ำเป็นสเกลแบบ 0-60 ซึ่งอาจจะใช้จับเวลาในหน่วยของวินาที หรือนาทีได้ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน ซึ่งตามปกติขอบนี้สามารถหมุนในแบบทิศทางเดียว ทวนเข็มนาฬิกา เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และในกรณีที่เป็นนาฬิกาดำน้ำในช่วงของหลักสเกล 0-15 หรือ 0-20 จะทำเป็นสีพิเศษเพื่อให้สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน เพื่อให้นักดำน้ำสามารถทราบเวลาที่ใช้งานและช่วงเวลาที้เตรียมตัวปรับสภาพก่อนขึ้นจากผิวน้ำ
-นับถอยหลัง : เป็นอีกสเกลที่เจอบ่อยและเป็นโดยจะมีการเรียงตัวเลขที่ค่อนข้างละเอียดสำหรับเอาไว้ให้ใช้จับเวลาในหน่วย 60-0 ส่วนจะวินาที หรือนาทีขึ้นอยู่กับเข็มที่นำมาใช้ร่วมด้วย โดยสเกลของระบบนี้จะตัวเลขที่ละเอียด และมีการเรียงในแบบทวนเข็มนาฬิกา เพื่อประโยชน์ในการใช้จับเวลา
–Tachymeter : หลายคนที่ชื่นชอบนาฬิกาแบบโครโนกราฟอาจจะเคยผ่านตากับคำว่า Tachymeter พร้อมตัวเลขที่มีตั้งแต่สามหลักไล่ไปจนกระทั่งเหลือ 2 หลัก ซึ่งถูกติดอยู่บนขอบวงนาฬิกา หรือ Bezel หรือบางรุ่นอาจจะตัวข้างในหน้าปัดเลย แน่นอนว่าหลายคนสงสัยว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร และ Tachymeter มีหน้าที่อะไรกันแน่
Tachymetre หรือ Tachymeter หรือ Tachymetric Scale แล้วแต่การเรียกของแต่ละสถานที่ คือหน่วยสำหรับใช้ในการอ้างอิงกับการวัดความเร็ว โดยตัวเลขที่ระบุอยู่บน Bezel นั้นจะมีหน่วยเป็นกิโลเมตร/ชั่วโมง และอ้างอิงจากการวัดในช่วงระยะทางหนึ่ง โดยตามหลักการแล้วถ้าเราต้องการรู้ว่าความเร็วที่กำลังแล่นอยู่นั้นมีความเร็วอยู่ที่เท่าไร ก็ให้เริ่มกดปุ่มจับเวลาเพื่อให้เข็มวินาทีของระบบโครโนกราฟเดิน และเมื่อแล่นจนครบระยะทาง 1 กิโลเมตรแล้วก็ให้กดปุ่มหยุดเข็ม ถ้าเข็มชี้ไปที่ตัวเลขไหน นั่นคือความเร็วที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น
ตรงนี้หมายความว่า ถ้ารถวิ่งเร็วมาก ก็เข็มวินาทีก็จะใช้เวลาน้อยลง เราจึงสังเกตเห็นว่าตัวเลขที่อยู่ใกล้กับเลข 12 บนหน้าปัดมากที่สุด คือตัวเลขที่สูงสุด และจากนั้นก็ลดหลั่นลงมา
นอกจากนั้น Tachymeter ยังสามารถใช้นับกำลังการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นผลิตจนผลิตเสร็จก็ได้เช่นกัน เช่น ผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น ในเวลาผลิตเสร็จ 30 วินาที จะตรงกับ Scale เลข 120 ก็แสดงว่ากำลังการผลิตของชิ้นนี้คือ 120 ชิ้นต่อชั่วโมง หรืออาจจะนับเป็นทุก 10 ชิ้น (Base 10) ก็ได้ เช่น พอผลิตครบ 10 ชิ้น แล้วเข็มไปหยุดตรงจุดไหนก็เอา 10 คูณเข้าไป ก็จะได้ตัวเลขจำนวนการผลิตต่อชั่วโมงออกมา เช่น ผลิต 10 ชิ้นแล้วเข็มตกอยู่ที่ตัวเลข 80 ก็หมายความว่า งานนั้น ถ้ามีการผลิตแบบคงที่ก็จะผลิตของได้ 800 ชิ้นในเวลา 1 ชั่วโมง
ในปัจจุบันนาฬิการะบบโครโนกราฟที่มีตัวเลขของ Tachymeter มีให้เลือกมากมายหลากหลายรุ่น และหลายระดับราคา ทั้งแบบไขลานอย่าง Omega Speedmaster Professional ในตระกูล Moonwatch หรือในกลุ่มนาฬิกาอัตโนมัติ และนาฬิกาควอตซ์ก็มีให้เลือกใช้งานขึ้นอยู่กับงบประมาณและความต้องการ
-เข็มทิศ : สำหรับนาฬิกาบางรุ่นที่เน้นการใช้งานแบบ Outdoor โดยเฉพาะพวกเดินป่า ขอบ Bezel สามารถหมุนได้ 2 ทาง และมีตัวเลขแสดงทิศเอาไว้ด้วยเพื่อใช้ในการเดินทาง โดยการใช้คือ หมุนขอบทิศให้ตัวอักษรตัว S อยู่กึ่งกลางเวลาปัจจุบันกับ 12.00 น. ตัวอย่างเช่น ถ้าขณะนี้เวลา 08.00 น. หมุนขอบทิศให้ตัวอักษรตัว S อยู่ระหว่างกึ่งกลางเวลาปัจจุบันกับ 12.00 น. ก็คือตำแหน่ง 10.00 น. หันเข็มชั่วโมงเข้าหาพระอาทิตย์ในแนวราบ ก็สามารถอ่านทิศที่ขอบได้เลย หรือถ้าขณะนี้เวลา 16.00 น. หมุนขอบทิศให้อักษรตัว S อยู่ระหว่างกึ่งกลางเวลาปัจจุบันกับ 12.00 น. ก็คือตำแหน่ง 14.00 น. หันเข็มชั่วโมงเข้าหาพระอาทิตย์ในแนวราบ ก็สามารถอ่านทิศที่ขอบได้เลย
-GMT : สำหรับใช้ในการบอกเวลาที่ 2 หรือเวลาที่ 3 ของนาฬิกาในกลุ่ม GMT ซึ่งจะมีเข็มพิเศษสำหรับบอกเวลาในหน่วน 24 ชั่วโมงเพิ่มมาอีกเข็ม เวลาใช้งานก็แค่หมุนขอบที่มีตัวเลขในแบบ 24 ชั่วโมงบน Bezel ของเมืองที่เราต้องการอยากทราบไปให้ตรงกับเข็ม GMT ของตัวนาฬิกาแค่นี้เราก็จะได้เวลาที่ 2 หรือ 3 แล้ว
-Slide Rule : อันนี้สำหรับนาฬิกากลุ่มการบิน หรือ Aviator Watch ซึ่งจะเป็นสเกลที่มีหน่วยย่อย และถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการคำนวนค่าหลายๆ อย่างที่จำเป็นสำหรับใช้ในการบิน เช่น การคำนวนปริมาณเชื้อเพลิงในถัง หรือแม้แต่การเป็นเครื่องคิดเลขในการหาค่าต่างๆ ซึ่งผู้ใช้จะต้องมีความรู้และทราบถึงเทคนิคในการใช้งานด้วย
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline