ทำความรู้จักกับ GMT Watch กัน

0

สำหรับนักสะสมบางคน นาฬิกา GMT คือ อีกฟังก์ชั่นที่มักจะดึงดูดให้ใครหลายคนต้องเสียเงิน เพราะดูแล้วมันเท่หรือมีประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะพวกนักเดินทางที่ต้องการทราบเวลาท้องถิ่น และอีกเวลาซึ่งเป็นปลายทางที่คุณกำลังเดินทางไปถึง

GMT Watch
นาฬิกา GMT คือ อีกฟังก์ชั่นที่มักจะดึงดูดให้ใครหลายคนต้องเสียเงิน

ทำความรู้จักกับ GMT Watch กัน

  • ฟังก์ชั่นที่เกิดมาเพื่อการใช้งานของนักบินสายการบิน

  • ปัจจุบันเป็นมีให้สัมผัสกันหลากหลายแบบของนาฬิกา

  • การปรับของเข็ม GMT มีทั้งแบบอิสระและอีกแบบที่ยุ่งยากกว่า

- Advertisement -

ขณะที่นาฬิกาแบบดิจิตอลอย่างพวก Casio G-Shock หรือ Citizen Promaster ในกลุ่ม Sky  จะมีฟังก์ชั่นที่เรียกว่า World Time สำหรับแสดงเวลาที่ 2 โดยสามารถเลือกจากระบบที่จัดเตรียมเอาไว้ แน่นอนว่าในส่วนของนาฬิกากลไก หรือนาฬิกาควอตซ์แท้ๆ แบบเข็ม การทำเช่นนี้คงเป็นเรื่องลำบาก และนั่นจึงทำให้การออกแบบเข็มที่ 4 นอกเหนือจากเข็มชั่วโมง นาที และวินาทีถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งเราเรียกนาฬิกาประเภทนี้ว่า GMT Watch

GMT เป็นคำย่อของ Greenwich Mean Time หรือแปลเป็นไทยคือ เวลาสากลเชิงพิกัด ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกถึงจุดเริ่มต้นของโซนเวลาโดยใช้ลองจิจูด ที่ 0° ที่ตัดผ่าน Royal Greenwich Observatory ที่กรีนิช ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งถ้ายึดเมืองนี้เป็นจุดเริ่มต้นและเราเดินทางไปทางขวา หรือฝั่งตะวันออก ก็จะเป็น GMT+ ขณะที่ถ้าไปทางซ้าย หรือไปทางตะวันตก ก็จะเป็น GMT-

นอกจากคำว่า GMT แล้ว ในบางครั้งเราจะพบกับอีกคำที่ถูกใช้ แต่มีความหมายเดียวกัน นั่นคือ UTC- Coordinate Universal Time หรือเวลาสากลเชิงพิกัด ซึ่งคนที่เป็นแฟนของ Casio G-Shock จะเจอบ่อย รวมถึงนาฬิกาสัญชาติเยอรมัน ที่มักจะใช้คำนี้มากกว่าคำว่า GMT ซึ่งจริงๆ แล้วในแง่ภาพใหญ่นั้น ทั้ง 2 คำมีความหมายใกล้เคียงกัน ต่างกันแค่รายละเอียดปลีกย่อย ในแง่ของการใช้สิ่งที่วัดเพื่อบ่งบอกเวลาที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่นในกรณีของ GMT จะเป็นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงทุกๆ 1 ชั่วโมงในทุกๆ 15 องศาทางตะวันออกหรือทางตะวันตก ขณะที่ UTC เป็นการวัดผ่านทางนาฬิกาอะตอม หรือ Atomic Time Scale โดยอาศัยการสั่นของอะตอม

GMT UTC
คำย่อของ Greenwich Mean Time Coordinate Universal Time/ Temps Universel Coordonné
การอ้างอิง เขตเวลา ระบบการควบคุมเวลา
การใช้งาน โดยนาฬิกาที่มนุษย์สามารถอ่านได้ โดยระบบควบคุมเวลาดิจิตอล
การวัด การหมุนของโลก Atomic Transition Principle

 

จริงๆ แล้ว GMT เกิดขึ้นจากการเป็นนาฬิกาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับการบินเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันนาฬิกาแบบ GMT ไม่ได้จำกันวงแค่นาฬิกานักบินเหมือนกับเมื่อก่อนอีกต่อไป และเราจะเห็นนาฬิกา GMT ปรากฏในรูปแบบต่างๆ เช่น นาฬิกาเดรสส์ นาฬิกาดำน้ำ และนาฬิกาสปอร์ตรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับกับการใช้งานทั่วไปของนักเดินทาง

