จริงหรือ Seiko Prospex SPB051/SBDC051 แพงจนไม่อยากจะแตะ

0

43,500 บาท กับส่วนลดเพียง 15% ทำให้นาฬิกาตัวใหม่ที่เรากำลังรอคอยรู้สึกแพงขึ้นมาจับจิต แต่พอหลังจากมานั่งวิเคราะห์แล้ว เราคิดว่ามันมีเหตุและผลของมัน และเกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า จริงหรือ Seiko Prospex SPB051/SBDC051 แพงจนไม่อยากจะแตะ

- Advertisement -

จริงหรือ Seiko Prospex SPB051/SBDC051 แพงจนไม่อยากจะแตะ

  • Seiko Prospex SPB051/SBDC051 เปิดตัวในบ้านเราออกมาด้วยราคา 43,500 บาท และมีส่วนลดเคาน์เตอร์เพียง 15%
  • ในตลาดญี่ปุ่นแม้ส่วนลดจะใกล้เคียงกับบ้านเรา แต่ราคาตั้งของที่นั่นไม่สูงเท่า ก็เลยทำให้เกิดความลังเล
  • ของหิ้วจากญี่ปุ่นจะใช้รหัส SBDC051 ส่วนของที่ขายนอกญี่ปุ่นรวมถึงบ้านเรา จะใช้รหัส SPB051

หลังจากที่มีการเปิดราคาในไทยของ Seiko Prospex SPB051/SBDC051 ออกมาพร้อมกับตัวเลข 43,500 บาท ดูเหมือนว่าเจ้านาฬิกาที่เป็น Re-Issue ของ 62MAS เรือนนี้จะกลายเป็นเป้าโจมตีของบรรดาคนรัก Seiko ทันที โดยเฉพาะในเรื่องของการตั้งราคาที่บ้าเลือดเมื่อเปรียบเทียบกับสเป็กซึ่งเป็นเครื่อง 6R15 ที่คนใส่ Seiko ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับราคาหมื่นกลางๆ ที่ได้จาก Seiko Sumo และนั่นทำให้เกิดคำถามที่ว่า จริงหรือ Seiko Prospex SPB051/SBDC051 แพงจนไม่อยากจะแตะ?

เอาเข้าจริงๆ แล้วราคาที่ทาง Seiko  เปิดออกมาที่บ้านเราในระดับ 43,500 บาทนั้นอาจจะแพงถ้ามองในแง่ตัวนาฬิกาแบบเดี่ยวๆ แต่ถ้ามองในแง่ของลำดับการวาง Position ในตลาด บวกกับการนำมาเปรียบเทียบกับราคาอ้างอิงในตลาดญี่ปุ่นแล้ว ตรงนี้ถือว่าเป็นไปตามลำดับที่พวกเขาวางเอาไว้

เราลองมาดูราคาของพวกนาฬิกา Prospex ที่ใช้กลไก 6R เป็นหลักแบบไม่รวม MonsterJDM ที่เป็นรุ่นพิเศษซึ่งเป็นราคาแบบยังไม่หักส่วนลดตามป้ายจากตัวแทนจำหน่ายทั้งในญี่ปุ่น และเมืองไทย

รุ่น ราคาในญี่ปุ่น ราคาในไทย ส่วนต่าง
Sumo (SBDC031) 60,000 เยน (18,000 บาท) 26,000 บาท +8,000
62MAS Re-Issue (SBDC051) 100,000 เยน (30,000 บาท) 43,500 บาท +13,500
Shogun (SBDC029) 120,000 เยน (36,000 บาท) 45,300 บาท +9,300
Transocean (SBDC039) 130,000 เยน (39,000 บาท) 49,830 บาท +8,800

 

รุ่น ราคาในไทย ของหิ้ว ส่วนต่าง
Sumo (SBDC031) 26,000 บาท 14,000 บาท +12,000
62MAS Re-Issue (SBDC051) 43,500 บาท 27,000 บาท +16,500
Shogun (SBDC029) 45,300 บาท 26,000 บาท +19,300
Transocean (SBDC039) 49,830 บาท 33,000 บาท +16,830

หมายเหตุ : เป็นราคาของหิ้วโดยประมาณที่มีอยู่ในตลาด

ราคาตามป้ายของ Seiko Sumo แบบไม่หักส่วนลดอยู่ที่ 60,000 เยน ขณะที่ SBDC051 ซึ่งเป็นรุ่นสายเหล็กอยู่ที่ 100,000 เยน หรือแพงขึ้นราวๆ 40% เมื่อเปรียบเทียบกับ Sumo ขณะที่ Shogun ที่เป็นนาฬิกาซึ่งใช้กลไกแบบ 6R เหมือนกัน ราคาป้ายอยู่ที่ 120,000 เยน และราคาป้ายในไทยก็อยู่ที่ 45,300 บาท ซึ่งแพงกว่า SBDC051 ด้วยซ้ำ เพียงแต่เราอาจจะไม่รู้สึกว่าแพงจนเกินไปด้วยเหตุผลเพราะเป็นไทเทเนียมทั้งเรือน และในช่วงของการทำตลาดมีโปรโมชั่นมากมาย และออนท็อปอีกเพียบ อีกทั้งยังเป็นโมเดลเก่า กระแสก็เลยไม่มีการพูดถึงเท่าไร

