การซื้อนาฬิกาใหม่ก็ไม่ต่างจากการซื้อสินค้าอื่นๆ ที่คุณควรจะใช้เวลาให้เยอะในการตรวจสอลบรายละเอียดของสินค้า เพื่อลดความผิดพลาดในแง่ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากที่จ่ายเงินแล้วเดินออกจากร้านแล้ว หากพบทีหลังว่านาฬิกามีรอย หรือมีปัญหา งานนี้คงเซ็งกันน่าดู
ซื้อนาฬิกาใหม่ … ต้องดูอะไรบ้าง
ไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือเก๋า การเลือกซื้อนาฬิกาสักเรือนต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสอบสินค้า ซึ่งเราบอกได้คำเดียวว่า ใช้เวลากับมันให้นานที่สุดก่อนที่เงินจะหลุดออกจากกระเป๋า ตรวจสอบทุกจุด และทดสอบทุกฟังก์ชั่นว่าทำงานได้ดี ส่วนจะต้องดูอะไรบ้างนั้นเรามีเทคนิคมาฝาก
ป.ล. บทความนี้ขอเน้นไปที่การซื้อนาฬิกาใหม่เป็นหลักนะครับ แต่ถ้าจะประยุกต์เอาไปใช้กับการเลือกซื้อนาฬิกามือสองก็ได้ เพียงแต่อาจจะมีแค่บางหัวข้อเท่านั้นที่ใช้ได้
-ใช้เวลาให้นานที่สุด : ไม่ว่าจะหลักพัน หลักหมื่น หรือหลักแสน ไม่ต้องรีบ คุณใช้เวลาในการตรวจสอบนาฬิกาที่ตัดสินใจซื้อให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ดูให้ละเอียดทุกจุดตามนี้ เพราะหลายครั้งเมื่อคุณดูไม่ละเอียด แล้วถือนาฬิกาเดินออกจากร้าน แม้ว่าจะเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือแค่วันเดียว แต่เดินกลับมาแล้วบอกว่านาฬิกามีรอยหรือตำหนิตั้งแต่แรกแต่คุณไม่เห็น ความน่าเชื่อถือจะลดลงทันที
-ร่องรอยภายนอก : ตรวจสอบว่ามีร่องรอย หรือมีตำหนิ ความบกพร่องอันเกิดจากกระบวนการผลิต การขนส่ง หรือการจัดเก็บมาด้วยหรือเปล่า และถ้าเจอรีบทักท้วงเพื่อขอเปลี่ยนเรือนใหม่ทันที เพราะถ้าคุณเห็นแล้วทำเฉยๆ หรือคิดว่าจำต้องซื้อ เพราะเหลือเรือนเดียวเท่านั้น หรืออะไรก็ตามแต่ ก็ต้องยอมรับเรื่องนี้ให้ได้ตลอดนะ เนื่องจากคุณรู้แล้วว่ามันมีรอย และรอยพวกนี้จะกวนสายตาคุณตลอดเวลาเมื่อนาฬิกาเรือนนั้นอยู่บนข้อมือ
-ความประณีตของการประกอบ : โดยเฉพาะขอบสเกลของ Bezel ซึ่งสาวก Seiko เจอกันบ่อยว่า มักจะเบี้ยวในบ้างรุ่น เช่น Sumo จนกลายเป็นอาการปกติของรุ่นไปแล้ว (ใครได้สเกลตรงอาจจะรู้สึกว่าเหมือนได้ของปลอม) รวมถึงสิ่งแปลกปลอมที่อาจจะอยู่ในหน้าปัด ทั้งฝุ่น หรือแม้แต่เส้นขนของช่างที่ประกอบนาฬิกาในไลน์ผลิตก็มีให้เห็นมาแล้ว
-ตำแหน่งของเข็ม : หลายครั้งเข็มถูกวางให้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงมาร์คบนหน้าปัด ซึ่งเคสที่เคยเจอกันคือ รุ่น Tuna 50 ปี รหัส SPR653J1/SPR655J1 ซึ่งตำแหน่งเข็ม 6 นาฬิกามีเบี้ยวไม่อยู่ในตำแหน่งที่ควรจะอยู่ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสลองก็ลองคลายเม็ดมะยมแล้วหมุนเช็คดู
-กล่องและสิ่งที่อยู่ในแพ็คเกจ : ศึกษาและทำความเข้าใจกับสิ่งที่มีอยู่ในแพ็คเกจของนาฬิกาเรือนนั้นๆ ว่ามีอะไรบ้าง เช่น สายชุดพิเศษ คู่มือที่อาจจะมีมากกว่าปกติ และทวงถามให้ครบ แต่ก่อนอื่นต้องมั่นใจก่อนนะว่า เวอร์ชันไทยกับเวอร์ชันที่อื่นที่คุณใช้เป็นตัวอ้างอิงนั้น มีแพ็คเกจที่ตรงกัน เพราะบางครั้ง นาฬิกาบางรุ่นเมื่อเข้าไทยแล้ว อาจจะแตกต่างจากเมืองไทย ดังนั้นเช็คเรื่องตรงนี้ให้ดี
