ตอนที่ท่องอยู่ตามเว็บบอร์ดหรือในกลุ่ม FB คำถามหนึ่งที่ผมชอบเจออยู่เสมอในกลุ่มคนที่ใช้นาฬิกาที่มีกลไกอัตโนมัติ คือ จะต้องใช้เวลานานเท่าไร ลานของกลไกอัตโนมัติถึงจะเก็บพลังงานจนเต็มถัง ? ซึ่งนาฬิกาบางรุ่นที่มีตัว Power Reserve Indicator บอกเอาไว้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะสามารถเช็คจากตรงนี้ได้เลย
Automatic Calibre กับทดลองง่ายๆ…เต็มถังใช้เวลาแค่ไหน
จริงๆ แล้ว ประเด็น Automatic Calibre นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ว่าจะต้องใช้กี่ชั่วโมงถึงจะเต็มถังหรอก แต่มันดันไปเกี่ยวพันกับเรื่องที่ว่าทำไมนาฬิกาของบางท่านถึงหยุดเดินเร็วหลังจากที่ถอดวางเอาไว้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นก็ใส่มานานหลายชั่วโมงแล้ว จนนำไปสู่การวิเคราะห์ต่างๆ ถึงขั้นลุกลามใหญ่โตคิดว่านาฬิกาของตัวเองเก็บพลังงานไม่ได้แล้ว
พอดีในกรุของผมมีนาฬิกาอยู่เรือนหนึ่งที่มี Power Reserve Indicator ก็เลยคิดว่าลองทำการทดลองแบบง่ายๆ บ้านๆ ดู โดยตั้งโจทย์ที่ว่า หยิบมาใส่เลยแบบไม่มีการขึ้นลาน ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าใครที่มีนาฬิกาหลายเรือนอาจจะขี้เกียจแม้แต่กระทั้งจะคลายเกลียวเม็ดมะยมเพื่อตั้งเวลา (เหมือนผม) แต่จะเลือกเรือนที่มีเวลาใกล้เคียงกับตอนที่จะใส่มากที่สุด แล้วก็เขย่าเอาเลย…ขี้เกียจซะไม่มี
วันที่อยากจะทดลองก็ไปเหลือบเจอเจ้า Seiko Prospex Landmaster ที่หมดพลังเกลี้ยงถัง และเวลาก็อยู่ในช่วงที่ผมกำลังจะต้องออกจากบ้านไปทำงาน
ต้องบอกเอาไว้ก่อนนะครับว่า การทดลองนี้อ้างอิงจากพฤติกรรมรายวันของผม ซึ่งบางคนอาจจะตรงหรือไม่ตรง แต่แค่อยากให้เห็นภาพรวมคร่าวๆ ว่า บางครั้งคนที่หยิบนาฬิกาอัตโนมัติของตัวเองมาใส่จากจุดที่ลานไม่มีเลย และไม่ได้มีการไขขึ้นลาน พร้อมกับคิดว่าที่ใส่มาตลอด 2-3 ชั่วโมงแล้ว ลานน่าจะเต็ม แต่พอถอดวางเอาไว้สักพักลานกลับหมดและหยุดเดิน อาจจะมาจากเรื่องที่ว่ากิจกรรมที่คุณทำตลอดที่สวมนาฬิกาอาจจะไม่สามารถสร้างพลังสะสมมากพอก็ได้ ลองค่อยๆ วิเคราะห์กันเป็นจุดๆ ไป
ซึ่งจากการทดลองของผมกับเจ้า Landmaster พบว่า ผมต้องใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมงกว่าๆ ถึงจะสามารถทำให้เข็ม Power Reserve Indicator ชี้นจาก E ไปเป็น F เรียกว่าตั้งแต่ 7 นาฬิกาไปจนถึงบ่ายโมงครึ่งกว่าๆ ผมไม่มีการถอดนาฬิกาเลย และงานส่วนใหญ่ก็จะนั่งโต๊ะและเน้นการพิมพ์งานที่คอมพ์พิวเตอร์ตลอดเวลาตามแบบฉบับของมนุษย์ออฟฟิศ