Ana-Digi เข้าใจในมุมและความเห็นของคนซื้อในฐานะที่เป็นคนซื้อเหมือนกับผู้อ่านท่านอื่นๆ และแน่นอนว่า ในตอนแรก เราก็มีความเห็นว่าราคามันสูงและแรงเกินไปหน่อย แต่หลังจากนั่งสักครู่แล้วค่อยๆ พิจารณา โดยเฉพาะการมองในสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เราจะพบว่านาฬิกาของ Seiko ในกลุ่มที่ใช้กลไก 6R15 ถ้าไม่นับรวม Sumo แล้ว แต่ละเรือนมีราคาตั้งเกิน 40,000 บาททั้งนั้น โดยเฉพาะ Shogun และ Transocean เพียงแต่อาจจะไม่ตกเป็นประเด็นในการวิพากษ์เรื่องราคามากเท่าไร น่าจะเป็นเพราะ 4 เหตุผลหลัก

-ไม่มีความพิเศษในตัวของนาฬิกาที่เด่นมากพอจะทำให้มองข้ามเรื่องราคา  : เพราะ Shogun มากับไทเทเนียมทั้งเรือน และ Transocean มากับกระจก Sapphire และขอบเซรามิก ก็เลยทำให้ดูพิเศษขึ้นในแง่ของสเป็ก ซึ่งต่างจาก Seiko Prospex SPB051/SBDC051หรือ 62MASRe-Issue ที่แทบจะไม่มีอะไรเด่นเลยในเชิงสเป็ก นอกจากดีไซน์ และ Storyที่ถูกสืบทอดมาจากนาฬิกาดำน้ำรุ่นแรกของ Seiko อย่าง 62MAS

– ความคาดหวัง และความต้องการที่สูง : ต้องยอมรับว่านับจากเปิดตัวที่ Basel World 2017 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Seiko Prospex SPB053/SBDC051กลายเป็นที่จับตามองของแฟนๆ ทั่วโลก ส่วนในเมืองไทย หลายคนตั้งตารอและถึงกับคาดหมายว่าราคาหลังหักส่วนลดแล้วน่าจะอยู่ในช่วง 20,000 ต้นๆ จนถึงกลางๆ แต่ไม่ใช่เปิดมาด้วยเลข 3  กลางๆ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ (อันนี้พูดถึงราคาในเคาน์เตอร์ปกติ) แต่ในเมื่อเจอราคาครั้งแรกเลยอาจจะออกอาการช็อค

-ราคาตั้ง : ประเด็นนี้แหละที่สำคัญที่สุด เพราะ Seiko ถ้ามองตามตารางข้างบนจะเห็นได้ว่า Seiko ตั้งราคาในญี่ปุ่น 100,000 เยน หรือคิดเป็นเงินเพียง 30,000 บาท และถูกกว่าในบ้านเราถึง 13,500 บาท และเมื่อมองดูจากส่วนลดตามเว็บในญี่ปุ่น พวกเขาก็ให้ส่วนลดในระดับใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่ในบ้านเรา คือ 15-20% ดังนั้น ในเมื่อราคาตั้งไม่แพง ถึงส่วนลดจะน้อย แต่ตัวเลขสุดท้ายมันก็ยังพอรับได้ ต่างจากบ้านเรา

-ส่วนลดในเคาน์เตอร์ : ตรงนี้สำคัญไม่แพ้กัน เพราะ Seiko ในไทยให้ ‘ส่วนลด’ ในเคาน์เตอร์ปกติกับรุ่นนี้น้อยไปหน่อย (ไม่ขอนับร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่อยู่ข้างนอกนะครับ) และเท่าที่เช็คก็เพียงแค่ 15% เท่านั้น นั่นอาจจะเป็นเพราะเป็นนาฬิกาที่มี Demand  ในตลาดมาก อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้ที่โลกแคบลงและญี่ปุ่นไม่ได้ไปกันยากเหมือนเมื่อก่อน เราจึงมีตัวเปรียบเทียบกับทางเลือกของพวกที่หิ้วเข้ามาขายมาทำให้เกิดความยากในการตัดสินใจ ดังนั้นเมื่อ Seiko Prospex SPB051/SBDC051 เปิดตัวออกมาในช่วงที่ร้านในเคาน์เตอร์มีส่วนลดที่น้อย เพียงแค่ 15% และบวกกับออนท็อปอีก 8%  ตัวเลข 34,000 บาทที่เป็นราคาหลังหักส่วนลด ก็เลยดูแพง…นั่นก็เลยทำให้คนซื้อเริ่มมองหาทางเลือกอื่นแทน

คราวนี้ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทุกท่านแล้วว่าจะเลือกทางไหนสำหรับเจ้า Seiko Prospex SPB051/SBDC051 หล่อก่อนเจ็บก่อนกับของจากเคาน์เตอร์ ของหิ้วแต่เสี่ยงเรื่องความเสียหายและไม่มีการรับประกัน และสุดท้าย คือ ไม่ต้องตามกระแส หรือข่าวที่ว่านาฬิการุ่นนี้เข้ามาไม่เยอะ และรอดูสถานการณ์อีกสักพัก ซึ่งน่าจะมีส่วนลดเยอะจนทำให้ราคาลดลงมาอยู่ในระดับที่รับได้