นาฬิกาแบรนด์แรกที่มีการนำระบบ GMT มาใช้คือ Rolex ซึ่งพวกเขาร่วมมือกับสายการบิน แพน แอม พัฒนานาฬิกาที่สามารถแสดงเวลาให้ทราบได้ 2 เขตเวลาในขณะเดียวกันขึ้นมาเพื่อให้นักบินของสายการบินใช้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนาฬิการุ่น GMT-Master รหัส 6542 ถือกำเนิดขึ้นมาใน ค.ศ. 1954

การทำงานของ GMT คือ จะมีเข็มที่ 4 เพิ่มเข้ามา ซึ่งถูกเรียกว่าเข็ม GMT ซึ่งเข็มนี้จะหมุนเพียง 1 รอบเท่านั้นในเวลา 1 วัน ต่างจากเข็มชั่วโมงของนาฬิกาที่จะหมุน 2 รอบใน 1 วัน โดยการอ่านค่าของเข็ม GMT จะอาศัยสเกลพิเศษที่ถูกออกแบบในลักษณะแสดงหลัก 24 ชั่วโมงเอาไว้ บางรุ่นจะอยู่ในหน้าปัด หรือไม่ก็ Chapter Ring ของนาฬิกา แต่บางรุ่นก็จะวางขอบสเกลนี้เอาไว้บน Bezel

การใช้งานนาฬิกา GMT นั้นไม่ยุ่งยาก เพราะบางแบรนด์จะออกแบบมาให้สามารถหมุนได้อย่างอิสระ เช่น Fortis B47 Culculator หรือ Glycine Airman ซึ่งเมื่อดึงเม็ดมะยมล็อกแรกออกมาก็สามารถหมุนเข็ม GMT ได้เลย ขณะที่บางยี่ห้อ เช่น Omega Seamaster GMT หรือระบบ GMT ของ Seiko จะยุ่งและวุ่นวายในการปรับเข็ม GMT มากกว่า คือคุณต้องดึงเม็ดมะยมมาล็อกที่ 2 แล้วหมุนให้เข็มเพื่อปรับให้เข็ม GMT ไปตกอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นค่อยดันเม็ดมะยมกลับไปที่ล็อกแรก เพื่อหมุนเฉพาะเข็มชั่วโมงให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ตัวเองต้องการ เรียกว่าเป็นการปรับที่ยุ่งยากกว่า

นอกจากนั้น อีกสิ่งที่พึงระวัง คือ นาฬิกาทุกเรือนที่มีเข็ม GMT ไม่จำเป็นจะต้องสามารถแสดงเวลาที่ 2 ได้ เช่นนาฬิกาบางรุ่นของ Orient ที่เรากำลังจะบอกเช่นนี้ก็เพราะเข็ม GMT เอาไว้บอกแค่ A.M. หรือ P.M. เท่านั้น ไม่สามารถปรับอิสระได้แต่จะหมุนไปตามการหมุนของเข็มชั่วโมงปกติ ถ้าอยากให้มันบอกเวลาที่ 2 คุณต้องหมุนสเกล 24H ที่อยู่บนใน Chapter Ring ด้านในหรือขอบสเกลบน Bezel กันเอาเอง

สำหรับนาฬิกาบางรุ่น มีการออกแบบให้มีความสามารถในการบอกเวลาได้ถึง 3 เขตเวลาด้วยกัน เช่น Fortis B47 Culculator หรือ Glycine Airman GMT โดยเวลาแรก คือ เวลาที่อยู่บนเข็มหลัก เวลาที่ 2 คือ GMT ที่ชี้ไปยังตำแหน่งต่างๆ ที่อยู่ในสเกลบนหน้าปัด ส่วนเวลาที่ 3 คุณจะต้องหมุนสเกล 24H บนของ Bezel ให้ตัวเลขไปตกที่เข็ม GMT

ถือเป็นอีกฟังก์ชั่นที่น่าสนใจ และเชื่อเลยว่าหลายคนที่มีนาฬิกาหลายเรือนในกรุ อย่างน้อยจะต้องมี GMT สักเรือนติดอยู่ในนั้นด้วย