สำหรับนาฬิกาบางยี่ห้ออย่างเช่น Casio G-Shock กล่องตรงรุ่นถือว่าเป็นอะไรที่คนเล่นกลุ่มนี้ซีเรียสมาก เพราะบนกล่องจะมีสติกเกอร์ที่เป็นรหัสของนาฬิกาแปะอยู่ด้วย และก็บ่อยครั้งเหมือนกันที่คนขายชอบหยิบกล่องสลับกัน
-เรื่องของกลไก : ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ยากที่จะตรวจสอบได้ ณ หน้างานที่คุณกำลังจะซื้อ คงทำได้แค่ลองคลายเม็ดมะยม หมุนทดสอบการขึ้นลานว่าเมื่อหมุนสัก 15-20 รอบแล้วเข็มวินาทีเดินหรือไม่ ส่วนในเรื่องการสำรองพลังคงทำไม่ได้ แต่สามารถเช็คได้หลังจากซื้อ เรากำลังแนะนำว่าเมื่อได้นาฬิกาใหม่มานั้น โดยเฉพาะนาฬิกากลไกอย่างอัตโนมัติ รบกวนช่วยใช้งานมันสัก 2-3 วันก่อน เพื่อดูการทำงานของกลไกในทุกๆ เรื่อง แล้วจากนั้นค่อยเก็บเข้ากรุก็ได้ แต่ถ้าเกิดความผิดปกติจะได้แจ้งกลับไปทางเคาน์เตอร์ที่ซื้อมา
-ความสมบูรณ์ของระบบลาน : เราไม่ได้บอกว่าให้มานั่งจับเวลาเพื่อดูความเที่ยงตรงหรือความเพี้ยนตามสเป็ก แต่กำลังจะบอกถึงเรื่องที่ประสบมา นั่นคือ นาฬิกามีความบกพร่องในการเก็บพลังงาน และความบกพร่องลักษณะนี้ คุณสามารถตรวจสอบได้ 2 แบบ คือ ไม่ต้องขึ้นลานมือ แต่ใส่นาฬิกาเรือนนั้นติดข้อตลอดเวลาทั้งวันซึ่งเราเชื่อว่า 8 ชั่วโมงในการทำงาน ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ ระบบน่าจะมีการขึ้นลานและสะสมพลังงานจนเต็ม แล้วค่อยถอดวางดูว่ามันสามารถเดินตามสเป็กหรือไม่ กับอีกแบบคือ ขึ้นลานมือด้วยการหมุนสัก 20-30 รอบแล้ววางเอาไว้ จากนั้นก็ดูว่าตัวนาฬิกาสามารถสำรองพลังงานได้ตรงตามสเป็กหรือเปล่า
-เช็คฟังก์ชั่นการทำงานว่าปกติหรือไม่ : ตรวจดูให้ครบถ้าเป็นพวกกลไก ก็คงไม่มีอะไรซับซ้อนมาก หมุนให้ครบ 2 รอบเพื่อดูว่า Day และ Date เปลี่ยนไหม เมื่อล่วงเข้าสู่วันใหม่ หรือถ้าเป็น GMT ก็ลองตั้งเข็มที่ 4 ว่ามีการทำงานที่ปกติไหม ส่วน Casio G-Shock อาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะฟังก์ชั่นเยอะมาก แต่ก็ต้องลองตรวจสอบให้ครบ เพราะคงไม่มีใครอยากได้นาฬิกาที่ผิดปกติกลับบ้านอย่างแน่นอน ยกเว้นพวกฟังก์ชั่นพิเศษที่ไม่สามารถตรวจสอบ ณ ตอนนั้น ได้ เช่น การวัดความสูง หรือความลึกของน้ำ ก็คงจะต้องทำใจและมั่นใจกับแบรนด์ไปก่อน
-รักษาสัมพันธ์กับคนขาย : เรากำลังจะบอกว่าถ้าการซื้อนาฬิกาเรือนแรกของคุณ คือ จุดเริ่มต้นของการเสียเงินในอนาคต 555 มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ดังนั้น ในระยะยาว เราเชื่อว่าคุณได้เดินเข้าเดินออกตามเคาน์เตอร์ หรือเจอกับพ่อค้าบ่อยครั้งแน่นอน ซึ่งเรากำลังจะบอกว่า การมีคนขายหรือ A.D. ที่คุ้นเคยและคุณเป็นลูกค้ามานานนั้น ถือเป็นเรื่องที่ช่วยให้คุณอุ่นใจได้หลายอย่าง ดังนั้น หาร้านหรือพ่อค้าที่รู้ใจเจอให้เร็ว
บางครั้งแม้ว่าในช่วงแรกดีลหรือราคาอาจจะแพงหรือสูงกว่า แต่ในระยะยาว สายสัมพันธ์ตรงนี้จะช่วยอะไรได้เยอะมาก โดยเฉพาะเมื่อคุณมีรายชื่อเป็น A-List ของบรรดาพ่อค้าหรือ A.D. เหล่านี้ เช่น ส่วนลดที่เริ่มมากขึ้น การได้สิทธิ์ซื้อรุ่นพิเศษที่บางครั้งคุณอาจจะไม่ต้องไปยืนต่อคิว ได้หมายเลขพิเศษกว่าในกรณีที่เป็น Limited Edition การเซอร์วิสที่มั่นใจได้ หรือการเปลี่ยนเรือนใหม่ในกรณีที่มีปัญหาและซื้อไปแล้วยังอยู่ในระยะที่สามารถเปลี่ยนเรือนใหม่ได้ เช่น 7 วัน
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/