แน่นอนว่าตัวเลขนี้อ้างอิงได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะตลอดทั้งวัน พฤติกรรมหรือกิจกรรมของแต่ละท่านอาจจะแตกต่างจากผมไม่มากก็น้อยครับ
หมายเหตุ : บางภาพอาจจะเวลาไม่ถึงกับตรงเป๊ะๆ เพราะในจังหวะที่จะต้องถ่ายภาพ ต้องขับรถ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ก็เลยไม่สะดวกที่จะบันทึกภาพ
ภาพ 1 : กิจกรรมการทดลองเริ่มต้นขึ้นตอน 7.00 น. หลังจากที่แต่งตัวเสร็จ ผมก็คาดนาฬิกา และเดินไปหิ้วสัมภาระเพื่อไปที่รถ เปิดประตูบ้าน และมีการเขย่าข้อมือเล็กน้อย แต่ไม่ได้ถึงกับตั้งใจเขย่ามากเท่าไร
ภาพที่ 2 : ผ่านมา 10 นาที เข็มของ Power Reserve Indicator แทบจะไม่กระดิกจากตัว E เลย
ซึ่งถึงตอนนี้กิจกรรมหลักของผมคือจับพวงมาลัย และมือซ้ายแทบไม่ต้องทำอะไร เพราะเป็นรถเกียร์อัตโนมัติ อาจจะมีบ้างที่เอื้อมมาจับคันเกียร์เพื่อเปลี่ยนจาก D มาเป็น N หรือสลับกันเมื่อรถต้องแล่น
ภาพที่ 3 : ผ่านมาได้ครึ่งชั่วโมงแรก จะเห็นได้ว่า การขับรถของผมไม่ได้ช่วยในเรื่องของการสร้างพลังงานเข้ามาเก็บในกระปุกลานเลย และเข็มก็ยังแทบจะไม่พ้นจากแถบแดงเลย เรียกว่า มีพลังงานสำรองอยู่ในกระปุกลานแค่ 15-20% เท่านั้น
ภาพที่ 4 : ผ่านมา 1 ชั่วโมง หรือ 8.00 น. ชีวิตของผมยังอยู่บนถนน มือซ้ายที่คาดนาฬิกาก็ยังทำหน้าที่ในการจับ และหมุนพวงมาลัย ตัดสลับกับการจับคันเกียร์ ดังนั้น อย่าคาดหวังเลยว่าจะมีการสำรองพลังงานได้มากอย่างที่คิด
ภาพที่ 5 : ผ่านมา 3 ชั่วโมง หรือ 10.00 น. เข็มขยับเลยครึ่งถังมาได้เล็กน้อย โดยในช่วง 8.30-10.00 น. ผมนั่งพิมพ์บทความตลอดชั่วโมงครึ่ง การขยับของมือมีอย่างแน่นอน เพียงแต่ด้วยรูปแบบของการพิมพ์อาจจะสร้างแรงเหวี่ยงของโรเตอร์ในกลไกอัตโนมัติได้ไม่มากเท่ากับการทำกิจกรรมอย่างอื่น
ภาพที่ 6 : ช่วง 10.00-12.00 น. ผมมีประชุม การใช้มือคงน้อยกว่าใช้ปาก แต่ทว่าก็มีการขยับท่าทางในระหว่างการพรีเซ็นต์งานบ้าง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเข็มขยับขึ้นมาอยู่ในระดับ 80% แล้ว ผ่านมา 5 ชั่วโมงนับตั้งแต่ออกจากบ้าน แต่ระดับพลังงานก็ยังไม่เต็มสักที
ภาพที่ 7 : สุดท้ายแล้ว เข็มกระดิกมาอยู่ในสภาพเต็มถังเอาตอนช่วงเวลา 13.26 น.โดยประมาณ เบ็ดเสร็จรวมเวลามากกว่า 6 ชั่วโมงที่กระปุกลานจะสามารถเก็บพลังงานเอาไว้จนเต็ม สำหรับบางคนที่มีกิจกรรมการทำงานที่มีการขยับมือมากกว่า อาจจะใช้เวลาน้อยกว่าผมก็ได้
Fanpages : https://www.facebook.com/anadigiwatch