ใน Basel World 2018 ที่ผ่านมา Seiko เขย่าตลาดนาฬิกาดำน้ำเพื่อเอาใจบรรดาแฟนๆ ที่ชื่นชอบนาฬิกาทรง Tuna Can ด้วยการเปิดตัว 4 รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งเราเชื่อว่าไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ บรรดาคนรัก Tuna Can ทั่วโลกได้เสียเงินกันถ้วนหน้าอย่างแน่นอน
4 อาหารกระป๋องจาก Seiko Tuna Can สำหรับปีนี้
งาน Basel World 2018 ถือเป็นสวรรค์สำหรับแฟนๆ ของ Seiko ที่ชื่นชอบนาฬิกาในกลุ่มดำน้ำ เพราะนอกจากรุ่นทั่วไปที่มีการเปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดแล้ว ในกลุ่มของอาหารกระป๋อง หรือเจ้า Tuna Can ก็ถือว่ามีสีสันและอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจออกมาเรียกเงินจากกระเป๋าของบรรดาแฟนๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นเรามาดูกันได้เลย
1.Seiko Prospex 1978 Quartz Saturation Diver’s Re-creation Limited Edition หรือ S23626/SBBN040 : หลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อ Golden Tuna รหัส PYF018 (7549-7009) ที่เปิดตัวออกมาเมื่อปี 1978 และถือเป็นนาฬิกาทรง Tuna Can แบบควอตซ์รุ่นแรก โดยทำตลาดในระหว่างปี 1978-1985 ซึ่งแน่นอนว่าชื่อนี้นั้นสุดคลาสสิคสำหรับแฟนๆ และในอีก 40 ปีให้หลัง ทาง Seiko จัดการปัดฝุ่นและ Re-Issue นาฬิการุ่นนี้ออกมาขายในแบบ Limited Edition ในชื่อยาวเหยียดตามบรรทัดข้างบน พร้อมกับรหัส S23626 หรือ SBBN040 สำหรับขายในญี่ปุ่น
แน่นอนว่านี่คือการสร้างสรรค์ขึ้นมาจาก Golden Tuna แต่มีการปรับสเป็กให้ทันสมัยขึ้น โดยที่ยังคงกลิ่นและอิทธิพลต่างๆ เอาไว้ โดยเฉพาะรูปแบบของเข็มทั้งชั่วโมง นาที และวินาที รวมถึงการให้สีบนตัวเรือนในแบบดำทอง เช่นเดียวกับบรรดามาร์คเกอร์ของหลักชั่วโมงที่เป็นทรงกลม และตัวอักษรที่อยู่บนหน้าปัดก็ไม่ได้เยอะเหมือนกับ Tuna Can รุ่นปัจจุบัน และต้องขอแสดงความเสียใจด้วยสำหรับแฟนๆ ของ MarineMaster ที่คิดว่าในรุ่นนี้จะมีคำนี้ปรากฏบนหน้าปัดเหมือนกับ Tuna รุ่นอื่นๆ ในรุ่นนี้ไม่มีมาด้วยเพราะทาง Seiko ต้องการคงกลิ่นอายของ Golden Tuna รุ่นดั้งเดิมเอาไว้ให้ครบถ้วนที่สุด
ตัวนาฬิกามากับขนาด 49.4 มิลลิเมตรสำหรับเส้นผ่านศูนย์กลาง และ 15.3 มิลลิเมตรสำหรับความหนา ซึ่งก็ใกล้เคียงกับตัว Tuna Can 1000M แบบควอตซ์ที่ขายอยู่ในตลาด โดยตัวเรือนผลิตจากไทเทเนียมและมีการเคลือบสีทองตามจุดต่างๆ เช่น เม็ดมะยม ส่วนเกราะก็ยังเป็นแบบเซรามิก Zirconia เหมือนกับรุ่นควอตซ์ทั่วไป เช่นเดียวกับกลไกก็เป็นแบบ 7C46 Day/Date ที่แฟนๆ Tuna คุ้นเคยกันดี พร้อมกับอัพเกรดความสามารถในการกันน้ำจาก 600 เมตรในรุ่นเดิมมาเป็น 1,000 เมตร พร้อมกระจกแบบ Sapphire
1,978 เรือนเท่านั้นตามปีที่เปิดตัวออกสู่ตลาด และจะเริ่มวางขายประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนราคาตั้งเอาไว้ที่ 240,000 เยน หรือคิดเป็นเงินไทยก็ 72,000 บาท
