มาทำความเข้าใจเรื่องการกันน้ำของนาฬิกากัน (2)

0

ต่อเนื่องจากตอนที่แล้วเกี่ยวกับเรื่องของระดับการกันน้ำบนนาฬิกา และในตอนนี้เราจะมาคุยถึงเรื่องมาตรฐานการทดสอบ และข้อกำหนดในเชิงคุณสมบัติที่นาฬิกาดำน้ำ หรือ Diving Watch จะต้องผ่านให้ได้ ก่อนที่จะถูกนำมาใช้งานจริง

มาทำความเข้าใจเรื่องการกันน้ำของนาฬิกากัน (2)
มาทำความเข้าใจเรื่องการกันน้ำของนาฬิกากัน (2)

มาทำความเข้าใจเรื่องการกันน้ำของนาฬิกากัน (2)

- Advertisement -

ก่อนหน้านั้น เราได้เล่าถึงเรื่องของความสามารถในการกันน้ำของนาฬิกาปกติ ซึ่งจะมีรูปแบบการทดสอบที่แตกต่างจากนาฬิกาดำน้ำ และตรงนั้นจะส่งผลต่อความสามารถในการกันน้ำซึ่งมีขีดจำกัดแม้ว่าบนหน้าปัดจะเขียนเอาไว้ว่า Water Resistance 100m ก็ตามที

คราวนี้ในตอนนี้จะมาดูเรื่องของนาฬิกาดำน้ำกันบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าพวกคุณสามารถเชื่อมั่นความสามารถในการกันน้ำของนาฬิกาเหล่านี้ได้ เพราะมันได้รับการพัฒนาและเกิดมาเพื่อการใช้งานใต้น้ำอยู่แล้ว อีกทั้งมาตรฐานในการทดสอบตามแบบ ISO จะมีความแตกต่างออกไป และมีความเข้มงวดด้วย

ตามปกติแล้ว นาฬิกาดำน้ำจะมีความสามารถในการกันน้ำในระดับที่เกิน 1.0MPa เทียบเท่าแรงดัน 10 ATM หรือ 100 เมตร ซึ่งตามปกติ นาฬิกาที่ขายส่วนใหญ่ ถ้าไม่ดำลึกสุดใจจนเกินไป โดยทั่วไปแล้วจะมีความสามารถในการทนต่อแรงดันระดับเทียบเท่าความลึก 200-300 เมตร แต่ก็มีบางรุ่นที่ไปไกลกว่านั้นในระดับเลข 4 หรือ 5 หลักก็ยังมี

นาฬิกาดำน้ำตามปกติแล้ว จะมีการทดสอบตามาตรฐาน ISO6425 ซึ่งจะเป็นการทดสอบที่มีความเข้มงวด และสอดคล้องกับการใช้งานใต้น้ำจริงๆ โดยมีจุดเริ่มต้นของความลึกในระดับ 100 เมตรหรือมากกว่านั้น และนาฬิกาที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน ISO 6425 แล้วก็จะมีคำว่า DIVER’S ปรากฏอยู่ตรงส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวนาฬิกา ซึ่งเปรียบเสมือนกับใบประกาศเกียรติคุณว่านาฬิกาเรือนนั้นได้รับการทดสอบและผ่าน เพื่อเป็นการบอกว่านาฬิกาเรือนนั้นๆ เหมาะสำหรับกับใช้ในการดำน้ำจริงๆ มากกว่านาฬิกาทั่วไปที่มีตัวเลขระดับการกันน้ำที่เท่ากัน

ตามมาตรฐานการทดสอบของ ISO6425 นั้นไม่มีการจำกัดว่าจะต้องเป็นนาฬิกาที่ใช้กลไกแบบอัตโนมัติ หรือควอตซ์ รวมถึงแบบเข็ม หรือแบบดิจิตอล คุณสามารถนำมาทดสอบได้หมด โดยจะเป็นการทดสอบการกันน้ำที่แรงดันในระดับไม่ต่ำกว่า 100 เมตรหรือเทียบเท่า รวมถึงคุณสมบัติทางกายภาพอื่นๆ ของตัวนาฬิกาที่จะต้องมีคุณสมบัติให้ครบเพื่อเป็นใช้ในการดำน้ำ ในการทดสอบตรงนี้เป็นความสมัครใจของบริษัทผลิตนาฬิกา ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ด้วย

สำหรับคุณสมบัติบนตัวนาฬิกานั้น ก็มีทั้ง

-เข็มจะต้องมี Bezel แบบหมุนทางเดียว (ซึ่งส่วนใหญ่หมุนทวนเข็มนาฬิกา) พร้อมตัวมาร์คในทุกๆ 5 นาทีบน Bezel ที่มีขนาดมองเห็นได้อย่างชัดเจน และมีมาร์คเกอร์ย่อยในแต่ละนาทีด้วย

-สามารถมองเห็นหรืออ่านค่าบนหน้าปัดนาฬิกาในระยะ 25 เซ็นติเมตรได้เมื่ออยู่ในความมืด โดยที่เมื่ออยู่ในจุดที่มือมากจนมองไม่เห็นอะไร

-บนเข็มวินาทีจะต้องมีการแต้มพรายน้ำหรือมีมาร์กเกอร์พรายน้ำในตำแหน่งหัวหรือปลายเข็มวินาทีด้วย

-ความทนทานต่อแม่เหล็ก ซึ่งจะต้องเทสต์อยู่บนสนามแม่เหล็กในระดับ 4,800 A/m จำนวน 3 ครั้งโดยที่นาฬิกาจะต้องสามารถรักษาความเที่ยงตรงเอาไว้ในระดับ +/- 30 วินาทีต่อวันเมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถเดิมก่อนการทดสอบ

นอกจากนั้น ยังมีการทดสอบการกระแทก 2 ครั้ง ครั้งแรกตรงด้านข้าง 9 นาฬิกา และอีกครั้งการกระแทกแบบหน้าตรง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ค้อนพลาสติกเป็นตัวกระแทก และเมื่อทดสอบแล้วจะต้องมีความเที่ยงตรงในระดับ +/-60 วินาทีต่อวัน ส่วนนาฬิกาควอตซ์จะต้องมีระบบแจ้งเตือนว่าแบตเตอรี่ใกล้หมดแล้ว หรือ EOL-End of life

ในแง่ของการทดสอบการกันน้ำนั้นตามาตรฐาน ISO6425 จะมุ่งไปที่ความเข้มข้นในการใช้งานใต้น้ำ โดยจะทดสอบกับน้ำที่นิ่งภายใต้แรงดันที่มากกว่าตัวเลขที่กำหนด 125% ซึ่งนั่นหมายความว่านาฬิกาที่มีระดับการกันน้ำ 200 เมตร จะมีความสามารถในการทนแรงดันในระดับ 250 เมตร

ส่วนรูปแบบการทดสอบที่ใช้อยู่ก็เช่น การแช่อยู่ในน้ำที่มีความลึก 30 เซ็นติเมตรนาน 50 ชั่วโมง หรือการแช่อยู่ในน้ำที่มีแรงดัน 125% หรือเพิ่มขึ้นอีก 25% จากตัวเลขความลึกที่ระบุบนหน้าปัดนาฬิกา และมีการใช้แรงกดไปที่เม็ดมะยมหรือปุ่มต่างๆ สำหรับรุ่นที่เป็นโครโนกราฟ ด้วยแรงในระดับ 5 นิวตันเป็นเวลา 10 นาที ตามด้วยการทดสอบความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิด้วยการจุ่มน้ำที่ความลึก 30 เซ็นติเมตร แช่ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส 5 นาที และย้ายมาที่ระดับเดียวกันแต่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียสอีก 5 นาที และย้ายกลับมาที่ 40 องศาเซลเซียส อีก 5 นาที โดยการเคลื่อนย้ายในแต่ละช่วงจะต้องใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที ฯลฯ

และนี่คือ เรื่องราวของบทบาททดสอบที่นาฬิกาดำน้ำจะต้องเจอกว่าจะเดินทางมาอยู่บนข้อมือของเราๆ ท่านๆ ซึ่งเรื่องราวตรงนี้ยังไม่หมด ในตอนหน้า เราจะมาดูเรื่องของ Helium Valve และการใช้งานในแบบ Saturation Diving กัน

Diver’s 100 m การทดสอบขั้นต่ำมาตรฐานดำน้ำ ISO6425 สำหรับการใช้งานแบบ Scuba แต่ไม่เหมาะกับการใช้งานในแบบ Saturation หรือห้องพักใต้น้ำ เป็นมาตรฐานที่ในปัจจุบันไม่ค่อยเจอแล้ว แต่จะมีกับนาฬิกาดำน้ำรุ่นเก่าๆ
Diver’s 200 m or 300 m เหมาะสำหรับการดำน้ำแบบ Scuba แต่ไม่เหมาะกับ Saturation หรือห้องพักใต้น้ำ มาตรฐานทั่วไปของนาฬิกาดำน้ำ
Diver’s 300+ m for mixed-gas diving เหมาะกับ Saturation หรือห้องพักใต้น้ำ สำหรับนาฬิกาดำน้ำที่สามารถใช้งานกับ Saturation หรือห้องพักใต้น้ำ จะมีคำว่า  DIVER’S WATCH L M FOR MIXED-GAS DIVING ปรากฏอยู่ และอาจจะมีหรือไม่มี Helium Valve ก็ได้