2.Seiko Prospex 1978 Quartz Saturation Diver’s Commemorative Limited Edition หรือ S23627/SBBN042 : รุ่นแรกเป็น Re-Issue ส่วนรุ่นนี้เป็นการผลิตเพื่อการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของ Tuna Can Quartz เรือนแรกที่ออกสู่ตลาด และถือเป็น Limited Edition ของ Tuna Can Quartz 1000m เรือนแรก นับจากปี 2015 ซึ่งก่อนหน้านั้น Seiko เปิดตัวรุ่น SBBN029 หรือ Platinum Ocean ออกมา
ไม่ต่างจาก Limited ที่เปิดตัวออกมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว นาฬิกาเรือนนี้ยึดรูปแบบของ Tuna Can Quartz 1000m เอาไว้ โดยเฉพาะรูปทรงของเข็ม และเทคโนโลยีของเกราะที่เรียกว่า Cermet ซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกกับรุ่น SBBN029 และอีกรุ่นที่เป็นกลไกอัตโนมัตินั่นคือ SBDX016 เพียงแต่คราวนี้แทนที่จะเป็นสีเงินและทอง ทาง Seiko เติมลูกเล่นให้เป็นสีม่วงอ่อนผสมกับทอง หรือ Violet Golden แทน พร้อมกับความแวววาวเหมือนเดิม
อีกสิ่งที่ต่างออกไปคือหน้าปัด งานนี้มีแอบเซ็งกันเล็กน้อย เพราะไม่มีคำว่า MarineMaster อีกต่อไปแล้ว แต่มาพร้อมกับโลโก้ Prospex ที่เป็นการผสมของคำว่า PX ส่วนกลไกก็เหมือนเดิมเป็นรหัส 7C46 ที่เข้ามาเทคโอเวอร์ Tuna Can Quartz ทุกรุ่นตั้งแต่ปี 1986 ที่มีความเที่ยงตรง +/-15 วินาทีต่อเดือน
ราคาขายเอยู่ที่ 300,000 เยน หรือ 90,000 บาท แรงตามสไตล์ Tuna Can Quartz Limited และจะมีการผลิตอกมาเพียง 800 เรือนเท่านั้น ส่วนการวางขายก็น่าจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับ SBBN040
3-4.Seiko Prospex Lowercase Golden Tuna&PADI – SNE498P1 & SNE499P1 : ช่วงแรกที่เปิดตัวออกมา แทบจะเอาตัวไม่รอด โดยเฉพาะในบ้านเราที่ไม่ฮิตเอาเสียเลย ซึ่งเรื่องของการกินแสงหรือการใช้กลไกแบบ Solar เราว่าไม่ใช่ประเด็นเท่ากับขนาดของตัวเรือนที่ดูเหมือนว่าจะอออกมาเน้นกลุ่ม Unisex มากเกินไป ทำให้รู้สึกว่าไม่ใหญ่สะใจเมื่ออยู่บนข้อมือสำหรับแฟนๆ ที่ชื่นชอบ Tuna Can
โอเค…ในรุ่นใหม่มากับขนาดตัวเรือนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 46.7 มิลลิเมตร ซึ่งเห็นตัวเลขแล้ว ต้องบอกว่างานนี้มีลุ้นขึ้นมาอีกนิด เพราะว่าขนาดใหญ่ขึ้นกว่ารุ่นเดิมที่ใช้รหัส SBDNXX ทั้งหลายซึ่งมีตัวเลขแค่ 45 มิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนความหนาก็เพิ่มอีกนิดเป็น 12.4 มิลลิเมตร แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้มากอะไร ดังนั้นสาวก Tuna Can ที่เน้นความหนาและใหญ่ อาจจะต้องไปลองทาบก่อนตัดสินใจ เพราะนาฬิกาทรงกลมที่มีขาสั้นๆ นั้น ทำเราเจ็บมาหลายครั้งแล้ว
ในรุ่นนี้จะมีขายทั้งดำ-ทองที่อ้างอิงรูปลักษณ์มาจาก Golden Tuna และตัวดำ-แดง พร้อมหน้าปัดสีฟ้าลายคลื่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเวอร์ชัน PADI พร้อมกับการเปลี่ยนเข็มขั่วโมงและนาทีให้มีรูปทรงคล้ายๆ กับชุดเข็มที่ใข้อยู่ใน SBBN040 ตัวเรือนเป็นสแตนเลสสตีล และเกราะเป็นพลาสติกเคลือบสี ส่วนกลไกเป็น Solar ในรหัส V157 ที่มีความเที่ยงตรงในระดับ +/-15 วินาทีต่อเดือน และกันน้ำ 200 เมตร
ราคาขายเท่าที่เปิดเผยออกมา อยู่ที่ 420 ยูโร หรือราวๆ 17,000 บาท
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/